บทนำ
การดำเนินงานเภสัชกรรมปฐมภูมินั้นมีความสอดคล้องกับทิศทางนโยบายงานด้านปฐมภูมิตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2555-2559 ที่ให้กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการดูแลต่อเนื่องระดับครอบครัว (การเยี่ยมบ้าน) เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้พิการ1 เป็นต้น
การเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน หรือ การเยี่ยมบ้านเป็นกิจกรรมหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้เป็นไปตามเป้าหมาย การเยี่ยมบ้านเป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำให้สามารถเข้าใจภาพชีวิตจริงของผู้ป่วยได้มากที่สุด2 จากการทบทวนวรรณกรรมที่ผ่านมาพบว่าการเยี่ยมบ้านโดยเภสัชกรก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยโดยเฉพาะการช่วยลดปัญหาการใช้ยาและทำให้ผลลัพธ์ทางคลินิกดีขึ้น การศึกษาของ Manadee และคณะ3 ได้ศึกษาผลการดูแลผู้ป่วยสูงอายุโรคเรื้อรังด้านการใช้ยาที่บ้านในเขตโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพบว่าระดับน้ำตาลในเลือด และระดับความดันโลหิตตัวบนของกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ความร่วมมือในการใช้ยาและคุณภาพชีวิตหลังได้รับการเยี่ยมบ้านของกลุ่มทดลองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
จากการปฏิบัติงานเมื่อให้บริการเภสัชกรรมกับผู้ป่วยที่มารับยา ณ หน่วยบริการปฐมภูมิ พบปัญหาในการดูแลผู้ป่วยหลายประการ เช่น ผู้ป่วยมียาเหลือจำนวนมากแต่ให้ข้อมูลว่ากินยาสม่ำเสมอ ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยา การใช้ผลิตภัณฑ์อื่นนอกจากแผนการรักษาปัจจุบันที่ได้รับ เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ผู้ป่วยมีผลลัพธ์ทางคลินิกที่ไม่ดี และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา จึงมีความคิดที่จะใช้กลไกการเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องในชุมชนมาช่วยแก้ไขปัญหานี้ ดังนั้นการศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ประเมินสุขภาพของผู้ป่วยเมื่ออยู่ที่บ้านโดยใช้การประเมินด้วยวิธี INHOMESSS และ (2) เพื่อศึกษาชนิดของปัญหาที่เกี่ยวกับยา สาเหตุ วิธีการแก้ไข และผลลัพธ์ของการแก้ไขปัญหาในผู้ป่วยที่ได้รับการเยี่ยมบ้านโดยเภสัชกร
วิธีการศึกษา
รูปแบบการศึกษา
เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive study) ในผู้ป่วยที่ได้รับการเยี่ยมบ้านของเครือข่ายอำเภอเมืองโรงพยาบาลมหาสารคาม ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 30 กันยายน 2559 (ปีงบประมาณ 2559)
ประชากรที่ศึกษา
ผู้ป่วยที่ได้รับการเยี่ยมบ้านจากเภสัชกรในเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอเมือง จ.มหาสารคาม โดยกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกผู้ป่วยเพื่อให้บริบาลเภสัชกรรมต่อเนื่องในชุมชน (การเยี่ยมบ้าน) โดยมีกลุ่มเป้าหมายดังต่อไปนี้ (1) ผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง (เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง หอบหืด โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง พาร์กินสัน ความจำเสื่อม) (2) ผู้ป่วยไตวาย และ/หรือ ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกไต (3) ผู้ป่วยจิตเวช (4) ผู้ป่วยระยะสุดท้าย(5) ผู้พิการ(6) ผู้ป่วยติดเตียง(7) ผู้ที่มีปัญหาความร่วมมือในการใช้ยา (non-adherence) (8) ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาเทคนิคพิเศษที่มีความเสี่ยงในการใช้ไม่ถูกวิธี และอาจไม่ประสบผลสำเร็จในการรักษา (9) ผู้ป่วยที่ได้รับคู่ยาที่เกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน (fatal drug interaction) ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดปัญหาจากการใช้ยา (10) ผู้ป่วยที่ได้รับยาความเสี่ยงสูง (high alert drugs) ที่มีแนวโน้มอาจเกิดปัญหาการใช้ยา (11) ผู้ป่วยที่ได้รับการวางแผนการดูแลสุขภาพไว้แล้วและแพทย์เห็นว่าควรจะมีการติดตามเพื่อดูแลการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง จากนั้นได้แจ้งทีมเยี่ยมบ้านพยาบาลในเขตพื้นที่รับผิดชอบจะจัดลงเยี่ยมในกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวเพื่อให้เภสัชกรได้ลงไปเยี่ยมบ้าน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล
การสัมภาษณ์ข้อมูลจากผู้ป่วย และ/หรือผู้ดูแลผู้ป่วย การตรวจสอบประวัติการรักษาจากฐานข้อมูลที่โรงพยาบาลและหน่วยบริการปฐมภูมิก่อนการไปเยี่ยมผู้ป่วยและการวิเคราะห์ปัญหาการใช้ยาเภสัชกรจะบันทึกข้อมูลลงในแบบบันทึกการเยี่ยมบ้าน ข้อมูลที่บันทึก ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย การตรวจสอบสุขภาพตามแนวทาง INHOMESSS การทบทวนประวัติการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ การค้นหาปัญหา สาเหตุ การแก้ไขปัญหาที่ให้กับผู้ป่วย และการประเมินผลลัพธ์การแก้ไขปัญหาจากยา
เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินผล
1. การประเมินผล INHOMESSS ตามตารางที่ 1
ตารางที่ 1 แนวทางการประเมิน INHOMESSS เป็นแนวทางประเมินผู้ป่วยขณะอยู่ที่บ้าน2
ประเด็น |
การประเมินผล |
I - Immobility |
Good: เคลื่อนไหวได้ดี, Poor: เคลื่อนไหวได้ลำบาก/ทำไม่ได้ /ติดเตียง |
N Nutrition |
Good: ทานเหมาะสม, Poor: ทานไม่ได้/ทานไม่ถูกสุขลักษณะ |
H Housing |
Good: ไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ, Poor: มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ |
O Other people |
Good: มีคนคอยดูแลช่วยเหลือ, Poor: ขัดแย้งกับผู้อื่นภายในบ้าน หรือไม่มีผู้ดูแล |
M Medication* |
Good: ไม่มีการใช้ผลิตภัณฑ์อื่น, Poor: มีการใช้ผลิตภัณฑ์อื่นที่เสี่ยงต่อภาวะโรค |
E Examination |
Good: มีสัญญาณชีพที่ปกติ, Poor: มีสัญญาณชีพที่ผิดปกติ |
S Safety |
Good: ปลอดภัย, Poor: ไม่ปลอดภัย |
S Spirituality |
Good: มีกำลังใจดี, Poor: สิ้นหวัง ไม่มีกำลังใจในการดำเนินชีวิต |
S Services |
Good: ทราบหน่วยบริการที่จะไปใช้บริการได้, Poor: ไม่ทราบว่าเวลาเจ็บป่วยจะไปไหน |
*หัวข้อ Medication ในส่วน INHOMESSS จะประเมินเพียงการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นหรือไม่ ส่วนประเด็นปัญหาจากการใช้ยาจะแยกพิจารณาในส่วนหัวข้อปัญหาที่เกิดจากยา
1. การประเมินผลลัพธ์การแก้ไขปัญหาจากยา แบ่งออกเป็น
- สามารถจัดการปัญหาได้ทั้งหมดหมายถึง เภสัชกรประเมินสิ่งที่เภสัชกรแก้ไขปัญหาด้านยาให้กับผู้ป่วยแก้ไขได้สำเร็จสมบูรณ์
- สามารถแก้ไขปัญหาได้บางส่วน หมายถึง เภสัชกรประเมินสิ่งที่เภสัชกรแก้ไขปัญหาด้านยาให้กับผู้ป่วยแก้ไขได้บางส่วนไม่สมบูรณ์ทั้งหมด
- ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข หมายถึง เภสัชกรไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านยาได้
กระบวนการเยี่ยมบ้าน
ออกเยี่ยมบ้านทุกวันจันทร์และวันพุธของแต่ละสัปดาห์ ณ ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองสามัคคี ร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ โดยแบ่งออกเป็น 3 กระบวนการ คือ ก่อนออกเยี่ยมบ้าน (รวบรวมข้อมูล และสรุปปัญหาที่ควรติดตามผู้ป่วยที่บ้าน) ขณะเยี่ยมบ้าน (ประเมินปัญหาของผู้ป่วยตามหลัก INHOMESSS (ตารางที่ 1) และค้นหาปัญหาจากยา ปรึกษาร่วมกับทีม และให้การแก้ไขปัญหาจากยา) และหลังเยี่ยมบ้าน (สรุปข้อมูลบันทึกการเยี่ยม และวางแผนหากต้องติดตามต่อ)
วิธีการวัดผล
· การวิเคราะห์ข้อมูล
ข้อมูลที่ได้ถูกบันทึกในโปรแกรม Excel และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ การแจก
แจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ข้อพิจารณาทางจริยธรรม
โครงร่างการวิจัยนี้ได้ผ่านการพิจารณาจริยธรรมจากคณะกรรมการงานวิจัยของโรงพยาบาลมหาสารคามแล้ว เลขที่COA No ๖๐/๐๑๐
ผลการศึกษา
ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย
การบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยต่อเนื่องในชุมชน (การออกเยี่ยมบ้าน) ของเครือข่าย อำเภอเมือง โรงพยาบาลมหาสารคาม ผลการดำเนินการเยี่ยมบ้านในปีงบประมาณ 2559 (ตารางที่ 2)
ตารางที่ 2 ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย
|
จำนวน (ร้อยละ) |
จำนวนผู้ป่วย |
54 |
เพศ |
|
- ชาย |
19 (35.19) |
- หญิง |
35 (64.81) |
อายุเฉลี่ย+ SD (ปี) |
65.21 ± 12.74 |
ออกให้บริบาลเภสัชกรรมในโรค (ครั้ง)* |
|
- โรคเรื้อรัง (เบาหวาน ความดัน ไขมัน) |
27 (36.99) |
- ไตวายระยะสุดท้าย |
7 (9.59) |
- โรคหลอดเลือดสมอง |
5 (6.85) |
- ความจำเสื่อม |
1 (1.37) |
- หอบหืด |
4 (5.48) |
- โรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ(ยกเว้นความดัน) |
3 (4.11) |
- Gout, Osteoporosis |
3 (4.11) |
- ลมชัก |
1 (1.37) |
- วัณโรค |
1 (1.37) |
- ผู้ป่วยติดเตียง |
1 (1.37) |
- ผู้พิการ |
1 (1.37) |
- จิตเวช |
2 (2.74) |
- ผู้ป่วยระยะสุดท้าย |
2 (2.74) |
- มะเร็ง |
7 (9.59) |
- อื่น ๆ (Post op, Fracture of bone) |
8 (10.95) |
* นับเป็นหน่วยครั้งเนื่องจากเภสัชกรแต่ละท่านออกเยี่ยมซ้ำกับผู้ป่วยรายเดิมที่ได้รับการเยี่ยมแล้วจากเภสัชกรท่านอื่น และผู้ป่วยบางรายเป็นหลายโรคในคนเดียวกัน
การประเมิน INHOMESSS
ผลการประเมิน INHOMESSS พบว่าผู้ป่วยมากกว่าครึ่งมีการเคลื่อนไหวที่ลำบาก หรือเคลื่อนไหวไม่ได้เลย (poor immobility, ร้อยละ 66.67) มีลักษณะการรับประทานอาหารยังไม่เหมาะสม (poor nutrition,ร้อยละ 55.55) เมื่อมีการตรวจวัดสัญญาณชีพต่าง ๆ ที่บ้านผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่พบสัญญาณชีพที่ผิดปกติ (poor physical exam ร้อยละ 85.18) ส่วนประเด็นอื่น ๆ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี (มากกว่าร้อยละ 80)โดยพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นนอกจากแผนการรักษาที่ได้รับการรักษาจากแพทย์/เภสัชกร(good medication ร้อยละ 94.44) และผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อมีการเจ็บป่วยฉุกคิดถึงสถานพยาบาลที่จะพาตัวเองไปรับการรักษาได้ (good services ร้อยละ 96.30) (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 ผลการประเมิน INHOMESSS
ปัญหาจากการใช้ยาสาเหตุปัญหาจากยา วิธีการแก้ไข และผลลัพธ์การแก้ไขปัญหาจากยา
ปัญหาจากยาที่เภสัชกรพบส่วนใหญ่ คือ ความไม่ร่วมมือในการใช้ยาคิดเป็นร้อยละ 51.02 รองลงมา คือ เรื่องการจัด/เก็บรักษายาไม่ถูกวิธี และเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา/ผลข้างเคียงจากยาที่พบขณะเยี่ยมบ้าน ร้อยละ 14.29 สาเหตุปัญหาจากยาส่วนมาก คือ การได้รับรายการยาจำนวนมากเกินไป ร้อยละ 24.49 เภสัชกรมีบทบาทในเรื่องของการทบทวนการใช้ยาและตรวจสอบความร่วมมือในการใช้ยาสูงถึงร้อยละ 49.07 รองลงมาคือให้คำแนะนำการจัดแยกเก็บยาให้ถูกวิธี/สอนการแบ่งเม็ดยา/การจัด unit dose ร้อยละ 12.04 การแก้ไขปัญหาจากการบริบาลเภสัชกรรมที่ให้แก่ผู้ป่วยสามารถแก้ไขให้ผู้ป่วยได้ทั้งหมดสูงถึงร้อยละ 91.66 (ตารางที่ 3)
ตารางที่ 3 ปัญหาจากยา สาเหตุ การให้บริบาลเภสัชกรรมที่บ้าน และผลลัพธ์การแก้ไขปัญหาจากยา
|
จำนวน (ครั้ง) |
ร้อยละ |
ปัญหาที่เกิดจากยา* |
49 |
|
- ความไม่ร่วมมือในการใช้ยา (ลืมทาน,ขาดยา, ทานผิด, จัดยาผิด, หยุดทานยาเอง) |
25 |
51.02 |
- ใช้ยานอกระบบ (สมุนไพรไม่ทราบชนิด) |
1 |
2.04 |
- ได้รับยาหลายแหล่งเสี่ยงต่ออาการไม่พึงประสงค์จากยา/ใช้ยาเกินขนาด |
1 |
2.04 |
- เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา/ผลข้างเคียงจากยาที่พบขณะเยี่ยมบ้าน |
7 |
14.29 |
- การจัด/เก็บรักษายาไม่ถูกวิธี (แกะยาจากแผง, แกะยาออกจากซองกันแสง, แกะยามารวมกันทำ unit dose ที่ผิด) |
7 |
14.29 |
- อันตรกิริยาจากยา (ยา-ยา, ยา-อาหาร) |
2 |
4.08 |
- ใช้ยาเทคนิคพิเศษไม่ถูกต้อง (พ่นยา,ฉีดยา insulin ไม่ถูกวิธี) |
5 |
10.20 |
- มียาที่ไม่สมควรได้รับต่อภาวะผู้ป่วย |
1 |
2.04 |
สาเหตุที่เกิดปัญหาจากยา* |
49 |
|
- เกิดผลข้างเคียงจากยา |
7 |
14.29 |
- ผู้ป่วยสงสัยว่าอาจเกิดผลข้างเคียงจากยา |
3 |
6.12 |
- การได้รับรายการยาจำนวนมากเกินไป |
12 |
24.49 |
- ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาหรือรูปแบบยาตามที่แพทย์สั่งได้ |
9 |
18.37 |
- ผู้ป่วยมีความกังวลเกี่ยวกับยาที่ได้รับ |
4 |
8.16 |
- การรักษาไม่ตรงกับความเชื่อเรื่องสุขภาพของผู้ป่วย |
3 |
6.12 |
- ผู้ป่วยไม่เต็มใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม |
7 |
14.29 |
- ผู้ป่วยลืมรับประทานยา/ใช้ยา |
4 |
8.16 |
การให้บริบาลเภสัชกรรมต่อผู้ป่วยขณะออกเยี่ยมบ้าน* |
108 |
|
- ทบทวนประวัติรายการยาที่บ้าน/ตรวจสอบความร่วมมือในการใช้ยา/และส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการใช้ยา (การใช้ฉลาก/รูปภาพช่วย) |
53 |
49.07 |
- การให้กำลังใจ (มีความกังวลใจเกี่ยวกับยาที่ได้รับ, จิตใจหดหู่ให้ความร่วมมือในการใช้ยาแต่ไม่มีความความหวัง) |
11 |
10.19 |
- จัดแยกเก็บยาให้ถูกวิธี/สอนการแบ่งเม็ดยา/การจัด unit dose |
13 |
12.04 |
- แก้ไขอันตรกิริยาจากยา/ให้คำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรกิริยาจากยา (ยา-ยา, ยา-อาหาร) |
2 |
1.83 |
- ให้คำแนะนำผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากยาและการแก้ไข |
11 |
10.19 |
- ให้คำแนะนำการตรวจติดตาม (LFT, FBS) เพื่อป้องกัน ADR จากยา |
1 |
0.93 |
- สอนใช้ยาเทคนิคพิเศษ (ยาพ่นหอบหืด ถุงลมโป่งพอง) |
2 |
1.85 |
- สอนใช้ยาเทคนิคพิเศษ (ยาฉีดอินซูลิน) |
5 |
4.63 |
- ให้สุขศึกษาและโภชนาการอาหาร (อาหารเบาหวาน/ความดัน/โรคไต/โรคเกาต์) |
8 |
7.41 |
- ปรับยา Morphine เพื่อ Control pain ให้เหมาะสม ร่วมกับแพทย์ |
1 |
0.93 |
- ประสานข้อมูลรายการยาจาก รพ.อื่น ที่เกี่ยวข้อง |
1 |
0.93 |
ผลลัพธ์การแก้ไขปัญหาจากการบริบาลเภสัชกรรมที่ให้แก่ผู้ป่วย* |
|
|
- สามารถจัดการปัญหาได้ทั้งหมด |
99 |
91.66 |
- สามารถแก้ปัญหาได้บางส่วน |
9 |
8.34 |
* นับหน่วยเป็นครั้งเนื่องจากเภสัชกรแต่ละท่านออกเยี่ยมซ้ำกับผู้ป่วยรายเดิมที่ได้รับการเยี่ยมแล้ว, ผู้ป่วยบางรายพบหลายปัญหาและอาจได้รับการแก้ปัญหาหลายวิธีในคนเดียวกัน
วิจารณ์
การออกเยี่ยมบ้านร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ และ อสม. ซึ่งเป็นการทำงานระดับปฐมภูมิที่อาศัยการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ทำให้การดูแลผู้ป่วยในชุมชนเข้าถึงง่ายและเข้าใจปัญหาที่เกิดทำให้เกิดการพัฒนางานเยี่ยมบ้านที่ดี กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการเยี่ยมบ้านมากที่สุดคือผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง (เบาหวาน ความดัน ไขมัน) ร้อยละ 36.99 การศึกษานี้จัดกลุ่มโรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน ไว้เป็นกลุ่มเดียวกันเนื่องจากผู้ป่วยส่วนมากมักเป็นโรคเหล่านี้ในคนคนเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลสถิติของโรงพยาบาลมหาสารคาม ปี พ.ศ. 2558-2559 ที่รายงานว่าโรคเรื้อรังเบาหวาน ความดัน และไขมันในเลือดสูงเป็นโรคเรื้อรังที่พบสูงสุด และคล้ายคลึงกับการศึกษาของสมทรง ราชนิยม และกฤษณี สระมุณี4 ที่พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการติดตามเยี่ยมบ้านส่วนใหญ่คือโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน (ร้อยละ 77.98) ความดันโลหิตสูง (ร้อยละ 62.39) แสดงให้เห็นว่ากลุ่มโรคนี้เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของพื้นที่ การศึกษานี้มีการประเมินผู้ป่วยโดยใช้หลักการ INHOMESSS ทำให้เข้าใจผู้ป่วยในแบบองค์รวม ผลการประเมิน INHOMESSS ยังพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการเคลื่อนไหวที่ลำบาก หรือเคลื่อนไหวไม่ได้เลยสูงถึงร้อยละ 66.67 แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่ได้รับการเยี่ยมบ้านในการศึกษานี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง มีการเคลื่อนไหวที่ลำบาก อันเป็นสาเหตุสำคัญที่จะก่อให้เกิดปัญหาจากการใช้ยาได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงสมควรได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องที่บ้าน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีลักษณะการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยพบสูงถึงร้อยละ 55.55 อาจเนื่องมาจากวัฒนธรรมการทานอาหารของชาวอีสานมักประกอบอาหารโดยใช้ปลาร้าทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการได้รับโซเดียมได้ และมักทานข้าวเหนียวเป็นหลัก ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ยากในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีหลายการศึกษาที่สอดคล้องกับการศึกษานี้ที่ศึกษาผลของเภสัชกรในการเยี่ยมบ้าน พบปัญหาด้านยาเป็นปัญหาหลักนอกจากปัญหาด้านอื่น (ปัญหาทางด้านคลินิก พฤติกรรม ความรู้ ทัศนคติ) เช่น การศึกษาของ Tunpichart และคณะ5การศึกษาของ Khumsikiew และคณะ6 (พบปัญหาเทคนิคการใช้ยาพ่นสูงที่สุด ร้อยละ 52.5) และการศึกษาของ FiB และคณะ7(พบปัญหาการเกิดอันตรกิริยาของยาที่อาจส่งผลต่ออาการทางคลินิกมากที่สุดถึงร้อยละ 58.3) ปัญหาจากยาที่พบส่วนใหญ่จากการศึกษานี้คือ ปัญหาความไม่ร่วมมือในการใช้ยาคิดเป็นร้อยละ 51.02 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของสมทรง ราชนิยม และกฤษณี สระมุณี4 การศึกษาของTunpichart และคณะ5 และการศึกษาของสุจิตรา พิทักษ์8 ที่พบความไม่ร่วมมือในการใช้ยาเป็นปัญหาที่พบมาก แสดงให้เห็นว่าปัญหาการใช้ยามีความแตกต่างกันในแต่ละการศึกษา ซึ่งอาจเนื่องมาจากความแตกต่างของโรคที่กลุ่มตัวอย่างเป็น การใช้ยา และพฤติกรรมของผู้ป่วยการศึกษานี้เภสัชกรเข้าไปมีบทบาทในเรื่องของการทบทวนการใช้ยาและตรวจสอบความร่วมมือในการใช้ยาสูงถึงร้อยละ 49.07 แสดงให้เห็นว่าเภสัชกรได้มีส่วนช่วยในการคัดกรองปัญหาด้านยาและส่งเสริมความร่วมมือในการใช้ยาให้กับผู้ป่วยได้สูงมาก การแก้ไขปัญหาจากการบริบาลเภสัชกรรมที่ให้แก่ผู้ป่วยสามารถแก้ไขได้ทั้งหมดสูงถึงร้อยละ 91.66 จากผลของการเยี่ยมบ้านเมื่อนำมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนพัฒนางานเพื่อลดปัญหาที่เกิดจากยา เช่น การทำฉลากช่วย การจัดยาเป็นชุด การประเมินความรู้และเทคนิคในผู้ป่วยที่ได้รับยาเทคนิคพิเศษครั้งแรกที่ได้รับยาและมีการติดตามเมื่อมารับบริการ การใช้สัญลักษณ์รูปภาพเพิ่มที่ซองยาเพื่อให้ผู้ป่วยสังเกตการบริหารยาที่ง่ายขึ้น การส่งต่อข้อมูล (Pharmacist note) ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อให้เภสัชกรที่ให้บริการจ่ายยาท่านอื่นได้ทราบถึงปัญหาและช่วยตระหนักในปัญหาของผู้ป่วยและร่วมแก้ไข เป็นต้น
การศึกษานี้ผู้วิจัยนำเสนอภาพรวมของผู้ป่วยที่ถูกเยี่ยมบ้าน จึงใช้ได้กับการพัฒนางานเภสัชกรรมปฐมภูมิของโรงพยาบาลมหาสารคามทำให้ผลการศึกษาครั้งนี้อาจมีข้อจำกัดในการขยายผล (generalizability) ไปยังเขตบริการสุขภาพอื่น อย่างไรก็ตามหน่วยงานเภสัชกรรมจากที่อื่น ๆ สามารถเรียนรู้หรือนำแนวคิดเรื่องระบบการเยี่ยมบ้านไปปรับใช้ได้ สรุปการศึกษานี้สามารถเพิ่มการบริบาลเภสัชกรรมได้ครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยที่คัดเลือกเพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่มีปัญหาการใช้ยาที่บ้าน เภสัชกรที่ออกเยี่ยมบ้านสามารถแก้ไขจัดการปัญหาที่เกิดจากยาของผู้ป่วยที่พบขณะเยี่ยมบ้านได้
กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณผู้อำนวยการ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม, หัวหน้างานเภสัชกรรมปฐมภูมิและทุติยภูมิ
หัวหน้าและเจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองสามัคคีโรงพยาบาลมหาสารคาม และบุคลากรทุกท่านที่มีส่วนร่วมในงานเยี่ยมบ้าน
เอกสารอ้างอิง
1. Ministry of Public Health. Development plan for public health service system (service plan). Nonthaburi: Ministry of Public Health; 2012.
2. สายพิณ หัตถีรัตน์. หลักการเวชศาสตร์ครอบครัวกับการเยี่ยมบ้านสำหรับเภสัชกร. ใน: ธิดา นิงสานนท์, จตุพร ทองอิ่ม, ปรีชา มนทกานติกุล, บรรณาธิการ.คู่มือเภสัชกรครอบครัวและการเยี่ยมบ้าน. กรุงเทพฯ: สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย); 2554: 9-19.
3. Manadee C, Ploylearmsang C, Sookaneknun P. Effects of elderly care with chronic diseases on quality use of medicine at home in area of sub-district health promoting hospitals, somdet district, kalasin province. IJPS 2014; 3: 354-71.
4. สมทรง ราชนิยม, กฤษณี สระมุณี. การจัดการปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้านโดยเภสัชกรครอบครัวในเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอกระนวน. TJPP 2016; 8: 169-81.
5. Tunpichart S, Sakulbumrungsil R, SomrongthongR, Hongsamoot D. Chronic care model for diabetics by pharmacist home health in Bangkok metropolitan: a community based study. Int J Med Med Sci 2012; 4: 90-6.
6. Khumsikiew J, Monmaturapoj T, Songmuang A, Songmuang T, Yousukwattanakul T, Arparsunum N. Effects of Pharmaceutical Care with Home Care Pharmacy Service in Asthmatic Patients. IJPS 2015; 3: 71-82.
7. FiB T, Meinke-Franze C, van den Berg N, Hoffman W. Effects of a three party healthcare network on the incidence levels of drug related problems. Int J Clin Pharm 2013; 35: 763-71.
8. สุจิตรา พิทักษ์. ผลของการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพในคลินิกโรคความดันโลหิตสูงโดยเภสัชกรร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านใหม่หนองหอย อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่. วารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย 2558; 2: 128-36.
|