วิธีการศึกษา
การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (cross-sectional descriptive study) โดยศึกษาในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 ปีการศึกษา 2561 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.องครักษ์ จ.นครนายก จำนวน 618 ราย
เกณฑ์การคัดเลือกเข้าร่วมการศึกษา ได้แก่ นักเรียนทุกรายที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 ปีการศึกษา 2561 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.องครักษ์ จ.นครนายก และมีสมาร์ทโฟน หรือสามารถใช้สมาร์ทโฟนได้ เกณฑ์การคัดออกจากการศึกษา ได้แก่ นักเรียนที่ไม่ยินยอม หรือไม่สมัครใจเข้าร่วมการศึกษา หรือผู้ปกครองนักเรียนไม่ยินยอมให้เข้าร่วมการศึกษา ส่วนเกณฑ์การถอนออกจากการศึกษา ได้แก่ นักเรียนที่ยกเลิกหรือขอหยุดตอบแบบสอบถามกลางคันระหว่างเข้าร่วมการศึกษา หรือ ตอบแบบสอบถามไม่ครบถ้วน/ไม่สมบูรณ์
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ใช้แบบสอบถามออนไลน์ ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วนดังนี้
ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ อายุ เพศ ระดับชั้นมัธยมศึกษา เกรดเฉลี่ยเทอมล่าสุด (GPA) เกรดเฉลี่ยรวมสะสม (GPAX) ประวัติโรคประจำตัว และยารักษาโรคประจำตัว โดยในการศึกษานี้จะใช้ GPA และ GPAX เพื่อวัดผลการเรียนของนักเรียน
ส่วนที่ 2 ข้อมูลด้านการใช้สมาร์ทโฟน ได้แก่ ระยะเวลาที่ใช้สมาร์ทโฟนต่อวัน ความถี่ในการใช้สมาร์ทโฟนต่อวัน เหตุผลในการใช้สมาร์ทโฟน และการติดสมาร์ทโฟน ประเมินโดยใช้แบบประเมินที่ดัดแปลงจาก Thai version of Smartphone addiction scale short version (SAS-SV)8 มีค่า internal-consistency เมื่อคำนวณโดยใช้ค่า Cronbach's alpha เท่ากับ 0.77 โดยประกอบด้วยคำถาม 10 ข้อ แต่ละข้อมีคะแนน 1-6 คะแนน โดยให้ประเมินตามความรู้สึกของตนเองในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เกณฑ์การแปลผล ถ้าผลรวมมากกว่า 31 คะแนนในเพศชาย และมากกว่า 33 คะแนนในเพศหญิง แปลว่าติดสมาร์ทโฟน
ส่วนที่ 3 ข้อมูลสุขภาพกาย เป็นการประเมินสุขภาพทางกายโดยรวม และสุขภาพทางกายรายด้าน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการใช้ชีวิตประจำวัน ด้านสายตา ด้านการได้ยิน และด้านความจำและสมาธิ ซึ่งผู้วิจัยได้ดัดแปลงแบบสอบถามจากเครื่องมือประเมินสุขภาพกายของ Chuemongkon และคณะ8 มีค่า internal-consistency เมื่อคำนวณโดยใช้ค่า Cronbach's alpha เท่ากับ 0.82 แบบสอบถามมีข้อคำถามทั้งหมด 16 ข้อ แต่ละข้อมีคะแนน 0-3 คะแนน เกณฑ์การแปลผลสุขภาพทางกายโดยรวม คือ ถ้าคะแนนรวม 0-16 ถือว่าสุขภาพทางกายโดยรวมผิดปกติ คะแนนรวม 17-32 ถือว่า สุขภาพทางกายเริ่มมีปัญหา และคะแนนรวม 33-48 ถือว่า สุขภาพทางกายเป็นปกติ ส่วนการแปลผลสุขภาพทางกายรายด้าน ได้แก่ ด้านการใช้ชีวิตประจำวัน มี 6 ข้อ ถ้าคะแนนรวมเท่ากับ 0-6, 7-12 และ 13-18 แปลว่า สุขภาพด้านการใช้ชีวิตประจำวันผิดปกติ เริ่มมีปัญหา และเป็นปกติ ตามลำดับ ด้านสายตา มี 4 ข้อ ถ้าคะแนนรวมเท่ากับ 0-4, 5-8 และ 9-12 แปลว่า สุขภาพด้านสายตาผิดปกติ เริ่มมีปัญหา และเป็นปกติ ตามลำดับ ด้านการได้ยิน มี 3 ข้อ ถ้าคะแนนรวมเท่ากับ 0-3, 4-6 และ 7-9 แปลว่า สุขภาพด้านการได้ยินผิดปกติ เริ่มมีปัญหา และเป็นปกติ ตามลำดับ ด้านความจำและสมาธิ มี 3 ข้อ ถ้าคะแนนรวมเท่ากับ 0-3, 4-6 และ 7-9 แปลว่า สุขภาพด้านความจำและสมาธิผิดปกติ เริ่มมีปัญหา และเป็นปกติ ตามลำดับ
ส่วนที่ 4 ข้อมูลสุขภาพจิต ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ แบบประเมินภาวะซึมเศร้า และแบบประเมินภาวะวิตกกังวล
4.1 แบบประเมินภาวะซึมเศร้า ใช้แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าในเด็ก (Childrens Depression Inventory: CDI) ฉบับภาษาไทย9 ซึ่งมีค่า internal-consistency เมื่อคำนวณโดยใช้ค่า Cronbach's alpha เท่ากับ 0.88 ค่าความไวเท่ากับร้อยละ 78.7 และความจำเพาะร้อยละ 91.3 โดยประกอบด้วยคำถาม 27 ข้อ เกี่ยวกับอาการซึมเศร้าในด้านต่างๆ ที่พบในเด็ก แต่ละคำถามจะประกอบด้วยตัวเลือก 3 ข้อ ซึ่งบอกถึงความรุนแรงของภาวะซึมเศร้าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ละข้อมีคะแนน 0-2 คะแนน โดยคะแนนรวมเท่ากับ 0-54 คะแนน เกณฑ์การแปลผลคือ ถ้าคะแนนรวมมากกว่า 15 คะแนนขึ้นไป ถือว่ามีภาวะซึมเศร้า
4.2 แบบประเมินภาวะวิตกกังวลใช้แบบประเมินความวิตกกังวล Self-Rating Anxiety Scale (SAS) พัฒนาขึ้นโดย Zung10 ซึ่งผู้วิจัยได้แปลเป็นฉบับภาษาไทย โดยมีค่า internal-consistency เมื่อคำนวณโดยใช้ค่า Cronbach's alpha เท่ากับ 0.83 ประกอบด้วยคำถาม 20 ข้อ แบ่งเป็น 2 ด้าน คือด้านอารมณ์ 5 ข้อ และด้านพฤติกรรม 15 ข้อ ซึ่งบอกถึงระดับของความวิตกกังวลในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ละข้อมีคะแนน 1-4 คะแนน โดยคะแนนรวมเท่ากับ 20-80 คะแนน เกณฑ์การแปลผลคือ ถ้าคะแนนรวมเท่ากับ 20-35 แปลว่า ไม่พบความวิตกกังวล คะแนนรวมเท่ากับ 36-47 แปลว่า วิตกกังวลเล็กน้อย-ปานกลางคะแนนรวมเท่ากับ 48-59 แปลว่า วิตกกังวลเด่นชัด-รุนแรง และคะแนนรวมเท่ากับ 60-80 แปลว่า วิตกกังวลสูงมากที่สุด
งานวิจัยนี้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เลขที่ SWUEC-082/2562E
การวิเคราะห์และประเมินผล
วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์คำนวณค่าสถิติ (IBM SPSS version 23) โดยข้อมูลทั่วไป ข้อมูลด้านการใช้สมาร์ทโฟน ข้อมูลสุขภาพทางกาย ข้อมูลสุขภาพทางจิต จะใช้สถิติเชิงพรรณนา (descriptive statistics) แสดงข้อมูลในรูปแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างการติดสมาร์ทโฟนต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และผลการเรียน วิเคราะห์ด้วยสถิติ Chi-square Test และ Fishers Exact Test ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95
ผลการศึกษา
มีนักเรียนเข้าร่วมการวิจัยทั้งสิ้น 432 ราย จากจำนวนทั้งหมด 618 ราย คิดเป็นร้อยละ 69.9 โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 59.3) เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 14.6 ปี ระดับชั้นที่เข้าร่วมการวิจัยส่วนใหญ่คือ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 คิดเป็นร้อยละ 26.2 และ 25.9 ตามลำดับ เกรดเฉลี่ยเทอมล่าสุด (GPA) ส่วนใหญ่อยู่ที่ >3.50 คิดเป็นร้อยละ 44.0 และเกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) ส่วนใหญ่อยู่ที่ >3.50 คิดเป็นร้อยละ 42.4 สำหรับข้อมูลของการใช้สมาร์ทโฟนพบว่านักเรียนส่วนใหญ่ มีระยะเวลาที่ใช้สมาร์ทโฟนเท่ากับ 3-4 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 30.8 ความถี่ในการใช้สมาร์ทโฟนเท่ากับ 11-20 ครั้งต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 34.3 และเหตุผลในการใช้สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ 3 อันดับแรก คือ โซเซียลเน็ตเวิร์ค ฟังเพลง และ พิมพ์ข้อความคุยกับผู้อื่น คิดเป็นร้อยละ 83.1, 82.6 และ 81.3 ตามลำดับ และจากการประเมินการติดสมาร์ทโฟน พบว่านักเรียนร้อยละ 42.1 ติดสมาร์ทโฟน (ตารางที่ 1)
ข้อมูลสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิต
นักเรียนส่วนใหญ่มีสุขภาพร่างกายโดยรวมเริ่มมีปัญหา (ร้อยละ 53.0) โดยมีคนที่สุขภาพทางกายผิดปกติ 2 ราย (ร้อยละ 0.5) เมื่อแยกประเมินปัญหาแต่ละด้านได้แก่ ด้านการใช้ชีวิตประจำวัน พบว่าส่วนใหญ่มีสุขภาพด้านการใช้ชีวิตประจำวันเริ่มมีปัญหา (ร้อยละ 59.7) โดยมีคนที่มีสุขภาพด้านการใช้ชีวิตประจำวันผิดปกติ 15 ราย (ร้อยละ 3.5) ด้านสายตา พบว่าส่วนใหญ่มีสุขภาพด้านสายตาเป็นปกติ (ร้อยละ 48.6) โดยมีคนที่มีสุขภาพด้านสายตาผิดปกติ 17 ราย (ร้อยละ 3.9) ด้านการได้ยิน พบว่าส่วนใหญ่มีสุขภาพด้านการได้ยินเริ่มมีปัญหา (ร้อยละ 47.9) โดยมีคนที่มีสุขภาพด้านการได้ยินผิดปกติ 24 ราย (ร้อยละ 5.6) และด้านความจำและสมาธิ พบว่าส่วนใหญ่มีสุขภาพด้านความจำและสมาธิเริ่มมีปัญหา (ร้อยละ 60.2) โดยมีคนที่มีสุขภาพด้านความจำและสมาธิผิดปกติ 34 ราย (ร้อยละ 7.9) สำหรับการประเมินสุขภาพทางจิตพบว่า มีนักเรียนที่มีภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 47.0 นักเรียนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 53.5) มีภาวะวิตกกังวลเล็กน้อย-ปานกลาง และมีนักเรียนที่มีภาวะวิตกกังวลเด่นชัด-รุนแรง และ วิตกกังวลสูงมากที่สุด ร้อยละ 12.7 และ 1.9 ตามลำดับ (ตารางที่ 2)
การติดสมาร์ทโฟนต่อสุขภาพ และผลการเรียน
จากการวิเคราะห์พบว่าการติดสมาร์ทโฟนมีผลต่อสุขภาพกายโดยรวม สุขภาพด้านสายตา และสุขภาพด้านการได้ยิน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = <0.001, 0.020 และ 0.001 ตามลำดับ) สำหรับผลการติดสมาร์ทโฟนต่อสุขภาพจิต พบว่าการติดสมาร์ทโฟนมีผลต่อภาวะซึมเศร้า และภาวะวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.001 และ 0.003 ตามลำดับ) แต่ไม่มีผลต่อ GPA และ GPAX อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.585 และ 0.157 ตามลำดับ) (ตารางที่ 3)
วิจารณ์
จากการวิเคราะห์ผลของการติดสมาร์ทโฟนต่อสุขภาพทางกายพบว่า การติดสมาร์ทโฟนมีผลต่อสุขภาพกายโดยรวม สุขภาพด้านสายตา และสุขภาพด้านการได้ยิน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสอดล้องกับการศึกษาของ Khuakhorn และคณะ11 ในนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น อายุ 12-15 ปี จำนวน 753 ราย เขตคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พบความสัมพันธ์ระหว่างอาการปวดนิ้วหัวแม่มือกับการใช้งานสมาร์ทโฟน โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ เพศหญิง และอาการปวดบริเวณแขนท่อนล่าง และสอดคล้องกับการศึกษาของ Chuemongkon และคณะ8 ในนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จำนวน 391 ราย อายุเฉลี่ย 21.6 ปี ที่พบว่าการติดสมาร์ทโฟนและ/หรือแท็บเล็ต มีผลต่อสุขภาพทางกายโดยรวม สุขภาพสายตา สุขภาพการได้ยิน สุขภาพด้านความจำและสมาธิ และสุขภาพด้านความเจ็บป่วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.01, 0.01, 0.001, 0.01 และ 0.001ตามลำดับ) รวมทั้งสอดคล้องกับการศึกษาของ Intolo5 ที่ศึกษาผลการใช้งานสมาร์ทโฟน 20 นาที ในนักเรียนชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และผู้ทำงานสำนักงาน ที่ไม่มีอาการปวด อายุ 10-48 ปี จำนวน 75 ราย พบว่า ภายหลังการใช้สมาร์ทโฟน 20 นาที ระดับความรุนแรงของอาการปวดคอ ไหล่ และแผ่นหลังส่วนบนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนใช้งานในทุกกลุ่มอายุ สอดคล้องกับการศึกษาของ Namwongsa และคณะ12 ที่ศึกษาความชุกของความผิดปกติทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในนักศึกษามหาวิทยาลัย อายุระหว่าง 18-25 ปี ในช่วง 7 วัน ซึ่งพบว่ามีความชุกของอาการทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้ออย่างน้อย 1 บริเวณ คิดเป็นร้อยละ 47.67 โดยตำแหน่งที่พบได้แก่ บริเวณคอ ไหล่ และหลังส่วนบน (ร้อยละ 43.18, 48.40 และ 33.10 ตามลำดับ) และสอดคล้องกับการศึกษาของ Wederich และคณะ13 ในนักศึกษามหาวิทยาลัย จำนวน 105 คน อายุระหว่าง 18-56 ปี พบว่าผู้ที่ใช้งานสมาร์ทโฟนเคยมีประสบการณ์ของอาการปวดที่บริเวณคอ ไหล่ และข้อมือ ตามลำดับ รวมทั้งพบว่าผู้ที่ใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นระยะเวลานานมากกว่า 1 ชั่วโมง มีรายงานด้านอาการปวดตา คอ และไหล่ มากกว่าผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นระยะเวลาน้อยกว่า 1 ชั่วโมง รวมทั้งสอดคล้องกับการศึกษาของ Kim และคณะ6 ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้สมาร์ทโฟนกับสุขภาพด้านสายตาในวัยรุ่น อายุระหว่าง 14-18 ปี จำนวน 715 คน ผลพบว่าผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นเวลานานและบ่อย และผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นเวลาไม่นานแต่บ่อย จะมีอาการทางระบบสายตามาก (พบอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบสายตามากกว่าหรือเท่ากับ 5 อาการขึ้นไป) เมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนน้อย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) รวมทั้งการใช้สมาร์ทโฟนเป็นระยะเวลานานขึ้นจะส่งผลต่ออาการทางระบบสายตาที่มากขึ้น (p = 0.001) รวมทั้งสอดคล้องการการศึกษาของ Szyjkowska และคณะ14 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของสมาร์ทโฟนต่อสุขภาพ ในผู้เข้าร่วมการศึกษา จำนวน 587 คน อายุเฉลี่ย 32.6 ± 11.3 ปี พบว่าผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนนานกว่า 30 นาทีต่อวัน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดหัว ภาวะหลงลืม และความผิดปกติด้านการได้ยิน มากกว่าผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน (p < 0.001, p = 0.005 และ p < 0.001 ตามลำดับ)
สำหรับการวิเคราะห์ผลของการติดสมาร์ทโฟนต่อสุขภาพทางจิตพบว่า การติดสมาร์ทโฟนมีผลต่อภาวะซึมเศร้า และภาวะวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Pernsungnern และคณะ15 ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการติดสื่อสังคมออนไลน์และภาวะซึมเศร้าในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 อายุ 13-17 ปี และศึกษาอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 500 ราย โดยใช้แบบวัดการติดสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media Addiction Test: S-MAT) และแบบวัดภาวะซึมเศร้าในเด็ก (Childrens Depression Inventory: CDI) ฉบับภาษาไทย ซึ่งพบว่าการติดสื่อสังคมออนไลน์และภาวะซึมเศร้ามีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) และสอดคล้องกับการศึกษาของ Chuemongkon และคณะ8 ที่พบว่าการติดสมาร์ทโฟนและ/หรือแท็บเล็ต มีผลต่อภาวะซึมเศร้าและความเครียด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.001 และ 0.002 ตามลำดับ) เมื่อประเมินภาวะซึมเศร้าโดยใช้แบบคัดกรอง CES-D (Center for Epidemiologic Studies Depression Scale) ฉบับภาษาไทย และประเมินความเครียดโดยใช้แบบทดสอบความเครียดสวนปรุง รวมทั้งสอดคล้องกับการศึกษาของ Babadi-Akashe และคณะ16 ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการติดสมาร์ทโฟนกับสุขภาพจิตด้านต่างๆ ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า, obsessive compulsive disorder และ interpersonal sensitivity ในนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวน 296 ราย พบว่าการติดสมาร์ทโฟนมีผลต่อสุขภาพจิตทั้ง 3 ด้าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับการศึกษาของ Matar Boumosleh และ Jaalouk17 ที่ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการติดสมาร์ทโฟนกับภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวล ในนักศึกษามหาวิทยาลัย Notre Dame University ประเทศ Lebanon จำนวน 688 ราย อายุเฉลี่ย 20.64 ± 1.88 ปี โดยใช้เครื่องมือประเมินการติดสมาร์ทโฟน Smartphone Addiction Inventory (SPAI) Scale และเครื่องมือประเมินภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล Patient Health Questionnaire-2 (PHQ-2) และ Generalized Anxiety Disorder-2 (GAD-2) ตามลำดับ ผลการศึกษาพบว่าการติดสมาร์ทโฟนมีผลต่อภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.05) ซึ่งจะเห็นว่าผลการศึกษาสอดคล้องในทิศทางเดียวกันว่าการติดสมาร์ทโฟนส่งผลต่อสุขภาพจิต อย่างไรก็ตามการติดสมาร์ทโฟนอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตโดยตรง แต่เป็นผลกระทบในทางอ้อม เนื่องจากการใช้สมาร์ทโฟนมากเกินไป ทำให้ไปเบียดบังการทำกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิต การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพทางกาย เช่น ด้านสายตาได้ เมื่อมีสุขภาพทางกายที่แย่ลง ก็จะมีผลกระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึก และเกิดภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้าตามมาได้
ส่วนการวิเคราะห์ผลของการติดสมาร์ทโฟนต่อผลการเรียน พบว่าการติดสมาร์ทโฟนไม่มีผลต่อผลการเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สอดคล้องกับการศึกษาของ Chuemongkon และคณะ8 ที่พบว่าการติดสมาร์ทโฟนและ/หรือแท็บเล็ตไม่มีผลต่อผลการเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และสอดคล้องกับการศึกษาของ Siew และคณะ18 ที่ศึกษาความสัมพันธ์ของการใช้สมาร์ทโฟนกับการพัฒนาการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ในประเทศมาเลเซีย ในนักศึกษาจำนวน 176 ราย โดยแบ่งผู้เข้าร่วมการศึกษาเป็น 3 กลุ่มตามโปรแกรมการศึกษา และมีการบันทึกการใช้สมาร์ทโฟนผ่านโปรแกรม พบว่ากลุ่มที่มีการใช้สมาร์ทโฟนมากที่สุด คือ 6,337.37 นาที/สัปดาห์ โดยระยะเวลาที่ใช้สมาร์ทโฟนไม่มีผลต่อระดับผลการเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.270) แต่ไม่สอดคล้องกับการศึกษาของ Karnphat19 ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเสพติดสมาร์ทโฟนของนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 12 ราย อายุเฉลี่ย 20.83 ปี ในการสัมภาษณ์เชิงลึกเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างบางรายมีการใช้สมาร์ทโฟนในห้องเรียน และถูกสมาร์ทโฟนดึงความสนใจจากการอ่านหนังสือ ทำให้เสียสมาธิ และมีผลการเรียนแย่ลงจากการใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างของผลการศึกษา อาจเกิดจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความแตกต่างกันในด้านของระดับการศึกษาและช่วงอายุ ซึ่งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาของการศึกษาครั้งนี้เป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีความตั้งใจในการศึกษาเล่าเรียน เนื่องจากมีผลการเรียนอยู่ในระดับดีมาก โดยมี GPA และ GPAX ส่วนใหญ่มากกว่า 3.50 แสดงให้เห็นว่าเป็นนักเรียนที่มีความรับผิดชอบสูง ทำให้ไม่พบว่าการติดสมาร์ทโฟนมีผลต่อผลการเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ข้อจำกัดของการศึกษา และข้อเสนอแนะ
การติดสมาร์ทโฟนในการศึกษานี้ ประเมินจากแบบประเมินการติดสมาร์ทโฟนซึ่งให้ผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นผู้กรอกข้อมูลแบบออนไลน์ด้วยตนเอง อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการกรอกข้อมูล และส่งผลต่อการประเมนการติดสมาร์ทโฟนได้ อีกทั้งการประเมินการติดสมาร์ทโฟนไม่ได้มีการตรวจสอบหรือยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจส่งผลให้พบผู้ติดสมาร์ทโฟนสูงกว่าความเป็นจริงได้ รวมทั้งผลการศึกษาครั้งนี้มาจากกลุ่มตัวอย่างในโรงเรียนแห่งหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในโรงเรียนแห่งอื่น ๆ หรือต่างพื้นที่ เพื่อความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของข้อมูลยิ่งขึ้น และควรศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการติดสมาร์ทโฟน สุขภาพกาย และสุขภาพจิต เพื่อสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ
สรุป
การติดสมาร์ทโฟนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.องครักษ์ จ.นครนายกมีผลกระทบต่อสุขภาพกายโดยรวม สุขภาพจิตด้านภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีผลต่อผลการเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นเพื่อลดและป้องกันปัญหาทั้งทางด้านสุขภาพกาย และสุขภาพจิต จึงแนะนำให้หากิจกรรมอื่นทำ และมีการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการเสพติดสมาร์ทโฟน และแบ่งเวลาในการใช้สมาร์ทโฟนให้เหมาะสมโดยพยายามใช้สมาร์ทโฟนเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของตนเอง
กิตติกรรมประกาศ
ผู้วิจัยขอขอบคุณ ผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งใน อ.องรักษ์ จ.นครนายก ที่ให้ความอนุเคราะห์ในการดำเนินการวิจัย และขอขอบคุณนักเรียนทุกท่าน ที่ให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถาม ทำให้การวิจัยครั้งนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี
เอกสารอ้างอิง
1. National Statistical Office Thailand. Important results of ICT use among children and youth 2017. Bangkok: Text and Journal Publication; 2018.
2. Charmonman S, Mongkonwanich P, Pruksathaporn P, Saowapakpongchai K, Boonparit W. Behavior and opinions towards the use of mobile phones in term of smartphones among Thai teenagers in Bangkok. Bangkok: Siam Technology; 2014.
3. The American Cancer Society medical and editorial content team. Cellular phones [Internet]. 2018 [cited 2019 Jan 10]. Available from: https://www.cancer.org/cancer/cancer-causes/radiation-exposure/ cellular-phones.html.
4. Paul M. Your phone knows if youre depressed [Internet]. 2015 [cited Jan 9, 2019]. Available from: https://news.northwestern.edu/stories/2015/07/your-phone-knows-if-youre-depressed.
5. Intolo P. Comparison of muscular pain during smartphone use among three age groups: elementary school student, high school student and office worker. J Health Syst Res 2018; 12(3): 328-341.
6. Kim J, Hwangb Y, Kanga S, Kim M, Kima T, Kim J, et al. Association between exposure to smartphones and ocular health in adolescents. Ophthal Epidemiol 2016; 23(4): 269-276.
7. Phanichsiri K, Tuntasood B. Social media addiction and attention deficit and hyperactivity symptoms in high school student in Bangkok. J Psychiatr Assoc Thailand 2016; 61(3): 191-204.
8. Chuemongkon W, Inthitanon T, Wangsate J. Impact of smartphone and tablet use on health and academic performance of pharmacy students at Srinakharinwirot University. Srinagarind Med J 2019; 34(1): 90-98.
9. Trangkasombat U, Likanapichitkul D. Depressive symtoms in children: a study using The Childrens Depression Inventory. J Psychiatr Assoc Thailand 1996; 41(4): 221-230.
10. Zung W. A rating Instrument for anxiety disorders. Psychosomatics 1971; 12(6): 371-379.
11. Khruakhorn S, Kanchanomai S, Kaewlek K, Jetjongjai N, Kumkong C, Nanon N. Prevalence and associated risk factors of thumb pain from using smartphone in secondary school students at Klongluang, Pathumthani. Thammasat Med J 2017;17(1):18-27.
12. Namwongsa S, Puntumetakul R, Swangnetr M. Prevalence of musculoskeletal disorders of smartphone users in Khon Kaen university students, Thailand. The 2th National Ergonomics Conference, Thailand; 20-22 December 2017; Twin tower. Bangkok: n.p.; 2017.
13. Waderich K, Peper E, Harvey R, Suter S. The psychophysiology of contemporary information technologies tablets and smartphones can be a pain in the neck. Proceeding of the 44th annual meeting of association for applied psychophysiology and biofeedback. USA: Portland; 2013.
14. Szyjkowska A, Gadzicka E, Szymczak W, Bortkiewicz A. The risk of subjective symptoms in mobile phone users in Poland-an epidemiological study. Int J Occup Med Environ Health 2014; 27: 293-303.
15. Pernsungnern P, Pornnoppadol C, Sitdhiraksa N, Buntub D. Social media addiction: prevalence and association with depression among 7th-12th grade students in Bangkok. Graduate research conference 2014; 2014 Mar 28; Khon Kaen, Thailand. Khon Kaen: Khon Kaen University; 2014: 1132-1139.
16. Babadi-Akashe Z, Zamani BE, Abedini Y, Akbari H, Hedayati N. The relationship between mental health and addiction to mobile phones among university students of Shahrekord, Iran. Addict Health 2014; 6: 93-99.
17. Matar Boumosleh J, Jaalouk D. Depression, anxiety, and smartphone addiction in university students - a cross sectional study. PLoS ONE 2017; 12(8): e0182239.
18. Siew F, Nor S, Nor H, Nur A. The relationship between smartphone use and academic performance: a case of students in a Malaysian tertiary institution. Malaysian Online J Educ Technol 2017;5(4):58-70
19. Karnphat S. Smartphoner addiction of higher education students in Chiang Mai [Master of Arts in Digital Communication]. Chiang Mai; Maejo University; 2016.