ศูนย์ชีวนันท์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ได้บูรณาการบริบาลผู้ป่วยโรคเรื้อรังซับซ้อนที่รักษายาก ตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 2555 จนถึงปัจจุบัน โดยมีบุคลากรของกลุ่มงานเภสัชกรรม ร่วมให้การบริบาลกับสหวิชาชีพอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยมีการจัดการให้ความรู้ในเรื่องโรคและการใช้ยา การปฏิบัติตนของผู้ป่วยโรคเรื้อรังซับซ้อนที่รักษายาก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการออกเยี่ยมตามบ้านของผู้สูงวัย โดยเภสัชกรที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ชีวนันท์ จะทำหน้าที่ในการจ่ายยา ร่วมกับการให้คำแนะนำในการบริหารจัดการยา การเก็บรักษารวมถึงติดตามให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ประเมินผลและตรวจสอบกระบวนการต่างๆ ร่วมกับสหวิชาชีพในระหว่างเยี่ยมบ้าน จากรายงานการดำเนินงานในระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 31 กรกฎาคม 2558 มีผู้ป่วยสูงวัยที่เป็นโรคเรื้อรังซับซ้อนรักษายากจำนวน 610 ราย สามารถควบคุมโรคได้ตามเกณฑ์ของส่วนบริการควบคุมป้องกัน และรักษาโรคไม่ติดต่อ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 237 ราย คิดเป็นร้อยละ 38.85 เพื่อให้บริการที่ศูนย์ชีวนันท์ในผู้ป่วยสูงวัยที่เป็นโรคเรื้อรังซับซ้อนรักษายากมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับความสำเร็จในการควบคุมโรคในผู้ป่วยสูงวัยที่เป็นโรคเรื้อรังซับซ้อนรักษายาก
วิธีการศึกษา
ศึกษาในผู้สูงวัยที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังซับซ้อนตามการวินิจฉัยของอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งใช้เกณฑ์ตามการควบคุมโรคของส่วนบริการควบคุมป้องกัน และรักษาโรคไม่ติดต่อ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หากไม่สามารถควบคุมโรคได้โดยการรักษาตามแผนการรักษาปกติ จะส่งตัวมารักษาที่ศูนย์ชีวนันท์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2558 31 กรกฎาคม 2560 ศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive study) โดยศึกษา จากการบันทึกแฟ้มเวชระเบียนในข้อมูลพื้นฐานของผู้สูงวัย การใช้ยา การร่วมกิจกรรม รวมถึงตรวจประเมินค่าผลของการรักษาว่าสามารถควบคุมโรคได้ตามเกณฑ์ การควบคุมโรคของส่วนบริการควบคุมป้องกัน และรักษาโรคไม่ติดต่อ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้
- ภาวะเบาหวาน : ระดับ HbA1C น้อยกว่า 7 และ ระดับน้ำตาลในเลือดเมื่ออดอาหารอยู่ระหว่าง 70 130 mg/dL ในระยะ 3 รอบการนัดติดตามการรักษา
- ภาวะความดันโลหิตสูง : ระดับความดันต่ำกว่า 140/90 mmHg ในระยะ 3 รอบนัดการรักษา
- ภาวะไขมันในเลือดสูง : ระดับ LDL ต่ำกว่า 100 mg/dL ในระยะ 3 รอบนัดการรักษา
- มีการได้รับการรักษาซ้ำในแผนกผู้ป่วยใน ในรอบ 28 วัน จากสภาวะโรคเดิม
โดยสภาวะดังกล่าวจะประกอบกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาในการส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ศูนย์ชีวนันท์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โดยการดำเนินการที่ศูนย์ชีวนันท์จะบูรณาการร่วมกับสหวิชาชีพ เน้นการให้ความรู้แก่ผู้สูงวัย และผู้ดูแลใกล้ชิด เน้นการเสริมสร้างแรงจูงใจด้านบวก การปรับทัศนคติ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการติดตามประเมินผลโดยการเยี่ยมบ้าน โดยทีมสหวิชาชีพ ในการศึกษาครั้งนี้ กรณีไม่สามารถสัมภาษณ์ผู้สูงวัยหรือผู้ดูแลใกล้ชิดในระหว่างเยี่ยมบ้านได้ จะสัมภาษณ์ขณะมารับการรักษาตามรอบนัด สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยใช้แนวทางการซักถามแบบเดียวกัน3,4กับคำถามที่ใช้ถามในการเยี่ยมบ้าน โดยคำถามดังกล่าวตรวจสอบและปรับปรุงโดยที่ปรึกษางานวิจัย เพื่อค้นหาปัจจัยที่สัมพันธ์กับความสำเร็จในการควบคุมโรคในผู้ป่วยสูงวัย ที่เป็นโรคเรื้อรังซับซ้อนรักษายาก รวมถึงการบริหารจัดการยา การบริหารจัดการความสัมพันธ์ของผู้สูงวัย ผู้ดูแลใกล้ชิด จนถึงความสัมพันธ์ในชุมชน รวมถึงการค้นหาเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์จากยา ความร่วมมือในการใช้ยา ตลอดจนความคลาดเคลื่อนทางยา5 และปัจจัยในการเกื้อหนุนการใช้ยา จากสมาชิกในครอบครัวร่วมด้วย ตามแนวทางการศึกษาก่อนหน้า
การคำนวณขนาดกลุ่มประชากรที่ศึกษา6

N = population size
e = margin of error
z = z score
กำหนดค่าในการคำนวณดังนี้
N = 408
p = 30%
q = (1-p) = 70%
e = 5%
ผู้สูงวัย1: บุคคลผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
เกณฑ์ความสำเร็จในการควบคุมโรคเรื้อรัง : ตามเกณฑ์การรักษามาตรฐานรายโรคของส่วนบริการควบคุมป้องกัน และรักษาโรคไม่ติดต่อ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้
- ภาวะเบาหวาน : ระดับ HbA1C น้อยกว่า 7 และ ระดับน้ำตาลในเลือดเมื่ออดอาหารอยู่ระหว่าง 70 130 mg/dL ในระยะ 2 รอบการนัดติดตามการรักษา
- ภาวะความดันโลหิตสูง : ระดับความดันต่ำกว่า 140/90 mmHg ในระยะ 3 รอบนัดการรักษา
- ภาวะไขมันในเลือดสูง : ระดับ LDL ต่ำกว่า 100 mg/dL ในระยะ 3 รอบนัดการรักษา
- มีการรับการรักษาซ้ำในแผนกผู้ป่วยใน ในรอบ 28 วัน จากภาวะโรคเดิม
โดยติดตามจากการบันทึกไว้ในเวชระเบียนตามการวินิจฉัยของแพทย์อาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ กรณีผู้ป่วยมีสภาวะโรคมากกว่า 1 จะทำการวินิจฉัยเป็นกรณีแยกรายโรค
พฤติกรรมการใช้ยา5,7 การปฏิบัติของผู้สูงวัยในการบริโภคยาเพื่อการบำบัดโรค ได้จากการสัมภาษณ์ในขณะมารับการรักษาตามรอบนัด สัมภาษณ์ขณะลงเยี่ยมบ้านหรือจากทางโทรศัพท์
สุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มตัวเลขจากระเบียนผู้ป่วย ให้ได้ตามจำนวน 199 ราย โดยการสุ่มผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ( Random number generator : thaiware.com)
การพิทักษ์สิทธิ์
ผู้วิจัยพิทักษ์สิทธิ์ผู้สูงวัยที่ให้ข้อมูล โดยอธิบายข้อมูลที่เกี่ยวกับวิธีวิจัยประโยชน์ ตลอดจนการจัดการข้อมูลหลังการสัมภาษณ์ โดยการเผยแพร่ข้อมูลในภาพรวม ไม่มีการระบุรายบุคคล ทั้งนี้ตามที่ผู้สูงวัยและญาติให้ความยินยอม
การศึกษาครั้งนี้ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เลขที่35/2560 เมื่อ 28 กันยายน 2560
การวิเคราะห์ข้อมูล
- ร้อยละ และค่าเฉลี่ย
- ข้อมูลที่ได้แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่สามารถควบคุมโรคได้ตามเกณฑ์ และกลุ่มที่ควบคุมโรคได้ไม่สำเร็จ นำค่าตัวแปรไปวิเคราะห์ทางสถิติ Multiple logistic regression โดยใช้โปรแกรมคำนวณ SPSS ver 22
ผลการศึกษา
ในช่วงเวลาระหว่างการศึกษา ผู้สูงวัยที่ได้รับการส่งตัวรักษาโรคเรื้อรังซับซ้อนที่ศูนย์ชีวนันท์มีจำนวน 408 ราย จากการสุ่มกลุ่มประชากร จำนวนผู้สูงวัยที่ทำการศึกษาในครั้งนี้ 199 ราย สามารถแบ่งผู้สูงวัยเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ควบคุมโรคได้ตามเกณฑ์ และกลุ่มควบคุมโรคไม่สำเร็จ ทั้งสองกลุ่มมีอายุใกล้เคียงกัน อายุเฉลี่ย 68.3 และ 67.4 ปี ตามลำดับ ทั้งสองกลุ่มส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 58.7 และ 59.6 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือต่ำกว่า ในการสัมภาษณ์เชิงลึก การเยี่ยมบ้านโดยภาพรวม ได้รับการเยี่ยมบ้าน 42 ราย โดยทั้งสองกลุ่มมีสัดส่วนของการได้รับการเยี่ยมบ้านใกล้เคียงกัน คือกลุ่มที่ควบคุมโรคได้ตามเกณฑ์ ได้รับการเยี่ยมบ้านจำนวน 15ราย (ร้อยละ 20) และกลุ่มที่ควบคุมโรคไม่สำเร็จได้รับการเยี่ยมบ้าน 27 ราย (ร้อยละ 21.7) (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 ลักษณะผู้สูงวัยที่รับการรักษาโรคเรื้อรังซับซ้อนที่รับการรักษาที่ศูนย์ชีวนันท์
กลุ่ม |
เพศหญิง
(ร้อยละ) |
อายุ
(เฉลี่ย-ปี) |
ระดับการศึกษาปริญญาตรีหรือต่ำกว่า(ร้อยละ) |
การเยี่ยมบ้าน
(ร้อยละ) |
ควบคุมโรคได้ตามเกณฑ์ |
44 (58.7) |
68.3 |
50 (66.7) |
15 (20) |
ควบคุมโรคไม่สำเร็จ |
74 (59.6) |
67.4 |
83 (66.9) |
27 (21.7) |
พบเป็นผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 75 ราย ความดันโลหิตสูง 63 ราย ภาวะไขมันในเลือดสูง 56 ราย และภาวะโรคอื่น ๆ 5 ราย โดยแยกเป็นภาวะไธรอยด์เป็นพิษ 2 ราย ภาวะกรดยูริคในเลือดสูง 1 ราย ภาวะไตเสื่อม 2 ราย ผู้ป่วยที่ได้รับวินิจฉัยภาวะกรดยูริคสูงอายุรแพทย์ลงความเห็นว่าควบคุมโรคได้ ส่วนภาวะไธรอยด์เป็นพิษและภาวะไตเสื่อมยังอยู่ในระหว่างการควบคุมโรคอยู่ ลักษณะข้อมูลโดยทั่วไปของผู้ป่วยสามารถแบ่งเป็นกลุ่มควบคุมโรคได้ตามเกณฑ์ และกลุ่มควบคุมโรคไม่สำเร็จ (ตารางที่ 2)
ตารางที่ 2 ผู้สูงวัยที่รับการรักษาโรคเรื้อรังซับซ้อนแยกตามรายโรค
กลุ่ม (จำนวน) |
เบาหวาน
(75) |
ความดันโลหิตสูง
(63) |
ไขมันในเลือดสูง
(56) |
อื่น ๆ
(5) |
ควบคุมโรคได้ตามเกณฑ์ (75) |
27 |
26 |
21 |
1 |
ควบคุมโรคไม่สำเร็จ (124) |
48 |
37 |
35 |
4 |
ผู้สูงวัยที่ไม่ได้รับการเยี่ยมบ้านจะได้รับการสัมภาษณ์ขณะมารับการรักษาตามรอบนัด และสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ รวมถึงผู้ดูแล โดยคำถามเช่นเดียวกันกับผู้สูงวัยได้รับการเยี่ยมบ้าน และเมื่อศึกษาปัจจัยต่าง ๆ พบว่ามีปัจจัยที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในสองกลุ่มที่แตกต่างกัน คือ การมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด และผู้สูงวัยที่มีการศึกษาข้อมูลโรคและยาด้วยตนเอง การเก็บรักษายาได้ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงวัยที่มีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดในกลุ่มควบคุมโรคได้ตามเกณฑ์มีถึง 70 ราย (ร้อยละ 93.3) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ควบคุมโรคไม่สำเร็จที่มีผู้ดูแล 23 ราย (ร้อยละ 18.5) ส่วนปัจจัยที่ไม่มีผลต่อการควบคุมโรคในการศึกษาครั้งนี้ คือ การพบแพทย์ตามนัด การรับยาแทน จำนวนขนานยาที่ใช้ การซื้อยาเอง การใช้ยาสมุนไพร การเยี่ยมบ้าน รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมของศูนย์ชีวนันท์ ทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน (ตารางที่ 3)
ตารางที่ 3 ปัจจัยที่มีผลต่อการควบคุมโรคได้ตามเกณฑ์
ปัจจัย |
Odds
ratio |
95% Confidence interval |
p-value |
การมีผู้ดูแลใกล้ชิด |
5.0 |
3.2 7.8 |
0.0000 |
ศึกษาข้อมูลโรคและยา |
4.7 |
2.7 8.0 |
0.0000 |
เก็บรักษายาถูกต้อง |
2.5 |
1.6 - 4.0 |
0.0001 |
พบแพทย์ตามนัด |
1.4 |
0.9 2.0 |
0.1102 |
การรับยาแทน |
1.3 |
0.8 2.0 |
0.3339 |
จำนวนขนานยา |
1.3 |
0.7 2.4 |
0.4824 |
การซื้อยาเอง |
1.2 |
0.8 1.8 |
0.2944 |
การใช้สมุนไพรเอง |
1.2 |
0.6 2.1 |
0.6293 |
การเยี่ยมบ้าน |
1.0 |
0.6 1.7 |
0.9336 |
การเข้าร่วมกิจกรรม |
1.0 |
0.6 1.8 |
0.9332 |
จากการศึกษาเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์จากยา พบว่าในกลุ่มควบคุมโรคได้ตามเกณฑ์มีข้อมูล 3 ราย (ร้อยละ 4) โดยเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้ง 3 ราย โดยไม่มีการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และในกลุ่มควบคุมโรคไม่สำเร็จพบเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์จากยา 5 ราย (ร้อยละ 4) เช่นเดียวกัน โดยการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำทั้ง 5 ราย พบมี 1 รายที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดย 3 ราย เกิดจากการรับประทานอาหารลดลงจากมื้อปกติ เนื่องจากมีการเจ็บป่วยอื่นแทรกซ้อน และในผู้ป่วยดังกล่าวมี 1 ราย ที่ต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนอีก 2 ราย เกิดจากการลืมมื้อยาและรับประทานยาซ้ำซ้อน
วิจารณ์
ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า ปัจจัยความสำเร็จในการดูแลผู้ป่วยสูงวัยรับการรักษาโรคเรื้อรังซับซ้อน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3 ปัจจัย ได้แก่การมีผู้ดูแลใกล้ชิด การศึกษาข้อมูลโรครวมถึงข้อมูลของยาที่รับประทานด้วยตัวผู้สูงวัยเอง และการเก็บรักษายาได้ถูกต้อง โดยปัจจัยที่มีนัยสำคัญทางสถิติอันดับแรกคือ การมีผู้ดูแลใกล้ชิด ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาก่อนหน้า6,7 แสดงให้เห็นว่าผู้สูงวัยจะมีปัญหาในการดูแลสุขภาพอันเนื่องมาจากลักษณะการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพ และสภาพจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจ็บป่วยเรื้อรัง การมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดจะทำให้คุณภาพการดูแลรักษาที่ดีกว่า และพบว่าผู้สูงวัยสามารถควบคุมโรคได้ดีกว่า มีเหตุแทรกซ้อนจากภาวะเจ็บป่วยน้อยกว่า และอีกสองปัจจัยที่สำคัญคือการศึกษาข้อมูลโรครวมถึงข้อมูลของยาที่รับประทานด้วยตัวผู้สูงวัยเอง รวมถึงการเก็บรักษายาได้ถูกต้อง เป็นส่วนสำคัญในการรักษาผู้ป่วยสูงวัยเช่นเดียวกัน สอดคล้องกับการศึกษาของวาสนา นัยพัฒน์8 ที่พบว่าผู้สูงอายุในชุมชน บ้านพักข้าราชการโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ร้อยละ 40 ขาดความรู้ในการใช้ยา และมิได้ตรวจสอบวิธีใช้ยาก่อน และมีเพียงร้อยละ 14.7 ที่มีผู้ดูแลใกล้ชิด ซึ่งสัดส่วนของการมีผู้ดูแล ยังน้อยกว่าการศึกษาครั้งนี้ที่พบว่า แม้แต่กลุ่มที่รักษาไม่สำเร็จยังมีผู้ดูแลใกล้ชิดร้อยละ 18.5 และกลุ่มที่ควบคุมโรคได้ มีผู้ดูแลใกล้ชิดถึงร้อยละ 93.3
จากการดำเนินงานที่ศูนย์ชีวนันท์ จัดบูรณาการบริบาลผู้ป่วยสูงวัย ไม่ว่าการให้ความรู้ในภาวะโรค การปฏิบัติตัว การเก็บรักษาและบริหารจัดการยา การจัดกิจกรรมต่าง ๆ การติดตามการรักษาโดยการเยี่ยมบ้านของสหวิชาชีพ เพื่อประเมินและให้ความรู้ต่อเนื่องทั้งผู้ป่วยสูงวัยและผู้ดูแล เป็นปัจจัยเบื้องต้นที่จัดให้โดยบุคลากรทางการแพทย์ แต่จากการศึกษา บ่งชี้ว่าผลการรักษาจะดีได้ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นลำดับแรก เนื่องจากการผู้สูงวัยยังต้องการความเอาใจใส่และการกระตุ้นจากผู้ดูแลใกล้ชิดในการดูแลตนเอง รวมถึงการเห็นคุณค่าในตนเอง7 ปัจจัยที่สองคือการพัฒนาความรู้ของผู้สูงวัยเอง ต้องมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ภาวะความเจ็บป่วยของตน ตลอดจนการศึกษาถึงยาที่ใช้เป็นสำคัญ เนื่องจากการที่ผู้สูงวัยจะดูแลตัวเองได้นั้นต้องมีความรู้ในโรค และเข้าใจหลักการใช้ยาได้อย่างถูกต้อง5,7 และปัจจัยที่สามซึ่งเกี่ยวข้องกับเภสัชกรโดยตรง คือ การเก็บรักษายาได้ถูกต้องเป็นสิ่งที่จะต้องเน้นย้ำให้แก่ผู้สูงวัยรวมถึงผู้ดูแลใกล้ชิดให้ตระหนักและดำเนินการเก็บรักษาได้อย่างเหมาะสม3,5 จึงจะสามารถควบคุมความเจ็บป่วยเรื้อรังซับซ้อนของผู้สูงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการศึกษาก่อนหน้าพบว่าภาวะหลงลืมในการเก็บและการบริหารจัดการยาที่ไม่เหมาะสม พบเจอได้แม้จะได้รับความรู้อย่างต่อเนื่อง อันเกิดจากความหลงลืมของผู้สูงวัยและการไม่ให้ความสำคัญของผู้ดูแล ดังนั้นการเน้นย้ำในเรื่องการเก็บรักษาการบริหารจัดการยา ควรเน้นย้ำอย่างต่อเนื่อง และเป็นจุดสำคัญในการเยี่ยมบ้าน จากข้อมูลการเยี่ยมบ้านร่วมกับการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ยังพบว่ามีการซื้อยารับประทานเอง หรือการใช้สมุนไพรร่วมด้วย โดยมิได้ปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ สอดคล้องกันกับการศึกษาของชื่นจิตร กองแก้ว1 ที่ได้ศึกษาการใช้ยาในผู้สูงอายุภาคเหนือตอนล่าง พบมีการใช้ยาดังกล่าวร้อยละ 2.8 และมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาร้อยละ 2.4 โดยในการศึกษาครั้งนี้พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้อยละ 4 ซึ่งทั้งหมดพบในผู้ป่วยสูงวัยที่เป็นโรคเบาหวาน สาเหตุที่พบส่วนหนึ่งเกิดจากที่ผู้สูงวัยป่วยด้วยโรคอื่นซ้ำซ้อน ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลงและก่อให้เกิดสภาวะเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นรวมถึงการลืมมื้อยาทำให้รับประทานยาซ้ำซ้อนจนก่อให้เกิดผลดังกล่าว7
สรุป
จากการศึกษาพบว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จในการควบคุมโรคได้คือ การมีผู้ดูแลใกล้ชิด การที่ผู้สูงวัยศึกษาภาวะของโรครวมถึงยาที่ตนใช้ และมีการเก็บรักษายาที่ถูกต้อง ตอกย้ำว่าสิ่งสำคัญในการควบคุมโรคคือการดูแลของครอบครัว และความตระหนักในความเจ็บป่วยของผู้สูงวัย รวมถึงการเก็บรักษายา เป็นปัจจัยที่ต้องเน้นย้ำและส่งเสริมให้เกิดสำนึกอย่างต่อเนื่องจะทำให้สามารถควบคุมโรคได้ดี ลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นตามมาและส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยที่เจ็บป่วยให้ดียิ่งขึ้น
ข้อจำกัดในการศึกษา
ผู้สูงวัยส่วนหนึ่งที่ได้รับการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์อาจไม่ได้ให้คำตอบที่ใกล้เคียงข้อมูลแท้จริง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้สูงวัยที่ได้รับการเยี่ยมบ้าน เนื่องจากการถามคำถามไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการสนทนาให้เหมือนกับการเยี่ยมบ้าน ข้อมูลที่ได้อาจมีความคลาดเคลื่อนบ้าง
กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณเภสัชกรสุรพงษ์ ตุลาพันธุ์ เภสัชกรเชี่ยวชาญที่ให้โอกาสได้ปฏิบัติงานร่วมกับสหวิชาชีพ ณ ศูนย์ชีวนันท์ แพทย์หญิงอัปสร จรูญศักดิ์ชัย นายแพทย์เชี่ยวชาญ นายแพทย์ปกรณ์ นาระคล นายแพทย์เชี่ยวชาญ และนางเพียรพร ยูงทอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการและเพื่อนร่วมงานทุกท่าน ที่ให้คำปรึกษา แนะนำในการเก็บข้อมูลและประมวลผล ผู้สูงวัยและญาติผู้ดูแลทุกท่านที่ให้ความร่วมมือและร่วมให้ข้อมูลในการศึกษานี้
เอกสารอ้างอิง
1. ชื่นจิตร กองแก้ว. การใช้ยาในผู้สูงอายุไทยเขตภาคเหนือตอนล่างประเทศไทย. นนทบุรี : สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข; 2557.
2. Kongkaew C, Noyce PR, Ashcroft DM. Hospital admissions associated with adverse drug reactions: a systematic review of prospective observational studies. Ann Pharmacother 2008; 42: 101725.
3. Claydon-Platt K, Manias E, Dunning T. Development and evaluation of a screening tool to identify people with diabetes at increased risk of medication problems relating to hypoglycaemia and medication non-adherence. Contemp Nurse 2014; 48: 1025.
4. Kongkaew C, Hann M, Mandal J, Williams SD, Metcalfe D, Noyce PR, et al. Risk factors for hospital admissions associated with adverse drug events. Pharmacotherapy 2013; 33: 82737.
5. Hayes TL, Larimer N, Adami A, Kaye JA. Medication adherence in healthy elders: small cognitive changes make a big difference. J Aging Health 2009; 21: 56780.
6. Calvert SB, Kramer JM, Anstrom KJ, Kaltenbach LA, Stafford JA, Allen LaPointe NM. Patient-focused intervention to improve long-term adherence to evidence-based medications: a randomized trial. Am Heart J 2012; 163: 657-65.e1.
7. Claydon-Platt K, Manias E, Dunning T. The barriers and facilitators people with diabetes from a nonEnglish speaking background experience when managing their medications: a qualitative study. J ClinNurs 2014; 23: 223446.
8. วาสนา นัยพัฒน์. ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการใช้ยาและพฤติกรรมการใช้ยาของผู้สูงอายุ ในชุมชนบ้านพักข้าราชการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า. วารสารการพยาบาลและการศึกษา 2553; 3: 214.