Untitled Document
 
 
 
 
Untitled Document
Home
Current issue
Past issues
Topic collections
Search
e-journal Editor page

Anesthesia-Personnel’s Knowledge of Complications from Regional Anesthesia : Survey at Srinagarind Hospital

การสำรวจความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนจากการทำให้ชาเฉพาะส่วนของเจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยาโรงพยาบาลศรีนครินทร์

Janjiraporn Bumrung (จันทร์จิราภรณ์ บำรุง) 1, Khochakron Palachewa (กชกร พลาชีวะ) 2, Waraporn Chau-in (วราภรณ์ เชื้ออินทร์) 3, Thepakorn Sathikarnmanee (เทพกร สาธิตการมณี) 4




หลักการและเหตุผล: การทำให้ชาเฉพาะส่วนเป็นหัตถการที่นิยมทำในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดร่างกายส่วนล่าง  ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ฉะนั้นเจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยาควรมีความรู้ความเข้าใจที่ดี  เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ

วัตถุประสงค์ :  เพื่อสำรวจความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนจากการให้ยาชาเฉพาะส่วน ของเจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยาโรงพยาบาลศรีนครินทร์

รูปแบบการศึกษา:  การวิจัยเชิงพรรณนา

สถานที่ศึกษา:  ภาควิชาวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์

ประชากรศึกษา:  เจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยา ได้แก่ วิสัญญีพยาบาลจำนวน 39 คน และ แพทย์ใช้ทุน(พชท.)/แพทย์ประจำบ้าน(พจบ.)  จำนวน 12 คน รวม 51 คน

วิธีการศึกษา:  ให้เจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยาตอบแบบทดสอบมี13 ข้อ (ซึ่งคณะผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง ) ภายในชั่วโมงวิชาการ  รวบรวมข้อมูลแยกส่งกระดาษคำตอบวิเคราะห์ได้ค่า “p”, “r” สามารถจำแนกลักษณะแบบทดสอบและผู้ตอบ  นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา

ผลการศึกษา:  เจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยาตอบแบบทดสอบจำนวน 50 คน เป็นวิสัญญีพยาบาลจำนวน 39 คน (ร้อยละ78.00) และพชท./พจบ.จำนวน 11 คน (ร้อยละ22.00)  มีอายุเฉลี่ย 36.18 ± 7.23 ปี  ประสบการณ์การทำงานด้านวิสัญญีเฉลี่ย 7.70 ± 6.26 ปี  จากการวิเคราะห์แบบทดสอบที่ใช้ศึกษามีคุณภาพระดับปานกลาง   ผลการศึกษาพบว่าเจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยาตอบแบบทดสอบได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 80.31 หรือมีความเข้าใจอยู่ในเกณฑ์ดี  โดยอายุ และ ประสบการณ์ไม่มีความสัมพันธ์ต่อระดับความเข้าใจ   พบว่าพชท./พจบ. มีคะแนนมากกว่าวิสัญญีพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 88.08 และ 78.08 ตามลำดับ) (p=0.01)

สรุป:  เจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยาโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีความเข้าใจภาวะแทรกซ้อนจากการทำให้ชาเฉพาะส่วนอยู่ในเกณฑ์ดี 

Background:  Regional anesthesia is the common anesthetic procedure for patients undergoing  lower abdomen and lower extremity surgery.  Anesthesia-personnel should be aware of the common complications for patient safety.

Objective:  To survey anesthesia-personnel’s knowledge of complications from regional anesthesia.

Design:  Descriptive study

Setting: Srinagarind Hospital, Department of Anesthesiology, Faculty of Medicine.

Population:  51 anesthesia-personnel : 39 nurse- anesthetists and 12 residents.

Methods:  Anesthesia-personnel answered the questionnaire (13 items, created by the research team) during a one-hour classroom period. The answer sheets were analyzed for difficulty index (“p”), and the discrimination index (“r”).  The data were analyzed using descriptive statistics.

Results:  Fifty anesthesia-personnel answered the questionnaire: 39 nurse - anesthetists (78.00%) and 11 residents (22.00%). Respondents averaged 36.18 ± 7.23 years of age and 7.70 ± 6.26 years of experience in anesthesia.  We found that the anesthesia-personnel had averaged 80.31%(or had a good level of knowledge).  Age and years of experience did not correlate with the level of knowledge.  Residents scored significantly higher than nurse-anesthetists (88.08 vs. 78.08%, respectively)(p=0.01).  

Conclusion:  The knowledge of complications from regional anesthesia was of a good level among anesthesia-personnel  practising at  Srinagarind Hospital.

 

บทนำ

ภาควิชาวิสัญญีวิทยาโรงพยาบาลศรีนครินทร์        ให้บริการระงับความรู้สึกผู้ป่วยที่มาผ่าตัด    จากรายงานสถิติงานบริการประจำปีพ.ศ.2546        ภาควิชาวิสัญญีวิทยาได้ให้บริการผู้ป่วยทั้งสิ้น  10,607 ราย   ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่ได้รับการทำให้ชาเฉพาะส่วน 1,894 ราย   หรือเป็นร้อยละ 17.90 ของผู้ป่วยทั้งหมดที่ให้บริการ   โดยการทำให้ชาเฉพาะส่วนที่นิยมทำมากที่สุดคือ     การฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง  และการฉีดยาชาเข้าช่องเอปิดูรัล ตามลำดับ1    นิยมทำในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดร่างกายส่วนล่างเพราะผู้ป่วยสามารถรับการผ่าตัดได้โดยไม่มีความเจ็บปวด     และเคลื่อนไหวร่างกายส่วนล่างไม่ได้ ขณะที่ยังรู้สึกตัวตามปกติ     นอกจากนี้ยังมีข้อดีเช่น   ลดการเสียเลือดระหว่างผ่าตัด   มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกายน้อยกว่าการให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป เป็นต้น2,3      แต่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน   ได้แก่   ความดันโลหิตต่ำ, หัวใจเต้นช้า,  high/total spinal block, อาการของระบบทางเดินอาหาร, ปวดศีรษะ (postdural puncture headache), ปวดหลัง, ภาวะแทรกซ้อนต่อระบบประสาท, ปัสสาวะคั่ง, พิษจากยาชาเฉพาะที่ เป็นต้น2-6 ผลการศึกษาของกชกร และคณะพบผู้ป่วยที่ได้รับยาชาเข้าช่องไขสันหลังในโรงพยาบาลศรีนครินทร์มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นที่พบบ่อย   ได้แก่ อาการสั่นร้อยละ 23.6, ปวดหลังร้อยละ18.3, ความดันโลหิตต่ำร้อยละ 15.7, ปัสสาวะคั่งร้อยละ 11.7, คลื่นไส้อาเจียนร้อยละ 8.1 และปวดศีรษะร้อยละ 3.3 ตามลำดับ7

                 ปัจจุบันในการพัฒนาคุณภาพงานบริการ        ตามแนวทางการให้บริการวิสัญญีวิทยา     จะมีบุคลากรทางวิสัญญีวิทยาทำงานเป็นทีม   ให้คำแนะนำและดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ก่อนผ่าตัด  เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องขณะผ่าตัด ในห้องพักฟื้น  และติดตามเยี่ยมหลังผ่าตัดภายใน 24 ชั่วโมง8     ผลการศึกษาของมะลิ และคณะ พบว่าสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการทราบมากที่สุดเกี่ยวกับการให้ยาระงับความรู้สึก คือขั้นตอนวิธีการให้การระงับความรู้สึกและข้อควรปฏิบัติทั้งก่อนและหลัง รองลงมาคือภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้น9 และจากการ ศึกษาความพึงพอใจของผู้มารับบริการวิสัญญีในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ของวินิตาและคณะพบว่ามีผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นหลังได้รับบริการ(ร้อยละ 25.5)   และมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งได้รับรู้ข้อมูลแต่ไม่เข้าใจ(ร้อยละ 7.86)10     ฉะนั้นบุคลากรทางวิสัญญีวิทยาโดยเฉพาะวิสัญญีพยาบาล   และแพทย์ใช้ทุน(พชท.) แพทย์ประจำบ้าน(พจบ.)   ซึ่งเป็นบุคลากรที่เฝ้าระวังผู้ป่วยเป็นส่วนใหญ่         ควรมีความรู้ความเข้าใจที่ดีที่ถูกต้องโดยเฉพาะเรื่องภาวะแทรกซ้อน     เพื่อเพิ่มความสามารถในการให้คำแนะนำกับผู้ป่วยซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยลดความวิตกกังวลสามารถปฏิบัติตามได้      อีกทั้งจะทำให้สามารถป้องกันรักษาภาวะแทรกซ้อนได้ถูกต้องทันท่วงที     ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ปลอดภัยมีคุณภาพ        ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาความเข้าใจถึงภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังและเข้าช่องเอปิดูรัล ของวิสัญญีพยาบาลและพชท./พจบ. ภาควิชาวิสัญญีวิทยาโรงพยาบาลศรีนครินทร์      เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการผู้ป่วยต่อไป

วิธีการศึกษา

                เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา  สำรวจโดยใช้แบบทดสอบซึ่งคณะผู้วิจัยสร้างขึ้นเองโดยศึกษาจากตำราด้านวิสัญญีวิทยาต่างๆ   หลังจากผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น  คณะผู้วิจัยได้ให้เจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยาตอบแบบทดสอบภายในชั่วโมงวิชาการภาควิชา  ลักษณะแบบทดสอบมี 2 ส่วน  ส่วนที่ 1ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ อายุ ตำเเหน่งงาน และประสบการณ์การทำงานด้านวิสัญญี  ส่วนที่ 2 เป็นแบบทดสอบมี 13 ข้อ แต่ละข้อมี 5 ตัวเลือก โดยตอบในกระดาษคำตอบ  รวบรวมข้อมูลแยกส่งกระดาษคำตอบพร้อมแผ่นเฉลยให้หน่วยแพทยศาสตร์ศึกษาวิเคราะห์แบบทดสอบและผู้ตอบ  หลังจากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา นำเสนอข้อมูลในรูปค่าเฉลี่ย และร้อยละ

คำจำกัดความที่ใช้ในการศึกษา

             ภาวะแทรกซ้อน   หมายถึง  อาการไม่พึงประสงค์ รวมถึงอาการข้างเคียง จากการทำให้ชาเฉพาะส่วน อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างผ่าตัดและหลังเสร็จการผ่าตัด

เจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยา  หมายถึง วิสัญญีพยาบาล และ พชท. /พจบ.สาขาวิสัญญีวิทยา

การทำให้ชาเฉพาะส่วน  หมายถึง  การฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง และ เข้าช่องเอปิดูรัล (spinal block และ epidural block)เท่านั้น

เกณฑ์การคิดระดับความเข้าใจ ถ้าเจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยาสามารถตอบแบบทดสอบได้คะแนน

ร้อยละ 0-30    หมายถึง มีความเข้าใจน้อย

ร้อยละ 31-60  หมายถึง มีความเข้าใจปานกลาง                                              

ร้อยละ 61-80  หมายถึง มีความเข้าใจดี                              

³ ร้อยละ 81   หมายถึง มีความเข้าใจดีมาก

ผลการศึกษา

                เจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยาโรงพยาบาลศรีนครินทร์จำนวน 51 คน ได้ตอบแบบทดสอบ 50 คน คิดเป็น ร้อยละ 98.04   มีพชท.1 คนไม่ได้ตอบเนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติราชการที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ในช่วงเวลาที่ทำการศึกษา   เจ้าหน้าที่ที่ตอบแบบทดสอบเป็นวิสัญญีพยาบาล 39 คน(ร้อยละ78.00) และพชท./พจบ.11 คน (ร้อยละ22.00)   มีอายุตั้งแต่ 24-49 ปี เฉลี่ย 36.18 ± 7.23 ปี    ประสบการณ์การทำงานด้านวิสัญญี 0-24 ปี เฉลี่ย 7.70 ± 6.26 ปี (ตารางที่1)     วิสัญญีพยาบาลส่วนใหญ่จำนวน 20 คน มีประสบการณ์การทำงานด้านวิสัญญี 6-10 ปี (ตารางที่2)   สำหรับแพทย์ส่วนใหญ่จำนวน 6 คน เป็นพชท.ปี2/พจบ.ปี1 ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานด้านวิสัญญี 1 ปี  (ตารางที่3)

การวิเคราะห์แบบทดสอบโดยใช้ classical test item analysis (Version 6.30,1992) พบว่า “p” หมายถึง ความยากง่ายของแบบทดสอบ (ควรมีค่า 0.2 – 0.8)  เท่ากับ 0.80 ± 0.43 (min 0.40 ,max 0.98) และ “r”  หมายถึง ความแตกต่างของผู้ถูกทดสอบ (ควรมีค่า ³ 0.2)  เท่ากับ 0.27 ± 0.22 (min 0.08 , max 0.77) แบบทดสอบครั้งนี้มีค่า  rtt  เท่ากับ 0.51

ผลการตอบแบบทดสอบมีเจ้าหน้าที่ตอบได้ถูกต้อง 7-13 คะแนน (ร้อยละ53.85-100.00)  คะแนนเฉลี่ย  10.44 ± 1.42 หรือได้คะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 80.31 ซึ่งหมายถึงมีความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนจากการทำให้ชาเฉพาะส่วนอยู่ในเกณฑ์ดี   โดยวิสัญญีพยาบาลตอบได้คะแนนเฉลี่ย 10.15 ± 1.44  ส่วนใหญ่มีความเข้าใจดี-ดีมาก จำนวนกลุ่มละ 19 คนเท่ากัน ส่วนพชท./พจบ.ตอบได้คะแนนเฉลี่ย 11.45 ± 0.69  ส่วนใหญ่มีความเข้าใจดีมากจำนวน 10 คน   โดยรวมเจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยาส่วนใหญ่มีความเข้าใจดีมาก 29 คน (ร้อยละ58.00) และดี 20 คน (ร้อยละ40.00) (ตารางที่4)

วิจารณ์

จากผลการวิเคราะห์แบบทดสอบแสดงถึงแบบทดสอบมีคุณภาพระดับปานกลาง ไม่ยาก สามารถใช้แยกกลุ่มผู้ตอบที่มีความรู้ความเข้าใจมากกับน้อยได้  ผลการศึกษาพบว่า อายุ และ ประสบการณ์การทำงานด้านวิสัญญีของเจ้าหน้าที่ไม่มีความสัมพันธ์ต่อระดับความเข้าใจ  จากตารางที่1 พบว่าพชท./พจบ.มีคะแนนมากกว่าวิสัญญีพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.01)  โดยพชท./พจบ.มีความเข้าใจอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ส่วนวิสัญญีพยาบาลมีความเข้าใจอยู่ในเกณฑ์ดี (คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 88.08 และ 78.08 ตามลำดับ)    จากตารางที่ 2 พบว่าวิสัญญีพยาบาลกลุ่มที่มีประสบการณ์การทำงาน 11-15 ปีมีคะแนนต่ำสุด (ร้อยละ 76.92)  ฉะนั้นกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการสนับสนุนให้มีการอบรมฟื้นฟูวิชาการมากที่สุด  แต่ทั้ง 4 กลุ่มของพยาบาลค่าคะแนนมีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติทุกกลุ่มมีความเข้าใจอยู่ในเกณฑ์ดี    ส่วนตารางที่ 3 พบว่าพชท./พจบ.ชั้นปีมากขึ้นมีประสบการณ์การทำงานด้านวิสัญญีมากขึ้นกลับมีคะแนนลดลง  มีรายงานการศึกษาของสุวรรณี และคณะ พบอายุเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อผลการสอบภายในภาควิชาวิสัญญีวิทยาของพจบ.ปี 3 โดยกลุ่มที่มีคะแนนสอบสูงมีความสัมพันธ์กับพจบ.ที่อายุน้อย คะแนนเฉลี่ยสะสมเมื่อจบแพทย์สูง และโรงเรียนแพทย์ที่ก่อตั้งมานาน11  เมื่อพิจารณาด้านอายุของแพทย์พบว่า พชท.4/พจบ.3 ที่มีคะแนนต่ำสุดในกลุ่มแพทย์มีอายุเฉลี่ย 27.5 ปี ซึ่งมากที่สุด    อย่างไรก็ตาม คะแนนของแพทย์ชั้นปีที่ต่างกันมีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ทุกกลุ่มยังมีความเข้าใจอยู่ในเกณฑ์ดีมาก(ตารางที่ 3)

พิจารณาจากแบบทดสอบที่ให้เจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยาทำ  ข้อที่มีเจ้าหน้าที่ตอบผิดมากที่สุดคือข้อ13. มีคำถามว่า ผู้ป่วยแพ้ยาชาไม่พบอาการใดต่อไปนี้   มีเจ้าหน้าที่ตอบผิดร้อยละ 60.00  รองลงมาเป็นข้อ 11. ถามว่า  ท่านไม่ถือว่าผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาทจากการทำ spinal block / epidural block เมื่อใด  มีเจ้าหน้าที่ตอบผิดร้อยละ 52.00  เนื่องจากเป็นคำถามเชิงลบอาจทำให้ผู้ตอบเข้าใจผิดได้  แต่อย่างไรก็ตามคำถามเกี่ยวกับอาการแพ้ยาชา ถึงแม้ไม่ใช่ภาวะแทรกซ้อนจากการทำให้ชาเฉพาะส่วนโดยตรง  แต่เจ้าหน้าที่ควรมีความรู้ความเข้าใจอันจะส่งผลถึงการรักษาที่ถูกต้องทันท่วงทีต่อไป   ส่วนคำถามเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาท อาจเนื่องจากเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีโอกาสเกิดน้อยมาก4,5   ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ให้ความสำคัญมากนัก  และอาจส่งผลให้ละเลยไม่ได้ให้คำแนะนำกับผู้ป่วยได้  เพราะถึงแม้จะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีโอกาสพบน้อย  แต่ถ้าเกิดขึ้นกับผู้ป่วยจะส่งผลเสียเป็นอันตรายอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตของร่างกายส่วนล่างทั้งชั่วคราวหรือถาวรได้2-5

                แม้ว่าการให้ยาชาเฉพาะส่วน ผู้ป่วยจะยังมีระดับการรู้สึกตัว แต่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงขั้นรุนแรงได้  Caplan และคณะพบว่าผู้ป่วยซึ่งมีสุขภาพดี 14 รายเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นอย่างเฉียบพลัน (sudden cardiac arrest) หลังได้รับการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง12     เช่นเดียวกับฐิติมาได้รายงานในการสัมมนาวิชาการวิสัญญีพบผู้ป่วยในประเทศไทย 26 รายเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นหลังได้รับการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง 24 ราย และ 2 รายเกิดจากการฉีดยาชาเข้าช่องเอปิดูรัล ในจำนวนนี้ผู้ป่วยได้รับการเฝ้าระวังด้วยเครื่องวัดความดันโลหิตร้อยละ 100, pulse oximetry ร้อยละ 75, และเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจร้อยละ 4513  เห็นได้ว่าโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเนื่องจากขาดการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นส่วนใหญ่   ฉะนั้นเจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยาจึงต้องมีมาตรฐานการเฝ้าระวังผู้ป่วยเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ได้รับการให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป มีรายงานอุบัติการณ์ของภาควิชาวิสัญญีวิทยาโรงพยาบาลศรีนครินทร์เดือนพฤศจิกายน พ..254714    เกี่ยวกับการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง ด้วย 0.5% heavy bupivacaine ในผู้ป่วย ASA physical status 1  พบว่าหลัง block ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำและชีพจรช้ามากจนอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ แม้ว่าระดับการชาจะอยู่ที่สะดือ(analgesic level T10)  เนื่องจากมีการติดเครื่องเฝ้าระวังที่ครบมาตรฐาน ได้แก่ เครื่องวัดความดันโลหิตแบบ noninvasive (NIBP)  เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  และ pulse oximetry  ร่วมกับมีอาจารย์วิสัญญีแพทย์และวิสัญญีพยาบาลผู้ดูแลได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด  จึงสามารถตรวจสอบความผิดปกติได้รวดเร็ว  ส่งผลให้รักษาความผิดปกตินั้นได้ทันท่วงทีทำให้ผู้ป่วยปลอดภัย

                คู่มือ guideline  preoperative  advice15   ของภาควิชาวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางสำหรับเจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยา และนักเรียนวิสัญญีพยาบาล ใช้ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยก่อนการให้บริการด้านวิสัญญี  ข้อที่ 8.ได้กล่าวถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดหลังจากการทำให้ชาเฉพาะส่วน   จากการศึกษาครั้งนี้คณะผู้วิจัยเห็นควรเสนอให้เพิ่มเติมการเฝ้าระวังภาวะชีพจรช้า เป็นภาวะแทรกซ้อนหลังการทำหัตถการ  และเพิ่มเติมอาการแพ้ยาชาเข้าไปด้วย เพื่อทำให้ได้แนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวังและเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ป่วย

จากการศึกษาพบว่าเจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยาโรงพยาบาลศรีนครินทร์  มีความเข้าใจภาวะแทรกซ้อนจากการทำให้ชาเฉพาะส่วนอยู่ในเกณฑ์ดี (คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 80.31) (ตารางที่1,4) เนื่องจากการเป็นโรงเรียนแพทย์  เจ้าหน้าที่ทุกคนทั้งวิสัญญีพยาบาล พชท./พจบ.มีโอกาสได้เฝ้าระวังผู้ป่วยค่อนข้างมาก ทำให้ได้รับประสบการณ์ตรง อีกทั้งมีโอกาสได้รับความรู้ทางวิชาการด้านวิสัญญี เพราะภาควิชาวิสัญญีวิทยามีชั่วโมงวิชาการเป็นประจำทุกเช้าวันพฤหัสบดี-ศุกร์ กรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาก็จะมีการทำ morbidity and mortality conference  ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนสามารถเข้าฟังหรือแสดงความคิดเห็นได้  รวมทั้งภาควิชายังให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ทุกคนให้มีโอกาสได้รับการอบรมฟื้นฟูความรู้ด้านวิสัญญีนอกสถาบันด้วย

 

ตารางที่ 1 ข้อมูลของเจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยา

                เจ้าหน้าที่

พยาบาล

พชท./พจบ.

รวม

จำนวน (คน)

39 (78.00)

11 (22.00)

50 (100.00)

อายุ (ปี)

38.95 ± 5.58

26.36 ± 1.36

36.18 ± 7.23

ประสบการณ์ (ปี)

9.41 ± 6.06

1.64 ± 0.81

7.70 ± 6.26

คะแนน

10.15 ± 1.44*

11.45 ± 0.69*

10.44 ± 1.42

คะแนนเฉลี่ย (%)

78.08*

88.08*

80.31

นำเสนอเป็น n(%) และ mean ± SD

* p =0.01    

 

ตารางที่ 2 ข้อมูลของวิสัญญีพยาบาลแยกตามประสบการณ์การทำงานด้านวิสัญญี

ข้อมูล

ช่วงเวลาในการทำงานด้านวิสัญญี

0-5

6-10

11-15

>15

จำนวน (คน)

7 (17.95)

20 (51.28)

6 (15.38)

6 (15.38)

อายุ (ปี)

31.86 ± 5.34

39.20 ± 3.94

40.00 ± 3.58

45.33 ± 3.14

ประสบการณ์ (ปี)

2.00 ± 2.24

7.75 ± 1.07

11.83 ± 0.75

21.17 ± 2.64

คะแนน

10.14 ± 1.77

10.10 ± 1.33

 

10.00 ± 1.79

 

10.50 ± 1.38

 

คะแนนเฉลี่ย (%)

 

78.00

77.69

76.92

80.77

 นำเสนอเป็น n (%) และ mean ± SD

 

ตารางที่ 3     ข้อมูลของแพทย์แยกตามชั้นปี

ข้อมูล

ชั้นปีแพทย์

พชท.2/พจบ.1

พชท.3/พจบ.2

พชท.4/พจบ.3

จำนวน (คน)

6 (54.54)

3 (27.27)

2 (18.18)

อายุ (ปี)

26.16 ± 1.72

26.00

27.50 ± 0.71

ประสบการณ์ (ปี)

1

2

3

คะแนน

11.67 ± 0.52

11.33 ± 1.15

11.00

คะแนนเฉลี่ย (%)

89.77

87.15

84.62

นำเสนอเป็น n (%) และ mean ± SD

 

ตารางที่ 4    ระดับความเข้าใจของเจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยา

ระดับความเข้าใจ

คะแนน (%)

พยาบาล

พชท./พจบ.

รวม

น้อย

0-30

0 (0 .00)

 

0 (0.00)

 

0 (0.00)

 

ปานกลาง

31-60

1 (7.69)

0 (0.00)

1 (2.00)

ดี

61-80

19 (48.72)

1 (9.09)

20 (40.00)

ดีมาก

³81

19 (48.72)

10 (90.91)

29 (58.00)

นำเสนอเป็น n (%) 

สรุป

                เจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยาโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีความเข้าใจภาวะแทรกซ้อนจากการให้ยาชาเฉพาะส่วนอยู่ในเกณฑ์ดี โดยวิสัญญีพยาบาลมีความเข้าใจดีซึ่งควรได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ส่วนพชท./ พจบ.มีความเข้าใจดีมาก

กิตติกรรมประกาศ

                คณะผู้วิจัยขอขอบคุณ เจ้าหน้าที่วิสัญญีวิทยาโรงพยาบาลศรีนครินทร์ทุกคน ที่ให้ความร่วมมือในการตอบแบบทดสอบ   ขอบคุณ  คุณพวงพยอม  แก้วพิลา หน่วยแพทยศาสตรศึกษา  และ คุณพูลทรัพย์  อาจศัตรู  หน่วยระบาดวิทยา   ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจนการศึกษาสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง

1.        ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2546: 21-2.

2.        เทพกร สาธิตการมณี. Spinal และ epidural block. ใน: วราภรณ์ เชื้ออินทร์, ดีนา อารยะสัจพงษ์, สมบูรณ์ เทียนทอง, บรรณาธิการ. วิสัญญีวิทยา.พิมพ์ครั้งที่ 4. ขอนแก่น: ศิริภัณฑ์ ออฟเซ็ท, 2542: 215-28. 

3.        พนารัตน์ รัตนสุวรรณ ยิ้มแย้ม. การทำให้ชาเฉพาะส่วน(regional anesthesia). ใน: วราภรณ์ เชื้ออินทร์, สรรชัย ธีรพงศ์ภักดี, บรรณาธิการ. วิสัญญีวิทยา.พิมพ์ครั้งที่ 5. ขอนแก่น: คลังนานาวิทยา, 2547: 295-328.

4.        Brown DL. Spinal, epidural, and caudal anesthesia. In: Miller RD, ed. Anesthesia. 5th ed. Philadelphia: Churchill livingstone, 2000: 1491-519.

5.        Gerander JC, Spencer SL. Complication of neuraxial (spinal / epidural / caudal) anesthesia. In: Benumof JL, Saidman LJ, eds. Anesthesia and perioperative complications. 2nd ed. St. Louis Missouri: Mosby, 1999: 50-65.

6.        เทพกร สาธิตการมณี. ยาชาเฉพาะที่. ใน: วราภรณ์ เชื้ออินทร์, ดีนา อารยะสัจพงษ์, สมบูรณ์ เทียนทอง, บรรณาธิการ. วิสัญญีวิทยา.พิมพ์ครั้งที่ 4. ขอนแก่น: ศิริภัณฑ์ ออฟเซ็ท, 2542: 203-14.

7.        กชกร พลาชีวะ, วราภรณ์ เชื้ออินทร์, เพ็ญวิสา แนวทอง, กาญจนา อุปปัญ, รัดดา กำหอม. ภาวะแทรกซ้อนจากการให้ยาระงับความรู้สึกโดยวิธีฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังในโรงพยาบาลศรีนครินทร์. วิสัญญีสาร 2544; 27: 13-20.

8.        เอกสารประกอบการประเมินการพัฒนาคุณภาพ (HA) ฉบับที่2/3. แนวทางการให้บริการวิสัญญีวิทยา. ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2544: 6.

9.        มะลิ รุ่งเรืองวานิช, โฉมชบา สิรินันทน์, อุไร เบญจพงศาพันธุ์, เพ็ญนภา อริยะพณิช, อารีรัตน์ ทรงเกียรติกวิน. ความรู้ เจตคติ และความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการเตรียมความพร้อมก่อนได้รับยาระงับความรู้สึก. วิสัญญีสาร 2544; 27: 139-49.

10.     วินิตา จีราระรื่นศักดิ์, วราภรณ์  เชื้ออินทร์, สุทธินี จริยะวิสุทธิ์, ทิพยวรรณ มุกนำพร, และคณะ. ความพึงพอใจของผู้รับบริการวิสัญญีในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น. วิสัญญีสาร 2545; 28: 215-25.

11.     สุวรรณี สุรเศรณีวงศ์, อังกาบ ประการรัตน์, วรภา สุวรรณจินดา, สุทธิพล อุดมพันธุรัก, เสาวลักษณ์ ฮุนนากูร. ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านวิสัญญีวิทยา. วิสัญญีสาร 2541; 24: 206-10.

12.     Caplan RA, Ward RJ, Posner K, Cheney FW. Unexpected cardiac arrest during spinal anesthesia: A closed claims analysis of predisposing factors. Anesthesiology 1988; 68:5-11.

13.     ฐิติมา ชินะโชติ. SOS Thailand: An overview of cases in Thailand. Cardiac arrest during spinal and epidural anesthesia. เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, 28 ส.ค. 2547.

14.     ทะเบียนรายงานอุบัติการณ์. ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2547: 35.

15.     เอกสารประกอบการประเมินการพัฒนาคุณภาพ (HA) ฉบับที่2/3. คู่มือ guideline preoperative advice. ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2544: 8-11.

 

 

 

 

 

Untitled Document
Article Location

Untitled Document
Article Option
       Abstract
       Fulltext
       PDF File
Untitled Document
 
ทำหน้าที่ ดึง Collection ที่เกี่ยวข้อง แสดง บทความ ตามที่ีมีใน collection ที่มีใน list Untitled Document
Another articles
in this topic collection

Surveillance of and Risk Fztors for Difficult Intubation At Srinagarind Hosipital (การเฝ้าระวังการใส่ท่อช่วยหายใจลำบากระหว่างการวางยาระงับความรู้สึกในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง)
 
Surveillance of Drug Error during Anesthesia at Srinagarind Hospital Khon Kaen University (การเฝ้าระวังความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
 
Incidence of Anesthesia-Associated Cardiac Arrest And Related Factors At Srinagarind Hospital (อุบัติการณ์ภาวะหัวใจหยุดเต้นและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการระงับความรู้สึกในโรงพยาบาลศรีนครินทร์)
 
New Trend Anesthesia for Cesarean Section (แนวโน้มการให้ยาระงับความรู้สึกเพื่อผ่าตัดคลอด)
 
<More>
Untitled Document
 
This article is under
this collection.

Anesthesia
 
 
 
 
Srinagarind Medical Journal,Faculty of Medicine, Khon Kaen University. Copy Right © All Rights Reserved.
 
 
 
 

 


Warning: Unknown: Your script possibly relies on a session side-effect which existed until PHP 4.2.3. Please be advised that the session extension does not consider global variables as a source of data, unless register_globals is enabled. You can disable this functionality and this warning by setting session.bug_compat_42 or session.bug_compat_warn to off, respectively in Unknown on line 0