บทนำ
ความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภัยเงียบที่ก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ โดยมักไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือนใดๆ ทำให้คนส่วนใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงไม่ทราบว่าตนเป็นจึงไม่ได้ให้ความสนใจในการดูแลตนเอง แต่เมื่อเริ่มมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนแล้วจึงหันมาใส่ใจสุขภาพ ซึ่งบ่อยครั้งก็อาจส่งผลให้พยากรณ์โรคได้ไม่ดีเท่าที่ควร1 โดยครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจขาดเลือดเกิดจากความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังพบว่าความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 7.5 ล้านคน หรือร้อยละ 12.8 ของสาเหตุการตายทั้งหมด2
สำหรับในประเทศไทยพบอัตราตายด้วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยในช่วงปี พ.ศ. 2556-2558 มีรายงานอัตราการตายต่อประชากรแสนคน 8.09, 18.28 และ 25.32 ตามลำดับ2 และจากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ในปี พ.ศ. 2557 พบความชุกของโรคความดันโลหิตสูงในประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 24.7 โดยเป็นเพศชายร้อยละ 25.6 และเพศหญิงร้อยละ 23.9 ความชุกดังกล่าวสูงกว่าผลการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 ในช่วงปี พ.ศ. 2551-2552 ที่พบเพียงร้อยละ 21.4 โดยเป็นเพศชายร้อยละ 21.5 และหญิงร้อยละ 21.33 ทั้งนี้ ความชุกของโรคต่ำสุดในกลุ่มอายุ 15-29 ปี จากนั้นจะเพิ่มขึ้นตามอายุและสูงสุดในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป กระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หมั่นตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ถ้ามีปัจจัยด้านพันธุกรรม จำเป็นต้องตรวจถี่ขึ้น4
จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่าปัจจัยด้านพฤติกรรมเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โดยร้อยละ 50.0 มีความสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ (Unhealthy diet) ร้อยละ 30.0 พบความสัมพันธ์กับการรับประทานเกลือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.0 พบความสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำ โดยเฉพาะการรับประทานผักและผลไม้ปริมาณน้อย ร้อยละ 20.0 พบความสัมพันธ์กับการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ และร้อยละ 30.0 พบความสัมพันธ์กับภาวะอ้วน5
นอกจากนี้ ผู้ที่มีความวิตกกังวลหรือความเครียดอยู่เป็นประจำมีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูงมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า6ม ดังนั้น หากบุคคลสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมข้างต้นได้จะส่งผลต่อการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้มากถึงร้อยละ 80.0 ซึ่งทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อป้องกันโรค (protection motivation theory) ได้กล่าวไว้ว่าความตั้งใจในการป้องกันโรคของบุคคลขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 ประการ ได้แก่ การรับรู้ความรุนแรงของโรค (perceived severity) การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรค (perceived probability) การรับรู้ความสามารถในการตอบสนอง (perceived response efficacy) ต่อคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรค และการรับรู้ความสามารถตนเอง (perceived self-efficacy) ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรค ซึ่งการรับรู้นี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรม โดยการรับรู้ความรุนแรงของโรคเป็นการให้ข้อมูลที่ปลุกเร้าให้เกิดความกลัวต่อผลที่จะได้รับจากการเป็นโรคนั้น หากบุคคลไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรค หมายถึง ความเชื่อของบุคคลในเรื่องของความเป็นไปได้ที่จะถูกคุกคามจากโรคอันเนื่องมาจากการไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกต้อง ขณะที่การรับรู้ความสามารถในการตอบสนองเป็นความคาดหวังเฉพาะบุคคลว่าเมื่อปฏิบัติตามคำแนะนำแล้วจะสามารถลดภาวะคุกคามได้ และการรับรู้ความสามารถตนเองเป็นความเชื่อในความสามารถของบุคคลที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำให้ประสบผลสำเร็จ โดยทั่วไป การยอมรับและการมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำจะเป็นไปได้สูงเมื่อบุคคลเห็นว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์และสามารถปฏิบัติตามได้ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความสามารถในการตอบสนองและการรับรู้ความสามารถตนเองพบว่าถ้าความสามารถที่จะปฏิบัติตามมีสูงและผลดีของการปฏิบัติตามมีสูงด้วย จะทำให้ความตั้งใจในการปฏิบัติตามมีเพิ่มสูงขึ้น7
จากการศึกษาก่อนหน้า พบว่าทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อป้องกันโรคสามารถสร้างการรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรค การรับรู้ความสามารถในการตอบสนอง และการรับรู้ความสามารถตนเองได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพที่ดีขึ้น8-11 อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บุคคลสามารถเผชิญปัญหาและรู้สึกมีความปลอดภัยระหว่างการร่วมกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ รวมทั้งเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันผู้วิจัยจึงนำทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อป้องกันโรคร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพและการควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ
สืบเนื่องจากประสิทธิผลของโปรแกรมสุขศึกษาโดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อป้องกันโรคร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมต่อการควบคุมระดับความดันโลหิตของประชากรกลุ่มเสี่ยงอายุ 35-59 ปี ที่อาศัยอยู่ในหมู่ 1, 4 และ 7 ตำบลโคกสนวน อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งพบว่าหลังเข้าร่วมกิจกรรมครบ 3 เดือน กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยของคะแนนการรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค การรับรู้ความสามารถตนเองในการป้องกันโรค การรับรู้ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค
ความตั้งใจที่จะปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค และการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรค มากกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรมและมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p<0.05 มีค่าเฉลี่ยระดับความดันโลหิตตัวบนลดลง 13 มิลลิเมตรปรอท และมีค่าเฉลี่ยระดับความดันโลหิตตัวล่างลดลง 14 มิลลิเมตรปรอท อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p<0.0512
ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดทั้งด้านงบประมาณและระยะเวลาการดำเนินงาน จึงยังไม่มีการติดตามและประเมินผลกิจกรรมสุขศึกษาในระยะยาว ดังนั้น ในการศึกษาครั้งนี้จึงขยายผลการดำเนินกิจกรรมไปยังประชากรกลุ่มเสี่ยงที่อาศัยอยู่ในหมู่ที่ 5, 6 และ 8 ตำบลโคกสนวน อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยเพิ่มการติดตามและประเมินผลกิจกรรมสุขศึกษาเพื่อวัดความคงทนของพฤติกรรมที่ดีด้านการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการจัดการความเครียด ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้จะเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพและการควบคุมระดับความดันโลหิตในประชากรกลุ่มเสี่ยงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การลดลงของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในอนาคต ดังนั้น การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนการรับรู้ความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูง การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค การรับรู้ความสามารถตนเองในการป้องกันโรค การรับรู้ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค ความตั้งใจที่จะปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค และการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงของประชากรกลุ่มเสี่ยง ก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรม เดือนที่ 3, 6 และ 7 และ 2) เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยระดับความดันโลหิตตัวบนและตัวล่างของประชากรกลุ่มเสี่ยง ก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรม เดือนที่ 3, 6 และ 7
วิธีการศึกษา
การศึกษานี้เป็นการศึกษากึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียววัดซ้ำหลายครั้ง (One-group repeated measures) โดยกลุ่มตัวอย่างได้ร่วมกิจกรรมตามโปรแกรมสุขศึกษาโดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อป้องกันโรคร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคม จำนวน 12 สัปดาห์ๆ ละ 1 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 1 ชั่วโมง 40 นาที12 ประกอบด้วย 1) กิจกรรมการประเมินอันตรายต่อสุขภาพ ได้แก่ การบรรยายให้ความรู้ประกอบภาพสไลด์เรื่องโรคความดันโลหิตสูง การประเมินอาการตนเอง การเสนอบุคคลต้นแบบที่ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงและต้องได้รับการรักษาด้วยยา 2) กิจกรรมการประเมินการเผชิญปัญหา ได้แก่ การบรรยายให้ความรู้และแจกแผ่นพับพร้อมคู่มือเรื่องการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง การจัดกิจกรรมกลุ่มสาธิตและฝึกทักษะการเลือกรับประทานอาหารโดยใช้แบบจำลองอาหารแลกเปลี่ยน การจัดกิจกรรมกลุ่มสาธิตและฝึกทักษะการทำน้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพ การออกกำลังกายด้วยท่ารำไม้พลองประยุกต์หรือรำผ้าขาวม้าประกอบเพลง13 และการปั่นจักรยาน การนั่งสมาธิและการนวดเพื่อคลายเครียด การจัดกิจกรรมกลุ่มสาธิตและฝึกทักษะบันทึกพฤติกรรม การให้สมาชิกกลุ่มเล่าถึงการปฏิบัติตัวที่ผ่านมาและความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง รวมทั้งการอภิปรายกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลดีและปัญหาอุปสรรคที่พบ 3) กิจกรรมการให้แรงสนับสนุนทางสังคมจากผู้วิจัย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และผู้นำชุมชน ในสัปดาห์ที่ 8-11 ได้แก่ การกระตุ้นเตือนเน้นย้ำให้ปฏิบัติ การให้กำลังใจ ให้ข้อเสนอแนะ ให้ข้อมูลข่าวสาร และการเยี่ยมบ้านเป็นรายบุคคลสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
จากนั้นติดตามประเมินผลของโปรแกรมสุขศึกษาเมื่อครบเดือนที่ 3, 6 และ 7 โดยวัดระดับการรับรู้ความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูง การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค การรับรู้ความสามารถตนเองในการป้องกันโรค การรับรู้ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค ความตั้งใจที่จะปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค การปฏิบัติตัวในการป้องกันโรค และระดับความดันโลหิต
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
1. ประชากรศึกษา คือ กลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุ 35-59 ปี และมีภูมิลำเนาอยู่ในตำบลโคกสนวน อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 175 ราย14 ทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุ 35-59 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่ที่ 5, 6 และ 8 จำนวน 30 รายโดยได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) และมีเกณฑ์การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง ดังนี้ 1) มีระดับความดันโลหิตตั้งแต่ 120/80 ถึง 139/89 มิลลิเมตรปรอท 2) ไม่มีโรคประจำตัวที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าร่วมกิจกรรม 3) มีความสมัครใจและสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดระยะเวลาในการศึกษา และ 4) ยินยอมให้ติดตามผลของโปรแกรมสุขศึกษาในเดือนที่ 3, 6 และ 7 กำหนดขนาดตัวอย่างโดยใช้หลักของธวัชชัย วรพงศธร15 ที่ว่าขนาดตัวอย่างแต่ละกลุ่มในการศึกษาแบบทดลองไม่ควรน้อยกว่า 30 คน
2. การพิทักษ์สิทธิ์ของกลุ่มตัวอย่าง คณะผู้วิจัยได้แนะนำตัวและชี้แจงให้กลุ่มตัวอย่างทราบวัตถุประสงค์และประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมวิจัย พร้อมขอความร่วมมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยกลุ่มตัวอย่างสามารถตอบรับหรือปฏิเสธการเข้าร่วมวิจัยโดยไม่มีผลกระทบต่อการเข้ารับบริการทางการแพทย์ใดๆ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกเก็บรักษาไว้เป็นความลับ ใช้รหัสแทนชื่อ-สกุลจริง และการนำเสนอข้อมูลจะเสนอในภาพรวม หากกลุ่มตัวอย่างมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากคณะผู้วิจัยตามสถานที่ติดต่อซึ่งระบุในเอกสารชี้แจงผู้เข้าร่วมวิจัย
3. เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ โปรแกรมสุขศึกษาโดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อป้องกันโรคร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคม โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ถึง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 โดยใช้แบบสอบถามที่ผ่านกระบวนการทดสอบคุณภาพเครื่องมือตามมาตรฐานทางวิชาการด้วยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค (Cronbachs alpha coefficient) ซึ่งคำถามวัดการรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคการรับรู้ความสามารถตนเองในการป้องกันโรค การรับรู้ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค ความตั้งใจที่จะปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค และการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรค ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.71, 0.72, 0.77, 0.77, 0.75 และ 0.73 ตามลำดับ12
4. การวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลทั่วไปวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ (frequency) ร้อยละ (percentage) ค่าเฉลี่ย (mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation: sd) เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรมด้วยสถิติ dependent t-test เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนและระดับความดันโลหิตหลังเข้าร่วมกิจกรรมเดือนที่ 3, 6 และ 7 โดยวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำทางเดียว (one-way repeated measures analysis of variance) แล้วเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยรายคู่โดยวิธี Pairwise comparisons เมื่อพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ผลการศึกษา
1. ข้อมูลทั่วไป กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 56.7 มีอายุเฉลี่ย 48.8 ปี (SD = 7.5) อายุต่ำสุด 36.0 ปี อายุสูงสุด 59.0 ปี มีสถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 83.3 สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 80.0 ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ร้อยละ 76.7 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,000-10,000 บาท ร้อยละ 56.7 ไม่สูบบุหรี่ ร้อยละ 70.0 ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 53.3 ในครอบครัวมีคนป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 53.3 และได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงผ่านทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร้อยละ 96.7 รองลงมา คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ร้อยละ 83.3
2. การเปรียบเทียบผลการทดลอง เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนน พบว่า หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยของคะแนนการรับรู้ความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูง การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง การรับรู้ความสามารถตนเองในการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง การรับรู้ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ความตั้งใจที่จะปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูง การปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง มากกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) (ตารางที่ 1) และเมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยระดับความดันโลหิต พบว่า หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยของระดับความดันโลหิตตัวบนลดลง 4.51 มิลลิเมตรปรอท และมีค่าเฉลี่ยระดับความดันโลหิตตัวล่างลดลง 4.94 มิลลิเมตรปรอท อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) (ตารางที่ 2)
ตารางที่ 1 การเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนของประชากรกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ก่อนและหลังการทดลอง
รายละเอียด |
ก่อนการทดลอง |
หลังการทดลอง |
Mean
difference |
95% CI |
p-value |
Mean |
SD |
Mean |
SD |
1) การรับรู้ความรุนแรงของโรค |
22.80 |
0.65 |
33.37 |
0.34 |
10.57 |
9.17 ถึง 11.96 |
< 0.001 |
2) การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค |
20.13 |
0.81 |
27.93 |
0.42 |
7.80 |
6.13 ถึง 9.47 |
< 0.001 |
3) การรับรู้ความสามารถตนเองในการป้องกันโรค |
21.20 |
0.73 |
33.40 |
0.37 |
12.20 |
10.53 ถึง 13.87 |
< 0.001 |
4) การรับรู้ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค |
22.33 |
0.80 |
30.13 |
0.21 |
7.80 |
6.14 ถึง 9.47 |
< 0.001 |
5) ความตั้งใจที่จะปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค |
20.10 |
1.27 |
47.70 |
0.28 |
27.60 |
25.13 ถึง 30.07 |
< 0.001 |
6) การปฏิบัติตัวในการป้องกันโรค |
36.73 |
1.96 |
81.10 |
0.61 |
44.37 |
39.99 ถึง 48.74 |
< 0.001 |
ตารางที่ 2 การเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยระดับความดันโลหิตตัวบนและตัวล่างของประชากรกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ก่อนและหลังการทดลอง
รายละเอียด |
ก่อนการทดลอง |
หลังการทดลอง |
Mean
difference |
95% CI |
p-value |
Mean |
SD |
Mean |
SD |
1) ระดับความดันโลหิตตัวบน |
128.41 |
0.76 |
123.90 |
0.61 |
-4.51 |
-5.51 ถึง -3.53 |
< 0.001 |
2) ระดับความดันโลหิตตัวล่าง |
87.97 |
0.72 |
83.03 |
0.52 |
-4.94 |
-6.59 ถึง -3.27 |
< 0.001 |
3. การติดตามผลของโปรแกรมสุขศึกษาต่อการควบคุมระดับความดันโลหิตในประชากรกลุ่มเสี่ยง
เมื่อติดตามผลของโปรแกรมสุขศึกษาโดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อป้องกันโรคร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมในประชากรกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง พบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนการรับรู้
ความรุนแรงของโรค การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค การรับรู้ความสามารถตนเองในการป้องกันโรค การรับรู้ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค ความตั้งใจที่จะปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค และการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรค ก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรมในเดือนที่ 3, 6 และ 7 มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) (ตารางที่ 3) เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่หลังเข้าร่วมกิจกรรมครบ 3 และ 6 เดือน พบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนการรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค การรับรู้ความสามารถตนเองในการป้องกันโรค การรับรู้ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค ความตั้งใจที่จะปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค และการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรค มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) โดยค่าเฉลี่ยของคะแนนการรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค การรับรู้ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค และการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรค มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนค่าเฉลี่ยของคะแนนการรับรู้ความสามารถตนเองในการป้องกันโรคและความตั้งใจที่จะปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค มีแนวโน้มลดต่ำลง ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่หลังเข้าร่วมกิจกรรมครบ 6 และ 7 เดือน พบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนการรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค การรับรู้ความสามารถตนเองในการป้องกันโรค การรับรู้ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค ความตั้งใจที่จะปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค และการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรค มีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05)
ตารางที่ 3 การเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนของประชากรกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรมในเดือนที่ 3, 6 และ 7
รายละเอียด |
Mean (SD) |
SS |
df |
MS |
F |
p-value |
ก่อนเข้าร่วม
กิจกรรม |
หลังเข้าร่วม
กิจกรรมใน
เดือนที่ 3 |
หลังเข้าร่วม
กิจกรรมใน
เดือนที่ 6 |
หลังเข้าร่วม
กิจกรรมใน
เดือนที่ 7 |
1) การรับรู้ความรุนแรงของโรค |
22.80 (0.65) |
33.37 (0.34) |
35.50 (0.23) |
35.07 (0.49) |
3232.83 |
2.24 |
1440.39 |
196.68 |
< 0.001 |
2) การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค |
20.13 (0.81) |
27.93 (0.42) |
29.93 (0.05) |
29.70 (0.13) |
1916.83 |
1.54 |
1246.07 |
103.43 |
< 0.001 |
3) การรับรู้ความสามารถตนเองในการป้องกันโรค |
21.20 (0.73) |
33.40 (0.37) |
31.80 (0.10) |
32.67 (0.42) |
2974.00 |
1.96 |
1520.03 |
173.19 |
< 0.001 |
4) การรับรู้ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค |
22.33 (0.80) |
30.13 (0.21) |
30.43 (0.35) |
30.57 (0.71) |
1459.00 |
2.13 |
684.63 |
45.67 |
< 0.001 |
5) ความตั้งใจที่จะปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค |
20.10 (1.27) |
47.70 (0.28) |
45.33 (0.44) |
45.87 (0.76) |
15537.37 |
1.75 |
8871.86 |
284.89 |
< 0.001 |
6) การปฏิบัติตัวในการป้องกันโรค |
36.73 (1.96) |
81.10 (0.61) |
87.63 (0.48) |
88.40 (0.25) |
54939.13 |
1.30 |
42197.39 |
512.81 |
< 0.001 |
เมื่อติดตามผลของโปรแกรมสุขศึกษาโดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อป้องกันโรคร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมในประชากรกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง พบว่า ค่าเฉลี่ยของระดับความดันโลหิตทั้งตัวบนและตัวล่าง ก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรมในเดือนที่ 3, 6 และ 7 มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) โดยมีแนวโน้มลดต่ำลง (ตารางที่ 4) ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของระดับความดันโลหิตในประชากรกลุ่มเสี่ยงก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรมครบ 7 เดือน พบว่า กลุ่มเสี่ยงจำนวน 26 ราย (ร้อยละ 86.7) สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ คือ ต่ำกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท และกลุ่มเสี่ยงจำนวน 4 ราย (ร้อยละ 13.3) สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงปกติ คือ 120/80, 120/80, 120/80 และ 120/82 มิลลิเมตรปรอท
ตารางที่ 4 การเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยระดับความดันโลหิตตัวบนและตัวล่างของประชากรกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรม ในเดือนที่ 3, 6 และ 7
รายละเอียด |
Mean (SD) |
SS |
df |
MS |
F |
p-value |
ก่อนเข้าร่วม
กิจกรรม |
หลังเข้าร่วมกิจกรรม
ในเดือนที่ 3 |
หลังเข้าร่วมกิจกรรม
ในเดือนที่ 6 |
หลังเข้าร่วมกิจกรรม
ในเดือนที่ 7 |
1) ระดับความดันโลหิตตัวบน |
128.41 (0.76) |
123.90 (0.61) |
114.59 (0.80) |
112.48 (0.83) |
4979.21 |
1.99 |
2503.82 |
178.67 |
< 0.001 |
2) ระดับความดันโลหิตตัวล่าง |
87.97 (0.72) |
83.03 (0.52) |
73.86 (0.77) |
72.69 (0.85) |
4705.96 |
2.82 |
1670.18 |
136.43 |
< 0.001 |
วิจารณ์
การศึกษาครั้งนี้เป็นการขยายผลการดำเนินกิจกรรมตามโปรแกรมสุขศึกษาโดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อป้องกันโรคร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมให้ครอบคลุมประชากรกลุ่มเสี่ยงโรค
ความดันโลหิตสูงทุกหมู่บ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกสนวน อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้สอดคล้องกับการศึกษาของสุภารัตน์ สีดา และจารุวรรณ
ไตรทิพย์สมบัติ12 ที่พบว่า หลังเข้าร่วมกิจกรรมครบ 3 เดือน กลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงที่อาศัยอยู่ในหมู่ที่ 1, 4 และ 7 ตำบลโคกสนวน อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 44 ราย มีค่าเฉลี่ยของคะแนนการรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค การรับรู้ความสามารถตนเองในการป้องกันโรค การรับรู้ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค ความตั้งใจที่จะปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค และการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรค มากกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) และมีค่าเฉลี่ยของระดับความดันโลหิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ทั้งนี้ เป็นผลเนื่องจากกลุ่มทดลองได้รับฟังการบรรยายให้ความรู้ประกอบสื่อที่หลากหลาย ได้อ่านแผ่นพับเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงความรุนแรงของโรคที่ส่งผลต่อตนเองและครอบครัวผ่านการบอกเล่าจากบุคคลต้นแบบด้านลบ และได้รับทราบผลการประเมินตนเองจากการคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น ทำให้กลุ่มทดลองรับรู้ว่าความดันโลหิตสูงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตและตนเองมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรค กอปรกับกลุ่มทดลองได้ฝึกทักษะการเลือกรายการอาหารที่ควรรับประทานและควรหลีกเลี่ยง ได้ฝึกหัดทำน้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพ ได้ออกกำลังกายอย่างถูกวิธีตามความชอบและความถนัด ได้เรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียดด้วยตนเอง ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลดีของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งได้เห็นแนวโน้มการลดลงของระดับความดันโลหิตระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรม อันจะนำไปสู่การมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น รับรู้ถึงผลดี และมีความตั้งใจในการปฏิบัติตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติหรือใกล้เคียงปกติ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อป้องกันโรคของ Roger16, 17 ที่ได้กล่าวไว้ว่าความตั้งใจในการป้องกันโรคของบุคคลขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 ประการ คือ การรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรค การรับรู้ความสามารถในการตอบสนองต่อคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรค และการรับรู้ความสามารถตนเองในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรค ดังนั้น ผลการศึกษาครั้งนี้ช่วยยืนยันว่าโปรแกรมสุขศึกษาโดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อป้องกันโรคร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมมีประสิทธิภาพในการพัฒนาพฤติกรรมการป้องกันโรคและสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตของประชากรกลุ่มเสี่ยงให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติหรือใกล้เคียงปกติได้
ทั้งนี้ เมื่อเพิ่มระยะเวลาในการวัดความคงทนของพฤติกรรมการป้องกันโรคให้นานขึ้นเป็น 6 เดือน ตามข้อเสนอแนะของการศึกษาก่อนหน้า12 ผลการศึกษาพบว่าประชากรกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงยังคงรับรู้ถึงความรุนแรงของโรค รับรู้ว่าตนเองมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค รับรู้ถึงผลดีของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการจัดการความเครียด รับรู้ถึงความสามารถตนเองในการป้องกันโรค ตลอดจนมีความตั้งใจที่จะนำความรู้และทักษะที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่องที่บ้าน ส่งผลให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 76.7) สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติได้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีประชากรกลุ่มเสี่ยงอีกส่วนหนึ่ง (ร้อยละ 23.3) ที่ยังไม่สามารถควบคุมให้ระดับความดันโลหิตลดลงมาเป็นปกติ
คณะผู้วิจัยติดตามเยี่ยมบ้านและประเมินผลของโปรแกรมสุขศึกษาเมื่อครบเดือนที่ 7 ผลการศึกษาพบว่าประชากรกลุ่มเสี่ยงที่สามารถควบคุมให้ระดับความดันโลหิตลดลงจนอยู่ในระดับปกติ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 86.7 และเมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่หลังเข้าร่วมกิจกรรมครบ 6 และ 7 เดือน พบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนการรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค การรับรู้ความสามารถตนเองในการป้องกันโรค การรับรู้ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค ความตั้งใจที่จะปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค และการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรค มีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05) ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่ากลุ่มทดลองยังคงพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงไว้ได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในทุกด้านอย่างยั่งยืน ในช่วง 3-4 เดือนแรกหลังสิ้นสุดระยะของการได้รับโปรแกรม คณะผู้วิจัยหรือเจ้าหน้าที่ทีมสุขภาพควรให้ความสำคัญกับการติดตามเยี่ยมบ้านในประชากรกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกับประชากรที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแล้ว เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาสำหรับการเรียนรู้ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของบุศรินทร์ ผัดวัง และถาวร ล่อกา18 ที่พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกหลังสิ้นสุดระยะของการได้รับโปรแกรมเป็นช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านไปสู่การคงไว้ซึ่งพฤติกรรมที่ดีอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ดังนั้น การสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ทีมสุขภาพ ครอบครัว หรือญาติ จึงมีความจำเป็นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนความคิด
และพฤติกรรมที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ การศึกษาครั้งต่อไปอาจเพิ่มระยะเวลาในการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างการรับรู้ความสามารถตนเองในการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงให้นานขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการควบคุมน้ำหนัก ได้แก่ การฝึกทักษะการเลือกรับประทานอาหาร การทำน้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพ และการออกกำลังกายด้วยท่ารำไม้พลองประยุกต์หรือรำผ้าขาวม้าประกอบเพลง ซึ่งระยะเวลาของแต่ละกิจกรรมจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด คณะผู้วิจัยอาจจัดเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มทดลองได้แสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ จากการศึกษาของสุกาญจน์ อยู่คง และคณะ19 พบว่า ในการจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และทักษะต่างๆ คณะผู้วิจัยหรือเจ้าหน้าที่ทีมสุขภาพควรใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที เพื่อให้กลุ่มทดลองได้แลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่
สรุป
โปรแกรมสุขศึกษาโดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อป้องกันโรคร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมมีผลในการพัฒนาพฤติกรรมการป้องกันโรคทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนช่วยให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติได้
กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณคุณสุภารัตน์ สีดา ผู้ร่วมวิจัยเรื่องผลของโปรแกรมสุขศึกษาต่อการควบคุมระดับ
ความดันโลหิตในกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงตำบลโคกสนวน อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ และ
กลุ่มตัวอย่างรวมถึงบุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกสนวน อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์
ที่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง และขอขอบคุณคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ที่สนับสนุนงบประมาณดำเนินการศึกษาครั้งนี้
เอกสารอ้างอิง
1. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. แพทย์เตือนความดันโลหิตสูง เพชฌฆาตเงียบ. [เข้าถึงเมื่อ 5 เมษายน 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaihealth.or.th/Content/37201-แพทย์เตือน%20 ความดันโลหิตสูง%20เพชฌฆาตเงียบ%20.html.
2. ภานุวัฒน์ ปานเกศ, จุรีพร คงประเสริฐ, นิตยา ภัทรกรรม, นงนุช ตันติธรรม, ศุภวรรณ มโนสุนทร, พัชริดา ยิ่งอินทร์. รายงานการพยากรณ์โรคความดันโลหิตสูง. [เข้าถึงเมื่อ 5 เมษายน 2561]. เข้าถึงได้จาก: 2. file:///C:/Users/Administrator.7TVG2EQWID72J9G/Downloads/report_2012_11_no01%20(1).pdf.
3. วิชัย เอกพลาการ. (บรรณาธิการ). รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557. นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2557.
4. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. คนไทยป่วยความดันโลหิตสูง 11 ล้าน. [เข้าถึงเมื่อ 5 เมษายน 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaihealth.or.th/microsite/content/5/ncds/181/24127-คนไทยป่วยความดันโลหิตสูง+11+ล้าน.html.
5. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. รายงานประจำปี 2559. กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2559.
6. วิชชุลดา ผรณเกียรติ์. เครียดเรื้อรังภัยเงียบ ทำร้ายวัยทำงาน. [เข้าถึงเมื่อ 13 พฤษภาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: https://www.thairath.co.th/content/537786.
7. สุรีย์พันธุ์ วรพงศธร. การวิจัยทางสุขศึกษา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์วิฑูรย์การปก, 2558.
8. อภัสริน มะโน, วันเพ็ญ แก้วปาน, อาภาพร เผ่าวัฒนา, ปาหนัน พิชญภิญโญ. ประสิทธิผลของโปรแกรมการประยุกต์ทฤษฎีแรงจูงใจในการป้องกันโรคร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมในการป้องกันความดันโลหิตสูงในชายวัยกลางคน เขตกรุงเทพมหานคร. วารสารวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ 2555; 28: 46-59.
9. รำไพ นอกตาจั่น. ผลของโปรแกรมการประยุกต์ใช้ทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อป้องกันโรคต่อพฤติกรรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงของประชาชนกลุ่มเสี่ยง. วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี 2559; 27: 16-28.
10. ธีทัต ศรีมงคล, ธราดล เก่งการพานิช, มณฑา เก่งการพานิช, ศรัณญา เบญจกุล, กรกนก ลัธธนันท์. โปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารในกลุ่มเสี่ยงสูงโรคความดันโลหิตสูง ตำบลตาจั่น 10. อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา. วารสารวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ 2560; 33: 77-88.
11. จริยาภรณ์ พลอยแก้ว, สุพัฒนา คำสอน. ผลของโปรแกรมการสร้างเสริมแรงจูงใจต่อพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน. [เข้าถึงเมื่อ 5 เมษายน 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.northern.ac.th/north_research/p/document/file_14909406071.pdf.
12. สุภารัตน์ สีดา, จารุวรรณ ไตรทิพย์สมบัติ. ผลของโปรแกรมสุขศึกษาต่อการควบคุมระดับความดันโลหิตในกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงตำบลโคกสนวน อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์. วารสารวิจัยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2559; 9: 40-7.
13. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. การบริหารร่างกายด้วยไม้ แบบป้าบุญมี เครือรัตน์. [เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2559]. เข้าถึงได้จาก: https://www.youtube.com/watch?v=05tSmIOxeGc.
14. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกสนวน. รายงานการคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพประจำปี 2556. [เอกสารอัดสำเนา]. บุรีรัมย์: โรงพยาบาล, 2556.
15. ธวัชชัย วรพงศธร. หลักการวิจัยทางสาธารณสุขศาสตร์ . กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.
16. Roger RW. A protection motivation theory of fear appeals and attitude changes. J Psychol 1975; 91: 93-114.
17. Roger RW. Cognitive and physiological processes in fear appeals and attitude change: A revised theory of protection motivation. New York: Guilford Press, 1983.
18. บุศรินทร์ ผัดวัง, ถาวร ล่อกา. การติดตามผลลัพธ์ระยะยาวในการสนับสนุนการจัดการดูแลตนเองต่อระดับน้ำตาลในกระแสเลือดและระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง: กรณีศึกษา บ้านฮ่องห้า ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง. วารสารวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ 2558; 9: 43-51.
19. สุกาญจน์ อยู่คง, มลินี สมภพเจริญ, ธราดล เก่งการพานิช, ทัศนีย์ รวิวรกุล. ผลของโปรแกรมการกำกับตนเองต่อพฤติกรรมการควบคุมอาหารในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2. รายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการสุขศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 17: บทบาทของประชาชนกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ 2558; 17. 5: 272-85. |