บทนำ(Introduction)
การผ่าตัดต่อนิ้วมือถือเป็นวิธีการผ่าตัดที่ยุ่งยากซับซ้อนที่สุดวิธีหนึ่งของการผ่าตัด เพราะนอกจากจะต้องทำให้นิ้วที่ขาดกลับมามีชีวิตแล้ว ยังต้องทำให้นิ้วสามารถเคลื่อนไหวได้รวมถึงมีความรู้สึกสัมผัสที่ดีด้วย การผ่าตัดต่อนิ้วมือเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน ซึ่งแพทย์ที่ผ่าตัดต่อนิ้วสำเร็จเป็นรายแรกของโลก คือ นพ.โคมัทสุ และ นพ.ทาไม เมื่อปี พ.ศ.2511 หลังจากนั้นก็มีรายงานของการผ่าตัดต่อนิ้วมือ, มือ, หรือ แขน ตามมามากมาย ถือเป็นยุคที่การผ่าตัดทางจุลยศัลยกรรมพัฒนาขึ้นอย่างมาก ในปีพ.ศ.2523 นพ.ไคลเนิด ได้รายงานผลสำเร็จของการผ่าตัดต่อนิ้วไว้ที่ประมาณ 72%(374นิ้ว)1 ส่วน นพ.ทาไม รายงานผลความสำเร็จประมาณ 80-90%ในปีพ.ศ.2526 จะเห็นว่าหลังจากมีการพัฒนาทั้งเครื่องมือทางจุลศัลยกรรม และทักษะความสามารถของศัลยแพทย์ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ความหวังของผู้ป่วย และความสำเร็จจากการผ่าตัดต่อนิ้วก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญในทางคลินิกก็คือ นิ้วใดบ้างที่ควรต่อ? ซึ่งจากประสบการณ์ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีผู้ป่วยนิ้วขาดจากสาเหตุต่างๆ เดินทางมาเพื่อรับการผ่าตัดต่อนิ้ว เช่นถูกส่งตัวมาโดยแพทย์ บ้างขอมาเองเนื่องจากแพทย์ไม่ต่อให้ และผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เดินทางมาที่รพ.ศรีนครินทร์ก็ได้รับคำแนะนำว่าไม่ควรผ่าตัดต่อนิ้ว หรือแพทย์ปฏิเสธการต่อนิ้วให้ ดังนั้นคำถามว่านิ้วขาดในผู้ป่วยรายนี้ควรต่อหรือไม่ จะใช้เกณฑ์ หรือข้อบ่งชี้ใดบ้าง จะได้กล่าวถึงต่อไป
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดต่อนิ้วมือ(Indications)
แม้ว่าข้อบ่งชี้ในการเลือก หรือปฏิเสธการผ่าตัดต่อนิ้วจะเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ข้อบ่งชี้เหล่านี้ก็มีความยืดหยุ่นตามประสบการณ์ และความชำนาญของศัลยแพทย์2(ดังตารางที่ 1) ข้อบ่งชี้เหล่านี้นอกจากจะพิจารณาถึงโอกาสรอดของนิ้วแล้ว ยังพิจารณาถึงการใช้งานในระยะยาวอีกด้วย3 เช่น นิ้วหัวแม่มือเป็นนิ้วที่มีความสำคัญในการหยิบจับสิ่งของร่วมกับนิ้วอื่น ถือเป็นนิ้วที่มีหน้าที่มากที่สุดในมือ แม้ว่าหลังการต่อนิ้วความรู้สึก หรือการเคลื่อนไหวจะลดน้อยลงก็ตาม4 ผลของการผ่าตัดต่อนิ้วหัวแม่มือก็จะดีกว่าการย้ายนิ้วเท้ามาแทนนิ้วหัวแม่มือในภายหลัง อีกข้อบ่งชี้หนึ่งที่คำนึงถึงผลดีในระยะยาวก็คือ นิ้วขาดที่ระดับปลายต่อที่เกาะของเส้นเอ็นFlexor digitorum superficialis ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวนิ้ว ถึงแม้ว่าหลอดเลือดที่บริเวณนี้จะมีขนาดเล็กกว่าหลอดเลือดที่บริเวณโคนนิ้วก็ตาม แต่ผลของการต่อนิ้วบริเวณนี้จะดีกว่า เนื่องจากความซับซ้อนของเส้นเอ็นน้อยกว่า รวมทั้งยังเหลือข้อ metacarpophalangeal(MCP) และ proximal interphalangeal(PIP) ไว้ใช้ในการเคลื่อนไหวของนิ้ว(ดังรูปที่ 1) ส่วนข้อบ่งชี้ว่าควรผ่าตัดต่อนิ้วในเด็กทุกรายไม่ว่าขาดระดับใด เนื่องจากผลการใช้งานในระยะยาวของเด็กจะค่อนข้างดีกว่าผู้ใหญ่ แม้ว่าผลความสำเร็จในการผ่าตัดต่อนิ้วจะน้อยกว่าก็ตาม5,6 . . .
Full text.
|