Untitled Document
 
 
 
 
Untitled Document
Home
Current issue
Past issues
Topic collections
Search
e-journal Editor page

Clinical Outcome of Transforaminal Epidural Steroid Injection for Sciatica Pain

ผลการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดร้าวลงขาด้วยวิธีการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลัง

Urawit Piyapromdee (อุรวิศ ปิยะพรมดี) 1




หลักการและวัตถุประสงค์: การรักษาผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทและโรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบที่มีอาการปวดร้าวลงขาและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีการเชิงอนุรักษนิยม คือการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด แต่ในปัจจุบันพบว่าการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราทำให้ผู้ป่วย อาการดีขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่าตัด การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานผลการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดร้าวลงขาด้วยวิธีการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลัง

วิธีการศึกษา:  เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาในผู้ป่วยที่มารับการรักษา ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557 รายงานข้อมูลพื้นฐาน ระดับความเจ็บปวดร้าวลงขาก่อนและหลังจากรักษา จำนวนครั้งที่ได้รับการฉีดยาวิเคราะห์ผลการรักษาและระยะเวลาที่กลับมามีอาการซ้ำ

ผลการศึกษา:    ผู้ป่วย  27 ราย ได้รับการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลังและมาตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง พบว่าร้อยละ 55.6 ได้ผลดีและไม่กลับเป็นซ้ำ ร้อยละ 22.2 อาการดีขึ้นแต่มีการกลับเป็นซ้ำอีก ที่ค่ามัธยฐาน 13 สัปดาห์

สรุป: การฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลัง ช่วยลดอาการปวดร้าวลงขาในผู้ป่วยได้ดี มีผลข้างเคียงต่ำและลดโอกาสที่นำไปสู่การผ่าตัดได้

 

Background and Objective:  Nowsaday, patients with sciatica pain from disc herniation or spinal stenosis, who did not respond to conservative treatment are indicated for spinal decompressive surgery. Transforaminal epidural steroid injection is one option to improve pain. This study aimed to report the outcome of patients treated with transforaminal epidural steroid injection.

Methods:  Patients with sciatica pain who received transforaminal epidural steroid injections between January 1, 2013 to December 31, 2014 at MaharatNakhonRatchasima hospital were enrolled in this study. Demographic data, pre and post injection visual analog pain score, number of injections, symptoms free duration and treatment outcome were analyzed

Results:   Twenty-seven patients were enrolled. Of these, 55.6% had good results, 22.2% had good result but recurrent of symptoms occurred with median time of 13 weeks.

Conclusions:  Transforaminal epidural steroid injection reduces lumbar sciatica pain with low risk of complication and reduced opportunities for surgery.

บทนำ

       อาการปวดร้าวลงขา หรือ Sciatica pain มีสาเหตุส่วนใหญ่จากการอักเสบที่เส้นประสาท1 จากหมอนรองกระดูกสันหลังที่เสื่อมหรือกระดูกสันหลังเสื่อมเคลื่อนมากดทับเส้นประสาท2 โดยธรรมชาติของการดำเนินโรคนั้น หากผู้ป่วยยังไม่มีอาการมากถึงขั้นกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการปวดสามารถหายไปได้เองเมื่อการอักเสบลดลง แม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการตีบแคบของช่องโพรงประสาทเลย3 แต่สำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีการเชิงอนุรักษ์ แล้วอาการปวดไม่บรรเทาลงผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดหมอนรองกระดูก (Discectomy) ด้วย วิธีต่างๆซึ่งในบางครั้งก็เป็นการผ่าตัดโดยไม่จำเป็นเพราะผู้ป่วยมีความเป็นไปได้ที่จะดีขึ้นด้วยการรักษาอื่น

       ปัจจุบันมีการพัฒนาการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้โดยใช้การฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลัง (Transforaminal epidural steroid injection )4โดยยาสเตียรอยด์ที่ฉีดเข้าไปจะไปลดการตอบสนองของเส้นประสาทต่อการสารอักเสบที่เกิดขึ้นในบริเวณนั้น3 การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นส่วนหนึ่งในแนวทางการรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดเส้นประสาทที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ5–8 และในโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทย โดยผู้ทำการรักษาจะใช้การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปเหนือเยื่อดูรารอบเส้นประสาท ณ จุดที่หมอนรองเคลื่อนมากดเส้นประสาท โดยใช้เครื่องฉายรังสีเอกซเรย์เคลื่อนที่ และสารทึบรังสีช่วยในการพิสูจน์ว่ายาได้เข้าไปอยู่รอบๆเส้นประสาทที่มีการอักเสบ ถึงแม้ว่าจะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้บ้าง จากการที่ตะกอนของยาสเตียรอยด์เข้าไปที่เส้นเลือดที่เลี้ยงไขสันหลังระดับคอ แต่ถ้าหากนำการรักษานี้มาใช้ในโรคหมอนรองกระดูกสันหลังระดับเอว ด้วยความระมัดระวัง ภายใต้แนวทางการรักษาที่ชัดเจนแล้ว จะได้ผลดีสามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายปวดได้เร็ว ผลการรักษาในช่วง 3 เดือนดีกว่ากลุ่มที่ทำกายภาพเพียงอย่างเดียว และยังมีรายงานว่าสามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่ผ่าตัดโดยไม่จำเป็นลงได้9–13ผู้วิจัยคิดว่าหากนำการรักษานี้มาใช้ในโรคหมอนรองกระดูกสันหลังระดับเอวจะทำให้ผู้ป่วยหายปวด ได้เร็วและลดการผ่าตัดลงได้

         

          การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่ผลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดร้าวลงขาด้วยวิธีการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลัง ทั้งในด้านปริมาณผู้ป่วยที่ได้ผลจากการรักษานี้ และระยะเวลาที่อาการอาจจะกลับมาเป็นซ้ำ จนถึงจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาสุดท้ายด้วยการผ่าตัด

วิธีการศึกษา

       การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา โดยการรวบรวมผู้ป่วยที่มารับการรักษาด้วยวิธีการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลังโดยผู้วิจัย ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ทำการทบทวนประวัติการตรวจวินิจฉัย ภาพรังสี MRI (Magnetic resonance imaging) และการรักษา จากเวชระเบียนและบันทึกห้องผ่าตัด

       จากนั้นจำแนกผู้ป่วยตามเกณฑ์การคัดเลือกเข้าสู่งานวิจัยคือ

1.    ผู้ป่วยที่มีอาการปวดร้าวลงขาที่มารับการรักษาด้วยวิธีการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลัง ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาโดยผู้วิจัย

2.    ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ และทำการตรวจวินิจฉัยด้วย MRI แล้วพบว่ามีพยาธิสภาพรอบเส้นประสาทตรงกับอาการที่ผู้ป่วยมี

3.    ผู้ป่วยเคยได้รับการรักษาด้วยยาและการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 6 สัปดาห์

4.    อายุระหว่าง 20-80 ปี

โดยผู้ป่วยที่มีลักษณะดังนี้จะถูกคัดออกจากการศึกษา

1.    ผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแรงกล้ามเนื้อตั้งแต่ระดับสามลงไป

2.    ผู้ป่วยที่มีอาการชารอบก้นและไม่สามารถควบคุมระบบขับถ่าย และปัสสาวะได้

3.    ผู้ป่วยที่ไม่สามารถมาติดตามการรักษาได้

ขั้นตอนการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลัง (Transforaminal epidural steroid injection)

        

       ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำบนเตียงผ่าตัดที่รังสีผ่านได้วิสัญญีพยาบาลทำการวัดสัญญาณชีพของผู้ป่วย ตลอดการทำหัตถการ แพทย์ทำความสะอาดบริเวณหลังของผู้ป่วยที่จะทำการฉีดยาด้วย Povidone iodine  ฉีดยาชาด้วย 1% Lidocaine without epinephrine ปริมาน 5 มิลลิลิตร ที่บริเวณชั้นหนังแท้และใต้หนัง (subcutaneous) โดยแพทย์คนเดียวกันตลอดการวิจัยจุดที่แทงเข็ม spinal needle เบอร์ 22 อยู่ห่างจากแนวกลางลำตัวประมาณ 6-8 เซนติเมตร เอียงเข็มประมาณ 45 ถึง 60 องศาโดยมีจุดมุ่งหมายให้ปลายของเข็มอยู่เหนือเยื่อดูราและรากประสาทไขสันหลัง โดยสังเกตจากภาพ fluoroscope ที่ส่วนของปลายเข็มอยู่ใต้ต่อกระดูก Pedicle ประมาณ 2 มิลลิเมตร แต่ไม่เกินจุดกึ่งกลางของ pedicle

       หลังจากนั้นผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารทึบรังสีเพื่อตรวจสอบว่าปลายเข็มอยู่ที่เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลังจริง (รูปที่ 1) จากนั้นจึงฉีดยา Methylprednisolone 40 มิลลิกรัมผสมกับ 1% Lidocaine without epinephrine 1 มิลลิลิตรเข้าไปที่บริเวณพยาธิสภาพ แพทย์ทำการสอบถามอาการกับผู้ป่วยตลอดการฉีด หากมีอาการปวดไปตามเส้นประสาท จะทำการเปลี่ยนตำแหน่งเข็มก่อนจะฉีดยาต่อไปหลังเสร็จสิ้นการฉีดยาผู้ป่วยจะได้รับการเฝ้าสังเกตอาการต่อในห้องพักฟื้น 30 นาที ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวหลังการรักษาจากพยาบาลก่อนกลับบ้านโดยหลังการรักษา ผู้ป่วยสามารถทำกายภาพบำบัดร่วมด้วยได้ หากผู้ป่วยมีอาการเป็นซ้ำให้กลับมาพบแพทย์ได้ทันที

 

รูปที่ 1 การฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลัง

 

 

       ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจติดตามการรักษาที่ 2 สัปดาห์ 6 สัปดาห์ 3 เดือน ภายหลังจากการฉีดยา ในระหว่างการตรวจติดตาม หากผู้ป่วยอาการดีขึ้นแต่ระดับความเจ็บปวดร้าวลงขายังไม่ลดลงถึงร้อยละ 50 ของระดับความเจ็บปวดก่อนทำการฉีดยา ผู้วิจัยจะทำการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลังซ้ำ และทำการตรวจติดตามการรักษาต่อไปหากพบว่าผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการฉีดยา หรือกลับมามีอาการซ้ำ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดหมอนรองกระดูกด้วยวิธีมาตรฐานต่อไป โดยในกลุ่มที่มีอาการซ้ำจะนับระยะเวลากลับเป็นซ้ำจากวันที่ได้รับการฉีดยาจนถึงวันที่กลับมามีอาการอีกครั้ง

       ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยซึ่งได้แก่ อายุ เพศ สาเหตุของโรค ระดับความเจ็บปวดร้าวลงขาก่อนและหลังจากทำการรักษา จำนวนครั้งที่ได้รับการฉีดยาสเตียรอยด์ และวิเคราะห์ผลการรักษาแยกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

         - กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่ได้ผลดีจากการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลังซึ่งหมายถึงผู้ป่วยที่มีระดับการปวดร้าวลงขาลดลงมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนทำการฉีดยา และผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิต ทำงานได้ตามปกติ

       - กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยที่ได้ผลดีจากการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลัง แต่กลับมามีอาการซ้ำอีกครั้ง และได้รับการรักษาสุดท้ายด้วยการผ่าตัด

       - กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลัง

การวิเคราะห์ข้อมูล

       ข้อมูลได้รับการวิเคราะห์ โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป Stata SE version 12.1 วิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลและผลการรักษา โดยใช้สถิติเชิงพรรณนารายงานร้อยละของผู้ป่วยที่ได้ผลดีจากการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลัง (กลุ่มที่ 1) เทียบกับผู้ที่ได้รับการฉีดยาทั้งหมด และรายงานระยะเวลาการหายจากอาการปวดในผู้ป่วยที่ได้ผลดีจากการรักษา แต่กลับมามีอาการซ้ำอีก (กลุ่มที่  2) โดยรายงานผลเป็นระยะเวลาระหว่างได้รับการฉีดยาและมีอาการดีขึ้น จนถึงวันที่ผู้ป่วยกลับมามีอาการอีกและตัดสินใจที่จะทำผ่าตัด โดยรายงานผลมีหน่วยเป็นสัปดาห์

ผลการศึกษา

       จากข้อมูลรายชื่อผู้ป่วยที่มารับการรักษาด้วยวิธีการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลังโดยผู้วิจัยที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557 มีการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรอบไขสันหลังโดยผู้วิจัยทั้งหมด 94 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการฉีดยายาสเตียรอยด์บริเวณรากประสาทไขสันหลัง เพื่อรักษาอาการปวดร้าวลงขา ทั้งหมด 41 ครั้ง ในคนไข้ 31 ราย โดยลักษณะส่วนบุคคลของผู้ป่วยถูกแสดงในตารางที่ 1

       พบว่าผู้ป่วย 24 ราย หรือคิดเป็น ร้อยละ 77.4 ได้รับวิธีการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลัง 1 ครั้ง มีผู้ป่วย 7 ราย (ร้อยละ 22.6) ได้รับการฉีดยาซ้ำมีผู้ป่วยกลับมาตรวจติดตามภายหลังการฉีดยาทั้งหมด 27 ราย (ร้อยละ 87.1) มีค่ามัธยฐานของระยะเวลาการตรวจติดตามอาการเท่ากับ 18 เดือน และผู้ป่วยที่มาตรวจติดตามอาการนานที่สุดคือ 32 เดือน

 

ตารางที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วยที่มีอาการปวดร้าวลงขาด้วยวิธีการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลัง

ข้อมูล

จำนวน(ร้อยละ)

1.    เพศ

หญิง

ชาย

 

20 (74.1)

7 (25.9)

2.    อายุ (ค่าเฉลี่ย ± ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน)

41 ± 10.4

3.    โรคที่เป็นสาเหตุของอาการปวดร้าวลงขา

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

โพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบ

 

21 (77.8)

6 (22.2)

4.    ระดับหมอนรองกระดูกที่เป็นสาเหตุ

L2-3

L3-4

L4-5

L5-S1

L3-4 และ L4-5

L4-5 และ L5-S1

 

1 (3.7)

1 (3.7)

10 (37)

7 (25.9)

3 (11.1)

5 (18.5)

5.    ข้างที่มีอาการ

ข้างซ้าย

ข้างขวา

ทั้งสองข้าง

 

17 (63)

9 (33.3)

1 (3.7)

6.    ระดับความปวดร้าวลงขาก่อนทำการฉีดยา

ค่ามัธยฐาน (ค่าน้อยที่สุด – ค่ามากที่สุด)

 

8 (6-8)

 

          ผลการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดร้าวลงขาด้วยวิธีการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลัง พบว่าในจำนวนผู้มาตรวจติดตามการรักษา 27 รายมีร้อยละ 55.6 ได้ผลดี (กลุ่มที่ 1) ร้อยละ 22.2 อาการดีขึ้นแต่ในระหว่างติดตามอาการกลับมาเป็นซ้ำอีก (กลุ่มที่ 2) และร้อยละ  22.2 อาการไม่ดีขึ้น (กลุ่มที่ 3) 

          ในผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยมีระดับความปวดลดลง มีค่ามัธยฐานของระดับความปวดเท่ากับ 2 ระดับความปวดสูงสุดเท่ากับ 3 ต่ำสุดเท่ากับ 1

ในผู้ป่วยกลุ่มที่2 ผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นแต่ในระหว่างติดตามอาการกลับมาเป็นซ้ำอีกและได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดนั้น มีค่ามัธยฐานของระยะเวลาที่มีอาการกลับเป็นซ้ำอีกเท่ากับ 13 สัปดาห์ ค่าพิสัยควอไทล์ เท่ากับ 7-18 สัปดาห์ โดยสามารถแสดงผล Kaplan-Meier survival curve (รูปที่ 2)

          ในผู้ป่วยกลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยยังมีระดับความปวดที่ไม่ดีขึ้น ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบประคับประคอง มีค่ามัธยฐานของระดับความปวดหลังฉีดยาเท่ากับ 5 ระดับความปวดสูงสุดเท่ากับ 6 ต่ำสุดเท่ากับ 4 และได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อไป

          ในระหว่างการรักษาและการติดตามการรักษาไม่พบว่ามีผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียงรุนแรงจากการรักษาด้วยวิธีนี้ พบผู้ป่วยเพียง 1 ราย (ร้อยละ 3.70) ที่มีอาการชามากขึ้นภายหลังทำการฉีดยา แต่อาการกลับมาเป็นปกติในระหว่างเฝ้าสังเกตอาการในห้องสังเกตอาการ

รูปที่ 2 รูปภาพแสดงระยะเวลากลับเป็นซ้ำของผู้ป่วยที่มีอาการกลับเป็นซ้ำ

วิจารณ์

       จากการติดตามผลการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดร้าวลงขาในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาที่รักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลัง พบว่าได้ผลดี ช่วยให้ผู้ป่วยร้อยละ 78.6 มีระดับความปวดลดลงสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ (ผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 และ 2) แต่เมื่อติดตามการรักษาต่อไปนั้น ผู้ป่วยบางรายจะกลับมีอาการอีกครั้ง (ผู้ป่วยกลุ่มที่ 2) โดยค่ามัธยฐานของระยะเวลาที่กลับมามีอาการซ้ำนั้นคือ 13 สัปดาห์ ค่าพิสัยควอไทล์ เท่ากับ 7-18 สัปดาห์

       ซึ่งผลการศึกษาเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการศึกษาที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ซึ่งจากศึกษาที่เป็นการทบทวนวรรณกรรมอย่างมีระบบ และการวิเคราะห์แบบเมต้า6,14–17 พบว่า การฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลังนั้น หากเลือกผู้ป่วยได้ดี จะช่วยลดอาการปวดร้าวลงขาของผู้ป่วยลงได้ดีกว่ากลุ่มควบคุม แม้ว่าการศึกษาส่วนใหญ่จะติดตามอาการของผู้ป่วยไปเพียงสามเดือน

       นอกจากนี้ จากการศึกษาในลักษณะเดียวกันของ Adam และคณะ18 พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลังเพื่อรักษาอาการปวดร้าวลงขาได้ผลดีถึงร้อยละ 74.7 แต่เมื่อติดตามผู้ป่วยไประยะยาว มีผู้ป่วยถึงร้อยละ 55.4  จะกลับมามีอาการอีกครั้งและได้รับการรักษาด้วยการฉีดยาซ้ำหรือการผ่าตัดต่อไป โดยค่ามัธยฐานของระยะเวลาก่อนกลับมามีอาการซ้ำและได้รับการผ่าตัดคือ 6.5 เดือน

       การที่ผลการรักษาของผู้ป่วยออกมาแตกต่างกันนั้น อาจมีสาเหตุจากพยาธิสภาพของผู้ป่วยแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน19 ระยะเวลาของการกดทับเส้นประสาทที่ต่างกัน17 ตำแหน่งและเทคนิคการฉีดยา16 ซึ่งจากผลการศึกษาฉบับนี้ ช่วยให้ข้อมูลการตัดสินใจกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดร้าวลงขาจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทและโรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบ ว่าหากได้รับการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดอย่างเต็มที่แล้ว ก่อนที่จะเลือกรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดนั้น หากเลือกรักษาด้วยวิธีการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลัง ผู้ป่วยบางรายจะได้ผลดี ผลข้างเคียงต่ำและลดโอกาสที่นำไปสู่การผ่าตัดได้ แต่ในระหว่างการติดตามการรักษานั้น อาจจะมีผู้ป่วยบางรายกลับมีอาการเช่นเดิมได้ ระยะที่มักกลับมามีอาการซ้ำได้อีกคือประมาณ 3 เดือน

       ในผู้ป่วยที่ศึกษามี 1 ราย กลับมาตรวจด้วยอาการปวดหลัง 3 ปีภายหลังทำการรักษา แต่ไม่มีอาการปวดร้าวลงขา ผู้วิจัยได้ทำการส่งตรวจ MRI ซ้ำ แล้วพบว่า หมอนรองกระดูกสันหลังที่เคยเคลื่อนออกมาทับเส้นประสาทนั้นมีขนาดเล็กลง (รูปที่ 3) ลักษณะเดียวกับที่มีรายงานก่อนหน้านี้ว่า แม้หมอนรองกระดูกที่เคลื่อนมากดเส้นประสาทจะมีขนาดใหญ่ แต่หมอนรองกระดูกเหล่านี้ร่างกายสามารถจัดการให้มีขนาดเล็กลงได้20

รูปที่ 3 รูปภาพเปรียบเทียบพยาธิสภาพของหมอนรองกระดูกสันหลังก่อนรักษาและ 3 ปีภายหลังทำการรักษา

 

       เนื่องจากการศึกษาฉบับนี้มีข้อจำกัด เป็นการศึกษาแบบพรรณนา ไม่ได้มีกลุ่มประชากรเปรียบเทียบ และพบว่าผู้ป่วยบางรายไม่ได้กลับมาตรวจประเมินภายหลังทำการรักษา การศึกษาเปรียบเทียบในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ ที่มีระยะเวลาการตรวจติดตามที่นาน และสม่ำเสมอในอนาคต อาจช่วยให้การสรุปผลของการรักษาอาการปวดร้าวลงขา ด้วยวิธีการฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลังได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

สรุป

       การฉีดยาสเตียรอยด์เหนือเยื่อดูราบริเวณรากประสาทไขสันหลัง ช่วยลดอาการปวดร้าวลงขาในผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทและโรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบได้ดี มีผลข้างเคียงต่ำและลดโอกาสที่นำไปสู่การผ่าตัดได้

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

1.    Lindahl O, Rexed B. Histologic changes in spinal nerve roots of operated cases of sciatica. Acta  Orthop Scand 1951; 20: 215–25.

2.    Wheeler AH, Murrey DB. Chronic lumbar spine and radicular pain: pathophysiology and treatment. Curr Pain Headache Rep 2002; 6: 97–105.

3.    Cannon DT, Aprill CN. Lumbosacral epidural steroid injections. Arch Phys Med Rehabil 2000 ; 81(3 Suppl 1): S87-98; quiz S99-100.

4.    Young IA, Hyman GS, Packia-Raj LN, Cole AJ. The use of lumbar epidural/transforaminal steroids for managing spinal disease. J Am AcadOrthop Surg 2007; 15: 228–38.

5.    Abdi S, Datta S, Lucas LF. Role of epidural steroids in the management of chronic spinal pain: a systematic review of effectiveness and complications. Pain Physician 2005; 8: 127–43.

6.    Buenaventura RM, Datta S, Abdi S, Smith HS. Systematic review of therapeutic lumbar transforaminal epidural steroid injections. Pain Physician 2009; 12: 233–51.

7.    Benny B, Azari P. The efficacy of lumbosacral transforaminal epidural steroid injections: a comprehensive literature review. J Back Musculoskelet Rehabil 2011; 24: 67–76.

8.    Karnezis IA. Minimally invasive therapeutic interventional procedures in the spine: an evidence-based review. SurgTechnol Int 2008;17: 259–68.

9.    Karppinen J, Ohinmaa A, Malmivaara A, Kurunlahti M, Kyllönen E, Pienimäki T, et al. Cost effectiveness of periradicular infiltration for sciatica: subgroup analysis of a randomized controlled trial. Spine 2001; 26: 2587–95.

10. Manchikanti L, Cash KA, McManus CD, Pampati V, Smith HS. One-year results of a randomized, double-blind, active controlled trial of fluoroscopic caudal epidural injections with or without steroids in managing chronic discogenic low back pain without disc herniation or radiculitis. Pain Physician 2011; 14: 25–36.

11. Riew KD, Park J-B, Cho Y-S, Gilula L, Patel A, Lenke LG, et al. Nerve root blocks in the treatment of lumbar radicular pain. A minimum five-year follow-up. J Bone Joint Surg Am 2006 ; 88: 1722–5.

12. Kovacs FM, Urrútia G, Alarcón JD. Surgery Versus Conservative Treatment For Symptomatic Lumbar Spinal Stenosis.: A systematic review of randomized controlled trials. Spine [Internet]. 2011 Feb 9 [cited  Aug 4, 2011]; Available from: http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21311394

13. Karaman H, Kavak GO, Tüfek A, Yldrm ZB. The complications of transforaminal lumbar epidural steroid injections. Spine 2011; 36: E819-24.

14. Quraishi NA. Transforaminal injection of corticosteroids for lumbar radiculopathy: systematic review and meta-analysis. Eur Spine J Off  Publ Eur Spine SocEur Spinal Deform SocEur Sect Cerv Spine Res Soc [Internet]. 2011 Sep 4 [cited 2011 Sep 19]; Available from: http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21892774

15. Benny B, Azari P. The efficacy of lumbosacral transforaminal epidural steroid injections: a comprehensive literature review. J Back Musculoskelet Rehabil 2011; 24:67–76.

16. Rho ME, Tang CT. The efficacy of lumbar epidural steroid injections: transforaminal, interlaminar, and caudal approaches. Phys Med Rehabil Clin N Am 2011; 22: 139–48.

17. Staal JB, de Bie RA, de Vet HCW, Hildebrandt J, Nelemans P. Injection therapy for subacute and chronic low back pain: an updated Cochrane review. Spine 2009; 34: 49–59.

18. Adams CI, Freeman BJC, Clark AJ, Pickering S. Targeted Foraminal Epidural Steroid Injection for Radicular Pain: A Kaplin-Meier Survival Analysis. Orthop Proc 2005; 87–B(Supp III): 243.

19. Steffens D, Hancock MJ, Pereira LSM, Kent PM, Latimer J, Maher CG. Do MRI findings identify patients with low back pain or sciatica who respond better to particular interventions? A systematic review.Eur Spine J Off PublEur Spine SocEur Spinal Deform SocEur Sect Cerv  Spine Res Soc 2016; 25: 1170–87.

20. Benson R, Tavares S, Robertson S, Sharp R, Marshall R. Conservatively treated massive prolapsed discs: a 7-year follow-up. Ann R Coll Surg Engl 2010; 92: 147–53.

 

 

 

Untitled Document
Article Location

Untitled Document
Article Option
       Abstract
       Fulltext
       PDF File
Untitled Document
 
ทำหน้าที่ ดึง Collection ที่เกี่ยวข้อง แสดง บทความ ตามที่ีมีใน collection ที่มีใน list Untitled Document
Another articles
in this topic collection

An Analysis of Orthopedic Injury Profiles of Pedestrian-Motor Vehicle in District Hospital (การวิเคราะห์รูปแบบภยันตรายทางออร์โธปิดิกส์ที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในโรงพยาบาลชุมชน)
 
Risk Factors Analysis of Gram-Negative Osteomyelitis (การวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อกรัมลบในโพรงกระดูก)
 
Prevalence of Vitamin D Deficiency among Postmenopausal Women at Srinagarind Hospital, Khon Kaen Province, Thailand. (ความชุกของภาวะขาดวิตามินดีในสตรีวัยทองที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น)
 
Appropriate Tibial Tunnel Angle and Knee Flexion Angle for Aiming Femoral Insertion in Endoscopic Anterior Curciate Ligament Reconstruction (มุมอุโมงค์ที่กระดูกแข้ง และมุมงอเข่าที่เหมาะสมในการเล็งจุดเกาะของเอ็นไขว้หน้า)
 
<More>
Untitled Document
 
This article is under
this collection.

Orthopedics
 
 
 
 
Srinagarind Medical Journal,Faculty of Medicine, Khon Kaen University. Copy Right © All Rights Reserved.
 
 
 
 

 


Warning: Unknown: Your script possibly relies on a session side-effect which existed until PHP 4.2.3. Please be advised that the session extension does not consider global variables as a source of data, unless register_globals is enabled. You can disable this functionality and this warning by setting session.bug_compat_42 or session.bug_compat_warn to off, respectively in Unknown on line 0