หลักการและวัตถุประสงค์: วิชา วิทยาศาสตร์พื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีสื่อการศึกษา เป็นวิชาพื้นฐานสำคัญที่นักศึกษาต้องนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิชาต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอน และสอดคล้องกับนโยบายการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย ผู้วิจัยจึงจัดให้มีการประเมินกระบวนการจัดการเรียนรายวิชานี้ในกลุ่มของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2551 โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบกับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2550 เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความคิดเห็นของนักศึกษา ต่อกระบวนการจัดการเรียนการสอน วิชา วิทยาศาสตร์พื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีสื่อการศึกษา
วิธีการศึกษา : การศึกษาเชิงพรรณนา ใน นักศึกษาเวชนิทัศน์ ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2550 และ 2551 จำนวน 20 คน และ 21 คน ตามลำดับ โดยใช้แบบสอบถามชนิดตอบเอง ที่มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 1-5 ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรง และทดสอบค่าความเชื่อมั่นที่ค่า alpha = 0.92 เก็บข้อมูลโดยให้ผู้ตอบแบบสอบถามหย่อนลงในกล่องรับแบบสอบถาม ข้อมูลที่ได้ ถูกนำเข้าโปรแกรม Microsoft Excel เพื่อทำ data double entry และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS นำเสนอข้อมูลเป็นค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบด้วย t-test
ผลการวิจัย : ได้รับแบบสอบถามตอบกลับจากนักศึกษาเวชนิทัศน์ครบทั้งสองปีการศึกษา จากการประเมินความคิดเห็นต่อกระบวนการจัดการเรียนการสอน รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีสื่อการศึกษา 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเนื้อหาวิชาที่เรียน 2) ด้านการจัดการเรียนการสอน 3) ด้านอาจารย์ผู้สอน 4) ด้านผู้เรียน 5) ด้านการวัดและประเมินผล และ 6) ด้านสื่อการเรียนการสอนและสิ่งอำนวยความสะดวก พบว่า นักศึกษา มีความคิดเห็นต่อกระบวนการเรียนการสอน อยู่ในระดับมากทั้ง 6 ด้าน ทั้งสองชั้นปี โดยประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดที่พบในนักศึกษา ปีการศึกษา 2550 คือ ด้านสื่อการเรียนการสอนและสิ่งอำนวยความสะดวก (4.0, SD 0.25) และในปี 2551 คือ ด้านการวัดและประเมินผล (4.10, SD 0.32) นอกจากนี้ยังพบว่า ค่าคะแนนเฉลี่ยของความคิดเห็นเพิ่มขึ้นทุกด้านในปี 2551 และเมื่อทดสอบทางสถิติ เปรียบเทียบค่าคะแนนเฉลี่ยของความคิดเห็นในแต่ละด้านพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ในด้านการจัดการเรียนการสอน และในภาพรวม
สรุป : นักศึกษาเวชนิทัศน์ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2550 และ 2551 มีความคิดเห็นต่อกระบวน การจัดการเรียนการสอน วิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีสื่อการศึกษาอยู่ในระดับมากทุกด้าน และมีความคิดเห็นแตกต่างกันภาพรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
คำสำคัญ : การประเมิน วิทยาศาสตร์พื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีสื่อการศึกษา นักศึกษาเวชนิทัศน์ ค่าคะแนน 5 ระดับ . . .
Full text.
|