บทนำ
อาการปวดเกิดได้จากหลายปัจจัยและเป็นอาการแสดงของโรคที่พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ รองลงมาเป็นวัยทำงาน โดยเฉพาะอาการปวดที่มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อทำงานมากในบางตำแหน่ง ทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการปวดส่วนใหญ่พบมากในบริเวณของกล้ามเนื้อหลังและเอว ทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นประชาชนมักเลือกวิธีที่ง่าย สะดวก ราคาถูกและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อยามารับประทานเองเช่นยาแก้ปวดในกลุ่ม Non-SteroidalAnti-inflammatory Drugs (NSAIDs) ยาชุดและยาลูกกลอน ซึ่งปัจจุบันเป็นปัญหาในด้านสาธารณสุขอย่างมากเนื่องจากประชาชนมีการบริโภคยาเกินความจำเป็น รวมถึงเมื่อรับประทานยาในระยะยาวอาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายร้ายแรง เช่น อาจจะมีผลระคายเคืองทางเดินอาหารและทำให้การแข็งตัวของเลือดช้าได้ นอกจากนี้ยังมีการใช้เป็นยาทาภายนอกแม้ผลข้างเคียงจะน้อยกว่าแต่ก็อาจจะส่งผลต่อระบบในร่างกายได้เช่นเดียวกับยาที่รับประทาน
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สมุนไพรจึงเป็นที่นิยมในการป้องกันและรักษาโรคต่างๆเบื้องต้น เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรักษาโรค และมีผลข้างเคียงต่ำ โดยมีข้อมูลจากหลายงานวิจัยสนับสนุนว่า สารประกอบเคมีในสมุนไพรบางชนิดมีฤทธิ์ลดอาการปวดได้ดีเนื่องจากสารประกอบเคมีในสมุนไพรสามารถยับยั้งการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการปวดดังกล่าวได้
ผักคราดหัวแหวน

ผักคราดหัวแหวนมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Spilanthes acmella L.Murr. เป็นพืชสมุนไพรชอบอยู่ในที่ชื้นตามทุ่งนาและพื้นที่มีน้ำขัง คนอีสานนำมาปรุงเป็นอาหารหรือบางครั้งนำมาทำเป็นผักจิ้มหรือผักแกล้ม เช่น ใส่แกงอ่อม กินกับน้ำพริก แจ่ว ลาบปลา ซึ่งจะให้รสซ่าลิ้นและเผ็ดเล็กน้อย ช่วยทำให้อาหารรสอร่อยยิ่งขึ้น คนโบราณนอกจากใช้ทำเป็นอาหารแล้วยังนำมาใช้เป็นยารักษาโรค เช่น แก้ปวดฟัน แก้เหงือกอักเสบ ซึ่งปัจจุบันผักคราดหัวแหวนถูกบรรจุเป็นสมุนไพรในโครงการสาธารณสุขมูลฐาน โดยเฉพาะการใช้เป็นยาชาแก้ปวดฟันหรือเป็นยาชาสำหรับการถอนฟันและอุดฟันในผู้ป่วย ทำให้ผักคราดหัวแหวนเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย
กลไกการลดปวดของผักคราดหัวแหวน
อาการปวดกล้ามเนื้อ สาเหตุมักเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำๆต่อเนื่องหรือผิดวิธีทำให้ร่างกายกระตุ้นการปล่อยสารเคมีพวก prostaglandin, histamine, serotonin, bradykinin แล้วไปกระตุ้นตัวรับความรู้สึกเจ็บปวด (nociceptor) ที่ปลายประสาทซึ่งกระจายอยู่ตามเนื้อเยื่อของร่างกาย โดยผ่านกระแสประสาท (transmission) ไปตามใยประสาทชนิด C fiber รับความรู้สึกนำเข้าและส่งไปยังไขสันหลัง ซึ่งการรับรู้ความเจ็บปวด(perception)จะอยู่ที่ระบบประสาทส่วนกลางทำหน้าที่ในการแปลสัญญาณที่ส่งมาตาม อาการปวดและตอบสนองต่อความเจ็บปวด ซึ่งบริเวณการสั่งงานจะอยู่ที่สมองส่วนหน้า ทำหน้าที่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด1
สารสำคัญในผักคราดหัวแหวน คือ spilantholจากการศึกษาพบว่ามีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะขยายหลอดเลือด ยับยั้งแบคทีเรียและเชื้อรา กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย นอกจากนี้ spilanthol ยังมีฤทธิ์ที่โดดเด่น คือ สามารถลดการอักเสบและอาการปวดได้ดี รวมทั้งมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่จึงมีการนำผักคราดหัวแหวนมาใช้ในการลดอาการปวดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปวดศีรษะ ไข้รูมาติก และอาการปวดกล้ามเนื้อโดยผักคราดหัวแหวนสามารถลดปวดได้เร็วและออกฤทธิ์อยู่ได้นาน เนื่องจากมีกลไกการลดความเจ็บปวดของผักคราดหัวแหวนมีทั้งต่อ central และ peripheral nervous system การยับยั้ง central pain อาจจะเกิดจากลดการนำสัญญาณประสาทชนิด C-fiber ที่ dorsal horn ในไขสันหลัง ส่วนการยับยั้ง peripheral nervous system อาจเกิดจากหลายกลไก เช่น ลดปวดผ่านการยับยั้งเอ็นไซม์ cyclooxygenase (COX) ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ที่สร้าง prostaglandins (PGS) ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งการอักเสบเป็นตัวการสำคัญของ peripheral sensitization ทำให้เกิดอาการปวดได้ และยังไปยับยั้งกระบวนการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับ lipooxygenase (LOX), histamine, serotonin, kinin รวมทั้งผักคราดหัวหัวแหวนยังสามารถลดปวดโดยมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการชาเฉพาะที่ โดยไปยับยั้งการนำส่งกระแสประสาทผ่านกลไก Voltage-gated Na+ channelทำให้สูญเสียความรู้สึกบริเวณอวัยวะส่วนปลายที่เส้นประสาทนั้นไปเลี้ยงเป็นการชั่วคราวจากข้อมูลข้างต้น
สรุปกลไกการลดปวดของผักคราดหัวแหวนดังแสดงในรูปที่ 1

รูปที่ 1แสดงกลไกการยับยั้งอาการปวด ผ่าน peripheral nervous system (PNS) และ central nervous system (CNS)โดยผักคราดหัวแหวน3
งานวิจัยฤทธิ์ทางด้านเภสัชวิทยาของผักคราดหัวแหวน
ฤทธิ์ระงับการอักเสบและอาการปวดของกล้ามเนื้อ
จากการศึกษาของ Chakraborty และคณะ4 ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบและลดอาการปวดของสารสกัดผักคราดหัวแหวนที่สกัดด้วยน้ำ โดยให้สัตว์ทดลองรับประทานขนาด 100, 200 และ 400 mg/kg และนำมาทดสอบโดยวิธี carrageenan-induced paw edema, acetic induced writhing
response และ tail flick จากการทดสอบด้วย carrageenan-induced paw edema พบว่า สารสกัดผักคราดหัวแหวนขนาด 100, 200 และ 400 mg/kg มีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ 52.6%, 54.4% และ 56.1% ตามลำดับเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม(p<0.01) และจากการทดสอบ acetic induced writhing test พบว่าสามารถลดอาการปวดได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (p<0.01) รวมทั้งการทดลอง tail flick พบว่าสารสกัดผักคราดหัวแหวนสามารถลดอาการปวดได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (p<0.05)แบบ dose dependent ในนาทีที่ 30 และ ชั่วโมงที่ 1, 2, 3 และ 4 หลังจากได้รับสารสกัดและมีฤทธิ์ลดปวดใกล้เคียงกับ pethidine จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าผักคราดหัวแหวนสามารถต้านการอักเสบ เนื่องจากไปลดการสร้างสาร histamine,serotonin และ kinin ในช่วงแรกและในช่วงท้ายอาจจะเกิดจากการไปยับยั้งการหลั่ง prostaglandin รวมทั้งผักคราดหัวแหวนยังมีกลไกการลดปวดโดยไปเพิ่ม pain threshold และจากการทดสอบหาสารสำคัญ พบสารกลุ่ม flavonoid ซึ่งสารกลุ่มนี้สามารถยับยั้งการสร้าง prostaglandin ซึ่งมีผลในการลดอักเสบและอาการปวดในช่วงท้าย
จากงานวิจัยของ Hossain และคณะ5 ทำการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งความเจ็บปวดด้วยวิธี acetic induce writhing test โดยให้สัตว์ทดลองรับประทานสารสกัดใบผักคราดหัวแหวนที่สกัดด้วย ethanol 80 % ขนาด 250และ 500 mg/kg พบว่าสารสกัดผักคราดหัวแหวนทั้งสองขนาดสามารถลดอาการปวดได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้พบว่าสารสกัดขนาด 500 mg/kg สามารถลดอาการปวดได้ใกล้เคียงกับ diclofenac เพราะสารสกัดผักคราดหัวแหวนไปลดอาการปวดได้ในช่วงแรกประมาณ 1-5 นาทีเนื่องจากลดการนำสัญญาณประสาทชนิด C- fiber และสามารถลดอาการปวดได้ในช่วงกลางประมาณ10 นาทีจากการไปยับยั้ง cyclocxygenase และ lipooxygenase ทำให้ลดกระบวนการอักเสบในเนื้อเยื่อ รวมทั้งสามารถลดอาการปวดช่วงปลายประมาณ 20 นาทีขึ้นไปเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่เนื้อเยื่อและการทำงานที่ dorsal horn ในไขสันหลัง 6,7
สอดคล้องกันกับงานวิจัยของ Bilab Kumar Das และคณะ2 ศึกษาการทดสอบฤทธิ์ระงับความเจ็บปวดโดยใช้ผักคราดหัวแหวนที่สกัดด้วย methanol 80% นำสารสกัดมาให้สัตว์ทดลองรับประทานขนาดยาที่ 250 และ 500 mg/kg body weight แบบ dose-dependent ทำการทดสอบทั้งหมด 3 วิธีคือ hotplate, acetic acid induced writhing, formalin test ผลการทดสอบโดยวิธี hotplate พบว่าสารสกัดผักคราดหัวแหวนเริ่มมีแนวโน้มลดอาการปวดได้ตั้งแต่เริ่มใช้ในนาทีที่ 30 และลดปวดได้ดีมากในช่วงนาทีที่ 120-240 แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (p<0.05) และสามารถลดอาการปวดได้ใกล้เคียง Ketorolac และเมื่อทดสอบด้วยวิธี acetic acid induced writhing พบว่าสัตว์ทดลองที่ได้รับสารสกัดผักคราดสามารถลดอาการปวดได้ดีกว่ากลุ่มควบคุมแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p<0.001 รวมทั้งการทดสอบโดยใช้ formalintest พบว่าในทั้งช่วง early phase ในช่วง 0-5 นาทีและ late phase ในช่วง 15-30 นาทีสัตว์ทดลองที่ได้รับสารสกัดผักคราดสามารถลดปวดได้ดีกว่ากลุ่มควบคุมแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p<0.001 ซึ่งแนวโน้มในช่วง late phase (central antinociceptive) ลดปวดได้ดีกว่า early phase (peripheral antinociceptive) เนื่องจากสารสกัดผักคราดหัวแหวน มีสารกลุ่ม alkaloid, flavonoids, saponins, tannins, terpenoids and steroids ซึ่งจากการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าสาร flavonoids และ tannin มีฤทธิ์ลดอาการปวดได้โดยมีกลไกไปลดการสร้างprostaglandin และสาร alkaloids มีกลไกไปยับยั้ง pain perception 8
จากข้อมูลการศึกษาของ Chakraborty และคณะ9 พบว่าสารสกัดผักคราดหัวแหวนสกัดด้วยน้ำความเข้มข้น 10% และ 20 % มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ 70.36% และ 87.02% ตามลำดับ ส่วนยา xylocaine (standard) มีฤทธิ์เป็นยาชา 97.22% โดยระยะเวลาในการออกฤทธิ์ของสารสกัดผักคราดหัวแหวน 20% เท่ากับ 5.33 ± 0.57 นาที และ xylocaine เท่ากับ 2.75 ± 0.31 นาที แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (p<0.001) เนื่องจากผักคราดหัวแหวนมีส่วนประกอบในโครงสร้างเช่นเดียวกับ xylocaineโดยมีกลไกในการออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับการไปยับยั้ง Voltage-gated Na+ channel ที่มีความคล้ายคลึงกับสารกลุ่ม alkamide ส่งผลให้สามารถลดอาการปวดได้
สรุป
จากการศึกษาสมุนไพรผักคราดหัวแหวนพบว่ามีข้อมูลวิจัยมีหลายงานที่ทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเกี่ยวกับฤทธิ์ระงับการอักเสบและอาการปวดในสัตว์ทดลอง แต่งานวิจัยที่ทำการศึกษาในมนุษย์ยังมีน้อยมาก อย่างไรก็ตามผักคราดหัวแหวนเป็นพืชที่มีสรรพคุณในการลดปวดได้หลายกลไก รวมทั้งยังมีความเป็นพิษน้อย ดังนั้นผักคราดหัวแหวนจึงเป็นสมุนไพรที่น่าจะเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่มีอาการปวด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อได้ เนื่องจากโรคนี้มีสถิติที่มาทำการรักษาในโรงพยาบาลค่อนข้างมาก หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาผักคราดหัวแหวนเป็นยาในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้สมุนไพรท้องถิ่นและเป็นการอนุรักษ์สมุนไพรของท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไป
เอกสารอ้างอิง
1. มุกดา ตันชัยและอภิชาต ลิมติยะโยธิน. วิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2547
2. Biplab Kumar Das, Kaysar Ahmed, Azim Uddin, RajibBhattacharjee, Md. MamunAlamin, Antinociceptive activity of methanol extract of Spilanthespaniculata Linn. Turk J Pharm Sci 2014; 11: 137-44.
3. ภาสกร สวัสดิรักษ์. เอกสารประกอบการสอนการระงับปวดด้วยการใช้ยาในการระงับปวด
เฉียบพลัน.พิมพ์ครั้งที่ 1: ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2558
4.Chakraborty A, Devi BRK, Rita S, Sharatchandra K, Singh TI. Preliminary studies on anti-inflammatory and analgesic activities of Spilanthesacmella Murr. in experimental animal models. Indian J Pharmacol 2004; 36: 148-50.
5. Hossain H, Shahid-Ud-Daula AFM, Jahan IA, Nimmi I, Hasan K, Haq MH. Evaluation of antinociceptive and antioxidant potential from the leaves of Spilanthespaniculata growing in Bangladesh, Int J Pharm Phytopharmacol Res 2012; 1: 178-86.
6. Dickenson AH, Sillivan AF, Suncutaneous formalin-induced activity of dorsal horn neurons in the rat: differential response to an intrathecal opiate administered pre or post formalin. Pain 1987; 30: 349-60.
7. Dalal A, Tata M, Allegre G, Gekiere F, Bons N, Albe-Fessard D. Spontaneous activity of rat Dorsalhron cells in spinal segments of sciatic projection following transaction of sciatic nerve or of corresponding dorsal roots. Neurosci 1999; 94: 217-28.
8. Barman S, Sahu N, Deka S, Dutta S, Das S. Anti-inflammatory and analgesic activity of leaves of Spilanthesacmella(ELSA) in experimental animal models. Pharmacologyonline 2009; 1: 1027-34.
9. Chakraborty A, Devi BRK, Sanjebam R, Khumbong S, Thokchom IS. Preliminary studies on local anesthetic and antipyretic activities of SpilanthesacmellaMurr. in experimental animals models. Indian Journal of Pharmacology 2010; 42: 277-9.
|