วิธีการศึกษา
การศึกษานี้เป็นศึกษาเชิงพรรณนาชนิดศึกษาไปข้างหน้า (prospective, descriptive study) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หมายเลข HE591121 ดำเนินการระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 โดยมีเกณฑ์คัดเลือกเข้า (inclusion criteria) คือผู้ป่วยมาใช้บริการวิสัญญีแบบไม่เร่งด่วน (elective case) ที่ห้องผ่าตัด โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ผู้ป่วยทุกรายต้องได้รับการให้ข้อมูลและให้ความยินยอม (informed consent) เก็บข้อมูลภายหลังเสร็จผ่าตัด 24-48 ชั่วโมง มีอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถตอบคำถามได้ เกณฑ์คัดผู้ป่วยออก (exclusion criteria) คือผู้ป่วยมีปัญหาระบบประสาทและสมอง หรือมีปัญหาทางด้านหู คอ จมูกซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินหรือการสื่อสาร ผู้ป่วยในหอผู้ป่วยระยะวิกฤต อยู่ในสภาวะป่วยหนัก (ASA class 3 และ 4) และผู้ป่วยที่ไม่สมัครใจเข้าร่วมโครงการวิจัย
จากการทบทวนวรรณกรรมความพึงพอใจของเทพกร สาธิตการมณี และคณะฯ10 พบว่าผู้ป่วยมีความพึงพอใจต่อบริการร้อยละ 90 การคำนวณขนาดตัวอย่างมีรายละเอียดดังนี้11
n = (Zα/2)2 P(1-P) / d2
n = ขนาดตัวอย่างที่ต้องการคำนวณ
P = ค่าประมาณของ prevalence จากเรื่องที่ทำการศึกษา พบ 90 % (P = 0.9)
d = allowable error ของค่าประมาณที่ยอมให้เกิดขึ้นได้ 3 % (d =0.03)
Zα/2 = ค่ามาตรฐานที่ระดับความเชื่อมั่น 95% จะได้ Zα/2 = 1.96
แทนค่า n = (1.96)2 0.9 (1-0.9) / (0.03) 2
คำนวณขนาดตัวอย่างได้ n = 385 ราย เผื่อข้อมูลไม่ครบถ้วนอีกร้อยละ 4 จึงใช้ขนาดตัวอย่าง 400 ราย
การแจกแบบสอบถาม คณะผู้วิจัยได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการศึกษาเมื่อไปตรวจเยี่ยมผู้ป่วยก่อนผ่าตัดเพื่อขอความยินยอมเข้าร่วมงานวิจัย โดยปฏิบัติต่อผู้ป่วยตามขั้นตอนมาตรฐานของภาควิชาวิสัญญีวิทยา และแจ้งให้ผู้ป่วยทุกรายทราบว่าหลังผ่าตัดจะมีทีมวิสัญญีมาแจกแบบสอบถามเพื่อประเมินความพึงพอใจที่ใช้บริการวิสัญญีในครั้งนี้
ผู้แจกและเก็บรวบรวมแบบสอบถาม คณะผู้วิจัยได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการศึกษาแก่ผู้แจกและเก็บรวบรวมแบบสอบถาม และอบรมวิธีเก็บรวบรวมข้อมูล ตั้งแต่การแนะนำตัว การอธิบายวัตถุประสงค์ให้กับกลุ่มตัวอย่างทราบ รวมถึงอธิบายว่าการตอบในครั้งนี้จะไม่มีผลต่อการรักษาแต่อย่างใด อธิบายวิธีการเขียนคำตอบในแบบสอบถาม รวมถึงวิธีการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามในกรณีที่กลุ่มตัวอย่างไม่สามารถอ่านหรือเขียนหนังสือได้ หรืออยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมที่จะตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง เพื่อเป็นข้อมูลในการแนะนำผู้ป่วย
การรวบรวมข้อมูลใช้แบบสอบถามที่สร้างขึ้นโดยการทบทวนวรรณกรรม ที่ได้ผ่านการตรวจสอบความเที่ยงตรงของเนื้อหาโดยวิสัญญีแพทย์อาวุโส 2 ท่าน โดยมีรายละเอียดดังนี้
แบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วย ตอนที่ 1) แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป ตอนที่ 2) ความพึงพอใจต่อการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ทีมวิสัญญีในหอผู้ป่วยวันก่อนผ่าตัด ตอนที่ 3) ความพึงพอใจต่อคุณภาพการบริการจากทีมวิสัญญีในห้องผ่าตัด ตอนที่ 4) ความพึงพอใจต่อคุณภาพการบริการวิสัญญีในห้องพักฟื้น ตอนที่ 5) ความพึงพอใจต่อคุณภาพการบริการจากทีมวิสัญญีในการติดตามเยี่ยมหลังผ่าตัด
สำรวจความครบถ้วน สมบูรณ์ของคำตอบในแบบสอบถามที่ได้รับคืน และเก็บรวบรวมเพื่อนำมาวิเคราะห์ทางสถิติต่อไป
เกณฑ์การแบ่งระดับความพึงพอใจ ดัดแปลงจากเกณฑ์แปลความหมายค่าเฉลี่ยของบุญชม และคณะ12,13
เกณฑ์การแบ่งระดับและคะแนนความพึงพอใจ มีรายละเอียด ดังนี้
ระดับความพึงพอใจ:
- พึงพอใจมากที่สุด = 4 หมายถึงค่าคะแนนอยู่ในช่วง 3.51-4.00,
- พึงพอใจมาก = 3 หมายถึงค่าคะแนนอยู่ในช่วง 2.51-3.50,
- พึงพอใจน้อย = 2 หมายถึงค่าคะแนนอยู่ในช่วง 1.51-2.50,
- พึงพอใจน้อยที่สุด = 1 หมายถึงค่าคะแนนอยู่ในช่วง 1.00-1.50
วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ แสดงค่าเป็นจำนวน (n) ร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Mean ± SD) วิเคราะห์โดยใช้โปรแกรม SPSS version 16.0
ผลการศึกษา
มีผู้ป่วยตอบแบสอบถาม 400 ชุด คิดเป็นร้อยละ 100.0 พบว่าเป็นเพศหญิงมากกว่าชาย โดยมีการกระจายตามหัวข้ออื่นๆ (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 ข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยที่มาใช้บริการวิสัญญี (n = 400)
ข้อมูล |
จำนวน (ร้อยละ) |
เพศ |
|
ชาย |
174 (43.5) |
หญิง |
226 (56.5) |
อายุ (ปี) |
52.17 ± 15.76 |
ระดับการศึกษา |
|
ต่ำกว่ามัธยมศึกษา |
211 (52.8) |
ปวช., ปวส., อนุปริญญา |
80 (20.0) |
ปริญญาตรี |
79 (19.8) |
สูงกว่าปริญญาตรี |
9 (2.2) |
อื่นๆ |
21 (5.2) |
อาชีพหลัก |
|
กำลังศึกษา |
14 (3.5) |
รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ |
42 (10.5) |
ทำนา - ทำไร่ |
136 (34.0) |
ลูกจ้างเอกชน/รับจ้าง |
128 (32.0) |
ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว |
29 (7.2) |
อื่นๆ |
51 (12.8) |
ประสบการณ์การดมยาสลบ/การบล็อคหลัง หรือบริการอื่นจากทีมวิสัญญี |
|
เคย |
57 (14.2) |
ไม่เคย |
343 (85.8) |
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการดมยาสลบ/การบล็อคหลังก่อนเข้ารับการผ่าตัด |
|
ไม่มี |
362 (90.5) |
มี |
38 (9.5) |
แสดงข้อมูลเป็น จำนวน ร้อยละ และค่าเฉลี่ย ± ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ในช่วงตรวจเยี่ยมที่หอผู้ป่วยก่อนวันผ่าตัด พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้จักทีมวิสัญญี แต่ได้รับคำแนะนำและเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตนจากทีมวิสัญญี หัวข้อที่ได้คะแนนน้อย ได้แก่ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคการระงับปวดหลังผ่าตัด และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกวิธีการดม (ตารางที่ 2)
ตารางที่ 2 ความพึงพอใจต่อการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่วิสัญญีในหอผู้ป่วยวันก่อนผ่าตัด (n = 400)
|
จำนวน (ร้อยละ) |
ท่านรู้จักทีมวิสัญญีหรือไม่ |
|
รู้จัก |
55 (13.8) |
ไม่รู้จัก |
340 (85.0) |
ไม่แน่ใจ |
4 (1.0) |
ไม่ระบุ |
1 (0.2) |
ท่านได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตนก่อนและหลังดมยาสลบ/การบล็อคหลัง |
|
ได้รับ |
396 (99.0) |
ไม่ได้รับ |
4 (1.0) |
ท่านได้รับข้อมูลคำแนะนำจากใคร |
|
หมอผ่าตัด |
3 (0.8) |
เจ้าหน้าที่ทีมวิสัญญี |
394 (98.5) |
เจ้าหน้าที่หอผู้ป่วย |
1 (0.2) |
นักศึกษาแพทย์ |
0 (0) |
ไม่ทราบ/อื่นๆ |
2 (0.5) |
หลังได้รับคำแนะนำแล้ว ท่านมีความเข้าใจเพียงใด |
|
เข้าใจดี (ร้อยละ 76 100) |
384 (96.0) |
เข้าใจปานกลาง (ร้อยละ 50 75 ) |
13 (3.3) |
เข้าใจน้อย (ร้อยละ 25 49 ) |
1 (0.2) |
ไม่เข้าใจเลย (น้อยกว่า ร้อยละ 25 ) |
1 (0.2) |
ไม่ระบุ |
1 (0.2) |
ข้อมูลคำแนะนำที่ได้รับ (เลือกได้มากกว่า 1 ข้อ) |
|
การปฏิบัติตนก่อนและหลังดมยาสลบ/การบล็อคหลัง |
396 (99.0) |
ขั้นตอนและวิธีการดมยาสลบ/การบล็อคหลัง |
398 (99.5) |
ภาวะแทรกซ้อนและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการดมยาสลบ/การบล็อคหลัง |
398 (99.5) |
เทคนิคการดมยาสลบ/การบล็อคหลัง |
394 (98.5) |
เทคนิคการระงับปวดหลังผ่าตัด |
199 (49.8) |
อื่น ๆ |
1 (0.2) |
ท่านได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกวิธีการดมยาสลบ/การบล็อคหลัง |
|
ได้ |
60 (15.0) |
ไม่ได้ |
340 (85.0) |
ความพึงพอใจในห้องผ่าตัด, ห้องพักฟื้น และการติดตามเยี่ยมหลังผ่าตัดอยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด (ตารางที่ 3, 4 และ 5)
ตารางที่ 3 ความพึงพอใจต่อคุณภาพการบริการจากทีมวิสัญญีในห้องผ่าตัด (n = 400)
หัวข้อประเมินความพึงพอใจ |
Mean ± SD |
ระดับ 3-4
จำนวน (ร้อยละ) |
ระดับ 1-2
จำนวน (ร้อยละ) |
ระดับความพึงพอใจ |
อันดับ |
ความพึงพอใจต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่วิสัญญีที่ปฏิบัติต่อท่านด้วยความเห็นอกเห็นใจ มีมนุษย-สัมพันธ์ที่ดีและสุภาพต่อท่าน |
3.99 ± 0.15 |
399 (99.8) |
1 (0.2) |
มากที่สุด |
1 |
ความพึงพอใจต่อการปฏิบัติที่ให้เกียรติและรักษาสิทธิ์ส่วนบุคคลของท่านโดยเจ้าหน้าที่วิสัญญี |
3.99 ± 0.17 |
399 (99.8) |
1 (0.2) |
มากที่สุด |
2 |
ความพึงพอใจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่วิสัญญีในขณะที่รู้สึกตัว |
3.98 ± 0.19 |
399 (99.8) |
1 (0.2) |
มากที่สุด |
3 |
ตารางที่ 4 ความพึงพอใจต่อคุณภาพการบริการวิสัญญีในห้องพักฟื้น (n = 400)
หัวข้อประเมินความพึงพอใจ |
Mean ± SD |
ระดับ 3-4
จำนวน (ร้อยละ) |
ระดับ 1-2
จำนวน (ร้อยละ) |
ระดับความพึงพอใจ |
อันดับ |
ความพึงพอใจต่อการดูแลในห้องพักฟื้น เช่น การให้ยาแก้ปวด การรักษาภาวะคลื่นไส้ อาเจียน ฯ |
3.95 ± 0.26 |
398 (99.5) |
2 (0.5) |
มากที่สุด |
2 |
โดยภาพรวม ท่านพึงพอใจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในห้องพักฟื้นในระดับใด |
3.96 ± 0.23 |
399 (99.8) |
1 (0.2) |
มากที่สุด |
1 |
ตารางที่ 5 ความพึงพอใจต่อการปฏิบัติงานจากทีมวิสัญญีในการติดตามเยี่ยมหลังผ่าตัด (n = 400)
หัวข้อประเมินความพึงพอใจ |
Mean ± SD |
ระดับ 3-4
จำนวน (ร้อยละ) |
ระดับ 1-2
จำนวน (ร้อยละ) |
ระดับความพึงพอใจ |
อันดับ |
โดยภาพรวม ท่านพึงพอใจต่อการติดตามเยี่ยมหลังผ่าตัดของเจ้าหน้าที่วิสัญญีในระดับใด |
3.98 ± 0.22 |
398 (99.5) |
2 (0.5) |
มากที่สุด |
2 |
ท่านพึงพอใจต่อคุณภาพบริการจากวิสัญญีโดยภาพรวมอยู่ในระดับใด |
3.99 ± 0.19 |
398 (99.5) |
2 (0.5) |
มากที่สุด |
1 |
วิจารณ์
จากการศึกษากลุ่มผู้ป่วยที่มาใช้บริการ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 56.5 อายุเฉลี่ย 52 ปี มีระดับการศึกษาส่วนมากต่ำกว่ามัธยมศึกษา มีหลายการศึกษาได้ผลที่เหมือนและแตกต่างกัน โดยมีความคล้ายกับการศึกษาของ Gebremedhn และคณะ14,15 ผู้ป่วยมีความพึงพอใจต่อบริการวิสัญญีเป็นผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย7 แต่แตกต่างจากการศึกษาของมณฑา บุรีเจริญ16 และ Singh และคณะ17 ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย 46 ปี แต่ระดับการศึกษาส่วนมากเป็นระดับต่ำกว่าประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง/อนุปริญญา ซึ่งใกล้เคียงกันกับการศึกษาครั้งนี้
จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยไม่เคยมีประสบการณ์การระงับความรู้สึก และส่วนใหญ่ไม่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการระงับความรู้สึก ก่อนเข้ารับการผ่าตัดถึงร้อยละ 90.5 อาจเนื่องจากผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจในทีมวิสัญญี และทีมวิสัญญีได้พัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยก่อนผ่าตัดให้บุคลากรได้ตระหนักถึงการให้ข้อมูลความรู้และคำแนะนำกับผู้ป่วยทุกราย เพื่อลดความวิตกกังวลและเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ซักถามในเรื่องที่วิตกกังวล
สำหรับความพึงพอใจผู้ป่วยต่อการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตนก่อนและหลังระงับความรู้สึก การรับทราบข้อมูลหลังรับคำแนะนำมีความเข้าใจดีถึงร้อยละ 96.0 เรื่องข้อมูลคำแนะนำที่ผู้ป่วยได้รับครบเกือบทุกข้อ แต่หัวข้อที่ได้รับน้อยที่สุด (ร้อยละ 49.8) คือ เทคนิคการระงับปวดหลังผ่าตัด คณะผู้วิจัยนำข้อมูลนี้พัฒนาเพิ่มเติมในแนวทางการดูแลผู้ป่วยก่อนผ่าตัดให้เจ้าหน้าที่วิสัญญีเพิ่มรายละเอียดการให้ข้อมูลเทคนิคการให้ยาระงับปวดหลังผ่าตัด
จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 85.0) ไม่รู้จักทีมวิสัญญี คล้ายกับการศึกษาของมณฑา บุรีเจริญ16 ที่ศึกษาความพึงพอใจของผู้ใช้บริการวิสัญญี โรงพยาบาลตำรวจ พบว่าร้อยละ 51.7 ไม่ทราบว่าผู้ให้บริการเป็นบุคลากรวิสัญญี ซึ่งอาจเนื่องจากบุคลากรที่ให้บริการมีหลายแผนกและแต่งกายคล้ายกันและแสดงให้เห็นว่าบุคลากรวิสัญญีมีการแนะนำตัวไม่ชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Gebremedhn และคณะ15 ที่ผู้ป่วยประเมินว่าวิสัญญีแนะนำตัวเองเพียงร้อยละ 51.3
ในหัวข้อการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกวิธีระงับความรู้สึก ผู้ป่วยตอบว่าไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจสูงถึงร้อยละ 85.0 ส่วนผู้ป่วยที่มีโอกาสเลือกวิธีระงับความรู้สึกมีเพียงร้อยละ 15.0 สอดคล้องกับการศึกษาของมณฑา บุรีเจริญ16 ที่ผู้ป่วยตอบว่าไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจร้อยละ 57.9 และคล้ายกับการศึกษาของ Gebremedhn และคณะ15 ที่พบว่าผู้ป่วยที่มีโอกาสเลือกวิธีการระงับความรู้สึกด้วยตนเองมีจำนวนน้อยเพียงร้อยละ 26.9 ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกวิตกกังวลและไม่พึงพอใจ
ใน 2 ประเด็นหลักนี้คณะผู้วิจัยควรนำข้อมูลเสนอผู้บริหารภาควิชาฯ และสื่อสารให้บุคลากรวิสัญญีรับทราบ เพื่อร่วมกันปรับปรุงแนวทางการดูแลผู้ป่วยก่อนผ่าตัดโดยให้ข้อเสนอแนะว่าควรพัฒนาการแนะนำตัวหรือติดตราสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นเจ้าหน้าที่วิสัญญี เช่น การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์รวมถึงติดป้ายชื่อให้ชัดเจน เพิ่มเกณฑ์การมีส่วนร่วมในการเลือกวิธีระงับความรู้สึกของผู้ป่วย บุคลากรวิสัญญีควรให้ข้อมูลผู้ป่วยรับทราบถึงผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเทคนิคการระงับความรู้สึกและการระงับปวดหลังผ่าตัด และได้มีโอกาสเลือกวิธีระงับความรู้สึกด้วยตนเอง14,15
ข้อมูลความพึงพอใจด้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่วิสัญญี พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุดที่ร้อยละ 99.5-99.8 คล้ายคลึงกับการศึกษาของ Kouki และคณะ18 ที่ได้ทำการศึกษากลุ่มผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดในประเทศกรีก พบว่าระดับความพึงพอใจในระยะผ่าตัด รวมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและทีมวิสัญญีในช่วงระยะเวลาทั้งหมดของการศึกษา ครอบคลุมถึงการระงับปวดระยะหลังผ่าตัดในหอผู้ป่วย สรุปภาพรวมระดับความพึงพอใจทุกหัวข้ออยู่ในระดับมากที่สุดที่ร้อยละ 96.3-98.6
ผลการศึกษาระดับความพึงพอใจในห้องพักฟื้น มีค่าเฉลี่ยทุกข้ออยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 99.5 และ 99.8 แสดงถึงมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยที่ดี อาจจะเนื่องจากบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยเป็นวิสัญญีพยาบาลทั้งหมด จึงเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยที่ต่อเนื่องจากห้องผ่าตัด และมีความรู้และทักษะในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
ผลการศึกษาระดับความพึงพอใจในการติดตามเยี่ยมหลังผ่าตัด มีค่าเฉลี่ยทุกข้ออยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 99.5 และความพึงพอใจต่อคุณภาพบริการวิสัญญีโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุดเช่นกัน ทุกรายข้ออยู่ที่ร้อยละ 99.5 แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการออกไปเยี่ยมผู้ป่วยหลังผ่าตัดของบุคลากรวิสัญญี ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยมีความพึงพอใจแล้ว ยังสามรถตรวจพบและให้การแก้ไขอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากบริการทางวิสัญญีได้อย่างรวดเร็ว
สรุป
จากการศึกษาความพึงพอใจของผู้ป่วยที่ใช้บริการวิสัญญี พบว่าผู้ป่วยมีระดับความพึงพอใจมากที่สุดในทุกข้อที่ประเมินและทุกระยะของการดูแลมากกว่าร้อยละ 90 ตั้งแต่ระยะก่อน, ระหว่างผ่าตัด, ห้องพักฟื้น และการติดตามเยี่ยมหลังผ่าตัด แต่ก็ยังมีบางหัวข้อที่ได้คะแนนต่ำ ควรแก้ไข ได้แก่ ไม่รู้ว่าผู้ที่มาเยี่ยมเป็นบุคลากรวิสัญญี การให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคการระงับปวดหลังผ่าตัด และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกวิธีการดม
กิตติกรรมประกาศ
คณะผู้วิจัยกองบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ให้ทุนวิจัย คุณวัชราภรณ์ เฉิดดิลก ผู้ช่วยวิจัย และภาควิชาวิสัญญีวิทยาที่มีส่วนสนับสนุนการทำงานให้สำเร็จ
เอกสารอ้างอิง
1. ตัวชี้วัดคุณภาพการพยาบาล. สำนักการพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข [cited Oct 1, 2016 ]. Available from: http://www.nursing.go.th/?page_id=2489.
2. อนุวัติ ศุภชุติกุล. เส้นทางสู่โรงพยาบาลคุณภาพคู่มือและการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล; 2543.
3. Woodside AG, Frey LL, Daly RT. Linking service quality, customer satisfaction, and behavioral intention. J Health Care Mark 1989; 9: 5-17.
4. Kim YK, Cho CH, Ahn SK, Goh IH, Kim HJ. A study on medical services quality and its influence upon value of care and patient satisfaction - Focusing upon outpatients in a large-sized hospital. Total Qual Manag Bus 2008; 19: 1155-71.
5. ศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ, ปารย์ทิพย์ ธนาภิคุปตานนท์. ความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพการบริการที่ได้รับกับความพึงพอใจ และความภักดีของคนไข้: กรณีศึกษาโรงพยาบาลเอกชนในเขต กรุงเทพมหานคร.KKU Res J 2011; 10: 160-72.
6. Le May S, Hardy JF, Taillefer MC, Dupuis G. Patient satisfaction with anesthesia services. Can J Anaesth 2001; 48: 153-61.
7. Hepner DL, Bader AM, Hurwitz S, Gustafson M, Tsen LC. Patient satisfaction with preoperative assessment in a preoperative assessment testing clinic. Anesth Analg 2004; 98: 1099-105.
8. Pini A, Sarafis P, Malliarou M, Tsounis A, Igoumenidis M, Bamidis P, et al. Assessment of patient satisfaction of the quality of health care provided by outpatient services of an oncology hospital. Glob J Health Sci 2014; 6: 196-203.
9. Hawthorne G, Sansoni J, Hayes L, Marosszeky N, Sansoni E. Measuring patient satisfaction with health care treatment using the Short Assessment of Patient Satisfaction measure delivered superior and robust satisfaction estimates. J Clin Epidemiol 2014; 67: 527-37.
10. เทพกร สาธิตการมณี, วินิตา จีราระรื่นศักดิ์, สิริรัตน์ ตรีพุทธรัตน์, กชกร พลาชีวะ, สุพัฒตรา ศรีพอ. ความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการให้บริการทางวิสัญญีในโรงพยาบาลศรีนครินทร์. วิสัญญีสาร 2554; 37: 81-92.
11. จริยา เลิศอรรฆยมณี, ประดิษฐ สมประกิจ, อุบลรัตน์ สันตวัตร. งานวิจัยทางคลินิก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไพศาลศิลป์การพิมพ์; 2543.
12. บุญชม ศรีสะอาด. การแปลผลเมื่อใช้เครื่องมือรวบรวมข้อมูลแบบมาตราส่วนประมาณค่า. หน้า 1-7. [cited Oct 15, 2016 ]. Available from: http://www.watpon.com/boonchom/trans.pdf.
13. บุญชม ศรีสะอาด, บุญส่ง นิลแก้ว. "การอ้างอิงประชากรเมื่อใช้เครื่องมือแบบมาตราส่วนประมาณค่ากับกลุ่มตัวอย่าง" วารสารการวัดผลการศึกษา มศว มหาสารคาม 2535; 3: 22-5. [cited Oct 15, 2016 ]. Available from: https://edu.msu.ac.th/jem/home/journal_file/23.pdf.
14. Gebremedhn EG, Nagaratnam V. Assessment of patient satisfaction with the preoperative anesthetic evaluation. Patient Relat Outcome Meas 2014; 5: 105-10.
15. Gebremedhn EG, Chekol WB, Amberbir WD, Flatie TD. Patient satisfaction with anaesthesia services and associated factors at the University of Gondar Hospital, 2013: a cross-sectional study. BMC Res Notes 2015; 8: 377.
16. มณฑา บุรีเจริญ. ความพึงพอใจของผู้รับบริการวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ. สารวิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ 2557; 13: 9-13.
17. Singh A, Dutta A, Sood J. Influence of multi-level anaesthesia care and patient profile on perioperative patient satisfaction in short-stay surgical inpatients: A preliminary study. Indian J Anaesth 2007; 51: 106-10.
18. Kouki P, Matsota P, Christodoulaki K, Kompoti M, Loizou M, Karamanis P, et al. Greek surgical patients' satisfaction related to perioperative anesthetic services in an academic institute. Patient Prefer Adherence 2012; 6: 569-78.