บทนำ
มะเร็งท่อน้ำดี เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวของท่อน้ำดีที่อยู่ในและนอกตับ จัดเป็นมะเร็งที่ธรรมชาติของโรคมีความรุนแรงสูง มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เมื่อเข้าสู่ระยะที่ลุกลามแล้ว นิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากภาวะไม่สมดุลของสารประกอบในน้ำดี เมื่อมีนิ่วเกิดขึ้นแล้ว อาจมีอาการตั้งแต่ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย บางครั้งนิ่วไปอุดท่อถุงน้ำดี จะทำให้มีอาการปวด ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งถุงน้ำดี พบว่ามีนิ่วร่วมด้วย โรคเหล่านี้พบได้ในประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง และในประเทศต่างๆทั่วโลก14 การรักษามะเร็งท่อน้ำดี ทำได้โดยการผ่าตัด เคมีบำบัด การฉายรังสี รวมถึง การใส่สายระบายน้ำดีผ่านทางผิวหนัง เป็นต้น58 ถ้าหากสามารถตรวจพบอาการในระยะเริ่มแรกได้ ก็จะเพิ่มโอกาสในการรักษาและรอดชีวิตได้9,10
ในปัจจุบันเพื่อช่วยในการวินิจฉัยและรักษาโรค ได้มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธีการทางอิมมูโนวิทยา ตรวจหาสารบ่งชีทางชีวภาพ (biomarkers) ต่างๆในกระแสเลือด เช่น carcinoembryonic antigen (CEA) หรือ cancer antigen (CA) 19-9 หรือ Interleukin-6 (IL-6) หรือ mucin-5AC แต่วิธีการเหล่านี้ ก็ยังไม่มีความจำเพาะต่อโรคมะเร็ง1117
น้ำดี ประกอบด้วย กรดน้ำดี คอเลสเตอรอล ฟอสโฟลิพิด กรดน้ำดี คือ อนุพันธ์ของโคเลสเตอรอลที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นที่ตับ น้ำดีถูกลำเลียงผ่านออกมาทางท่อน้ำดีตับ (bile duct)18 น้ำดีที่พักไว้ในถุงไหลลงสู่ระบบน้ำดีเข้าสู่ทางเดินอาหารเพื่อย่อยสลายอาหาร ใช้ในกระบวนการดูดซึมไขมันและวิตามินที่ละลายในไขมัน19,20 น้ำดีมีบทบาทในการสื่อสัญญาณเซลล์ หากเกิดการอุดตันของท่อน้ำดี มีการคั่งของน้ำดี น้ำดีมีการอักเสบ หรือการเป็นมะเร็งท่อน้ำดี องค์ประกอบของน้ำดีจะมีการเปลี่ยนแปลง21
เทคนิคฟูเรียร์ทรานฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี (Fourier Transform Infrared Spectroscopy ; FTIR) เป็นเทคนิคที่ใช้ในการวิเคราะห์สารประกอบชีวเคมีที่แสดงออกมาในลักษณะของสเปกตรัมที่แตกต่างกัน โดยอาศัยการเกิดอันตรกิริยา (interaction) ระหว่างวัตถุกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในย่านอินฟราเรด เมื่อปลดปล่อยคลื่นแม่เหล็กไปกระทบกับวัตถุ จะทำให้เกิดการดูดกลืน หักเห ทะลุผ่านในนิวเคลียสเหล่านี้มีสมบัติทางเคมีที่ต่างกัน เนื่องจากเป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ ไวต่อการเปลี่ยนแปลงต่อองค์ประกอบโมเลกุล การใช้ตัวอย่างเพียงเล็กน้อยในการตรวจและมีกลไกการทำงานที่ง่ายอีกด้วย22,23 ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาผลจากการวิเคราะห์น้ำดีด้วยเทคนิค FTIR เพื่อวิเคราะห์และศึกษาสเปกตรัมของน้ำดีและหาสารบ่งชี้ชีวภาพของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีและไม่เป็นมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อเป็นแนวทางในการวินิจฉัยโรคและรักษาโรคต่อไป
วิธีการศึกษา
การเก็บตัวอย่างน้ำดีจากอาสาสมัคร
การศึกษาครั้งนี้นำน้ำดีจากอาสาสมัคร ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รายละ 1 -2 มิลลิลิตร จำนวน 60 ราย จากการโครงการวิจัยที่ผ่านการรับรองจริยธรรมในมนุษย์ (HE581251) อาสาสมัคร แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จำนวน 30 ราย ได้รับการบริจาคน้ำดีจากอาสาสมัครที่ป่วยเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ที่ผ่านการตรวจว่าเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ด้วยการตรวจชิ้นเนื้อ หรือ ตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องสร้างภาพทางการแพทย์ ได้แก่ เครื่องสร้างภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography) เครื่องสร้างภาพเอ็มอาร์ (magnetic resonance image) และเข้ารับการตรวจด้วยการใส่สายระบายน้ำดีผ่านทางผิวหนัง (percutaneous transhepatic biliary drainage; PTBD) กลุ่มที่ 2 จำนวน 30 ราย ได้รับการบริจาคน้ำดีจากอาสาสมัครที่ไม่เป็นมะเร็งท่อน้ำดี แต่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี ที่ผ่านการตรวจรังสีวินิจฉัยด้วยการส่องกล้อง (retrograde cholangiopancreatography; ERCP) โดยจะเก็บน้ำดีจากอาสามาสมัคร ก่อนที่จะมีการฉีดสารทึบเปรียบต่าง (contrast media) เข้าสู่ท่อน้ำดี และจะนำน้ำดีของอาสามสมัครใส่หลอดทดลอง ปิดพาราฟินนำไปแช่แข็งที่อุณหภูมิ -80 องศาเซลเซียส และ ก่อนการศึกษา จะนำน้ำดีออกมาจากตู้แช่ รอจนน้ำดีละลายที่อุณหภูมิห้อง
การวิเคราะห์น้ำดีด้วยเทคนิคฟูเรียร์ทรานฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี
ทุกครั้งก่อนหยดตัวอย่างน้ำดีลงบนหัววัด (Diamond ATR crystal detector) ของเครื่องวิเคราะห์ฟูเรียร์ทรานฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี (Agilent technologies รุ่น 4,500a FTIR) จะทำความสะอาดหัววัด โดยใช้กระดาษแห้งเช็ดคราบสกปรก จากนั้นจะเช็ดซ้ำด้วยน้ำสะอาด และเมทานอล แล้วปล่อยให้หัววัดแห้ง น้ำดีจากอาสาสมัครแต่ละคน จะนำมาวิเคราะห์ จำนวน 3 ครั้ง แต่ละครั้งใช้น้ำดี ประมาณ 3 ไมโครลิตร โดยหยดน้ำดีลงบนหัววัด น้ำดีที่ทำการศึกษาจะมี 2 แบบ คือ (1) แบบตัวอย่างเปียก (wet sample) (2) แบบตัวอย่างแห้ง (dry sample) โดยศึกษาจากตัวอย่างน้ำดีแบบเปียกก่อน แล้วบันทึกข้อมูลเข้าสู่คอมพิวเตอร์ เมื่อเก็บข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ใช้เครื่องเป่าผม เป่าให้ลมผ่านเหนือตัวอย่างน้ำดีเปียก เป็นเวลา 7 นาที จะได้น้ำดีแห้ง จากนั้นบันทึกข้อมูล (รูปที่ 1 และ 2)
.jpg)
รูปที่ 1 แสดงลำดับการนำน้ำดีของอาสาสมัครมาผ่านขั้นตอนการดำเนินการด้วยเทคนิคฟูเรียร์ทรานฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี และปรับแต่งสเปกตรัม ก่อนนำข้อมูลไปวิเคราะห์

รูปที่ 2 ตัวอย่างสเปกตรัม ช่วงตั้งแต่ 4,000 -800 ซม-1 สเปกตรัมของน้ำดีตัวอย่างแบบเปียก ( ÿ ) และ ตัวอย่างแบบแห้ง ( X )

รูปที่ 3 บางส่วนของสเปกตรัม ระหว่าง 4,000 800 ซม-1 ของน้ำดีกลุ่มอาสาสมัคร ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี ผ่านการตรวจจาก PTBD และ ผู้ป่วยเป็นนิ่ว ผ่านการตรวจจาก ERCP ศรชี้ ช่วงองค์ประกอบของคลอเลสเตอรอล ฟอสโฟลิพิด และ ครีเอทีน

รูปที่ 4 เปรียบเทียบสเปกตรัมเฉลี่ย ระหว่าง 3,700 3,200 ซม-1 เป็นช่วงองค์ประกอบของโปรตีน (protein) และ สเปกตรัมระหว่าง 3,000 2,800 ซม-1 เป็นช่วงองค์ประกอบของ คลอเลสเตอรอล (Cholesterol) ฟอสโฟลิพิด (phospholipids) และ ครีเอทีน (creatine) ของน้ำดีอาสาสมัคร ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี ผ่านการตรวจจาก PTBD และ ผู้ป่วยเป็นนิ่ว ผ่านการตรวจจาก ERCP
การวิเคราะห์ข้อมูล
ข้อมูลที่บันทึกไว้ทั้งหมด จะนำมาวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรม The Unscrambler® X (version 10.3, CAMO, Oslo, Norway) เพื่อหาสารบ่งชี้ชีวภาพที่มีในน้ำดีของอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว จะทำการแปลงข้อมูลสเปกตรัมด้วยอนุพันธ์อันดับที่สอง (second derivative transform) เพื่อทำให้สามารถแยกพีคที่มีการซ้อนทับกันออกจากกัน จากนั้นจะทำการบีบอัดสเปกตรัมทั้งหมดในแต่ละกลุ่ม ด้วยเทคนิคการปรับแก้การกระเจิงแบบผลคูณ (multiplicative scatter correction transform; MSC/EMSC) เพื่อให้ได้สเปคตรัมเฉลี่ย และใช้โปรแกรม Wilcoxon Signed Ranks Test เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างสารบ่งชี้ชีวภาพที่มีในน้ำดีของอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม
ผลการศึกษา
การวิเคราะห์สเปกตรัมของน้ำดีของอาสาสมัครที่เป็นมะเร็งท่อน้ำดีและเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ด้วยเทคนิคฟูเรียร์ทรานฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี ผลการศึกษานี้ โดยแสดงสเปกตรัม ตั้งแต่ 4,000 -800 ซม-1 พบว่า สเปกตรัมของน้ำดีตัวอย่างแบบเปียก และ ตัวอย่างแบบแห้ง สเปกตรัมมีความแตกต่างกัน ในสเปกตรัมของน้ำดีแบบเปียก น้ำดีที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบจะพบพีค (peak) ของน้ำ ในปริมาณสูง จนทำให้บดบังพีคของสารที่เป็นส่วนประกอบของน้ำดีอื่นๆ ส่วนสเปกตรัมของน้ำดีแบบแห้ง ใช้ลมร้อนไล่น้ำที่อยู่ในน้ำดีออกไป ทำให้พบพีคของสารอื่นๆที่เป็นส่วนประกอบของน้ำดีปรากฏชัดเจนขึ้น สำหรับสเปกตรัม ระหว่าง 3,700 3,200 ซม-1 เป็นช่วงองค์ประกอบของโปรตีน (protein) และ สเปกตรัม ระหว่าง 3,000 2,800 ซม-1 เป็นช่วงองค์ประกอบของไขมัน (lipid) คลอเลสเตอรอล (Cholesterol) ฟอสโฟลิพิด (phospholipids) และ ครีเอทีน (creatine)2426 พบว่า สเปกตรัม 3,000 2,800 ซม.-1 ผู้ป่วยเป็นนิ่วและผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน (p<0.000) ส่วนสเปกตรัม ระหว่าง 1,700 1,500 ซม.-1 เป็นช่วงองค์ประกอบของบิลิรูบิน (Bilirubin)27,28 ผู้ป่วยเป็นนิ่วและผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีไม่มีความแตกต่างกัน (p=1.000) (ตารางที่ 1) โดย p<0.05* แสดงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
ตารางที่ 1 เปรียบเทียบพื้นที่เฉลี่ยสเปกตรัม ของน้ำดีอาสาสมัคร ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี ผ่านการตรวจจาก PTBD และ ผู้ป่วยเป็นนิ่ว ผ่านการตรวจจาก ERCP ที่เป็นช่วงองค์ประกอบของ คลอเลสเตอรอล ฟอสโฟลิพิด ครีเอทีน และ บิลิรูบิน
กลุ่มตัวอย่าง |
พื้นที่เฉลี่ยสเปกตรัม (Mean + SD) |
คลอเลสเตอรอล ฟอสโฟลิพิด และ ครีเอทีน
3,0002,800 ซม.-1 |
บิลิรูบิน
1,7001,500 ซม.-1 |
PTBD |
13.29 ± 7.14 |
14.57 ± 7.43 |
ERCP |
29.36 ± 4.82 |
15.43 ± 7.29 |
p-value |
0.000* |
1.000 |
วิจารณ์
จากการศึกษาโดยใช้เทคนิคฟูเรียร์ทรานฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี แสดงสเปกตรัมของน้ำดีจากผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีและผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดีมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะในส่วนสเปกตรัมที่เป็นส่วนของคอเลสเตอรอล ที่เป็นองค์ประกอบของน้ำดีและไขมัน ซึ่งไขมันเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่จำเป็นในการควบคุมการทำงานของเซลล์และสภาวะสมดุล และตับมีบทบาทสำคัญในการเผาผลาญไขมันในหลายขั้นตอนของการสังเคราะห์ไขมันและการขนส่ง ดังนั้นในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งท่อน้ำดีที่มีความผิดปกติในท่อน้ำดีและตับ ตับอยู่ในภาวะที่บกพร่อง จึงทำให้การสังเคราะห์คอเลสเตอรอลลดลง29 การศึกษานี้สอดคล้องกับ Nagana และคณะ ทำการศึกษาน้ำดีผู้ป่วยมะเร็งตับด้วยเทคนิคนิวเคลียร์แมกเนติกรีโซแนซสเปกโทรสโกปี (nuclear magnetic resonance spectroscopy) พบว่า มีการลดลงของคอเลสเตอรอลและฟอสโฟลิพิด 30 มะเร็งท่อน้ำดี เป็นโรคมีความรุนแรงสูง มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี จากการศึกษานี้สามารถใช้เทคนิคฟูเรียร์ทรานฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี แสดงให้เห็นว่าสารบ่งชี้ชีวภาพ คือ ปริมาณของคอเลสเตอรอล ของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี มีการลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่เป็นมะเร็งท่อน้ำดี ที่สามารถแสดงจากสเปกตรัม ช่วง 3,000 2,800 ซม-1 การตรวจสารชีวภาพที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบจะพบพีค (peak) ของน้ำ ในสเปกตรัมจะบดบังพีคของสารที่เป็นส่วนประกอบอื่นๆ ในการศึกษานี้ได้ใช้ลมร้อนไล่น้ำที่อยู่ในน้ำออกไป ทำให้พบพีคของสารอื่นๆที่เป็นส่วนประกอบของน้ำดีปรากฏชัดเจนขึ้น
สรุป
เทคนิคฟูเรียร์ทรานฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี เป็นเทคนิคใช้ระยะเวลาในการตรวจหาสารบ่งชี้ชีวภาพที่สั้น ได้ผลการตรวจที่รวดเร็ว เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคต่อไป
กิตติกรรมประกาศ
งานศึกษาครั้งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (เลขที่โครงการ IN58315) คณะผู้วิจัยขอขอบพระคุณอาสาสมัครที่มอบน้ำดี เพื่อนำมาใช้ศึกษา และ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ให้ความอนุเคราะห์ใช้เครื่องมือในการตรวจวิเคราะห์ด้วยเทคนิคฟูเรียร์ทรานฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์ประกอบอื่นๆการศึกษา ครั้งนี้
|