วิจารณ์
จากผลการศึกษา ในการประเมินความรู้ก่อนการจัดโปรแกรมการเรียนรู้ของพยาบาล พบมีความรู้อยู่แล้วในหลายด้าน เช่น การดูแลช่องปากและฟัน การให้ความรู้ทางทันตกรรมแก่ผู้ปกครอง ชนิดของเครื่องมือจัดสันเหงือกก่อนผ่าตัด ประโยชน์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการดูแลแผลผ่าตัดริมฝีปาก เป็นต้น โปรแกรมการเรียนรู้นี้เปรียบเสมือนเป็นการทบทวนความรู้ และให้พยาบาลได้แลกเปลี่ยนความรู้กันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่า โปรแกรมการเรียนรู้สามารถเพิ่มความรู้ให้แก่พยาบาลถึง 7 ด้าน ได้แก่ การจำแนกชนิดของภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ความรู้เกี่ยวกับการรักษาด้วยเครื่องมือจัดสันเหงือก การรับประทานยาโฟเลต การให้นมหลังผ่าตัดเย็บริมฝีปาก แหล่งความช่วยเหลือค่าเดินทางเพื่อมารักษา การส่งต่อผู้ป่วย และการประเมินด้านจิตสังคม ซึ่งทำให้ค่าคะแนนความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติดังนั้น ถ้าพยาบาลมีความรู้เรื่องโรคและการผ่าตัดรักษา จะทำให้สามารถประเมินและเข้าใจถึงปัญหา ความต้องการ และส่งต่อการรักษาได้อย่างเหมาะสมมีความรู้เรื่องการจัดสันเหงือก พยาบาลจะสามารถส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานรักษาให้ได้รับการจัดสันเหงือกและรับการผ่าตัดตามช่วงอายุ มีความรู้ในการให้นมหลังเย็บริมฝีปากจะสามารถดูแลทารกให้ได้รับนมและสารอาหารอย่างเพียงพอ ทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มเป็นไปตามเกณฑ์ที่จะได้รับการผ่าตัดซ่อมแซมเพดานโหว่อย่างต่อเนื่อง มีความรู้ในการดูแลแบบสหสาขาและการส่งต่อการดูแลจะทำให้พยาบาลส่งต่อไปยังทีมสหสาขา และแหล่งการรักษาได้อย่างถูกต้องตามเวลาของการรักษาที่เหมาะสม สามารถแนะนำแหล่งช่วยเหลือด้านการเงิน ทำให้ผู้ป่วยได้รู้สิทธิการรักษา เข้ารับและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง มีความรู้ด้านจิตสังคม จะทำให้พยาบาลให้คำปรึกษาเพื่อลดปัญหาด้านจิตใจของผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งให้สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ และพยาบาลมีความรู้เรื่องกรดโฟลิกจะสามารถให้คำปรึกษาการวางแผนครอบครัวทำให้ลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะความพิการแต่กำเนิดได้12
การเข้าอบรมโปรแกรมการเรียนรู้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่สมบูรณ์แบบ ทั้งทฤษฎีและฝึกทักษะปฏิบัติ ทำให้พยาบาลมีความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การจัดอบรมได้ออกแบบให้ตรงกับปัญหาในการดูแลผู้ป่วย โดยโปรแกรมการสอนเน้นการบรรยายองค์ความรู้ของทีมพยาบาลและสหสาขาที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุม มีการใช้รูปแบบและกระบวนการฝึกทักษะปฏิบัติอย่างตื่นตัว (active participation) ส่งเสริมให้ผู้เข้าอบรมเกิดการเรียนรู้ในสภาพจริง (authentic learning) ฝึกปฏิบัติจริง ซึ่งการเรียนรู้ในสภาพจริงจะเป็นการช่วยให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ความเป็นจริงเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมาย สามารถนำไปใช้ได้จริง กระตุ้นให้ผู้เข้าอบรมเกิดการเรียนรู้13 ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงานจริงสอดคล้องกับการประชุมเชิงปฏิบัติ ที่ช่วยให้ผู้ข้ารับการอบรม ได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมนั้น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นด้านปฏิบัติ โดยคำนึงถึงการเสริมสร้างและเน้นให้ผู้เข้ารับการอบรมร่วมกันทำงาน/ระดมแนวคิดเพื่อการแก้ปัญหา สามารถนำสิ่งที่ตนได้เรียนรู้ไปปฏิบัติในสถานการณ์การทำงานที่แท้จริงได้10,11
สำหรับการฝึกทักษะปฏิบัติ ได้มีการระดมแนวคิดเพื่อแก้ปัญหา การสร้างแนวปฏิบัติ การส่งต่อการรักษา สอนแสดงและฝึกทักษะการให้นมแม่จากกรณีศึกษาจริง และอุปกรณ์เสริมในการให้นม แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลก่อนหลังผ่าตัด และฝึกทักษะการให้คำปรึกษาในการเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์เพื่อป้องกันความพิการแต่กำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ในเรื่องที่ซับซ้อนได้อย่างเข้าใจและได้รับประสบการณ์อย่างประจักษ์ชัด13 ช่วยในการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดแก้ปัญหา ทำให้เกิดมุมมองที่กว้างขึ้นภายหลังจากการสิ้นสุดการอบรมได้มีการอภิปรายและสรุปการเรียนรู้ร่วมกัน (debriefing) ระหว่างวิทยากรกับผู้เข้าอบรม13 โดยให้ผู้เข้าอบรมได้เล่าถึงความรู้สึก สะท้อนคิดกับประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ทำให้การเรียนรู้นั้นประสบความสำเร็จ14 การที่ผู้เข้าอบรมมีความรู้เพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดความมั่นใจในตนเอง และเชื่อมั่นว่าสามารถปฏิบัติการพยาบาลนั้น ๆ ได้เมื่อเจอสถานการณ์จริงในที่ทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษา ว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์โดยใช้สถานการณ์จำลอง จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง เกิดความมั่นใจ เพิ่มทักษะการปฏิบัติ และพัฒนาการตัดสินใจทางคลินิกได้15 และสอดคล้องกับหลายการศึกษาที่ว่าการเรียนการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลองมีผลทำให้ผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น16 และมีทักษะปฏิบัติเพิ่มขึ้น16-18
เมื่อพิจารณาถึง ผลการประเมินความพึงพอใจในโปรแกรมการเรียนรู้ ที่พบว่ามีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดเกือบทุกข้อ และเสนอแนะให้จัดต่อเนื่องทุกปี สอดคล้องกับการศึกษาที่ผ่านมา ว่าการใช้สถานการณ์จำลองในการสอนปฏิบัติการพยาบาล ทำให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน มีส่วนร่วมในการเรียนรู้สูง กระตุ้นการดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเอง สามารถรับรู้บทบาทตนเองและปรับให้เข้ากับสถานการณ์นั้น ๆ13 ซึ่งการจัดอบรมครั้งนี้ได้มีการเตรียมขั้นตอนทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการจัดอบรมเป็นอย่างดี โดยการสำรวจประเด็นปัญหา ดำเนินการจัดอบรมแบบเชิงปฏิบัติการโดยใช้โปรแกรมการสอน การบรรยายความรู้ แบ่งกลุ่มฝึกทักษะ สรุปผลการประชุม11 ซึ่งสอดคล้องกับหลายการศึกษาที่ว่า ผู้เข้าอบรมมีความพึงพอใจในความเหมาะสมของวิทยากรมากที่สุด18,19 โดยการจัดโปรแกรมครั้งนี้ได้เชิญวิทยากรพยาบาลผู้มีประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะทาง ที่มีความรอบรู้ในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ร่วมบรรยาย 4 ท่าน และยังมีวิทยากรทีมสหสาขาวิชาชีพร่วมบรรยายด้วยรวมทั้งการแบ่งกลุ่มฝึกทักษะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมแนวคิดกับวิทยากรที่มีประสบการณ์ ผู้เข้าอบรมจึงได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์สามารถนำไปปฏิบัติกับผู้ป่วยได้จริง จึงมีความพึงพอใจในโปรแกรมการสอนอยู่ในระดับมากที่สุดตามที่กล่าวมา
สำหรับผลลัพธ์ทางคลินิกที่สอดคล้องกับความรู้ของพยาบาลหลังจากได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ที่เป็นไปตามตัวชี้วัดถึง 5 ข้อ ใน 8 ข้อ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหากพยาบาลมีความรู้และทักษะในการดูแลดีจะทำให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลได้รับการดูแล ให้คำปรึกษา และส่งต่อการอย่างเหมาะสม ส่งเสริมให้ผู้ป่วย/ผู้ดูแลลดความวิตกกังวล มีแหล่งข้อมูล และสถานรักษาที่เข้าถึงและพึ่งพาได้ พึงพอใจในผลการรักษา ได้รับการผ่าตัดตามเกณฑ์อายุที่เหมาะสม ผู้ดูแลพาบุตร/หลานเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความพึงพอใจในภาพรวมถึงร้อยละ 95.24 สอดคล้องกับการประเมินโครงการ การดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และพิการทางศีรษะและใบหน้าที่สมบูรณ์แบบที่ผู้ป่วย/ผู้ดูแลมีความพึงพอใจในคุณภาพชีวิต ภาพลักษณ์และการสื่อสารอยู่ในระดับมาก20 ส่วนตัวชี้วัดอีก 3 ข้อ ที่ไม่เป็นไปตามตัวชี้วัด ในข้อที่ 3 ได้ร่วมแก้ปัญหากับทีมสหวิทยาการโดยมอบหมายให้พยาบาบประสานงานติดตามผู้ป่วยในช่วงอายุ 3-6 เดือน ได้รับการนัดหมายเข้ารับการผ่าตัดทุกราย สำหรับข้อ 5 และข้อ 6 ได้หาแนวทางในการให้ข้อมูลกับผู้ป่วยและญาติเป็นระยะตามช่วงอายุของการรักษา ซึ่งการให้ข้อมูลหลายๆ ครั้ง จะทำให้สามารถจดจำข้อมูลได้มากขึ้น
สรุป
โปรแกรมการเรียนรู้สามารถพัฒนาความรู้และทักษะของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ได้จริง มีผลให้ค่าคะแนนความรู้ของพยาบาลทั้งรายข้อและภาพรวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มีความพึงพอใจในการจัดโปรแกรมการเรียนรู้อยู่ในระดับมากที่สุดเป็นส่วนใหญ่ ตอบสนองต่อปัญหาในการปฏิบัติงานจริง เกิดการพัฒนาความรู้และทักษะ เป็นประโยชน์ในการนำไปดูแลผู้ป่วยได้ เกิดผลลัพธ์ทางคลินิกอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ และควรขยายโปรแกรมออกไปยังสถานพยาบาลอื่นที่มีบริบทคล้ายคลึงกัน
ข้อเสนอแนะ
1. นำเสนอต่อกรรมการวิชาการฝ่ายการพยาบาลเพื่อนำโปรแกรมการเรียนรู้ต่อพัฒนาการความรู้และทักษะของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่สมบูรณ์แบบ เป็นหนึ่งในโปรแกรมการเรียนรู้ด้านวิชาการ ของฝ่ายการพยาบาล เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่สมบูรณ์แบบโดยขยายการอบรมออกไปในระดับประเทศ
2. นำเสนอต่อกรรมการหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์ เพื่อนำโปรแกรมการเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่สมบูรณ์แบบ โดยความร่วมมือของฝ่ายการพยาบาลกับคณะพยาบาลศาสตร์ ให้เป็นหนึ่งในโปรแกรมการสอนวิชาการระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่สมบูรณ์แบบในระดับนานาชาติต่อไป
3. ศึกษาผลของการจัดโปรแกรมการสอนในระยะยาว เพื่อติดตามผลลัพธ์ในด้านสมรรถนะของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่สมบูรณ์แบบทางคลินิก
กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และมูลนิธิตะวันฉายเพื่อผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ ผู้บริหารฝ่ายการพยาบาล กรรมการพัฒนาวิชาชีพ ศูนย์ตะวันฉาย ทีมวิทยากร ทีมสหสาขาวิชาชีพและเจ้าหน้าที่ศูนย์ตะวันฉายที่สนับสนุนการจัดโปรแกรมการสอนครั้งนี้ และผู้ป่วยและครอบครัว รวมทั้งศูนย์วิจัยผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ ที่สนับสนุนการวิจัยจนสำเร็จได้ด้วยดี
เอกสารอ้างอิง
1. Chowchuen B, Godfrey K. Development of a network system for the care of patients with cleft lip and palate in Thailand. Scand J Plast Reconstr Surg Hand Surg 2003; 37: 325331.
2. บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น, ผกาพรรณ เกียรติชูสกุล, บรรณาธิการ. คู่มือผู้ปกครอง: ภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ทำความรู้จัก ทราบสาเหตุ อุบัติการณ์ และการป้องกัน. ขอนแก่น: ศูนย์วิจัยผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2554.
3. Berger ZE, Dalton LJ. Coping with a cleft: psychosocial adjustment of adolescents with a cleft lip and palate and their parents. Cleft Palate Craniofac J 2009; 46: 435443.
4. Reddy NK, Cronin ED. Physical impairments, psychological impact, and risk factors of cleft lip and palate in children from a surgical mission project in Armenia, Colombia. EC Dent Sci 2017; 9: 5359.
5. บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น, เบญจมาศ พระธานี, จารุณี รัตนยาติกุล, บรรณาธิการ. การดูแลแบบสหวิทยาการของผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของใบหน้า และกะโหลกศีรษะ. ขอนแก่น: ศิริภัณฑ์ออฟเซท; 2547.
6. มยุรี ผิวสุวรรณ, ดารณี สุวพันธ์, วิไลภรณ์ โคตรบึงแก, ไฮเนกี้-มอทซ์ เค, แม็คเกลด บี, ปิยมาส อุมัษเฐียร. CBR Guidelines ขององค์การอนามัยโลก ฉบับภาษาไทย. กรุงเทพฯ: องค์การอนามัยโลก; 2556.
7. บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น, เบญจมาศ พระธานี, สุธีรา ประดับวงษ์, บรรณาธิการ. คู่มือผู้ปกครองแนวทางการดูแลรักษาผู้มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่. ขอนแก่น: ศูนย์วิจัยผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2554.
8. Pradubwong S, Augsornwan D, Pathumwiwathana P, Prathanee B, Chowchuen B. Empowering volunteers at Tawanchai Centre for patients with cleft lip and palate. J Med Assoc Thai 2015; 98 (Suppl. 7): S47-53.
9. บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น, สุธีรา ประดับวงษ์, บรรณาธิการ. สรุปผลงานประจำปีงบประมาณ 2560 ศูนย์การดูแลผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ขอนแก่น: ศูนย์วิจัยผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2560.
10. เทพฤทธิ์ พิณนาคิเลย์. การแบ่งประเภทประเภทของการประชุม [ออนไลน์]. 2558 [อ้างเมื่อ 4 กันยายน 2561]. จาก https://www.gotoknow.org/posts/85221
11. หัทยา อินทร์เชิง. ขั้นตอนการจัดอบรมโครงการเชิงปฏิบัติการ. กรุงเทพฯ: ภาควิชาพยาธิโปรโตซัว คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล; 2559.
12. ถวัลย์วงค์ รัตนสิริ. การวินิจฉัยและรักษาทารกในครรภ์ในปัญหาทางสูติศาสตร์ที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 1.
13. ขอนแก่น : สาขาวินิจฉัยและรักษาทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์
14. มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2561.
15. อรุณวรรณ อุดมเกษมทรัพย์, สุภามาศ ผาติประจักษ์, พิชญา ทองโพธิ์. ผลของการจัดโปรแกรมการสอนทักษะปฏิบัติการพยาบาลอุบัติเหตุ และฉุกเฉิน ต่อความรู้และการรับรู้สมรรถนะของตนเองในการปฏิบัติการพยาบาลอุบัติเหตุและฉุกเฉินของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4. วารสารพยาบาลและการศึกษา 2558; 8: 5466.
16. ทิศนา แขมมณี. ศาสตร์การสอน: องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 19. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2557.
17. Decker S, Sportsman S, Puetz L, Billings L. The evolution of simulation and its contribution to competency. J Contin Educ Nurs 2008; 39: 7480.
18. Najjar RH, Lyman B, Miehl N. Nursing students experiences with high-fidelity simulation. Int J Nurs Educ Scholarsh 2015; 12: 1-9.
19. Hoffmann RL, ODonnell JM, Kim Y. The effects of human patient simulators on basic knowledge in critical care nursing with undergraduate senior baccalaureate nursing students. Simul Healthc 2007; 2: 1104.
20. Akhu-Zaheya LM, Gharaibeh MK, Alostaz ZM. Effectiveness of simulation on knowledge acquisition, knowledge retention, and self-efficacy of nursing students in Jordan. Clin Simul Nurs 2013; 9: e335e342.
21. สุนิสา แสงวิเชียร. สรุปผลโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เทคนิคการเขียนรายงานการประชุม[ออนไลน์] 2556 [อ้างเมื่อ 4 กันยายน 2561]. จาก https://bit.ly/2MNhNf6
22. Pradubwong S, Surit P, Chowchuen B. Evaluation of the comprehensive care program for patients with cleft lip palate and craniofacial deformities. J Med Assoc Thai 2018; 101 (Suppl. 5): S89-96.