หลักการและเหตุผล: การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นวิธีที่ใช้บ่อยในการตรวจพิเศษทางรังสีวินิจฉัย เหตุการณ์ขณะเข้ารับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มีผลทำให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กวัยก่อนเรียนเกิดความกลัวและมีพฤติกรรมไม่ร่วมมือในการตรวจรักษาก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ หากมีการเตรียมความพร้อมด้านจิตใจที่เหมาะสมให้กับเด็กก่อนเข้ารับการตรวจ น่าจะช่วยลดความกลัวของเด็กลงได้
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความกลัวในการเข้ารับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของเด็กวัยก่อนเรียนระหว่างกลุ่มที่ได้รับการเตรียมจิตใจโดยการเล่านิทานกับกลุ่มที่ได้รับการเตรียมตามปกติ
รูปแบบการศึกษา: เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-Experimental Research)
สถานที่ศึกษา: โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ประชากรศึกษาและกลุ่มตัวอย่าง: ศึกษาในเด็กวัยก่อนเรียนอายุ 4-6 ปี ที่เข้ารับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรกและได้รับการฉีดสารทึบรังสี กลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มอย่างง่ายแบบการจับสลากจับคู่ตามระดับอายุจำนวน 60 คน สุ่มเข้ากลุ่มทดลองเพื่อรับการเตรียมความพร้อมด้านจิตใจด้วยการเล่านิทานจำนวน 30 คนและสุ่มเข้ากลุ่มควบคุมเพื่อรับการเตรียมตามปกติจำนวน 30 คน
การรักษา: การเตรียมความพร้อมด้านจิตใจก่อนเข้ารับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยการเล่านิทานโดยใช้หนังสือนิทานเรื่อง กล้องวิเศษซีทีกับน้องนิด ซึ่งมีภาพประกอบที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
การวัดผล: เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบวัดความกลัวการเข้ารับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบคะแนนความกลัวโดยใช้ t test
ผลการวิจัย: พบว่ากลุ่มที่ได้รับการเตรียมจิตใจด้วยการเล่านิทาน มีความกลัวการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการเตรียมตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับน้อยกว่า 0.05
สรุป: การเตรียมความพร้อมด้านจิตใจด้วยการเล่านิทานให้กับเด็กวัยก่อนเรียนเพื่อเข้ารับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สามารถช่วยลดความกลัวในการตรวจลงได้ และน่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่อาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการเตรียมเด็กก่อนการรักษาพยาบาลอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดความกลัวแก่เด็ก เช่น การเจาะเลือด การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ เป็นต้น
Background: Computed tomography (CT scan) is a common radiological practice; however, among pre-school-age children, it can be a fearful experience, so much so that non-cooperation of children may result in failure to get any useable results. Psychological preparation can be used to reduce the level of fear in children.
Objective: To compare the level of apprehension among preschoolers undergoing CT scan, given psychological preparation vs. the normal clinical explanation.
Design: Quasi-experimental research
Setting: Srinagarind Hospital, Khon Kaen University, Thailand
Population and Samples: Data were collected on the responses of 60 children between four to six years of age undergoing CT for the first time. Two groups (normal and experimental) were formed by a simple random, age matching method.
Intervention: Psychological preparation included being read a story called C.T. the Magic Camera and the Kid created by our research team.
Measurements: Data were collected on the fear responses of the children undergoing CT and analyzed by t test.
Results: Subjects in the psychologically-prepared group exhibited significantly (p < 0.05) less apprehension than those in the control group.
Conclusions: The findings suggest some psychological preparation is needed before children undergo CT scan or any other invasive procedure (such as spinal puncture or intravenous fluid administration).