Untitled Document
 
 
 
 
Untitled Document
Home
Current issue
Past issues
Topic collections
Search
e-journal Editor page

Clinical Practice Guidelines for Traumatic Vascular Injury of Hand in Srinagarind Hospital

แนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บมีแผลเปิดบริเวณมือและมีเส้นเลือดบาดเจ็บในโรงพยาบาลศรีนครินทร์

Chaiyos Vinitpairot (ชัยยศ วินิจไพโรจน์) 1, Nakarin Nimpisut (นครินทร์ นิ่มพิศุทธิ์) 2, Settapon Wattanakamolchai (เศรษฐพล วัฒนากมลชัย) 3, Tala Thammaroj (ธรา ธรรมโรจน์) 4, Surut Jianmongkol (สุรัตน์ เจียรณ์มงคล) 5




มือของมนุษย์ เป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อนทางกายวิภาค แต่ละกายวิภาคมีหน้าที่ที่หลากหลาย เนื่องจากลักษณะของมือเป็นรยางค์ยื่นออกไปจากร่างกายและใช้งานในหลากหลายรูปแบบจึงมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและขาดเลือดได้มาก การบาดเจ็บทางมือชนิดมีแผลเป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยมีความรุนแรงมากน้อยต่างกันไปตั้งแต่บาดแผลที่ผิวหนังธรรมดา จนกระทั่งนิ้วหรือมือขาด แต่ในแผลบริเวณมือโดยทั่วไปหากไม่ได้รับการประเมินอย่างละเอียด ครบถ้วน อาจทำให้พลาดการบาดเจ็บของอวัยวะบางอย่างไปได้ มีผู้ป่วยหลายรายที่ต้องมาทำการรักษาบูรณะมือหรือข้อมือในภายหลังเนื่องจากการวินิจฉัยผิดพลาดในเบื้องต้นและได้ผลลัพธ์การรักษาที่ไม่ดีเท่าที่ควร ผู้นิพนธ์จึงได้รวบรวมความรู้และแนวทางปฏิบัติในการประเมินผู้ป่วยที่มีแผลบริเวณมือ ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ระหว่างผ่าตัด รวมถึงแนวทางการติดตามผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่ต้องซ่อมเส้นเลือด เพื่อลดความผิดพลาดในการดูแลผู้ป่วยที่มีแผลบริเวณมือ

 

Hands have sophisticated anatomy, and each anatomy has its own ubiquitous functions. Because of the nature of the upper extremity, it is susceptible to injury and ischemia. Hand injuries range from laceration wounds to amputation. Neglected injury to some structures of the hand often occurs. An open wound on hand does not mean only a skin problem; otherwise, the first doctor who evaluates the patient should recognize the vital organ that is capable of devastating injury. Misdiagnosis of the structure at hand leads to a poor outcome, despite the late reconstruction. To reduce neglected injuries, the authors reviewed the literature and developed clinical practice guidelines for evaluating open hand injuries during the pre-, intra-, and post-operative periods.

บทนำ

          การบาดเจ็บทางมือชนิดมีแผลเปิด (Open hand injury) คือการบาดเจ็บบริเวณตั้งแต่ปลายนิ้วจนถึงข้อมือที่มีแผลเปิด รวมทั้งการบาดเจ็บลักษณะนิ้วหรือมือขาดจากอุบัติเหตุ (Amputation)

          การบาดเจ็บทางมือชนิดมีแผลเปิด พบได้บ่อย มีความรุนแรงตั้งแต่ระดับน้อยไปถึงมาก การรักษาเบื้องต้นส่วนใหญ่มักถูกทำในโรงพยาบาลระดับอำเภอหรือจังหวัด ความเข้าใจในการประเมินการบาดเจ็บ การดูแลรักษาเบื้องต้นอย่างถูกต้อง นำมาซึ่งผลลัพธ์ในการรักษาที่ดี หากการดูแลรักษาเบื้องต้นทำได้ไม่ดี แม้ว่าผู้ป่วยจะถูกส่งต่อมารักษากับศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญก็ไม่อาจจะให้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีได้ ฉะนั้นการตรวจประเมินเบื้องต้นและการตัดสินใจส่งต่อผู้ป่วยเพื่อทำการรักษากับศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในระยะเวลาที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญมาก

          การตรวจประเมินที่สำคัญเช่น การบาดเจ็บต่อเส้นเลือด เส้นประสาท เส้นเอ็น หากได้รับการประเมินที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้การรักษาไม่ทันเวลาอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียอวัยวะส่วนนั้น หรือสูญเสียการทำงานของมือไปอย่างถาวร นอกจากนั้น การประเมินและรักษาในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม จะนำมาสู่การรักษาที่ยากขึ้น ให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีเท่ากับการรักษาในช่วงเวลาที่บาดเจ็บระยะแรก ต้องทำการผ่าตัดที่ซับซ้อนมากขึ้น อย่างไรก็ตามการตรวจร่างกายโดยละเอียดในแต่ละโครงสร้างสำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป มีรายละเอียดมาก ในที่นี้ผู้นิพนธ์จะเน้นถึงการประเมินที่สำคัญเพื่อป้องกันการสูญเสียอวัยวะจากการขาดเลือดเป็นหลัก

          ผู้นิพนธ์ได้พบปัญหาที่เกิดขึ้น และนำปัญหาประชุมอภิปรายร่วมในกลุ่มศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ผู้เชี่ยวชาญทางมือที่ได้ทำการรักษาเพื่อทบทวน และรวบรวมแนวทางการประเมินการบาดเจ็บทางมือชนิดมีบาดแผลเปิดเพื่อ เป็นแนวทางการประเมินและดูแลในเวชปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ตลอดจนลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องของแพทย์ที่ต้องให้การรักษาดูแลผู้ป่วย

การประเมินผู้ป่วยก่อนผ่าตัด

          การซักประวัติ รายละเอียด มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการบอกพยากรณ์ของโรค เช่น อายุ ระยะเวลาที่ได้รับบาดเจ็บ ระยะเวลาขาดเลือดที่เหมาะสมในการทำการต่อเส้นเลือด คือ 12 ชั่วโมงที่อุณหภูมิห้อง หรือ 24  ชั่วโมงที่อุณหภูมิต่ำ ของการบาดเจ็บของเส้นเลือดที่ปลายต่อข้อมือ และ 6 ชั่วโมงที่อุณหภูมิห้อง หรือ 12 ชั่วโมงที่อุณหภูมิต่ำ ของการบาดเจ็บส่วนที่ต้นกว่าข้อมือ หากเป็นอุบัติเหตุที่รุนแรง การบาดเจ็บประเภทถูกทับ บด ขยี้  (Crush injury) หรือ ถูกกระชาก (Avulsion injury) บ่งบอกถึงพยากรณ์โรคที่ไม่ดี และการบาดเจ็บที่มากกว่าการบาดเจ็บประเภทแผลโดนของมีคม (Cut wound) หรือการถูกคนหรือสัตว์กัด จะมีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าบาดแผลทั่วไป

          ประวัติการบาดเจ็บอวัยวะบริเวณอื่นเช่น ศีรษะ สาเหตุของการเกิดการบาดเจ็บ เช่น หมดสติ วูบ ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ ประวัติการสูบบุหรี่ โรคประจำตัวเพื่อหาภาวะโรคร่วม ประวัติการรับวัคซีนป้องกันบาดทะยัก อุบัติเหตุรอบก่อนหน้า การใช้งานเดิมของมือผู้ป่วย สถานที่เกิดเหตุเช่น ฟาร์ม โรงงานอุตสาหกรรม ร้านอาหาร ตลาดสด เป็นต้น

          การตรวจร่างกายต้องหาภาวะฉุกเฉินที่ถึงแก่ชีวิตก่อนโดยหลักการการช่วยชีวิตการบาดเจ็บขั้นสูง (Advanced Trauma Life Support) โดยเฉพาะสัญญาณชีพ(Vital sign) ต่างๆมีความสำคัญอย่างมาก หลังจากนั้นจึงพิจารณาการตรวจร่างกายบริเวณรยางค์ ซึ่งการตรวจเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงรยางค์เป็นการตรวจที่สำคัญลำดับถัดมา การตรวจร่างกายอาจทำได้ยากในระยะแรก เนื่องจาก อาการปวด การผิดรูป และการปนเปื้อนต่างๆ  การดู (Inspection) เป็นการตรวจร่างกายที่สำคัญ และสามารถทำได้ในห้องฉุกเฉิน เช่น สีของมือ นิ้ว เทียบกับบริเวณที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ ประเมินบาดแผล สิ่งสกปรกที่ปนเปื้อน ขนาดของแผล  ลักษณะผิดรูปของนิ้วต่าง ๆ เช่น การเรียงตัวของนิ้วตามปกติ (Finger cascade)1

การตรวจร่างกายที่ต้องคลำเช่น Capillary refill หรืออุณหภูมิของนิ้วผู้ป่วย คลำ Radial และ Ulnar pulse บริเวณข้อมือ หากคลำไม่พบสามารถใช้เครื่อง Doppler Ultrasound มาช่วยได้ ผู้นิพนธ์ไม่แนะนำการใช้เข็มเจาะบริเวณปลายนิ้วเพื่อดูว่ามีเลือดไหลหรือไม่ เพราะจะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นบาดเจ็บและตายได้ นอกจากนั้นจะกระทบกับเส้นเลือดฝอยเล็กๆบริเวณปลายนิ้วนำมาสู่การขาดเลือดเพิ่มเติม การประเมินความรู้สึกง่าย ๆ เช่น Light touch การตรวจ Two-point discrimination ที่ได้ผลมากกว่า 6 มิลลิเมตร ถือว่าผิดปกติ แต่ในสถานการณ์จริง อุปกรณ์ที่ใช้ตรวจนั้นอาจจะไม่มีใช้โดยทั่วไป การใช้คลิปหนีบกระดาษมาวัดระยะห่างกับไม้บรรทัดทดแทนได้ การตรวจการรับความรู้สึกในนิ้วมือ ให้ตรวจบริเวณด้านข้างของนิ้วทั้งด้าน Radial และ Ulnar  นอกจากนั้นแล้วควรประเมินบริเวณที่เส้นประสาท Median Ulnar และ Radial มาเลี้ยงให้ครบ เหตุการณ์ที่พบได้บ่อยคือผู้ป่วยได้รับการทำ Digital nerve block มาจากแพทย์คนก่อนหน้าจึงไม่สามารถตรวจประเมินเส้นประสาทได้ หากไม่พบเส้นประสาทขาดบริเวณแผลชัดเจนและไม่มีข้อเร่งด่วนอื่นๆ แพทย์ควรรอตรวจตอนยาชาหมดฤทธิ์ก่อนจะทำการเย็บปิดแผล การตรวจเส้นเอ็นหากผู้ป่วยสามารถขยับได้ สามารถให้ผู้ป่วยลองขยับเองได้ หากผู้ป่วยไม่สามารถขยับได้เลย การดูความตึง หรือ tone ของนิ้วมือ จะเป็นข้อสังเกตได้เบื้องต้นว่าผู้ป่วยมีการบาดเจ็บต่อเส้นเอ็น

ภาพฉายรังสีของมือและข้อมือช่วยในการวินิจฉัยภาวะกระดูกหักและข้อเคลื่อนได้ การตรวจร่างกายที่แม่นยำ เช่นจุดกดเจ็บ บริเวณที่บวม หรือฟองมันจากไขกระดูกไหลออกมาจากแผล จะนำมาสู่การเลือกภาพถ่ายรังสี และการวินิจฉัยที่ถูกต้อง บริเวณที่มักจะถูกวินิจฉัยพลาดบ่อยคือ กระดูกข้อมือ แพทย์ควรทำความคุ้นเคยกับภาพถ่ายรังสีปกติของข้อมือ หากไม่แน่ใจควรทำการปรึกษาผู้ที่เชี่ยวชาญกว่า แนวปฏิบัติในการประเมินการบาดเจ็บเบื้องต้นแสดงในตารางที่ 1 การใช้คะแนนในการประเมินการบาดเจ็บของมือ เช่น Tic-Tac-Toe systemใช้เฉพาะในกรณีที่มีการบาดเจ็บรุนแรงมากบริเวณมือ Mangle Extremities Severity Score (MESS) ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้กับการบาดเจ็บที่มือ หรือHand Injury Severity Score (HISS)ก็ไม่เหมาะต่อการใช้ประเมินผู้ป่วยเบื้องต้นหรือบอกแนวทางการรักษา การใช้คะแนนต่าง ๆ ในการประเมินการบาดเจ็บทางมือจึงยังไม่เป็นที่ใช้แพร่หลายมากนัก ในปัจจุบันจึงมีการพยายามพัฒนาการใช้คะแนนประเมินการบาดเจ็บทางมือขึ้นมาใหม่เช่น Curtis Hand Injury Matrix score (CHIM score) เป็นต้น2-5

นอกจากการประเมินเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว หากแพทย์ผู้ทำการรักษาได้ทำการรักษาผ่าตัดผู้ป่วย การประเมินการบาดเจ็บในขณะผ่าตัด มีความสำคัญอย่างมาก เช่นการผ่าตัดเพื่อดูเส้นเลือด เส้นประสาท หรือเส้นเอ็น ควรทำการบันทึกในแบบรายงานผู้ป่วยอย่างครบและละเอียดถี่ถ้วน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการรักษาในครั้งต่อไป หรือการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อทำการรักษายังแพทย์ท่านอื่น แนวปฏิบัติในการประเมินผู้ป่วยในระหว่างผ่าตัดแสดงในตารางที่ 2

แนวทางการดูแลผู้ป่วยและการผ่าตัด

            นอกจากการตรวจร่างกายแล้ว การดูแลเบื้องต้น เช่นการเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ถูกตัดขาด มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อผลการรักษา การเก็บรักษาส่วนของรยางค์ที่ถูกตัดขาด ควรเริ่มจากการใช้น้ำเกลือ ล้างส่วนที่เป็น สิ่งสกปรกที่มองเห็นได้ ออกเท่าที่ทำได้ แล้วห่อด้วยผ้ากอซที่ชุ่มด้วยน้ำเกลือ ใส่ถุงพลาสติกแล้วจึงวางในน้ำแข็งและใส่ในกล่องเก็บความเย็น ไม่ควรให้ส่วนของรยางค์ที่ถูกตัดขาดสัมผัสโดยตรงกับน้ำแข็งเพราะจะทำให้เกิด การบาดเจ็บจากความเย็น(Froze bite injury) และทำให้เกิดเนื้อเยื่อตายตามมาได้ นอกจากนี้แล้วผู้ป่วยควรได้รับ ยาปฏิชีวนะ วัคซีนบาดทะยัก หรือวัคซีนพิษสุนัขบ้า ตามลักษณะบาดแผล

          ส่วนตอ หรือบริเวณแผล หากมีการปนเปื้อนหรือสกปรกมาก ให้ใช้ saline ล้างออกเท่าที่ทำได้ หากมี เลือดไหลมาก ให้ใช้ผ้ากอซกดโดยตรงบริเวณมีเลือดไหล(Direct pressure) แพทย์ควรใช้เทคนิคที่ปราศจากเชื้อ หลีกเลี่ยงการใช้สายรัดห้ามเลือด (Tourniquet) รัดเพื่อห้ามเลือด เนื่องจากจะทำให้เกิดภาวะขาดเลือดของส่วนปลายต่อสายรัดห้ามเลือด แล้วทำให้ผลการรักษาแย่ลงได้ บริเวณที่มีแผลหากผู้ป่วยสวมแหวน กำไลข้อมือ นาฬิกาหรือเครื่องประดับที่มีลักษณะเป็นวงแหวน ให้ตัด หรือถอดออกให้หมด เนื่องจากมือจะบวมขึ้น และทำให้เกิด แผลเป็นหดรั้งเป็นรูปวงแหวน(Constriction ring) ได้ในเวลาไม่ถึง 24ชั่วโมงหลังมีการบาดเจ็บ

          Del Pinal และคณะ6 ได้อธิบายถึงความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บประเภทที่ถูกบดขยี้ ซึ่งมักจะมีการบาดเจ็บมากกว่าที่เห็นจากภายนอกเช่น เส้นเลือดที่บาดเจ็บทำให้มีเลือดคั่ง กล้ามเนื้อที่บาดเจ็บ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จะนำมาซึ่งอาการบวม ขาดเลือด เนื่องจากเกิด Compartment syndrome และทำให้สูญเสียนิ้ว หรือมือไปได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง การรักษาให้กลับมาใช้งานใกล้เคียงเดิม ทำได้ยากแม้อยู่ในมือผู้เชี่ยวชาญ

การดูแลรักษาจะต้องนึกถึงองค์ประกอบหลักสี่อย่าง คือ การผ่าตัดล้างแผล(Debridement), การยึดตรึงกระดูก(Bone fixation), การซ่อมเส้นเลือดและเส้นประสาท และการจัดการกับผิวหนังบริเวณที่เป็นช่องว่างที่ไม่สามารถเย็บปิดได้

1.    การผ่าตัดล้างแผล เนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณมือนั้นมีความละเอียดและซับซ้อนทั้งในเรื่องของกายวิภาค และการใช้งาน ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด ควรศึกษาหรือเตรียมตัวก่อนการทำการผ่าตัด วางแผนการรักษาและมองเห็นภาพแนวทางการรักษาไปจนสิ้นสุด ของผู้ป่วยในแต่ละราย การผ่าตัดล้างแผลเริ่มต้นจากการกำจัดสิ่งสกปรก และปนเปื้อนชิ้นใหญ่ก่อน จากนั้นตัดบริเวณเนื้อเยื่อที่ตายออก การตัดเนื้อเยื่อนั้นสิ่งที่สำคัญคือต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงข้อดีข้อเสีย ความสำคัญ หรือการที่จะบูรณะกลับมาให้ใกล้เคียงเดิม ว่าสามารถทำได้หรือไม่ การผ่าตัดล้างแผลอาจจะต้องทำหลายครั้ง เพื่อพิจารณาว่ามีการติดเชื้อหรือยังมีสิ่งสกปรกค้างอยู่ มีเนื้อเยื่อบริเวณใดที่ขาดเลือดหรือตายลงในภายหลัง

2.    การยึดตรึงกระดูก ในกรณีที่นิ้วหรือมือขาดเลือดควรเลือกทำวิธีที่ใช้เวลาน้อยที่สุด การเสียเวลากับการพยายามทำ ยึดตรึงกระดูกมากเกินไป หรือการทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บเพิ่มเติมด้วยการเปิดแผลเพิ่ม จากการใส่ที่ยึดกระดูกชนิดต่างๆ จะส่งผลเสียต่อเนื้อเยื่อโดยรอบ และอาจสูญเสียนิ้วได้ ในกรณีของนิ้วหรือมือที่ถูกตัดขาด มักจะต้องตัดกระดูกให้สั้นเพื่อให้การต่อเส้นเลือดและเส้นประสาทเป็นไปได้ดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดต่อเส้นเลือด

3.    เส้นเลือดและเส้นประสาท การซ่อมเส้นเลือดหรือเส้นประสาทขึ้นอยู่กับบริเวณที่บาดเจ็บ หากบริเวณที่บาดเจ็บเป็นบริเวณที่มีกล้ามเนื้อเยอะ เช่น ข้อมือ หรือเหนือต่อข้อมือ การซ่อมเส้นเลือดแดงมีความจำเป็นต้องทำก่อน เนื่องจากบริเวณที่มีกล้ามเนื้อทนการขาดเลือดได้ไม่นาน การเย็บต่อหลอดเลือดดำ หรือ หลอดเลือดแดง ลำดับก่อนหลังขึ้นอยู่กับศัลยแพทย์มีความเชี่ยวชาญแบบใด หากความยาวไม่พอ สามารถตัดกระดูกสั้นลง Mobilization vessel หรือใช้ Vascular graft ได้

4.   บริเวณที่ไม่สามารถเย็บปิดผิวหนังคลุมได้หมด ต้องวางแผนเพื่อทำการรักษาตามหลักการบูรณะบาดแผล ( Soft tissue reconstruction) เช่น Local, Regional หรือ Free tissue transfer

 

การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด

          ผู้ป่วยที่ได้รับการต่อเส้นเลือดควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วง 72 ชั่วโมงแรก โดยควรมีการติดตามดูสี อุณหภูมิ Capillary refill อย่างน้อยครั้งละ 2 ชั่วโมง โดยแพทย์ พยาบาลที่มีประสบการณ์ สภาพแวดล้อมจำเป็นที่จะต้องอยู่ในพื้นที่ที่สงบ งดเยี่ยมหรือรบกวนโดยไม่จำเป็น ให้ยาแก้ปวดอย่างเพียงพอ การจดบันทึกเช่น อุณหภูมิ หรือ Capillary refill เป็นวิธีการสื่อสารกันที่ดีภายในทีม การพิจารณาจากภาพถ่ายสีของนิ้วนั้นมีความแปรปรวนค่อนข้างเยอะ ควรใช้ความระมัดระวังต้องมี แพทย์หรือพยาบาลมาติดตามอาการอย่างใกล้ชิด การใช้เครื่อง Vascular doppler ช่วยในบางกรณี การใช้แสงไฟอุ่นนั้นไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาและอาจทำให้เกิดบาดแผลจากความร้อน การดื่มชากาแฟยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเช่นกันว่ามีผลต่อการรักษา7

          ในปี ค.. 1978 Ketchum 8ได้เสนอการให้ยาที่ลดการแข็งตัวของเกร็ดเลือด ไฟบริน หรือลดความเข้มข้นของเลือดช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการทำปลูกถ่ายผิวหนังที่ต้องต่อเส้นเลือดโดยยาที่มีผลช่วยในเรื่องของเส้นเลือดแดงอุดตันคือ ยากลุ่มแอสไพริน, เดกซ์แทรน(Dextran) และยาที่มีผลช่วยในเรื่องเส้นเลือดดำอุดตันคือ ยากลุ่มเฮปาริน(Heparin) ในทางทฤษฎีนั้นเชื่อว่ายากลุ่มนี้มีผลช่วยป้องกันเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำอุดตัน แต่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนทฤษฎีดังกล่าวมากนักโดย หลักฐานเชิงประจักษ์ ในปัจจุบันยังไม่พบว่าการให้ยาเหล่านี้ช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการต่อเส้นเลือด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีคุณภาพสูงเพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยดังกล่าว ในทางปฏิบัติคณะผู้นิพนธ์ให้ เดกซ์แทรน กับคนไข้ทุกรายที่ได้รับการต่อเส้นเลือด และไม่มีข้อห้ามในการให้ เดกซ์แทรน โดยให้เป็นระยะเวลา 5 วันหลังผ่าตัดหลังจากนั้นจะให้รับประทานแอสไพริน ขนาด 325 มิลลิกรัมต่ออีก 1 เดือน การให้เฮปารินนั้นจะให้ในรายที่มีความเสี่ยงสูงเช่นต่อนิ้วหลายนิ้ว หรือมีลักษณะการอุดตันของเส้นเลือดดำ การให้ยาชานั้นจะใช้หยอดบริเวณรอยต่อของเส้นเลือด เพื่อลดการหดรัดของเส้นเลือด(Vasospasm) 9-14แนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดแสดงในตารางที่ 3 และรูปที่ 1

          หลังจากแผลเริ่มแห้งดี และเส้นเลือดแข็งแรงดีแล้วหลังจากสัปดาห์ที่ 2 เป็นต้นไป จะให้เริ่มทำกายภาพโดยเน้นตามหัวข้อ เช่น การลดบวม การดูแลแผล การขยับข้อทั้งในแบบ Passive และ Active สอนการรับความรู้สึก(Sensory re-education) การสร้างความแข็งแรง และการฝึกทักษะเพื่อกลับไปทำงาน15

 

ตารางที่ 1 แนวทางการประเมินผู้ป่วยที่มีบาดแผลบริเวณมือก่อนผ่าตัด

History

·         Comorbidities: _______

·         Tetanus status, Rabies

Fully vaccinated   Incomplete last dose : ________________

·         Hand dominance

Right        Left

·         Patient occupation & baseline function : ________________

·         Patient preference : ________

·         Mechanism of injury

Sharp cut Crush Avulsion Blast Others : ____________

Physical Examination

1.   Wound

Clean Dirty Foreign body

2.   Vascular examination

·         Color

    • Temperature ________ celcius
    • Capillary refill ________ seconds
    • Oxygen saturation  __________ %
    • Pulsatile bleeding      yes no
    • Radial artery pulse    yes no
    • ulnar artery pulse      yes no

3.Nerve

    • Radial side of digit     normal decreased Absence
    • Ulnar side of digit      normal decreased Absence
    • Median                             normal decreased Absence
    • Radial                     normal decreased Absence
    • Ulnar                      normal decreased Absence

4.Bone

    • Deformity                yes  no
    • Active and passive ROM        normal Limit due to ________
    • X-Ray : PA, Lateral, Oblique views, ulnar deviation Findings: __________

5. Extensor tendon                        normal abnormal

6. Flexor tendon                 normal abnormal

7.Skin

    • Geometry of wound _________
    • Size___________ cm2
    • Skin defect at________

ตารางที่ 2  แนวทางการประเมินผู้ป่วยที่มีบาดแผลบริเวณมือในขณะผ่าตัด

1.  Foreign body                yes  no

2.  Bone                               fracture  no fracture

3.  Extensor tendon __________________

4.  Flexor tendon __________________________

5.  Vascular after tourniquet down

·      Color ___________________

·      Temperature ____________

·      Capillary refill _________secs

6.  Nerve     ___________________

7.  Skin defect _______________cm2

ตารางที่  3  แนวทางการดูแลผู้ป่วยที่มีบาดแผลบริเวณมือหลังผ่าตัด

One day order

Continuous order

Day 0

-          Off NPO

-          5% DN/2 IV____ ml/hr

-          Morphine ___mg IV prn q4h

-          Plasil ____mg IV prn q8h

-          Retain foley catheter

Day____

       5% DN/2 IV 100 ml/hr

       Morphine 4mg IV prn q4h

       Plasil 10 mg IV prn q8h

       Dressing wound

Heparin 5,000 IU IV Bolus

Heparin 12,500 IU+100 mL IV in 30 minutes then Heparin 12,500 IU+5%DN/2 1,000 ml IV drip 20 ml/hr

aPTT q8h keep 1.5x (50-70)

Bleeding technique

Rest the arm on pillow cage

Avoid flexion of the elbow

-          Record vital sign

-          Record color, capillary refill, temperature at tip finger q2h

-          Isolation

-          Absolute bed rest

-          Restriction of caffeine

 

Med

-          Cefazolin 1 g IV q8h

-          Dextran IV drip 20 ml/hr

-          ASA gr V 1 tab po pc od

-          Paracetamol 2 tabs po prn q4-6h

     Naproxen (250) 1 tab po pc od

       Nortriptyline (25) 1 tab po bid

       Ativan (1) 1 tab po bid

       Neurontin (300) 1 tab po bid

 

 

รูปที่ 1  แนวทางการดูแลหลังผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยที่มีบาดแผลบริเวณมือและได้รับการซ่อมเส้นเลือด

 

Reference

1.    Tosti R, Eberlin KR. "Damage Control" Hand surgery: evaluation and emergency management of the mangled hand. Hand Clin 2018;34(1):17-26. doi:10.1016/j.hcl.2017.09.002

2.    Weinzweig J, Weinzweig N. The "Tic-Tac-Toe" classification system for mutilating injuries of the hand. Plast Reconstr Surg 1997;100(5):1200-11. doi:10.1097/00006534-199710000-00020

3.    Slauterbeck JR, Britton C, Moneim MS, Clevenger FW. Mangled extremity severity score: an accurate guide to treatment of the severely injured upper extremity. J Orthop Trauma 1994;8(4):282-5. doi:10.1097/00005131-199408000-00002

4.    Campbell DA, Kay SP. The hand injury severity scoring system. J Hand Surg Br 1996;21(3):295-8. doi:10.1016/s0266-7681(05)80187-1

5.    Shipp MM, Cho BH, Sanghavi KK, Daly CA, Giladi AM. The curtis hand injury matrix score: determining the need for specialized upper extremity care. J Hand Surg Am 2022;47(1):43-53.e4. doi:10.1016/j.jhsa.2021.07.034

6.    Del Piñal F, Urrutia E, Klich M. Severe Crush injury to the forearm and hand: the role of microsurgery. Clin Plast Surg 2017;44(2):233-55. doi:10.1016/j.cps.2016.11.002

7.    Prsic A, Friedrich JB. Postoperative management and rehabilitation of the replanted or revascularized digit. Hand Clin 2019;35(2):221-229. doi:10.1016/j.hcl.2019.01.003

8.    Ketchum LD. Pharmacological alterations in the clotting mechanism: use in microvascular surgery. J Hand Surg Am 1978;3(5):407-15. doi:10.1016/s0363-5023(78)80133-6

9.    Sun TB, Chien SH, Lee JT, Cheng LF, Hsu LP, Chen PR. Is dextran infusion as an antithrombotic agent necessary in microvascular reconstruction of the upper aerodigestive tract?. J Reconstr Microsurg 2003;19(7):463-6. doi:10.1055/s-2003-44634

10. Jayaprasad K, Mathew J, Thankappan K, Sharma M, Duraisamy S, Rajan S et al. Safety and efficacy of low molecular weight dextran (dextran 40) in head and neck free flap reconstruction. J Reconstr Microsurg 2013;29(7):443-8. doi:10.1055/s-0033-1343950

11. Veravuthipakorn L, Veravuthipakorn A. Microsurgical free flap and replantation without antithrombotic agents. J Med Assoc Thai 2004;87(6):665-9.

12. Matsusue T. Is Antithrombotic Therapy necessary following replantation of an amputated digit?. J Hand Surg Asian Pac Vol 2019;24(1):1-5. doi:10.1142/S2424835519500012

13. Zhu H, Zhu X, Zheng X. Antithrombotic Therapies in digit replantation with papaverine administration: A Prospective, Observational Study. Plast Reconstr Surg 2017;140(4):7436. doi:10.1097/PRS.0000000000003665

14. Kearns MC, Baker J, Myers S, Ghanem A. Towards standardization of training and practice of reconstructive microsurgery: an evidence-based recommendation for anastomosis thrombosis prophylaxis. Eur J Plast Surg 2018;41(4):379-86. doi:10.1007/s00238-018-1417-0

15. Dorf E, Blue C, Smith BP, Koman LA. Therapy after injury to the hand. J Am Acad Orthop Surg 2010;18(8):464-73. doi:10.5435/00124635-201008000-00003

 

Untitled Document
Article Location

Untitled Document
Article Option
       Abstract
       Fulltext
       PDF File
Untitled Document
 
ทำหน้าที่ ดึง Collection ที่เกี่ยวข้อง แสดง บทความ ตามที่ีมีใน collection ที่มีใน list Untitled Document
Another articles
in this topic collection

An Analysis of Orthopedic Injury Profiles of Pedestrian-Motor Vehicle in District Hospital (การวิเคราะห์รูปแบบภยันตรายทางออร์โธปิดิกส์ที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในโรงพยาบาลชุมชน)
 
Risk Factors Analysis of Gram-Negative Osteomyelitis (การวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อกรัมลบในโพรงกระดูก)
 
Prevalence of Vitamin D Deficiency among Postmenopausal Women at Srinagarind Hospital, Khon Kaen Province, Thailand. (ความชุกของภาวะขาดวิตามินดีในสตรีวัยทองที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น)
 
Appropriate Tibial Tunnel Angle and Knee Flexion Angle for Aiming Femoral Insertion in Endoscopic Anterior Curciate Ligament Reconstruction (มุมอุโมงค์ที่กระดูกแข้ง และมุมงอเข่าที่เหมาะสมในการเล็งจุดเกาะของเอ็นไขว้หน้า)
 
<More>
Untitled Document
 
This article is under
this collection.

Orthopedics
 
 
 
 
Srinagarind Medical Journal,Faculty of Medicine, Khon Kaen University. Copy Right © All Rights Reserved.
 
 
 
 

 


Warning: Unknown: Your script possibly relies on a session side-effect which existed until PHP 4.2.3. Please be advised that the session extension does not consider global variables as a source of data, unless register_globals is enabled. You can disable this functionality and this warning by setting session.bug_compat_42 or session.bug_compat_warn to off, respectively in Unknown on line 0