วิธีการศึกษา
การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพัฒนา (Developmental research) โดยมีกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ทุกรายที่ให้บริการการฟื้นฟูหัวใจ ณ งานเวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจ ฝ่ายปฏิบัติการ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย นักกายภาพบำบัดทุกรายที่ปฏิบัติงานประจำ จำนวน 7 ราย แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นบุคลากรปฏิบัติงานประจำในการให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจ จำนวน 1 ราย และแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปฏิบัติงานในตรวจรักษาผู้ป่วยด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจ ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเมินประสิทธิภาพของเว็บแอปพลิเคชัน จำนวน 2 ราย รวมเป็นจำนวน 10 ราย โดยอาสาสมัครทุกรายจะมีความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์เกี่ยวกับการให้คำแนะนำโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ แก่ผู้ป่วย เพื่อให้สามารถประเมินประสิทธิภาพและความพึงพอใจต่อการใช้งานเว็บแอปพลิเคชันสำหรับโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ขั้นตอนการดำเนินการศึกษา
การให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยเรื่องโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ในผู้ป่วยภายหลังทำการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องจัดการจังหวะการเต้นของหัวใจนั้น ถือการปฏิบัติงานตามคู่มือโปรแกรมการบริหารข้อไหล่สำหรับผู้ป่วยภายหลังได้รับการรักษาด้วยการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดถาวร งานเวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจ ฝ่ายปฏิบัติการ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี พ.ศ. 2555 ซึ่งประกอบด้วย 4 ระยะ เป็นท่าการบริหารเพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ทีละระดับจนกระทั้งเต็มช่วงการเคลื่อนไหวตามช่วงระยะเวลาการหายของแผลภายหลังการผ่าตัดฝังเครื่องจัดการจังหวะการเต้นของหัวใจ การศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ สามารถลดภาวะเสี่ยงในการเกิดข้อไหล่ติดแข็งหลังทำการรักษา และไม่ก่อให้เกิดภาวะเครื่องหรือสายไฟฟ้าเลื่อนหลุด5 ดังนั้นจึงพิจารณาเห็นว่าโปรแกรมบริหารข้อไหล่ฯ นี้ สามารถนำมาให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมกับผู้ป่วย อันนำไปสู่การพัฒนาเป็นเว็บแอปพลิเคชันสำหรับโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. ขั้นตอนการพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันสำหรับโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
1.1. ศึกษาความต้องการของผู้ใช้งาน โดยการจัดประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน
1.2. ออกแบบเว็บแอปพลิเคชันทั้งด้านหน้าจอรับข้อมูล แสดงผล และแบบรายงานที่เป็นเอกสารความรู้ให้แก่ผู้ป่วย
1.3. พัฒนาเว็บแอปพลิเคชันสำหรับโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ เครื่องมือ Visual Studio 2017 ภาษาที่ใช้ในการพัฒนา คือ C# และฐานข้อมูลใช้ Microsoft SQLSERVER ซึ่งโปรแกรม Visual Studio 2017 และ Microsoft SQLSERVER ทางผู้พัฒนาได้จัดซื้อผลิตภัณฑ์กับทาง Microsoft แล้ว
1.4. ตรวจสอบความสามารถของเว็บแอปพลิเคชันโปรแกรมบริหารข้อไหล่ฯ
1.5. ติดตั้งเว็บแอปพลิเคชันให้สามารถทำงานผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
2. ขั้นตอนการประเมินผลการใช้งานเว็บแอปพลิเคชันสำหรับโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ได้ทำการประเมินโดยแบบสอบถามที่ได้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้อง ความตรงตามเนื้อหา ความครอบคลุมตามวัตถุประสงค์และความเหมาะสมด้านภาษาจากผู้เชี่ยวชาญ และทำการประเมินหลากหลายด้าน ดังนี้
2.1. ด้านประสิทธิภาพและประโยชน์ของเว็บแอปพลิเคชัน
2.2. ด้านการออกแบบและการจัดรูปแบบของเว็บแอปพลิเคชัน
2.3. ความพึงพอใจในภาพรวมต่อการใช้งานเว็บแอปพลิเคชัน
การประเมินจะใช้ระบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ซึ่งมีการกำหนดค่าการประเมิน 5 ระดับ ตามแบบลิเคิร์ท (Linkerts Scale) โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
กำหนดค่าคะแนน
5 หมายถึง ความพึงพอใจมากที่สุด
4 หมายถึง ความพึงพอใจมาก
3 หมายถึง ความพึงพอใจปานกลาง
2 หมายถึง ความพึงพอใจน้อย
1 หมายถึง ความพึงพอใจน้อยที่สุด
โดยมีเกณฑ์การแปลความหมายเพื่อจัดระดับคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจของผู้ใช้ ดังนี้
ค่าคะแนนเฉลี่ย
4.50-5.00 หมายถึง ความพึงพอใจมากที่สุด
3.50-4.49 หมายถึง ความพึงพอใจมาก
2.50-3.49 หมายถึง ความพึงพอใจปานกลาง
1.50-2.49 หมายถึง ความพึงพอใจน้อย
1.00-1.49 หมายถึง ความพึงพอใจน้อยที่สุด
3. ขั้นตอนทดสอบการใช้งานเว็บแอปพลิเคชัน โดยกลุ่มตัวอย่างประเมินเว็บแอปพลิเคชัน พร้อมทั้งประเมินการใช้งานเว็บแอปพลิเคชัน จากนั้นนำข้อเสนอแนะมาพิจารณาแก้ไขปรับปรุงเว็บแอปพลิเคชันอีกครั้ง
การวิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามใช้สถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงระดับความพึงพอใจในด้านต่างๆ ของผู้ใช้งานเว็บแอปพลิเคชันโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ข้อพิจารณาด้านจริยธรรม (Ethical approval)
โครงการวิจัยได้ผ่านการพิจารณาด้านจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หมายเลขสำคัญโครงการ HE 611159 เป็นไปตามประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับที่ 1877/2559
ผลการศึกษา
เว็บแอปพลิเคชันสำหรับโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ในผู้ป่วยภายหลังทำการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องจัดการจังหวะการเต้นของหัวใจ ที่อยู่เว็บไซต์ คือ http://202.28.117.161/Rehab/ สามารถแสดงผลบนเว็บเบราว์เซอร์ได้ในหลายอุปกรณ์ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล สมาร์ทโฟน แล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ และแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ โดยผู้วิจัยได้พัฒนาเว็บแอปพลิเคชัน เพื่อตอบสนองตามความต้องการของผู้ใช้งานและเป็นการพัฒนาคุณภาพในการให้บริการผู้ป่วยด้านให้ความรู้แก่ผู้ป่วยก่อนกลับบ้านที่มีความถูกต้องและเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยรายบุคคล
ผลพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันจะแสดงหน้าจอหลักของเว็บแอปพลิเคชัน โดยมีเมนูการใช้งานแบ่งเป็น 2 เมนูหลักตามประเภทของผู้เข้าใช้งาน คือ โปรแกรมออกกำลังกายบริหารข้อไหล่สำหรับผู้ป่วย และเอกสารให้คำแนะนำโปรแกรมบริหารข้อไหล่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (รูปที่ 1-1) โดยผู้ใช้งานจะกดปุ่ม ถัดไป เพื่อเข้าถึงข้อมูลโปรแกรมบริหารข้อไหล่ฯ โดยมีรายละเอียดของเว็บแอปพลิเคชันในแต่ละเมนูหลัก ดังนี้

รูปที่ 1-1 หน้าจอหลักของเว็บแอปพลิเคชันสำหรับโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ
1. หน้าเมนูโปรแกรมออกกำลังกายบริหารข้อไหล่สำหรับผู้ป่วย (รูปที่ 1-2) เมื่อกดปุ่ม ถัดไป มีรายละเอียดวิธีการใช้งานตามลำดับ ดังนี้
1.1. กดปุ่ม คลิกเพื่อระบุวันที่ใส่เครื่อง ผู้ใช้งานต้องวัน เดือน ปี ที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดฝังเครื่องจัดการจังหวะการเต้นของหัวใจ ในปฏิทิน
1.2. กดปุ่ม เมนูย่อย ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
- กดปุ่ม แสดง จะแสดงข้อมูลโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ เริ่มตั้งแต่ระยะที่ตรงตามวัน เดือน ปี ที่เป็นปัจจุบันจนถึงครบระยะที่ 4 ของโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ (รูปที่ 1-3)
- กดปุ่ม พิมพ์ เว็บแอปพลิเคชันจะสร้างเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ Portable Document Format (PDF) ที่ผู้ใช้งานสามารถพิมพ์เป็นเอกสารได้ ซึ่งจะแสดงข้อมูลโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ ทั้ง 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่วัน เดือน ปี ที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดฝังเครื่องจัดการจังหวะการเต้นของหัวใจ
- กดปุ่ม กลับหน้าหลัก เว็บแอปพลิเคชันจะกลับมาแสดงหน้าจอหลัก

รูปที่ 1-2 หน้าเมนูโปรแกรมออกกำลังกายบริหารข้อไหล่สำหรับผู้ป่วย

รูปที่ 1-3 หน้าแสดงข้อมูลโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ สำหรับผู้ป่วย
2. หน้าเมนูเอกสารให้คำแนะนำโปรแกรมบริหารข้อไหล่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (รูปที่ 1-4) เมื่อกดปุ่ม ถัดไป มีรายละเอียดวิธีการใช้งานตามลำดับ ดังนี้
2.1. ผู้ใช้งานต้องระบุข้อมูลตามข้อคำถามดังนี้
- โปรดระบุอาชีพหรือลักษณะงานของท่าน
- ท่านต้องการเอกสารโปรแกรมบริหารข้อไหล่ฯ เพื่อวัตถุประสงค์ใด
- โปรดระบุชนิดของเครื่องจัดการจังหวะการเต้นของหัวใจ
2.2. กดปุ่ม คลิกเพื่อระบุวันที่ใส่เครื่อง ผู้ใช้งานต้องบันทึกวัน เดือน ปี ที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดฝังเครื่องจัดการจังหวะการเต้นของหัวใจลงในปฏิทิน
2.3. กดปุ่ม พิมพ์ เว็บแอปพลิเคชันจะสร้างเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ PDF ที่ผู้ใช้งานสามารถพิมพ์เป็นเอกสารได้ ซึ่งจะแสดงข้อมูลโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ ทั้ง 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่วัน เดือน ปี ที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดฝังเครื่องจัดการจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยเอกสารอิเล็กทรอนิกส์จะระบุชนิดของเครื่องจัดการจังหวะการเต้นของหัวใจด้วย (รูปที่ 1-5)

รูปที่ 1-4 หน้าเมนูเอกสารให้คำแนะนำโปรแกรมบริหารข้อไหล่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์

รูปที่ 1-5 หน้าแสดงเอกสารอิเล็กทรอนิกส์จะระบุชนิดของเครื่องจัดการจังหวะการเต้นของหัวใจ
ผลการประเมินของเว็บแอปพลิเคชันโปรแกรมบริหารข้อไหล่ฯในด้านประสิทธิภาพและความพึงพอใจจากผู้ใช้งาน (ตารางที่ 1) พบว่าผู้ใช้งานมีความพึงพอใจต่อการใช้งานเว็บแอปพลิเคชันอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งมีความพึงพอใจในด้านประสิทธิภาพและประโยชน์ของเว็บแอปพลิเคชันในภาพรวมในระดับมากที่สุด ( ) ส่วนในด้านการออกแบบและการจัดรูปแบบของเว็บแอปพลิเคชันนั้นอยู่ระดับมากที่สุด () โดยผู้ใช้งานให้ความคิดเห็นต่อเว็บแอปพลิเคชัน ว่าสามารถคำนวณวัน เดือน ปี ของโปรแกรมบริหารข้อไหล่ฯ ได้อย่างถูกต้องและไม่มีปัญหาทางเทคนิคเมื่อใช้งาน ซึ่งสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานและสามารถนำไปใช้งานได้จริง และพัฒนาวิธีการออกกำลังกายข้อไหล่ตามโปรแกรมเป็นรูปแบบคลิปวิดีโอสาธิต เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจมากยิ่งขึ้นเกิดประโยชน์กับผู้ป่วยต่อไป
ตารางที่ 1 ผลการประเมินของเว็บแอปพลิเคชันในด้านประสิทธิภาพและความพึงพอใจ
รายการประเมิน |
Mean |
S.D. |
ระดับความพึงพอใจ |
ด้านประสิทธิภาพและประโยชน์ของเว็บแอปพลิเคชัน |
|
|
|
1. ความสะดวกในการเข้าใช้งานโปรแกรมฯ |
4.50 |
0.71 |
มากที่สุด |
2.ความเหมาะสมของเมนูในการใช้งานของโปรแกรมฯ |
4.70 |
0.48 |
มากที่สุด |
3.โปรแกรมฯ สามารถใช้งานง่าย ไม่ซ้ำซ้อน |
4.80 |
0.42 |
มากที่สุด |
4.ความรวดเร็วในการตอบสนองของโปรแกรมฯ |
4.90 |
0.32 |
มากที่สุด |
5.โปรแกรมฯ ช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น |
4.90 |
0.32 |
มากที่สุด |
6.ข้อมูลที่ได้จากโปรแกรมฯ มีความถูกต้องสมบูรณ์และครบถ้วน |
4.90 |
0.32 |
มากที่สุด |
7.ภาษาที่ใช้ในโปรแกรมฯ มีความเหมาะสมและสื่อความหมายได้ชัดเจน |
4.90 |
0.32 |
มากที่สุด |
ความพึงพอใจในภาพรวมในด้านประสิทธิภาพและประโยชน์ของเว็บแอปพลิเคชัน |
4.80 |
0.24 |
มากที่สุด |
ด้านการออกแบบและการจัดรูปแบบของเว็บแอปพลิเคชัน |
|
|
|
1.ความสวยงาม ความทันสมัย และน่าสนใจของหน้าโฮมเพจ |
4.80 |
0.42 |
มากที่สุด |
2.การจัดวางรูปแบบในเว็ปไซต์ง่ายต่อการอ่านและการใช้งาน |
5.00 |
0.00 |
มากที่สุด |
3.ขนาดตัวอักษร และรูปแบบตัวอักษร อ่านง่ายและสวยงาม |
4.60 |
0.52 |
มากที่สุด |
ความพึงพอใจในภาพรวมในด้านการออกแบบและการจัดรูปแบบของเว็บแอปพลิเคชัน |
4.80
|
0.22
|
มากที่สุด
|
ความพึงพอใจในภาพรวมต่อการใช้งานเว็บแอปพลิเคชัน |
|
|
|
1. ท่านมีความความพึงพอใจในภาพรวมต่อการใช้งานเว็บแอปพลิเคชัน |
4.80 |
0.42 |
มากที่สุด |
วิจารณ์
จาการการศึกษาครั้งนี้พบว่า เว็บแอปพลิเคชันสำหรับโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้ข้อมูลโปรแกรมบริหารข้อไหล่ฯ ได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งผู้ใช้งานมีความพึงพอใจในด้านประสิทธิภาพ ด้านการออกแบบและความพึงพอใจในภาพรวมต่อการใช้งานเว็บแอปพลิเคชันอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเว็บแอปพลิเคชันนี้สามารถให้ข้อมูลโปรแกรมบริหารข้อไหล่ฯ และป้องกันความเสี่ยงในการให้คำแนะนำโปรแกรมบริหารข้อไหล่ฯ ที่ผิดพลาดได้ ในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศถือว่าเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้เพื่อการปรับปรุงคุณภาพและสร้างความปลอดภัยในด้านการให้บริการรักษาผู้ป่วยได้ ซึ่งการสร้างหรือพัฒนาระบบสารสนเทศควรเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหน่วยองค์กรและอยู่ภายใต้งบประมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม12 สิ่งสำคัญที่สุดการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อใช้การปฏิบัติงานด้านการดูแลผู้ป่วย เพื่อสร้างความปลอดภัยของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาสำหรับผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ทุกฝ่าย อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่อง6 จะทำให้โรงพยาบาลได้รับรองมาตรฐานในระดับสากล ได้แก่ HA และ JCI ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญด้านชื่อเสียงและมาตรฐานการรับรองที่เป็นความคาดหวังและการรับรู้ของผู้รับบริการต่อคุณภาพบริการโรงพยาบาล13 จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับบันทึกทางการพยาบาลผ่าตัดมาใช้ สามารถส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ลดความซ้ำซ้อนในการจดบันทึก ได้ข้อมูลเป็นประโยชน์สำหรับเป็นแนวทางในการบริหารจัดการต่อไป และผู้วิจัยได้เสนอเพิ่มเติมว่าการลงบันทึกข้อมูลนั้นทำได้รวดเร็วกว่าการเขียน ซึ่งช่วยประหยัดเวลาในการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยอีกด้วย7 มากไปว่านั้นยังมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการใช้โปรแกรมบันทึกทางการพยาบาล สามารถเพิ่มคุณภาพในการบันทึกทางการพยาบาลได้และพยาบาลมีความพึงพอใจต่อโปรแกรมบันทึกทางการพยาบาลในระดับมาก8 การพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันโปรแกรมบริหารข้อไหล่ฯ ในการศึกษาครั้งนี้เป็นหนึ่งในแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ในผู้ป่วยภายหลังทำการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องจัดการจังหวะการเต้นของหัวใจสำหรับบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เนื่องจากเว็บแอปพลิเคชันสามารถให้ข้อมูลโปรแกรมบริหารข้อไหล่ฯ ได้ เพียงการใส่ข้อมูล วัน เดือน ปี ที่ผู้ป่วยผ่าตัดฝังเครื่องจัดการจังหวะการเต้นของหัวใจ ด้วยผลประเมินเว็บแอปพลิเคชันในด้านการจัดวางรูปแบบในเว็ปไซต์ง่ายต่อการอ่านและการใช้งานยังได้ค่าคะแนนเฉลี่ยเต็ม 5 ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าผลการประเมินคุณภาพของแอปพลิเคชันสำหรับให้บริการเลิกบุหรี่โดยเภสัชกรชุมชน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเลิกบุหรี่โดยเภสัชกรได้ อีกทั้งสามารถช่วยในการปฏิบัติงานของเภสัชกรที่ยังการขาดความรู้และทักษะการให้บริการเลิกบุหรี่อีกด้วย14 อย่างไรก็ตามเว็บแอปพลิเคชันโปรแกรมบริหารข้อไหล่ฯ อาจจะยังมีความยากในการที่ผู้ใช้งานจะจดจำที่อยู่เว็บไซต์เพื่อเข้าใช้งานโปรแกรมบริหารข้อไหล่ฯ เนื่องจากค่าคะแนนเฉลี่ยในหัวข้อมีความสะดวกในการเข้าใช้งานโปรแกรมฯ เท่ากับ 4.50 จาก 5 ซึ่งน้อยกว่าค่าคะแนนในส่วนอื่นๆ ในแบบประเมิน นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังได้มีข้อเสนอแนะให้มีการพัฒนาคลิปวิดีโอสาธิตวิธีการออกกำลังกายข้อไหล่ตามโปรแกรมเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางทำให้ผู้วิจัยได้พัฒนางานต่อไป
ข้อจำกัดการศึกษาครั้งนี้ประการแรก คือ ผู้วิจัยทำการพัฒนาและประเมินเว็บแอปพลิเคชันจากผู้ใช้งานหรือผู้ให้บริการผู้ป่วยเท่านั้น โดยไม่ได้ศึกษาครอบคลุมถึงผู้รับบริการหรือผู้ป่วย ดังนั้นจึงควรทำการศึกษาประสิทธิภาพเว็บแอปพลิเคชันในผู้รับบริการในอนาคตต่อไป เพื่อศึกษาประสิทธิภาพเว็บแอปพลิเคชันได้อย่างครอบคลุม ประการที่สอง คือ โปรแกรมบริหารข้อไหล่ฯ จากเว็บแอปพลิเคชันนั้นจะสอดคล้องไปกับขบวนการหายของแผลที่เป็นไปตามปกติ ดังนั้นจึงเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดฝังเครื่องจัดการจังหวะการเต้นของหัวใจเท่านั้น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากการทำหัตถการที่ได้รับการรักษาต้องมีการวางแผนร่วมกับแพทย์เจ้าของไข้เรื่องการแนะนำบริหารโปรแกรมบริหารข้อไหล่ฯ ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายต่อไป
สรุป
เว็บแอปพลิเคชันสำหรับโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สามารถให้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและมีความถูกต้องตามโปรแกรมบริหารข้อไหล่ภายหลังที่ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องจัดการจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้งานมีพึงพอใจในภาพรวมต่อการใช้งานเว็บแอปพลิเคชันอยู่ในระดับมากที่สุด เว็บแอปพลิเคชันสามารถจัดพิมพ์เอกสารโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ ที่เหมาะสมกับระยะเวลาหลังได้รับการรักษาในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งสามารถช่วยลดระยะเวลาในการเตรียมเอกสารให้คำแนะนำและลดความเสี่ยงในการให้คำแนะนำโปรแกรมบริหารข้อไหล่ฯ ที่ผิดพลาดจากบุคลากรทางการแพทย์ มากไปกว่านั้นเว็บแอปพลิเคชันสามารถแสดงโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ จากวันเวลาปัจจุบันภายหลังระยะเวลาที่ได้รับการรักษาจนถึงวันเวลาที่ครบโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ ซึ่งเป็นการเพิ่มความสะดวกในการให้บริการแนะนำผู้ป่วย และถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่บุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่ต้องการให้บริการโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ ภายหลังที่ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องจัดการจังหวะการเต้นของหัวใจอีกด้วย
กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบพระคุณกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้งานทุกท่านที่ให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นต่อการใช้งานเว็บแอปพลิเคชัน นายพรศักดิ์ กุลมินทร์ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระบบงานคอมพิวเตอร์ ผู้ดูแลระบบโปรแกรมการบริหารข้อไหล่ฯ บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ ที่สนับสนุนการทำโครงการวิจัยจนสำเร็จ การศึกษางานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (เลขที่โครงการ 61002)
เอกสารอ้างอิง
1. Papadopoulos CH, Oikonomidis D, Lazaris E, Nihoyiannopoulos P. Echocardiography and Cardiac Arrhythmias. Hellenic J Cardiol 2017.
2. Stevenson I, Voskoboinik A. Cardiac rhythm management devices Aust J Gen Pract 2018; 47: 264-71.
3. Fuertes B, Toquero J, Arroyo-Espliguero R, Lozano IF. Pacemaker lead displacement: mechanisms and management. Indian Pacing Electrophysiol J 2003; 3: 231-8.
4. Korte T, Jung W, Schlippert U, Wolpert C, Esmailzadeh B, Fimmers R, et al. Prospective evaluation of shoulder-related problems in patients with pectoral cardioverter-defibrillator implantation. Am Heart J 1998; 135: 577-83.
5. เบญจา แซ่ลิ้ม, ภัทรพงษ์ มกรเวส. ผลของการติดตามการให้โปรแกรมการบริหารข้อไหล่ ในผู้ป่วยผู้ป่วยที่ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจในระยะเวลา 3 เดือน. วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด 2558; 27: 61-7.
6. สายสมร เฉลยกิตติ, พรนภา คำพราว, สมพิศ พรหมเดช. ความปลอดภัยของผู้ป่วยกับคุณภาพบริการพยาบาล. วารสารพยาบาลทหารบก 2557; 15: 66-70.
7. เพียรจิตต์ ภูมิสิริกุล, ปัทมา อนุมาศ, จิดาภา จารุสินธ์ชัย, อรพันธ์ พรรณประดิษฐ์. ผลของการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับบันทึกทางการพยาบาลผ่าตัดต่อคุณภาพบันทึกทางการพยาบาล ห้องผ่าตัดศัลยศาสตร์. รามาธิบดีพยาบาลสาร 2556; 19: 249-263
8. จันทร์ทิรา เจียรณัย. การพัฒนาโปรแกรมบันทึกทางการพยาบาล: การวิจัยนำร่อง. วารสารวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา 2559; 22: 93-110
9. วันวิสาข์ ศรีสุเมธชัย, บวร คลองน้อย. การวิเคราะห์ความต้องการระบบสารสนเทศทางทันตกรรมเพื่อใช้งานทางคลินิก. ว. วิทย. เทคโน. หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 2558; 1: 23-32.
10. จิณพิชญ์ชา มะมม. ประสิทธิผลของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนต่อความรู้และทักษะการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระดูกสันหลังของนักศึกษาพยาบาล. วารสารสภาการพยาบาล 2555; 27: 90-100.
11. จิตรา ชัยวุฒิ, สุกัญญา ปริสัญญกุล, ฉวี เบาทรวง, กิ่งฟ้า แสงลี. การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การประเมินความก้าวหน้าในระยะคลอด. พยาบาลสาร 2554; 38: 10-9.
12. สุรัตน์ ไชยชมภู. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาองค์การ. วารสารการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา 2555; 7: 1-14.
13. พรชัย ดีไพศาลสกุล. ความคาดหวัง และการรับรู้ของผู้รับบริการต่อคุณภาพบริการโรงพยาบาล. Veridian E-Journal, SU 2556; 6: 573-92.
14. ภาวินี แสงจันทร์, ชวนชม ธนานิธิศักดิ์. การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับให้บริการเลิกบุหรี่โดยเภสัชกรชุมชน. ศรีนครินทร์เวชสาร 2561; 33: 169-75.