วิจารณ์
จากการศึกษาระดับความร่วมมือในการใช้ยาจิตเวชของผู้ป่วยออทิสติก และหาความสัมพันธ์ของปัจจัยด้านต่างๆกับความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยออทิสติก โดยการสอบถามผู้ปกครอง จำนวน 106 ราย พบว่ามีผู้ป่วยออทิสติกเพศชายมากกว่าหญิง 4.89 เท่า ใกล้เคียงผลการศึกษาทางระบาดวิทยาของโรคออทิสติก2 โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเด็ก (อายุเฉลี่ย 10 ± 3.9 ปี) และมีเพียงร้อยละ 7.6 ที่พบว่ามีโรคหรือความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น หอบหืด Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase Deficiency เป็นต้น จากข้อมูลรายการยาพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับยาจำนวน 2 ชนิดร่วมกัน โดย Risperidone เป็นยาที่ได้รับการสั่งใช้มากที่สุด รองลงมาคือ Methylphenidate และ Fluoxetine คล้ายคลึงกับผลการศึกษาของ Wichaikam และWatcharasinthu6 ซึ่งทำการสำรวจใช้ยาในเด็กออทิสติก ณ โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ส่วนข้อมูลผู้ปกครองพบว่าส่วนใหญ่เป็นมารดา (อายุเฉลี่ย 42.68 ± 8.87 ปี) และมีสถานภาพสมรส (อยู่ด้วยกัน) คล้ายคลึงกับผลการศึกษาของ Charuschaarungkiat และ Watcharasinthu16 ซึ่งทำการศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลเด็กออทิสติก ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ แสดงให้เห็นว่าผู้ปกครอง และผู้ป่วยออทิสติกที่เข้าร่วมการศึกษานั้นมีลักษณะสอดคล้องกับผู้ปกครองและผู้ป่วยออทิสติกโดยทั่วไป
ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วย มีความร่วมมือในการใช้ยาจิตเวชในระดับสูง (ร้อยละ 57.54) รองลงมาคือระดับกลาง (ร้อยละ 27.35) และระดับต่ำ (ร้อยละ 15.09) ส่วนใหญ่อยู่ในมิติของพฤติกรรมที่ไม่จงใจ ได้แก่ การลืม และให้ยาไม่ตรงเวลา สอดคล้องกับการศึกษา Logan และคณะ7 พบว่าผู้ป่วยออทิสติกมีความร่วมมือในการใช้ยาจิตเวช ร้อยละ 40-52 โดยผู้ป่วยมีความร่วมมือในการใช้ยาต้านโรคจิตสูงสุด (ร้อยละ 52) รองลงมาคือยารักษาสมาธิสั้น (ร้อยละ 44) และยาต้านเศร้า (ร้อยละ 40) อย่างไรก็ตามมีความแตกต่างของวิธีการประเมินความร่วมมือในการใช้ยา โดยการศึกษาข้างต้นวัดความร่วมมือในการใช้ยาด้วยวิธี Proportion of day coverage (PDC) ซึ่งรวมรวมการใช้ยาจิตเวชในระยะเวลา 2 ปี ของผู้ป่วยออทิสติกจากฐานข้อมูล แต่ในการศึกษานี้ใช้การตอบแบบสอบถาม MTB-Thai ในการประเมินพฤติกรรมการให้ยาแก่ผู้ป่วยของผู้ปกครอง อีกทั้งเกณฑ์การประเมินที่ใช้ยังมีความแตกต่างกัน โดยการศึกษาของ Logan และคณะ7 ใช้สัดส่วนของ PDC ที่มากกว่าหรือเท่ากับ 0.8 หรือ ร้อยละ 80 ในการจัดผู้ป่วยให้อยู่ในกลุ่มที่มีความร่วมมือในการใช้ยา แต่เกณฑ์การประเมินของแบบสอบถาม MTB-Thai นั้น จะจัดกลุ่มความร่วมมือในการใช้ยาเป็นระดับสูง กลาง และต่ำ
จากข้อมูลรายการยาพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 81.8) ได้รับยา Risperidone ซึ่งเป็นหนึ่งในยาต้านโรคจิตที่มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยออทิสติกที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง จากการศึกษาของ Arnold และคณะ17 พบว่าความร่วมมือในการใช้ยาเป็นปัจจัยที่สามารถทำนายผลการตอบสนองต่อยาได้ โดยความร่วมมือในการใช้ยามากกว่า ร้อยละ 90 จึงจะมีผลการรักษามากกว่ายาหลอก แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือในการใช้ยา Risperidone ในผู้ป่วยออทิสติก ถึงแม้ว่าในการศึกษานี้ผู้ป่วยกว่า ร้อยละ 50 จะมีความร่วมมือในการใช้ยาเป็นอย่างดี แต่ยังมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ยังมีปัญหาความไม่ร่วมมือในการใช้ยา
การประเมินความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ยาแบบเฉพาะด้าน พบว่าผู้ปกครองมีคะแนนรับรู้ความจำเป็นต่อการใช้ยาจิตเวชของผู้ป่วยออทิสติกมากกว่าความกังวลจากการใช้ยา แสดงว่าผู้ปกครองมีความเชื่อเกี่ยวกับยาจิตเวชที่ใช้ในผู้ป่วยออทิสติกในแง่ประโยชน์ หรือข้อดีมากกว่าข้อเสีย ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ยาแบบทั่วไปทั้งด้านการใช้ยามากเกินไปและอันตรายจากการใช้ยามีคะแนนใกล้เคียงกัน เมื่อทำการจัดกลุ่มคะแนนในแต่ละด้านเป็น 2 กลุ่มคือมีความเชื่อและไม่มีความเชื่อต่อด้านนั้น พบว่าผู้ปกครองที่มีความเชื่อเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้ยาโดยทั่วไปจะมีความร่วมมือในการใช้ยามากกว่ากลุ่มที่ไม่มีความเชื่อดังกล่าว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.049) และยังพบว่าความเชื่อทั่วไปด้านอันตรายจากการใช้ยามีความสัมพันธ์ทางลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.016) กับความร่วมมือในการใช้ยา โดยมีค่าสัมประสิทธิสหสัมพันธ์เท่ากับ -0.295 แสดงถึงความสัมพันธ์ในระดับต่ำ ชี้ให้เห็นว่าความร่วมมือในการใช้ยาจะลดลงเมื่อผู้ปกครองมีความเชื่อมากขึ้นว่ายาโดยทั่วไปนั้นอันตราย ขณะที่ความเชื่อด้านอื่น ๆ ได้แก่ ความเชื่อเฉพาะด้านการรับรู้ความจำเป็นต่อการใช้ยา ความเชื่อเฉพาะด้านความกังวลจากการใช้ยา และความเชื่อทั่วไปด้านการใช้ยามากเกินไป ไม่พบความสัมพันธ์กับความร่วมมือในการใช้ยา อย่างไรก็ตามผลการศึกษาที่พบนี้แตกต่างกับแนวคิดของ Horne และคณะ9 ที่ได้อธิบายถึงความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ยาแบบทั่วไปว่าส่งผลต่อความร่วมมือในการใช้ยาผ่านความเชื่อเฉพาะในด้านความกังวล ทำให้ความกังวลเป็นปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อความร่วมมือในการใช้ยา แต่ในการศึกษานี้ยังไม่พบความสัมพันธ์ของความเชื่อด้านความกังวลกับความร่วมมือในการใช้ยา ทั้งนี้อาจเนื่องจากยังไม่เคยมีการศึกษาความสัมพันธ์ของความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ยาของผู้ปกครองของผู้ป่วยออทิสติกกับความร่วมมือในการใช้ยา มีเพียงการศึกษาของ Hock และคณะ8 ที่พบว่าการรับรู้ภาระของการรักษา เช่น การรักษาทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รบกวนการใช้ชีวิต เกิดการเสียเวลาและสูญเสียพลังกายใจ มีความสัมพันธ์ทางลบกับความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ปกครองผู้ป่วยออทิสติก (β = -0.736, p = 0.005)
เมื่อพิจารณาคะแนน MRCI พบว่า ไม่สัมพันธ์กับความร่วมมือในการใช้ยา แตกต่างกับการศึกษาของ Logan และคณะ7 ที่พบว่าค่าคะแนน MRCI สัมพันธ์เชิงบวกกับความร่วมมือในการใช้ยาต้านโรคจิต (OR 1.15, ร้อยละ 96 CI 1.05, 1.27) ยารักษาสมาธิสั้น (OR 1.6, ร้อยละ 95 CI 1.4, 1.8) และยาต้านซึมเศร้า (OR 1.2,ร้อยละ 95 CI 1.08, 1.33) ทั้งนี้เกิดจากระยะเวลาที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ MRCI score ที่แตกต่างกัน ซึ่งการศึกษาครั้งนี้มีระยะเวลาการเก็บข้อมูล 2 เดือน และเก็บข้อมูลประวัติการใช้ยาจากเวชระเบียนผู้ป่วยนอก จากการติดตามผลการรักษาครั้งที่ผ่านมาเท่านั้น โดยพบว่าค่าเฉลี่ยของคะแนน MRCI เท่ากับ 7.08 ± 2.78 ส่วนการศึกษาของ Logan และคณะ7 ทำการเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 2 ปี และมีการเก็บข้อมูลประวัติการใช้ยาของผู้ป่วยหลายครั้ง อาจส่งผลถึงการคำนวณคะแนน MRCI ทำให้ได้ค่ามัธยฐานของคะแนนค่อนข้างสูง (55.0 คะแนน) และยังมีช่วงของคะแนนกว้าง (2 - 409 คะแนน)
เมื่อพิจารณา โรคร่วม พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับความร่วมมือในการใช้ยา ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Moore และคณะ18 ที่พบว่าโรคร่วมของผู้ป่วยออทิสติกไม่มีผลต่อความร่วมมือในการใช้ยา แต่การศึกษาของ Logan และคณะ7 พบว่าโรคร่วมมีความสัมพันธ์กับการใช้ยารักษาสมาธิสั้น อย่างไรก็ตามพบว่าจำนวนของผู้ป่วยที่มีโรคร่วมในแต่ละการศึกษามีความแตกต่างกันค่อนข้างมากเนื่องจากรูปแบบการศึกษาและวิธีการเก็บข้อมูลที่แตกต่างกัน โดยการศึกษาของ Moore และคณะ18 บันทึกข้อมูลโรคร่วมจากการตอบแบบสอบถามของผู้ปกครองซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยที่มีโรคร่วม ร้อยละ 32.3 ส่วนการศึกษาของ Logan และคณะ7 รวบรวมข้อมูลโรคร่วมจากฐานข้อมูลพบว่ามีผู้ป่วยที่มีโรคร่วมมากถึง ร้อยละ 93 ส่วนใหญ่เป็นอาการหรือสภาวะผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับจิตใจเช่น วิตกกังวล ความบกพร่องทางสติปัญญา เป็นต้น และในการศึกษานี้บันทึกข้อมูลโรคร่วมจากเวชระเบียนผู้ป่วยนอก พบว่ามีผู้ป่วยที่มีโรคร่วมเพียง ร้อยละ 7.6
สรุป
ความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยเมื่อสอบถามจากผู้ปกครองพบว่า ความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยออทิสติกที่วัดจากผู้ปกครอง มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 22.73 ± 2.07 คะแนน เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ MTB-Thai พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความร่วมมือในการใช้ยาอยู่ในระดับสูง จากการเปรียบเทียบการใช้ยาระหว่างกลุ่มพบว่า มีเพียงคะแนนความร่วมมือในการใช้ยาระหว่างกลุ่มผู้ปกครองที่มีความเชื่อและไม่มีความเชื่อเกี่ยวกับอันตรายของยาโดยทั่วไปเท่านั้นที่มีความแตกต่างต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.049) สอดคล้องกับการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านผู้ปกครองและปัจจัยด้านผู้ป่วยกับความร่วมมือในการใช้ยาจิตเวช ซึ่งพบความสัมพันธ์ทางลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.016) กับความเชื่อทั่วไปด้านอันตรายจากการใช้ยา (General - harm) ค่าสัมประสิทธิสหสัมพันธ์เท่ากับ -0.295 แสดงถึงความสัมพันธ์ในระดับต่ำ ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ ควรคำนึงถึงทัศนคติและความเชื่อโดยเฉพาะด้านอันตรายจากการใช้ยา และส่งเสริมให้ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ยาตามแบบแผน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับผลการรักษาอย่างเต็มประสิทธิผล
ความร่วมมือในการใช้ยาเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากหลายปัจจัย จึงควรมีการศึกษาปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค นอกจากนี้การประเมินความร่วมมือในการใช้ยาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น ควรใช้วิธีการอื่นร่วมด้วยเช่น การนับเม็ดยา อัตราการมารับยาของผู้ป่วย เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
1. American Psychiatric Association. Diagnostic and statistical manual of mental disorder. 5thed. Washington DC: American Psychiatric Association; 2013.
2. Centers for Disease Control and Prevention. CDC estimates 1 in 68 children has been identified with autism spectrum disorder [online] 2016 July. [Accessed Sep 5, 2018]. Available from: http://www.cdc.gov/ncbddd/autism/ data.
3. Thai Autism Foundation. The situation of autism patient in Thailand 2553 [online] 2010 May. [Accessed Sep 5, 2018]. Available from http://oknation.nationtv.tv/blog/autisticthai/2010/06/04/entry-2.
4. Jobski K, Höfer J, Hoffmann F, Bachmann C. Use of psychotropic drugs in patients with autism spectrum disorders: a systematic review. Acta Psychiatr Scand 2017; 135: 828.
5. Williams PG, Woods C, Stevenson M, Davis DW, Radmacher P, Smith M. Psychotropic medication use in children with autism in the Kentucky Medicaid population. Clin Pediatr (Phila) 2012; 51: 9237.
6. Wichaikam D, Watcharasinthu A. Use of health care services of children with autism at Yuwaprasart Waithayopathum Child Psychiatric Hospital. Chula Med J 2556; 57: 625-37.
7. Logan SL, Carpenter L, Leslie RS, Hunt KS, Garrett-Mayer E, Charles J, et al. Rates and predictors of adherence to psychotropic medications in children with autism spectrum disorders. J Autism Dev Disord 2014; 44: 293148.
8. Hock R, Kinsman A, Ortaglia A. Examining treatment adherence among guardians of children with autism spectrum disorder. Disabil Health J 2015; 8: 40713.
9. Horne R, Chapman SC, Parham R, Freemantle N, Forbes A, Cooper V. Understanding patients adherence-related beliefs about medicines prescribed for long-term conditions: a meta-analytic review of the Necessity-Concerns Framework. PLoS One 2013; 8: e80633.
10. Conn KM, Halterman JS, Lynch K, Cabana MD. The impact of guardians medication beliefs on asthma management. Pediatrics 2007; 120: e5216.
11. Pitisutham P, Pichiensoonthon C, (editor). Clinical research textbooks. Bangkok: Faculty of Tropical Medicine, Mahidol University; 2554
12. Sakthong P, Sonsa-Ardjit N, Sukarnjanaset P, Munpan W, Suksanga P. Development and psychometric testing of the medication taking behavior in Thai patients. Int J Clin Pharm 2016; 38:438-45.
13. Horne R, Weinman J, Hankins M. The beliefs about medicines questionnaire: The development and evaluation of a new method for assessing the cognitive representation of medication. Psychology & Health 1999; 14:1-24.
14. Lueang-somnapa Y, Leung-somnapa S, Phaeng S, Thasirasawat P, Kiewcha-am R, Suwattanakul W. Confirmatory component analysis, Thai language beliefs about medicine. JPMC 2557; 31: 297-310.
15. Libby AM, Fish DN, Hosokawa PW, Linnebur SA, Metz KR, Nair KV, et al. Patient-Level Medication Regimen Complexity across Populations with Chronic Disease. Clin Ther 2013; 35: 385-98.
16. Charuscharungkiat N, Watcharasinthu A. Quality of life of autism spectrum disorder patients care givers and related factors. JPAT 2556; 58: 233-44.
17. Arnold LE, Farmer C, Kraemer HC, Davies M, Witwer A, Chuang S, et al. Moderators, mediators, and other predictors of risperidone response in children with autistic disorder and irritability. J Child Adolesc Psychopharmacol 2010; 20: 8393.
18. Moore TR, Symons FJ. Adherence to Behavioral and Medical Treatment Recommendations by Guardians of Children with Autism Spectrum Disorders. J Autism Dev Disord 2009; 39: 117384.