ดังนั้นการที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความรู้และพฤติกรรมการดูแลเท้าที่ดีจะช่วยป้องกันการเกิดแผลที่เท้าซึ่งจะลดการตัดเท้าได้ร้อยละ 857 การดำเนินการป้องการภาวะแทรกซ้อนที่เท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรให้ความสำคัญในเรื่องของการแนะนำเพื่อให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถดูแลตนเองได้ ทั้งเรื่องการตรวจเท้าอย่างสม่ำเสมอและการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ การดูแลเท้าผู้ป่วยโรคเบาหวานเพื่อป้องกันการเกิดแผลได้แก่ การสำรวจเท้าถึงความผิดปกติ การทำความสะอาดเท้า โดยการเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้ง การทาโลชั่นเพื่อความชุ่มชื้นแก่ผิว การดูแลเล็บ การหนาตัวของผิวหนังที่เป็นสาเหตุของการเกิดแผล การสวมถุงเท้าเพื่อป้องกันการเสียดสีและการสวมรองเท้าที่เหมาะสม8
จากรายงานสถิติสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.9 ใน พ.ศ. 2552 เป็นร้อยละ 8.9 ใน พ.ศ. 2557 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและกระจายอยู่ทุกพื้นที่ของประเทศไทย9และเขตจังหวัดอุดรธานีมีอัตราความชุกของโรคเท่ากับ 29.0 ต่อประชากรพันคน10 ในพื้นที่อำเภอกู่แก้วมีประชากรที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปีพ.ศ. 2558 จำนวน 1,510 ราย คิดเป็นอัตรา 69.0 ต่อประชากรพันคน ในปีพ.ศ. 2559 จำนวน 2,066 ราย คิดเป็นอัตรา 94.0 ต่อประชากรพันคน ถึงปี พ.ศ. 2560 จำนวนผู้ป่วยเท่ากับ 2,278 ราย คิดเป็นอัตรา 104.0 ต่อประชากรพันคน ในจำนวนผู้ป่วยดังกล่าวมีผู้ที่ได้รับการตัดนิ้วเท้าจำนวน 24 รายคิดเป็นร้อยละ 2.4 ของผู้ป่วยทั้งหมด การตัดนิ้วเท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและยาวนานและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นภาระงานของนักกายภาพบำบัดและเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยทุกคนต้องได้รับผิดชอบและดูแลภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ภารกิจหลักของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสหวิชาชีพในโรงพยาบาลได้แก่ การให้ความรู้เรื่องดูแลเท้า และการประเมินภาวะเสี่ยงจากการตัดเท้า จากผลการตรวจประเมินในปีงบประมาณ 2559 พบว่ามีภาวะเสี่ยงในการตัดเท้าอยู่ในระดับเสี่ยงน้อย จำนวน 552 ราย (ร้อยละ 57.1) ระดับเสี่ยงปานกลาง จำนวน 198 ราย (ร้อยละ 20.0) และระดับเสี่ยงสูง จำนวน 216 ราย (ร้อยละ 22.0)11
จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบปัญหาคือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ให้ความสนใจในการดูแลเท้าของตนเอง เช่นไม่สวมใส่รองเท้าที่เหมาะสม ไม่ปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ และไม่สนใจเข้าร่วมการตรวจเท้าประจำปีเป็นต้นดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานและความรู้เรื่องการดูแลเท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เขตพื้นที่อำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี เพื่อนำผลการศึกษามาใช้เป็นแนวทางสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการวางแผนการดำเนินงาน ของกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานต่อไป
วิธีการศึกษา
เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (Crosssectional descriptive study) เพื่อศึกษาความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ความรู้เกี่ยวกับการดูแลเท้า และความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานและความรู้เกี่ยวกับการดูแลเท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน พื้นที่อำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี
ประชากรและกลุ่มเป้าหมาย ประชากรทั้งหมด 966 ราย คำนวณขนาดตัวอย่างโดยใช้สูตรของเดเนียล เท่ากับ 367 ราย และเก็บเพิ่มเพื่อป้องกันการสูญหายจากการไม่ตอบแบบสอบถาม เพิ่มขนาดตัวอย่างร้อยละ 20 จึงมีขนาดตัวอย่างจำนวน 440 ราย เกณฑ์การคัดเข้ากลุ่มตัวอย่าง คือ เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อาศัยอยู่ในอำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี และอายุ 18 ปีขึ้นไป เกณฑ์การคัดออกคือ ไม่สามารถสื่อสารเพื่อเกิดความเข้าใจได้และปฏิเสธการเข้าร่วมโครงการ ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างตามช่วงเวลาที่กำหนด (Consecutive sampling) นับหลังจากวันที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งกำหนดเป็นตัวอย่างรายแรกจากการตอบแบบสอบถามและนับจำนวนต่อไปจนครบ
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ใช้แบบสอบถามโดยตอบเอง
แบบสอบถามประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไป ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน และความรู้เกี่ยวกับการดูแลเท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวาน แบบสอบถามได้สร้างครอบคลุมเนื้อหาตามวัตถุประสงค์ ได้ตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา (Content validity) โดยผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ผ่านการทดสอบใช้และตรวจสอบวิเคราะห์ความเที่ยง (Reliability) โดยวิธีหาค่าสัมประสิทธิแอลฟ่าของครอนบราช (Cronbachs Alpha Coefficient) โดยหมวดความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน เท่ากับ 0.68 ความรู้เกี่ยวกับการดูแลเท้าเท่ากับ 0.67 ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานมีคำถาม 5 ข้อ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตามเกณฑ์ร้อยละ คือ ร้อยละ 60 ขึ้นไปความรู้ระดับดี และตํ่ากว่าร้อยละ 60 มีความรู้ในระดับตํ่าความรู้เรื่องการดูแลเท้ามีทั้งหมด 10 ข้อ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ตามเกณฑ์ร้อยละ คือ ร้อยละ 80 ขึ้นไปความรู้ระดับดี และตํ่ากว่าร้อยละ 80 มีความรู้ในระดับตํ่า
การเก็บข้อมูล การเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่าง 1 กุมภาพันธ์ ถึง 31 มีนาคม พ.ศ.2561 และมีผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 440 ราย
การวิเคราะห์ข้อมูล ดำเนินการจัดการข้อมูลโดยทำการตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูลลงรหัสนำเข้าข้อมูล และนำเข้าข้อมูลแบบ Data Double Entry เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของข้อมูลและใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Window version 19 (Statistical Packages for the Social Science) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive statistics) ตัวแปรเชิงกลุ่มพรรณนาโดยใช้การแจกแจงความถี่และร้อยละ ตัวแปรต่อเนื่อง ใช้ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
สถิติเชิงอนุมาน (Inference statistics) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานและความรู้ในการดูแลเท้าโดยใช้สถิติ Chi-square test ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05
จริยธรรมการศึกษา ผู้วิจัยเริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลภายหลังจากผ่านการอนุมัติการวิจัยจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เลขที่ : HE601457 การสัมภาษณ์ได้อธิบายให้อาสาสมัครเข้าใจและรับทราบให้ความยินยอมหรือไม่ให้การยินยอมในการศึกษาครั้งนี้ หากไม่เข้าร่วมโครงการวิจัยจะไม่เสียสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล อาสาสมัครสามารถยุติการเข้าร่วมวิจัยได้ตลอดเวลาและข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจะนำเสนอข้อมูลทางวิชาการในภาพรวม
ผลการศึกษา
จากการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมีอายุเฉลี่ย 59.9 ปี (SD=9.7) ระยะเวลาการเป็นโรคเบาหวานเฉลี่ย 9.38 ปี (SD=6.3) มีระยะเวลาการเป็นโรคเบาหวานอยู่ที่ 1-10 ปี (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 ข้อมูลทั่วไป (n= 440)
ข้อมูลทั่วไป |
จำนวน (ร้อยละ) |
เพศ |
|
ชาย |
170 (38.6) |
หญิง |
270 (61.4) |
อายุ (ปี) |
|
น้อยกว่า 60 |
210 (47.7) |
มากกว่า 60 ขึ้นไป |
230 (52.3) |
(Mean= 59.9 ปี, SD=9.7) |
|
ระยะเวลาการเป็นโรคเบาหวาน (ปี) |
|
1-10 |
316 (71.8) |
11-20 |
99 (22.5) |
21ขึ้นไป |
25 (5.7) |
(Mean = 9.38 ปี, SD=6.3) |
|
คำถามที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความรู้เรื่องโรคเบาหวานและตอบถูกมากที่สุดคือ โรคเบาหวานสามารถก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงตามมา 386 ราย ร้อยละ 87.7 รองลงมาคือ ทำให้สายตาพร่ามัว 376 ราย ร้อยละ 85.5 และเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ 336 ราย ร้อยละ 76.4 ตามลำดับ (ตารางที่ 2)
ตารางที่ 2 ผลคะแนนความรู้เรื่องโรคเบาหวาน
ข้อคำถามความรู้เรื่องโรคเบาหวาน |
ถูกต้อง
จำนวน (ร้อยละ) |
1. โรคเบาหวานเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ |
336 (76.4) |
2. โรคเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงของความดันโลหิตสูง |
386 (87.7) |
3. แผลที่หายยาก ใช้เวลารักษานาน ของผู้ป่วยโรคเบาหวานเกิดจากหลอดเลือดส่วนปลายมีปัญหาหรือผิดปกติ |
184 (41.8) |
4. อาการชาของผู้ป่วยโรคเบาหวาน แสดงว่าประสาทส่วนปลายเสื่อมสภาพ |
192 (43.6) |
5. โรคเบาหวานทำให้สายตาพร่ามัว |
376 (85.5) |
ข้อความรู้เกี่ยวกับการดูแลเท้าที่กลุ่มตัวอย่างตอบถูกมากที่สุดคือ ความรู้ในข้อก่อนออกจากบ้านควรใส่รองเท้าทุกครั้ง ร้อยละ 93.4 รองลงมาคือ ไม่ควรให้เท้าเกิดแผล ร้อยละ 93.0 และหลังอาบน้ำควรเช็ดเท้าให้แห้ง ร้อยละ 91.8 ตามลำดับ ส่วนข้อที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรมีความรู้เพื่อนำไปสู่การดูแลเท้าที่เหมาะสมและป้องกันการเกิดแผล แต่ผู้ป่วยตอบถูกน้อย ได้แก่ ควรทาครีมหรือทาโลชั่นที่เท้า ร้อยละ 35.5 การสวมใส่ถุงเท้าทุกครั้ง ร้อยละ 48.0 ควรใช้ผ้าเช็ดง่ามเท้าให้แห้ง ร้อยละ 53.9 และการใส่รองเท้าที่มีสายหุ้มส้น 59.3 เป็นต้น (ตารางที่ 3)
ตารางที่ 3 ผลคะแนนความรู้เรื่องการดูแลเท้า
ความรู้เรื่องการดูแลเท้า |
ถูกต้อง
จำนวน (ร้อยละ) |
1. หลังอาบน้ำควรเช็ดเท้าให้แห้ง |
404 (91.8) |
2. ควรใช้ผ้าเช็ดง่ามเท้าให้แห้ง |
237 (53.9) |
3. ควรทาครีมหรือทาโลชั่นที่เท้า |
156 (35.5) |
4. ควรสวมใส่ถุงเท้าทุกครั้ง |
211 (48.0) |
5. ตัดเล็บควรให้เสมอปลายนิ้วเท้า |
323 (73.4) |
6. ไม่ควรให้เท้าเกิดแผล |
409 (93.0) |
7. ควรใส่รองเท้ามีสายหุ้มส้น |
261 (59.3) |
8. ควรใส่รองเท้าให้พอดีกับขนาดเท้า |
393 (89.3) |
9. ก่อนออกจากบ้านควรใส่รองเท้าทุกครั้ง |
411 (93.4) |
10. ควรออกกำลังกายข้อเท้าเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด |
379 (86.1) |
ความสัมพันธ์ของระดับความรู้เรื่องโรคเบาหวานและระดับความรู้เรื่องการดูแลเท้าพบว่าผู้ที่มีระดับความรู้อยู่ในระดับสูงจะมีสัดส่วนระดับความรู้ในการดูแลเท้าในระดับสูง ร้อยละ 51.5 ส่วนผู้ที่มีระดับความรู้อยู่ในระดับต่ำจะมีสัดส่วนการมีระดับความรู้ในการดูแลเท้าในระดับสูง ร้อยละ 21.4 ซึ่งแตกต่างกันและอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) (ตารางที่ 4)
ตางรางที่ 4 วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างระดับความรู้เรื่องโรคเบาหวานกับระดับคะแนนความรู้การดูแลเท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ระดับความรู้เรื่องโรคเบาหวาน |
ระดับคะแนนการดูแลเท้า |
p-value |
ความรู้การดูแลเท้า
ที่ต่ำ |
ความรู้การดูแลเท้า
ที่สูง |
มีความรู้ต่ำ |
55 (78.6) |
15 (21.4) |
<0.001 |
มีความรู้สูง |
172 (48.5) |
183 (51.5) |
|
วิจารณ์
จากผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีความรู้เรื่องโรคเบาหวานระดับสูงร้อยละ 80.9 ประเด็นที่มีความรู้แล้วและตอบได้มากว่าร้อยละ 60 คือ โรคเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงของความดันโลหิตสูง ทำให้สายตาพร่ามัวและเป็นโรคไม่ติดต่อ นอกจากนี้ยังพบข้อคำถามที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความรู้ที่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ยังขาดความรู้ได้แก่ อาการชาของผู้ป่วยโรคเบาหวาน แสดงว่าประสาทส่วนปลายเสื่อมสภาพ และแผลที่หายยากใช้เวลารักษานานของผู้ป่วยเกิดจากหลอดเลือดส่วนปลายมีปัญหาหรือผิดปกติ
ความรู้เรื่องการดูแลเท้าพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความรู้เรื่องการดูเท้าสูงร้อยละ 45.0 พบข้อที่มีความรู้แล้วได้แก่ หลังอาบน้ำควรเช็ดเท้าให้แห้ง ไม่ควรทำให้เท้าเกิดแผล ควรใส่รองเท้าให้พอดีกับขนาดเท้า ก่อนออกจากบ้านควรใส่รองเท้าทุกครั้ง ควรออกกำลังกายข้อเท้าเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดและตัดเล็บให้เสมอกับปลายนิ้ว นอกจากนี้ยังพบว่ามีประเด็นที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความรู้น้อยได้แก่ ควรใช้ผ้าเช็ดง่ามเท้าให้แห้ง ควรทาครีมหรือโลชั่นที่เท้า ควรสวมใส่ถุงเท้าทุกครั้งและควรใส่รองเท้าที่มีสายหุ้มส้น
ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เรื่องโรคเบาหวานกับความรู้เรื่องการดูแลเท้าจากการศึกษาพบว่า ระดับความรู้เรื่องโรคเบาหวานที่สูงจะมีแนวโน้มมีระดับความรู้เรื่องการดูแลเท้าที่สูงไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้อาจะเป็นเพราะว่ากลุ่มตัวอย่างที่มารับบริการที่โรงพยาบาลกู่แก้วจะได้รับความรู้จากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลในด้าน ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน สาเหตุการเกิดโรคเบาหวาน ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น ความรู้เรื่องการดูแลเท้า พฤติกรรมการดูแลเท้าและการออกกำลังกายเมื่อผู้ที่มารับบริการได้รับฟังความรู้จากเจ้าหน้าเป็นประจำ จึงอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตรงกับทฤษฎีความรู้ของ เบนจามินบลูมและคณะกล่าวว่า พฤติกรรมด้านสมองเป็นพฤติกรรมเกี่ยวกับสติปัญญา ความรู้ ความคิด โดยความรู้หรือการที่ได้รับรู้จะก่อให้เกิดความเข้าใจ12ซึ่งความรู้เรื่องโรคเบาหวานที่กลุ่มตัวอย่างมีความรู้ ร้อยละ 80.9ไม่สอดสอดคล้องกับงานวิจัยจากการศึกษาความรู้และพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ตำบลบางทราย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เรื่องโรคเบาหวานอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 62.913 ความรู้เรื่องการดูแลเท้าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ให้เป็นแผลที่เท้า14-16และจากการศึกษายังพบว่าความรู้เรื่องการดูแลเท้าในหัวข้อเรื่องการทาครีมหรือทาโลชั่นที่เท้า การสวมถุงเท้าทุกครั้ง การใช้ผ้าเช็ดง่ามเท้าให้แห้งและการใส่รองเท้าหุ้มส้น ซึ่งกลุ่มตัวอย่างตอบได้คะแนนต่ำ คือ ตอบถูกต้องร้อยละ 35.5, 48.0 ,53.9 และ 59.3 ตามลำดับแสดงถึงการมีความรู้เรื่องการดูแลเท้าที่น้อยส่งผลต่อความเสี่ยงต่อการเกิดแผลที่เท้าส่งผลในภาพรวมพบกลุ่มตัวอย่างมีความรู้เรื่องการดูแลเท้า ร้อยละ 45.0 ไม่สอดคล้องกับงานวิจัยที่ศึกษาความรู้และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพเท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มารับบริการที่ตึกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ปี พ.ศ. 2554 พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เรื่องการดูแลเท้าผู้ป่วยโรคเบาหวาน คิดเป็นร้อยละ 61.417
ข้อเสนอแนะ
หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มองค์ความรู้เรื่องปัจจัยที่ส่งผลให้แผลที่เท้าหายช้าและภาวะแทรกซ้อนของเท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมทั้งนำองค์ความรู้เหล่านี้มาประยุกต์เพื่อวางแผนติดตามผู้ป่วยในชมชุนและสร้างความตระหนักให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานดูแลเท้าให้เหมาะสม เพื่อผู้ป่วยโรคเบาหวานจะได้มีสุขภาพเท้าที่ดี
กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบพระคุณคณาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่กรุณาประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้คำปรึกษาแนะนำ ให้กำลังใจในการศึกษา และผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่านที่ให้ความร่วมมือตลอดจนจบโครงการ
เอกสารอ้างอิง
1. World health organization(WHO). Global report on diabetes; 2016. [Cited August 15, 2016]. Available from: http://www.who.int/diabetes/global-report/en/
2. สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. จำนวนและอัตราผู้ป่วยในโรคเบาหวาน (E10-E14) ต่อประชากร 100,000 คน (รวมทุกการวินิจฉัยโรค) ปี พ.ศ. 2550-25560 จำแนกรายจังหวัดเขตสคร. และภาพรวมประเทศ (รวมกรุงเทพมหานคร) (สืบค้นอินเตอร์เน็ต). [สืบค้นเมื่อ 10 ม.ค. 2561] แหล่งข้อมูล: http://thaincd.com/information-statistic/non-communicable-disease-data.php
3. อำภาพร นามวงศ์พรหม, น้ำอ้อย ภักดีวงศ์. การเกิดแผลที่เท้าและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวาน. วารสารการพยาบาล 2553; 25: 51-63.
4. Boulton AJ. Vilkeite L, Ragnarson-Tennall G, Apelqvist J. The global burden of diabetic foot disease. Lancet 2005; 366: 1719-24.
7. Tabachnick BG, Fidell LS. Using multivariate statistics. Allyn & Bacon/Pearson Education, 2007.
8. สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการตรวจคัดกรองและดูแลรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เท้าในผู้เป็นเบาหวาน.โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2558.
9. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.2559 [วันที่สืบค้น 10 กันยายน 2560] แหล่งที่มา http://www.dmthai.org
10. ศูนย์ข้อมูลระบบ NCD สสจ. อุดรธานี.2559. [วันที่สืบค้น 2 สิงหาคม 2560]. แหล่งที่มา https://www.udo.moph.go.th
11. อุมาพร สันธนะศักดิ์. แฟ้มบันทึกข้อมูลคลินิกผู้ป่วยเบาหวานปีที่2, 2559
12. คุณากร แสงอุ่น. ทฤษฎีของ blooms taxonomy.2559 [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561] จากเว็บไซต์: http://kunakorn001.blogspot.com/2016
13. ลักษณา พงษ์ภุมมา. ความรู้และพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ตำบลบางทราย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี.2560 [สืบค้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561]. จากเว็บไซต์ : http://journal.hcu.ac.th/pdffile/jn2040/บทที่%206.pdf
14. Levin ME. Preventing amputation in the patient with diabetes. Diabetes care 1995; 18: 1383-94.
15. Armstrong DG, Todd WF, Lavery LA, Harkless LB, Bushman TR. The natural history of acute Charcot's arthropathy in a diabetic foot specialty clinic. JAPMA 1997; 87: 272-8.
16. Schon, Lew C, Mark E, Easley, Steven B, Weinfeld. Charcot neuroarthropathy of the foot and ankle. Clinical orthopaedics and related research 1998; 349: 116-31.
17. จิตรานนท์ โกสีย์รัตนาภิบาล. ความรู้และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพเท้าของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มารับบริการที่ตึกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโรอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ปีพ.ศ.2554. [สืบค้นเมื่อวันที่ 5พฤษภาคม 2561] จากเว็บไซต์: http://www.skko.moph.go.th