Untitled Document
 
 
 
 
Untitled Document
Home
Current issue
Past issues
Topic collections
Search
e-journal Editor page

The Validity of Pre- and Post-Anterior Cruciate Ligament Reconstruction Surgery Manual of Srinagarind Hospital

ความถูกต้องของคู่มือการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่าของโรงพยาบาลศรีนครินทร์

Punyawat Apiwatanakul (ปัญญวัฒน์ อภิวัฒนกุล) 1, Thavatchai Suvarnnato (ธวัชชัย สุวรรณโท) 2, Artit Boonrod (อาทิตย์ บุญรอด) 3, Sermsak Sumanont (เสริมศักดิ์ สุมานนท์) 4, Pajeemas Kittipanya-ngam (พจีมาศ กิตติปัญญางาม) 5




หลักการและเหตุผล การดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดสร้างเส้นเอ็นไขว้หน้าเข่ามีผลต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วย ปัจจุบันแนวทางการดูแลมีความหลากหลาย การศึกษานี้จึงได้ศึกษาถึงความถูกต้องของคู่มือการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่า เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

วิธีการศึกษา ศึกษาความถูกต้องเหมาะสมของเนื้อหา ภาษา และรูปภาพของคู่มือการดูแลผู้ป่วยโดยผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรการแพทย์ ด้วยการวิเคราะห์ดัชนีสอดคล้อง (Index of item objective congruence: IOC) ข้อมูลที่ IOC 0.8 คือ ข้อมูลมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ คู่มือจะถูกแก้ไขและวิเคราะห์จน IOC 0.8

ผลการศึกษา  การศึกษาความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ 8 ราย พบว่าความถูกต้องของรูปภาพ ในหัวข้อความรู้เรื่องเอ็นไขว้หน้าเข่า การดูแลก่อนการผ่าตัด การฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัดระยะที่ 2 และเนื้อหาในหัวข้อการฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัดระยะที่ 5 มี IOC = 0.375, 0.75, 0.75 และ 0.75 ตามลำดับ และการศึกษาความเหมาะสมทางภาษาและรูปภาพจากบุคลกรการแพทย์ 30 ราย พบว่า รูปภาพในหัวข้อความรู้เรื่องเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด IOC =  0.367 และหลังการแก้ไขทุกหัวข้อ IOC 0.8

สรุป คู่มือการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่าสำหรับผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดมีความถูกต้องของเนื้อหาและรูปภาพ

 

Background and objectives: The anterior cruciate ligament reconstruction (ACLR) patient care effects on patient recovery. Nowadays, there are several guidelines for ACLR patients. This study evaluated the validity of the ACLR manual of Srinagarind Hospital; hence, the care is in the same direction. 

Methods:  The validity and suitability of knowledge, language and pictures were evaluated by the professionals and medical personnels. The index of item objective congruence (IOC) of each topics was reportes. The IOC 0.8 meant that data was according to the objective. The manual was adjusted and analyzed again until all IOC was 0.8.

Results:  The validity that evaluated by eight professionals, the IOC of the picture in ACL knowledge, preoperative care, second phase of rehabilitation, and knowledge in fifth phase of rehabilitation were equal to 0.375, 0.75, 0.75, and 0.75 respectively. The suitability that evaluated by 30 medical personnels, the IOC of the picture in the ACL knowledge section, was equal to 0.367. The IOC of all sections after adjusting was 0.8.

Conclusion: The ACLR patient care manual of Srinagarind Hospital was accurate and suitable for ACLR patients.

 

บทนำ

การบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าเข่าเป็นการบาดเจ็บที่พบบ่อยที่สุดในการบาดเจ็บที่ข้อเข่า ส่งผลให้มีการผ่าตัดประมาณ 120,000-200,000 เข่าต่อปีในประเทศสหรัฐอเมริกา1 และประมาณ 400,000 เข่าต่อปีทั่วโลก การบาดเจ็บของเอ็นไขว้เข่าหน้าพบได้ทั้งจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุและจากการเล่นกีฬา โดยพบบ่อยในกีฬาที่มีลักษณะของการกระโดด บิดหมุนข้อเข้า หรือมีการปะทะกันรุนแรง1-3 เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส หรือ วอลเลย์บอล เป็นต้น ในปัจจุบัน บุคคลทั่วไปสนใจการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาเพื่อการสันทนาการมากขึ้น ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการได้รับการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าเข่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บต่อเอ็นไขว้หน้าเข่ามักมีประวัติการบิดหมุนข้อเข่าขณะบาดเจ็บ ได้ยินเสียงป๊อปในข้อเข่า ปวดเข่า เข่าบวม ไม่สามารถเล่นกีฬาต่อได้ เมื่ออาการปวดบวมลดลงและกลับมาเล่นกีฬาอีกครั้ง พบว่าไม่สามารถเล่นกีฬาได้เหมือนเดิม มีความไม่มั่นคงของข้อเข่า มีอาการเข่าหลวม เข่าคลอน เนื่องจากเอ็นไขว้หน้าเข่าเป็นเส้นเอ็นที่มีความสำคัญในการให้ความมั่นคงของข้อเข่า โดยมีจุดเกาะจากกระดูกต้นขาไปที่กระดูกหน้าแข้ง1 ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีการบาดเจ็บร่วมของหมอนรองกระดูกข้อเข่า ทำให้มีอาการปวดขัดในข้อ งอเหยียดเข่าได้ไม่สุด มีอาการเข่าบวมเป็นๆหายๆ ตรวจร่างกายจะพบความหลวมของข้อเข่าที่ได้รับบาดเจ็บเมื่อเปรียบเทียบกับเข่าข้างที่ปกติ1

 การรักษาผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บเฉียบพลันเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด คือ การผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเอ็นไขว้หน้า โดยทำในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย เป็นนักกีฬา มีความต้องการความมั่นคงของข้อเข่าสูง สำหรับการรักษาโดยไม่ผ่าตัด และทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูนั้นจะทำในผู้ป่วยบางราย เช่น นักกีฬาในกลุ่มกีฬาที่ไม่มีการบิดหมุนหรือเปลี่ยนทิศทางมากนัก และในผู้ป่วยที่มีความหลวมหรือไม่มั่นคงของข้อเข่าไม่มาก1

เมื่อได้รับการรักษาการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าเข่าแล้ว ระยะเวลาในการพักฟื้นเพื่อกลับไปเล่นกีฬาเป็นคำถามที่ผู้ป่วยส่วนมากสงสัย ปัจจัยที่จะต้องคำนึงถึงก่อนการกลับไปเริ่มเล่นกีฬา ได้แก่ ระยะเวลาที่รอการผ่าตัด ลักษณะการผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด อาการของผู้ป่วย พยาธิสภาพที่ตรวจพบ การบาดเจ็บร่วมของโครงสร้างอื่นๆ1-2 นอกจากนี้ปัจจัยภายในของผู้ป่วยเองก็มีส่วน เช่น ความกังวลของผู้ป่วย ความกลัวการบาดเจ็บซ้ำ เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการกลับไปเล่นกีฬาหลังได้รับการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าประมาณ 9 เดือนจะให้ผลดีกว่าการกลับไปเล่นกีฬาในระยะที่เร็วกว่านั้น และนอกจากการใช้ระยะเวลาในการช่วยประเมินแล้ว การทดสอบนักกีฬาในด้านพละกำลัง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวและการประสานงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ก็จะเป็นสิ่งที่ใช้ในการประเมินความพร้อมของนักกีฬาในการกลับไปเล่นกีฬา เพื่อที่จะลดการบาดเจ็บซ้ำได้1, 4-8

หลังการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่า การฟื้นฟูกายภาพผู้ป่วยเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ผู้ป่วยมีการกลับไปเล่นกีฬาได้ดีขึ้น มีความมั่นใจ และลดโอกาสการบาดเจ็บซ้ำ ปัจจุบันแนวทางการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่า นั้นมีผู้เสนอแนวทางการดูแลในการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ หรือในตำราอยู่หลายแนวทาง โดยมีหลักการดูแลรักษาเป็นระยะและขั้นตอน คือ ในระยะแรกจะเป็นการลดอาการปวด บวม การฝึกการเคลื่อนไหวข้อเข่า การฝึกกล้ามเนื้อต้นขา การฝึกลงน้ำหนัก เมื่อทำได้ดีก็จะฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น การฝึกการทรงตัว การฝึกระบบประสาทควบคุมกล้ามเนื้อ และสุดท้ายจึงเป็นการฝึกทักษะทางกีฬาเพื่อที่จะกลับไปเล่นกีฬาได้5-8

การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่าในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ในปัจจุบัน ยังเป็นการให้การดูแลโดยแพทย์ผู้ผ่าตัดแต่ละคน และยังไม่ได้บูรณาการกับแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และนักกายภาพบำบัด ทำให้การดูแลผู้ป่วยแต่ละคนยังมีความแตกต่างกัน การดูแลผู้ป่วยที่แตกต่างกันส่งผลให้ระยะเวลาในการฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัดมีความแตกต่างกัน ผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น กำลังกล้ามเนื้อเพิ่มช้า หรือภาวะข้อติดมากกว่าที่ควรจะเป็นตามระยะเวลาการฟื้นฟู เป็นต้น นอกจากนี้ การดูแลผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่าได้รับการติดตามโดยแพทย์ออร์โธปิดิกส์เป็นหลัก ซึ่งมีข้อจำกัดด้านเวลา สถานที่และอุปกรณ์ในการสอนการฟื้นฟูและการประเมินสมรรถภาพระยะที่ 3-5 ภายหลังการผ่าตัด ดังนั้นการพัฒนาแนวทางการดูแลก่อนและหลังการผ่าตัด โดยการจัดทำคู่มือให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์จะช่วยทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และคาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเล่นกีฬาเร็วขึ้นและมากขึ้น ผู้วิจัยจึงได้พัฒนาคู่มือการดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดจากหนังสือและบทความวิจัย เพื่อเป็นแนวทางการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยการศึกษานี้ได้ศึกษาถึงความถูกต้อง ความเหมาะสมของการนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยจริงจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดและศึกษาถึงความเหมาะสมของการนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยจริงจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

วิธีการศึกษา

          การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบพรรณา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง (cross-sectional descriptive study) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 – 30 เมษายน 2563 โดยกลุ่มเป้าหมายที่ศึกษาแบ่งเป็น

กลุ่มที่ 1 ผู้เชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

แพทย์ออร์โธปิดิกส์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัดและพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด ที่มีความเชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดและเคยดูแลผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดมามากกว่า 20 ราย จำนวนทั้งหมด 8 ราย (แพทย์ออโธปิดิกส์จำนวน 2 ราย แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจำนวน 2 ราย นักกายภาพบำบัดจำนวน 2 ราย และพยาบาลจำนวน 2 ราย) ที่ปฏิบัติงานที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กลุ่มที่ 2 บุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสดูแลผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

บุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสการดูแลผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด คือ แพทย์ออร์โธปิดิกส์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์ประจำบ้านออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัดและพยาบาลหอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ จำนวนทั้งหมด 30 ราย9 ที่ปฏิบัติงานที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

          ข้อมูลในคู่มือการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่า แบ่งเป็น 9 หัวข้อ คือ ความรู้เรื่องเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด การดูแลก่อนการผ่าตัด การดูแลหลังการผ่าตัด  การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดระยะที่ 1 2 3 4 5 และบทสรุป

ผู้ที่ถูกคัดเลือกเข้างานวิจัยได้อ่านคู่มือการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่า โดยให้ผู้เชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดทำแบบสอบถามประเมินความถูกต้องของเนื้อหาและรูปภาพและความเหมาะสมทางภาษาและรูปภาพของคู่มือในการนำไปใช้จริงในผู้ป่วย และให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทำแบบสอบถามเกี่ยวกับความเหมาะสมทางภาษาและรูปภาพของคู่มือในการนำไปใช้จริงในผู้ป่วย และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ผลของคู่มือด้านความถูกต้องของเนื้อหาและรูปภาพ และความเหมาะสมทางภาษาและรูปภาพของคู่มือในการนำไปใช้จริงในผู้ป่วย ส่วนของคู่มือที่มีความไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมในการนำไปใช้จริงจะถูกแก้ไขตามข้อเสนอแนะและนำไปสอบถามจนกว่าจะมีความถูกต้องและเหมาะสมต่อการนำไปใช้จริง

ประเมินความถูกต้องของคู่มือด้วยการวัดความเที่ยงตรงของความถูกต้องในผู้เชี่ยวชาญโดยการวิเคราะห์ดัชนีสอดคล้อง (Index of item objective congruence: IOC)9 ของแบบสอบถามและข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปรับปรุงแบบสอบถามให้สมบูรณ์ โดยมีเกณฑ์การให้คะแนน IOC ดังต่อไปนี้

ให้ 1 คะแนน เมื่อข้อมูลมีความถูกต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์

ให้ 0 คะแนน เมื่อไม่แน่ใจว่าข้อมูลมีความถูกต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์

ให้ -1 คะแนน เมื่อข้อมูลไม่มีความถูกต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์

หลังจากวัดความถูกต้องแล้ว นำคะแนนแต่ละข้อมาหาค่าเฉลี่ย ข้อที่ค่าเฉลี่ย IOC มากกว่าหรือเท่ากับ 0.8 คือ ข้อที่มีความถูกต้อง ข้อที่ค่าเฉลี่ย IOC น้อยกว่า 0.8 คือ ข้อที่ไม่มีความถูกต้อง ข้อมูลส่วนนั้นจะถูกนำมาแก้ไขและประเมินผลใหม่จนคะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 0.8

          ประเมินความเที่ยงตรงของความเหมาะสมทางภาษาและรูปภาพด้วยการวิเคราะห์ดัชนีสอดคล้อง (Index of item objective congruence: IOC) 9 ของแบบสอบถามและข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญและผู้ไม่เชี่ยวชาญ เพื่อปรับปรุงแบบสอบถามให้สมบูรณ์ โดยมีเกณฑ์การให้คะแนน IOC ดังต่อไปนี้

ให้ 1 คะแนน เมื่อข้อมูลมีความเหมาะสมของภาษาและรูปภาพสอดคล้องกับวัตถุประสงค์

ให้ 0 คะแนน เมื่อไม่แน่ใจว่าข้อมูลมีความเหมาะสมของภาษาและรูปภาพสอดคล้องกับวัตถุประสงค์

ให้ -1 คะแนน เมื่อข้อมูลไม่มีความเหมาะสมของภาษาและรูปภาพสอดคล้องกับวัตถุประสงค์

หลังจากวัดความเหมาะสมของภาษาและรูปภาพแล้ว จะนำคะแนนแต่ละข้อมาหาค่าเฉลี่ย ข้อที่ค่าเฉลี่ย IOC มากกว่าหรือเท่ากับ 0.8  คือ ข้อที่มีความเหมาะสมของภาษาและรูปภาพ ข้อที่ค่าเฉลี่ย IOC น้อยกว่า 0.8 คือ ข้อที่ไม่มีความเหมาะสมของภาษาและรูปภาพ ข้อมูลส่วนนั้นจะถูกนำมาแก้ไขและประเมินผลใหม่จนคะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 0.8

ผลการศึกษา

          คู่มือที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นได้ทดสอบความเที่ยงตรงของเนื้อหาและรูปภาพในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 8 คน และทดสอบความเหมาะสมทางภาษาและรูปภาพในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 30 ราย โดยมีข้อมูลพื้นฐานดังตารางที่ 1-3 

          ผู้เชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดจำนวน 8 ราย ประเมินค่าความถูกต้องของเนื้อหาและรูปภาพในคู่มือการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่า (ตารางที่ 2) พบว่า ค่า IOC ของทุกหัวข้อมีคะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 0.8 คะแนน ยกเว้น รูปภาพในหัวข้อความรู้เรื่องเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด ค่า IOC = 0.375 รูปภาพในหัวข้อการดูแลก่อนการผ่าตัด ค่า IOC = 0.75 รูปภาพในหัวข้อการฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัดระยะที่ 2 ค่า IOC = 0.75 และเนื้อหาในหัวข้อการฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัดระยะที่ 5 ค่า IOC = 0.75 จึงได้นำมาแก้ไขตามข้อเสนอแนะ ผู้เชี่ยวชาญ 8 รายได้ประเมินค่าความถูกต้องของเนื้อหาและรูปภาพในคู่มือการดูแลผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดภายหลังการแก้ไขตามข้อเสนอแนะ พบว่า  รูปภาพในหัวข้อความรู้เรื่องเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด ค่า IOC = 1 รูปภาพในหัวข้อการดูแลก่อนการผ่าตัด ค่า IOC = 1 รูปภาพในหัวข้อการฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัดระยะที่ 2 ค่า IOC = 1 และเนื้อหาในหัวข้อการฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัดระยะที่ 5 ค่า IOC = 1

บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 30 ราย ประเมินความเหมาะสมทางภาษาและรูปภาพของคู่มือ (ตารางที่ 3) พบว่า ค่า IOC ของทุกหัวข้อมีคะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 0.8 คะแนน ยกเว้น รูปภาพในหัวข้อความรู้เรื่องเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด ค่า IOC = 0.367 จึงได้นำมาแก้ไขตามข้อเสนอแนะ และนำไปให้บุคลากรทางแพทย์ประเมินอีกครั้ง พบว่ารูปภาพในหัวข้อความรู้เรื่องเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด ค่า IOC = 1

ตารางที่ 1 ข้อมูลพื้นฐาน

กลุ่มเป้าหมาย

จำนวน

ประสบการณ์ (ปี)

ผู้เชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

 

 

แพทย์ออโธปิดิกส์

2

6-10 ปี, มากกว่า 10 ปี

แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู

2

มากกว่า 10 ปี

พยาบาล

2

มากกว่า 10 ปี

นักกายภาพบำบัด

2

6-10 ปี

บุคลากรทางการแพทย์

 

 

แพทย์ประจำบ้านออโธปิดิกส์และเวชศาสตร์ฟื้นฟู

18

1-5 ปี

พยาบาลทั่วไป

5

มากกว่า 10 ปี

นักกายภาพบำบัดทั่วไป

7

มากกว่า 10 ปี

 

ตารางที่ 2 ค่าเฉลี่ยการวิเคราะห์ค่าดัชนีสอดคล้อง (IOC) ความถูกต้องของเนื้อหาจากคู่มือการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่า

หัวข้อ

คะแนนเฉลี่ยการวิเคราะห์ค่าดัชนีสอดคล้อง (IOC)

ครั้งที่ 1

ครั้งที่ 2

ความรู้เรื่องเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

 

 

เนื้อหา

0.875

-

รูปภาพ

0.375*

1

การดูแลก่อนการผ่าตัด

 

 

เนื้อหา

0.875

-

รูปภาพ

0.75*

1

การดูแลหลังการผ่าตัด

เนื้อหา

 

0.875

 

-

การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดระยะที่ 1

 

 

เนื้อหา

1

-

รูปภาพ

0.875

-

การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดระยะที่ 2

 

 

เนื้อหา

0.875

-

รูปภาพ

0.75*

1

การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดระยะที่ 3

 

 

เนื้อหา

1

-

รูปภาพ

1

-

การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดระยะที่ 4

 

 

เนื้อหา

1

-

รูปภาพ

1

-

การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดระยะที่ 5

เนื้อหา

 

0.75*

 

1

บทสรุป

เนื้อหา

 

1

 

-

* IOC < 0.8

ตารางที่ 3 ค่าเฉลี่ยการวิเคราะห์ค่าดัชนีสอดคล้อง (IOC) ความเหมาะสมของเนื้อหาและรูปภาพจากคู่มือการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่า

หัวข้อ

คะแนนเฉลี่ยการวิเคราะห์ค่าดัชนีสอดคล้อง (IOC)

ครั้งที่ 1

ครั้งที่ 2

ความรู้เรื่องเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

 

 

เนื้อหา

0.967

-

รูปภาพ

0.367*

1

การดูแลก่อนการผ่าตัด

 

 

เนื้อหา

0.9

-

รูปภาพ

0.9

-

การดูแลหลังการผ่าตัด

เนื้อหา

 

0.833

 

-

การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดระยะที่ 1

 

 

เนื้อหา

0.867

-

รูปภาพ

0.867

-

การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดระยะที่ 2

 

 

เนื้อหา

0.9

-

รูปภาพ

0.9

-

การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดระยะที่ 3

 

 

เนื้อหา

0.933

-

รูปภาพ

0.967

-

การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดระยะที่ 4

 

 

เนื้อหา

0.933

-

รูปภาพ

0.833

-

การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดระยะที่ 5

เนื้อหา

 

0.9

 

-

บทสรุป

เนื้อหา

 

0.967

 

-

* IOC < 0.8

 

วิจารณ์

การศึกษาครั้งนี้พบว่า คู่มือการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่ามีเนื้อหาและรูปภาพที่ถูกต้อง รวมทั้งมีภาษาและรูปภาพที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยหรือบุคคลทั่วไป โดยระหว่างการศึกษา พบว่า การประเมินคู่มือการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่าในด้านความถูกต้องของเนื้อหาและรูปภาพจากผู้เชี่ยวชาญ มีความถูกต้องของรูปภาพในหัวข้อความรู้เรื่องเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด การดูแลก่อนการผ่าตัด การฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัดระยะที่ 2 และเนื้อหาในหัวข้อการฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัดระยะที่ 5 มีค่า IOC น้อยกว่า 0.8 จึงได้แก้ไขตามข้อเสนอแนะจนค่า IOC ของทุกหัวข้อมีค่ามากกว่า 0.8

          ในหัวข้อความรู้เรื่องเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด รูปภาพเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดจาก MRI ได้รับข้อเสนอแนะว่า รูปภาพเข้าใจยาก จำเป็นต้องได้รับการแปลผลโดยผู้เชี่ยวชาญและผู้ป่วยไม่มีความจำเป็นต้องรับทราบข้อมูลนี้ การแก้ไขคือ การตัดภาพเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดจาก MRI ออกจากคู่มือ ในหัวข้อการดูแลก่อนการผ่าตัด รูปการออกกำลังกายขาควรมีลูกศรอธิบายทิศทางการขยับขา การแก้ไขคือ การใส่ลูกศรเพื่ออธิบายทิศทางการขยับขา ในหัวข้อการฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัดระยะที่ 2 รูปการออกกำลังกายขาเพื่อเพิ่มองศาการงอเข่า ควรมีการเขียนขนาดของมุมอธิบายในรูปภาพเพื่อความชัดเจน การแก้ไขคือ การเขียนองศาของการงอเข่าในรูปภาพ ในหัวข้อการฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัดระยะที่ 5 เนื้อหาไม่เพียงพอที่จะอธิบายการฟื้นฟูในระยะนี้ได้ชัดเจน การแก้ไขคือ การศึกษาเพิ่มเติมและเขียนยกตัวอย่างการฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัดระยะที่ 5 โดยในคู่มือได้เขียนยกตัวอย่างการฟื้นฟูระยะที่ 5 ในนักฟุตบอล

ส่วนการประเมินคู่มือการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่าในด้านความเหมาะสมทางภาษาและรูปภาพ พบว่า รูปภาพในหัวข้อความรู้เรื่องเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด มีค่า IOC น้อยกว่า 0.8 โดยได้รับข้อเสนอแนะว่า รูปภาพขนาดเล็กไม่ชัดเจนและเข้าใจยาก ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับผลการประเมินคู่มือจากผู้เชี่ยวชาญ การแก้ไขคือ การตัดภาพเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดจาก MRI ออกจากคู่มือ จึงได้แก้ไขตามข้อเสนอแนะจนค่า IOC ของทุกหัวข้อมีค่ามากกว่า 0.8

โดยสรุปคู่มือการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่านี้มีความไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมเกี่ยวกับความชัดเจนของรูปภาพเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรูปภาพทั้งหมดได้รับแก้ไขตามข้อเสนอแนะ นอกจากนี้คู่มือยังมีความไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมเกี่ยวกับเนื้อหาในการดูแลภายหลังการผ่าตัดระยะที่ 5 คือ ระยะการกลับไปเล่นกีฬา เนื่องจากเนื้อหาในส่วนนี้น้อยอาจส่งผลให้ผู้อ่านไม่เข้าใจการฟื้นฟูในระยะนี้ ทั้งนี้ทางผู้จัดทำคู่มือมีความเห็นว่าการกลับไปเล่นกีฬาแต่ละชนิดนั้นจำเป็นต้องมีการฝึกที่แตกต่างกันตามประเภทของกีฬา และอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางด้านกีฬาของกีฬาแต่ละประเภท ทางผู้จัดจึงได้อธิบายการฝึกเพื่อกลับไปเล่นกีฬาฟุตบอลเป็นตัวอย่างเท่านั้น

เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนเอ็นไขว้หน้าเข่ามีหลายแนวทาง5-8,10,11 คู่มือนี้ได้รวบรวมแนวทางในการการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าที่สามารถใช้ได้ในบริบทโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เพื่อลดความสับสนและเป็นแนวทางให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

          ข้อจำกัดการศึกษานี้ คือ การศึกษานี้เป็นการศึกษาถึงความถูกต้องของคู่มือโดยผู้เชี่ยวชาญและความเหมาะสมทางภาษาและรูปภาพโดยบุคลากรทางแพทย์ที่จะเป็นผู้ใช้คู่มือนี้ แต่คู่มือนี้ยังไม่ได้ทดสอบความน่าเชื่อถือของคู่มือก่อนการใช้ในผู้ป่วยจริง เพื่อประเมินความเหมาะสมทางภาษาและรูปภาพในบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการติดตามภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยจากการใช้คู่มือนี้ ทั้งนี้คู่มือฉบับนี้ควรมีการศึกษาในผู้ป่วยจริงก่อนนำคู่มือนี้ไปใช้อย่างแพร่หลาย และอาจมีการพัฒนาส่วนอื่น เช่น การเพิ่มแบบบันทึกข้อมูลผู้ป่วยหรือการเพิ่มสื่อการให้ความรู้อื่น เช่น การใช้คิวอาร์ โค้ด (QR code) และการจัดทำวีดิทัศน์บนอินเตอร์เน็ตเพื่อการเข้าถึงข้อมูลที่สะดวกมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

สรุป

          คู่มือการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่าของโรงพยาบาลศรีนครินทร์นี้มีเนื้อหาและรูปภาพที่ถูกต้องและมีความเหมาะสมทางภาษาและรูปภาพที่จะใช้อธิบายผู้ป่วย

 

กิตติกรรมประกาศ

ขอขอบคุณคุณจิตจิรา ไชยฤทธิ์ นักวิชาการเวชสถิติ หน่วยระบาดวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายแพทย์ณัฐพล ถวิลไพร และ นายแพทย์คณณัฎร์ จารุวรรณีชัย สำหรับรูปถ่ายในคู่มือการดูแลผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าเข่าขา

 

เอกสารอ้างอิง

1.            Sepúlveda F, Sánchez L, Amy E, Micheo W. Anterior Cruciate Ligament Injury. Curr Sports Med Rep 2017; 16: 172-8.

2.            Wiggins AJ, Granhi RK, Schneider DK, Stanfield D, Webster KE, Myer GD. Risk of secondary injury in younger athletes after anterior cruciate ligament reconstruction: a systematic review and meta-analysis. Am J Sports Med 2016; 44: 1861-76.

3.            Kobayashi H, Kanamura T, Koshida S, Miyashita K, Okado T, Shimizu T, et al. Mechanisms of the Anterior Cruciate Ligament Injury in Sports Activities: A Twenty-Year Clinical Research of 1,700 Athletes. J Sport Sci Med 2010; 9: 669-75.

4.            วุฒิพงศ์ สุทัศนีย์. Essential Sports Medicine.  กรุงเทพ: อนุสาขาเวชศาสตร์เวชศาสตร์การกีฬา ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย; 2011.

5.            Scott WN, Insall JN. Insall & Scott Surgery of the Knee. Philadelphia: Elsevier; 2018.

6.            Noyes FR, Barber-Westin SD. Noyes’ Knee Disorders: Surgery, Rehabilitation, Clinical Outcomes. 2nd ed. Philadelphia: Elsevier; 2017.

7.            Ardern CL. Anterior cruciate ligament reconstruction- not exactly a one-way ticket back to preinjury level: a review of contextual factors affecting return to sport after surgery. Sports Health 2015; 7: 224-30.

8.            Physiopedia. ACL Rehabilitation: Re-injury and Return to Sport Tests[Internet]. 2019.[cited February 13, 2020] Available from https://www.physio-pedia.com/index.php?title=ACL_Rehabilitation :_Re-injury_and_Return_to_Sport_Tests&oldid=226528.

9.            George AJ, Gordon PB. Initial Scale Development: Sample Size for Pilot Studies. Educ Psychol Meas 2009; 70; 394-400.

10.         ทิพยา อินทรกาญณ์. บทบาทพยาบาลห้องผ่าตัดในการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดเสริมเอ็นไขว้หน้าของข้อเข่าโดยใช้กล้องส่องข้อ. จุลสารชมรมพยาบาลออโธปิดิกส์ 2547; 9: 51-75.

11.         ศรีเทียน ตรีศิริรัตน์. การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก. ขอนแก่น: ภาควิชาพยาบาลอายุรศาสตร์และศัลยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2538.

 

Untitled Document
Article Location

Untitled Document
Article Option
       Abstract
       Fulltext
       PDF File
Untitled Document
 
ทำหน้าที่ ดึง Collection ที่เกี่ยวข้อง แสดง บทความ ตามที่ีมีใน collection ที่มีใน list Untitled Document
Another articles
in this topic collection

An Analysis of Orthopedic Injury Profiles of Pedestrian-Motor Vehicle in District Hospital (การวิเคราะห์รูปแบบภยันตรายทางออร์โธปิดิกส์ที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในโรงพยาบาลชุมชน)
 
Risk Factors Analysis of Gram-Negative Osteomyelitis (การวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อกรัมลบในโพรงกระดูก)
 
Prevalence of Vitamin D Deficiency among Postmenopausal Women at Srinagarind Hospital, Khon Kaen Province, Thailand. (ความชุกของภาวะขาดวิตามินดีในสตรีวัยทองที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น)
 
Appropriate Tibial Tunnel Angle and Knee Flexion Angle for Aiming Femoral Insertion in Endoscopic Anterior Curciate Ligament Reconstruction (มุมอุโมงค์ที่กระดูกแข้ง และมุมงอเข่าที่เหมาะสมในการเล็งจุดเกาะของเอ็นไขว้หน้า)
 
<More>
Untitled Document
 
This article is under
this collection.

Orthopedics
 
Rehabilition Medicine
 
 
 
 
Srinagarind Medical Journal,Faculty of Medicine, Khon Kaen University. Copy Right © All Rights Reserved.
 
 
 
 

 


Warning: Unknown: Your script possibly relies on a session side-effect which existed until PHP 4.2.3. Please be advised that the session extension does not consider global variables as a source of data, unless register_globals is enabled. You can disable this functionality and this warning by setting session.bug_compat_42 or session.bug_compat_warn to off, respectively in Unknown on line 0