Untitled Document
 
 
 
 
Untitled Document
Home
Current issue
Past issues
Topic collections
Search
e-journal Editor page

Effects of Preanesthetic Evaluation with Video Information on Preoperative Anxiety in Patients Undergoing Surgery at Burapha University Hospital

ผลของการประเมินก่อนการระงับความรู้สึกโดยใช้วีดิทัศน์ต่อความกังวลก่อนการผ่าตัดของผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัด ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา

Krittin Kittikornchaichan (กฤติน กิตติกรชัยชาญ) 1, Pattaya Jansagiam (พัทยา จันทร์เสงี่ยม) 2, Narumon Chaichamnanvwet (นฤมล ไชยชำนาญเวทย์) 3, Aekanaj Artthakul (เอกนาจ อาจธนกุล) 4, Nanthana Homsuk (นันทนา หอมสุข) 5, Pattayakorn Gerdsuk (พัทยากร เกิดสุข ) 6




หลักการและวัตถุประสงค์: ผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดมีความกังวลมาก การสื่อสารเพื่อลดความกังวลมีหลายรูปแบบ ผู้วิจัยต้องการศึกษาผลของการให้ความรู้ก่อนการระงับความรู้สึก (วางยาสลบ) โดยใช้วีดิทัศน์ต่อความกังวลก่อนการผ่าตัด และเปรียบเทียบความกังวลก่อนและหลังการประเมินก่อนการระงับความรู้สึกของผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัด  

วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาเชิงทดลอง ผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดและระงับความรู้สึกที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพาจำนวน 203  ราย ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินก่อนการระงับความรู้สึกโดยแผนกวิสัญญี ด้วยการพูดคุย อธิบาย หลังจากนั้นผู้ป่วยจะรับชมวีดิทัศน์เกี่ยวกับการระงับความรู้สึก โดยจะมีการวัดระดับความกังวลของผู้ป่วยโดยใช้ 100 มิลลิเมตร visual analog scale (VAS) ผู้ป่วยจะให้คะแนนความกังวลทั้งหมด 4 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1 ก่อนการประเมินก่อนการระงับความรู้สึกโดยการพูดคุยกับแผนกวิสัญญี (VAS ก่อนพูดคุย)

ครั้งที่ 2 หลังจากพูดคุยกับแผนกวิสัญญีเสร็จแล้ว (VAS หลังพูดคุย)

ครั้งที่ 3 หลังจากรับชมวีดิทัศน์เกี่ยวกับการระงับความรู้สึก (VAS หลังดูวีดิทัศน์)

ครั้งที่ 4 ในวันผ่าตัด ในช่วงที่ผู้ป่วยรอเข้าห้องผ่าตัด (VAS ก่อนผ่าตัด)

ผลการศึกษา: จากการศึกษาพบว่า ในช่วงการประเมินก่อนการระงับความรู้สึก เมื่อได้รับความรู้เกี่ยวกับการระงับความรู้สึกจากทีมวิสัญญีแล้ว พบว่า ผู้ป่วยมีระดับความกังวล(VASหลังพูดคุย) ลดลงอยู่ในระดับต่ำ (ค่าเฉลี่ย =31.63, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน= 28.53) และลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับระดับความกังวลก่อนการประเมินก่อนการระงับความรู้สึก (VAS ก่อนพูดคุย) (ค่าเฉลี่ย = 37.54, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 31.45) ( p<0.01) หลังจากได้รับชมวีดิทัศน์เกี่ยวกับการระงับความรู้สึก พบว่า ผู้ป่วยมีระดับความกังวล (VAS หลังดูวีดิทัศน์) ลดลงอยู่ในระดับต่ำ (ค่าเฉลี่ย=28.57, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน= 28.10) และลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับระดับความกังวลทั้งในช่วงก่อนการประเมินก่อนการระงับความรู้สึก (VAS ก่อนพูดคุย) และระดับความกังวลหลังพูดคุย (VAS หลังพูดคุย) ( p<0.01) ในวันผ่าตัด ผู้ป่วยมีความกังวลก่อนการผ่าตัด (VAS ก่อนผ่าตัด) เพิ่มมากขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ (ค่าเฉลี่ย =39.01, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 31.42) เมื่อเปรียบเทียบกับระดับความกังวลก่อนการประเมินก่อนการระงับความรู้สึก (VAS ก่อนพูดคุย) พบว่า ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

สรุป: การประเมินก่อนการระงับความรู้สึกโดยใช้วีดิทัศน์ร่วมด้วยสามารถลดความกังวลในช่วงการประเมินก่อนการระงับความรู้สึกในทั้งสองช่วงทั้งในช่วงหลังจากพูดคุยกับแผนกวิสัญญีและหลังจากดูวีดิทัศน์ แต่ไม่สามารถช่วยลดความกังวลก่อนการผ่าตัดได้

 

Background and Objective: Prior to the operations, it had been known that waiting patients had a high level of anxiety. Patients had been provided with a plurality of doctor-patient communication in order to lessen their anxiety. In this regard, the objective of this study thus is twofold: first, to investigate the effects of preanesthetic evaluation with the video use on preoperative anxiety. Second, to compare the anxiety before and after this type of preanesthetic evaluation.

Methods:  In this experimental research, there were 203 patient participants who underwent surgery and anesthesia at Burapha University Hospital.  The anesthesia team performed preanesthetic evaluation on patients. The team talked and provided them with explanations. Then, the team had patients to watch video information about anesthesia. Their anxiety was measured by employing the 100 mm of Visual Analog Scale (VAS). The VAS scores of individual patients were measured and collected throughout all periods of measurement, accordingly. In this study, patients were told to rate their anxiety level for four periods: first, VAS was measured prior to preanesthetic evaluation (VAS before talk). Second,VAS was then collected  after preanesthetic evaluation (VAS after talk).Third, it was after watching a video about the anesthesia in which VAS score was performed after a video session (VAS after video session). Fourth, it was on the day of surgery in which preoperative anxiety level was recorded before the surgery (VAS before surgery).

Results: According to the study, it was found that VAS after talk became low after patients talked to the preanesthetic evaluation team (mean = 31.63; SD = 28.53). This was also significantly low in a comparison to VAS before talk (mean = 37.54; SD = 31.45; p< 0.01). Regarding VAS after video session, it was also low (mean = 28.57; SD = 28.10). And, this anxiety decreased significantly when compared to VAS before talk and VAS after talk (p< 0.01). On the operation day, it was found that VAS before surgery grew (mean = 39.01; SD = 31.42). Nevertheless, it was normally low. Comparing the anxiety level, the VAS before talk was not significantly different from VAS before surgery.

Conclusion: To sum up, the use of preanesthetic evaluation jointly used with video information by the anesthetic team yielded the results that it could conceivably decrease the anxiety level in two preanesthetic periods, which were after talking to anesthesia team and after watching a video. However, this integrated use was firmly unable to significantly lower the preoperative anxiety among patients.

 

บทนำ

         การได้รับการผ่าตัดถือเป็นความเครียดของช่วงชีวิตของผู้ป่วย ความกังวลก่อนผ่าตัดพบได้ประมาณร้อยละ 60-801-3 สาเหตุของความกังวลส่วนใหญ่เกิดจากความกลัวการผ่าตัดการระงับความรู้สึก และภาวะแทรกซ้อน เช่นความปวดคลื่นไส้อาเจียน2,3 มีการศึกษาพบว่าความกังวลก่อนการผ่าตัดมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของความปวดหลังผ่าตัดความต้องการยาแก้ปวดหลังผ่าตัดมากขึ้นเพิ่มระยะเวลาการพักฟื้นและการอยู่โรงพยาบาล4มีการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการลดความกังวลของผู้ป่วย เช่น การให้ยาคลายเครียดการใช้เพลงในการลดความกังวล5-8การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัด3, 9, 10

         ผู้ป่วยต้องการข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการระงับความรู้สึก (วางยาสลบ) การผ่าตัดสภาวะที่ผู้ป่วยจะต้องพบ และการดูแลรักษาที่จะได้รับ  การได้รับข้อมูลที่เพียงพอทำให้ผู้ป่วยเข้าใจมากขึ้นและคลายความกังวล

          รูปแบบของการสื่อสารในผู้ป่วยที่มาผ่าตัด ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการพูดคุย อธิบายการผ่าตัดการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด การวางยาสลบ และมีการตอบคำถามข้อสงสัยในตอนท้ายการสนทนา  รูปแบบอื่นนอกเหนือที่นำมาใช้ร่วมกับการพูดคุยได้แก่ การใช้แผ่นพับ การใช้วีดิทัศน์ประกอบ จากการศึกษาของ Xavier Ayral11และคณะพบว่า การให้ข้อมูลผ่านวีดิทัศน์แก่ผู้ป่วยก่อนผ่าตัดข้อเข่าสามารถลดความกังวลและมีประสิทธิภาพมากกว่าการพูดคุยกับแพทย์หรือแจกแผ่นพับเพียงอย่างเดียว ซึ่งวีดิทัศน์จากการศึกษาที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการผ่าตัด การทำหัตถการต่างๆไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการระงับความรู้สึกโดยเฉพาะ การศึกษาครั้งนี้จึงต้องการศึกษาถึงผลของการใช้วีดิทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการระงับความรู้สึก ต่อความกังวลก่อนการผ่าตัด เพื่อหวังผลลดความกังวลของผู้ป่วย และเพื่อจัดทำแนวทางการประเมินผู้ป่วยก่อนการระงับความรู้สึกโดยใช้วีดิทัศน์เนื่องจากความกังวลมีผลกระทบต่อผู้ป่วย และการดูแลรักษาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และปัจจุบันเทคโนโลยีได้ก้าวหน้า ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดาย และหลายรูป เช่นสมาร์ตโฟน (smartphone) แท็บเล็ตพีซี(tablet PC) จึงเลือกรูปแบบการให้ข้อมูลแบบวีดิทัศน์เพื่อศึกษาถึงผลของการให้ความรู้ก่อนการระงับความรู้สึก (วางยาสลบ) โดยใช้วีดิทัศน์ต่อความกังวลของผู้ป่วยในช่วงการประเมินก่อนการระงับความรู้สึก และช่วงก่อนการผ่าตัด

วิธีการศึกษา

         การศึกษานี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นการศึกษาแบบการศึกษาเชิงทดลอง (Experimental Research) กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่มาผ่าตัดตามตารางการผ่าตัดของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 194 ราย เกณฑ์พิจารณาเข้าร่วมการศึกษา คือ ผู้ป่วยที่สามารถรับการผ่าตัดได้ มีความเข้าใจในภาษาไทย มีความเข้าใจและสามารถให้คะแนนความกังวลได้ เกณฑ์แยกออกคือ ผู้ป่วยที่ไม่เข้าใจภาษา มีความบกพร่องทางสติปัญญาไม่สามารถให้ความร่วมมือในการศึกษาได้หลังจากผู้ป่วยที่ผ่านการพิจารณาว่าเข้าเกณฑ์ผู้ป่วยที่สามารถรับการผ่าตัดได้โดยแพทย์ผ่าตัดจากแต่ละแผนก ผู้ป่วยมาที่แผนกวิสัญญีวิทยาเพื่อประเมินก่อนการระงับความรู้สึก ผู้ป่วยญาติและผู้ปกครองได้รับการอธิบายถึงขั้นตอนการศึกษา การเข้ามามีส่วนร่วมของการศึกษาในครั้งนี้ หลังจากนั้นลงลายมือชื่อยินยอมเข้าร่วมการวิจัย ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินก่อนการระงับความรู้สึกประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด12,13  ที่คลินิกประเมินก่อนการระงับความรู้สึก ซึ่งในวันนั้นจะทำการวัดระดับความกังวลก่อนระงับความรู้สึกของผู้ป่วยโดยใช้ 100 มิลลิเมตร visual analog scale(VAS)14-16 ผู้ป่วยจะได้รับการอธิบายวิธีการประเมินความกังวล โดยระดับความกังวล 0 หมายถึงไม่มีความกังวล และ 100 หมายถึงกังวลมากที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้ ผู้ป่วยจะให้คะแนนความกังวลเป็นตัวเลข (ครั้งที่ 1 VAS ก่อนพูดคุย )  หลังจากนั้นทีมวิสัญญีจะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ประเมินก่อนการระงับความรู้สึก ว่าผู้ป่วยมีความพร้อมในการรับการผ่าตัดและการระงับความรู้สึกเพียงใด หลังจากประเมินโดยทีมวิสัญญีเสร็จแล้ว ผู้ป่วยจะให้คะแนนความกังวลหลังพูดคุย (ครั้งที่ 2 VAS หลังพูดคุย )

หลังจากให้คะแนนแล้ว ผู้ป่วยจะรับชมวีดิทัศน์เกี่ยวกับการระงับความรู้สึก หลังจากรับชมเสร็จ ผู้ป่วยจะให้คะแนนความกังวลหลังดูวีดิทัศน์ (ครั้งที่ 3 VAS หลังดูวีดิทัศน์ )

         ผู้ป่วยจะถูกประเมินก่อนการระงับความรู้สึกโดยวิสัญญีแพทย์หรือวิสัญญีพยาบาล และวีดิทัศน์ที่รับชมจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการระงับความรู้สึกซึ่งจัดทำโดยทีมวิสัญญีวิทยานักภาษามือผ่านการพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการศึกษาผ่านการทดสอบโดยประชาชนทั่วไป เนื้อหาวีดิโอเกี่ยวกับความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการระงับความรู้สึกชนิดของการระงับความรู้สึกการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด ขั้นตอนการระงับความรู้สึกภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ และในช่วงสุดท้ายของการประเมินจะเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยและญาติซักถามข้อสงสัยเกี่ยวการระงับความรู้สึก

         ในวันผ่าตัดจะมีการประเมินความกังวลอีกครั้งในช่วงที่ผู้ป่วยรอเข้าห้องผ่าตัด (ครั้งที่ 4 VAS ก่อนผ่าตัด)

          การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานในการเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนความวิตกกังวลในช่วงต่างๆ ด้วยสถิติ paired sample  t-test และเปรียบเทียบความวิตกกังวลระหว่างเพศ การเคยได้รับการระงับความรู้สึก ด้วยสถิติ independent sample t-test กําหนดให้ข้อมูลมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติเมื่อ p< 0.05

 ผลการศึกษา

          จำนวนผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 203 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 57.14) ช่วงอายุ 31-60 ปี (ร้อยละ 45.82) สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี หรือสูงกว่าปริญญาตรี (ร้อยละ 34.48) เคยผ่านการระงับความรู้สึกมาแล้ว (ร้อยละ 55.17) และส่วนใหญ่จะได้รับการผ่าตัดภายใน 10 วันหลังการประเมินก่อนการระงับความรู้สึก(ร้อยละ 38.42) (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 จำนวนและร้อยละข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง

ข้อมูลทั่วไป

จำนวน (ร้อยละ)

1. เพศ

 

ชาย

87 (42.86)

หญิง

116 (57.14)

รวม

203 (100.00)

2. อายุ(ปี)

 

18 - 30

50 (24.63)

     31 - 60

93 (45.82)

มากกว่า 61

60 (29.55)

รวม

203 (100.00)

3. ระดับการศึกษา

 

ประถมศึกษา

50 (24.63)

มัธยมศึกษาตอนต้นมัธยมศึกษาตอนปลายปวช.

45 (22.17)

อนุปริญญาปวส.กำลังศึกษาปริญญาตรี

38 (18.72)

จบการศึกษาปริญญาตรีสูงกว่าปริญญาตรี

70 (34.48)

รวม

203 (100.00)

4. ประวัติการเคยระงับความรู้สึก

 

เคย

112 (55.17)

ไม่เคย

91 (44.83)

รวม

203 (100.00)

5. ระยะเวลาตั้งแต่การประเมินก่อน

การระงับความรู้สึกถึงวันผ่าตัด(วัน)

 

1 - 10

78 (38.42)

11 - 20

38 (18.72)

21 - 30

46 (22.66)

มากกว่า 30

41 (20.20)

รวม

203 (100.00)

 

          ระดับความกังวลของผู้ป่วยก่อนการประเมินก่อนการระงับความรู้สึก(VASก่อนพูดคุย)มีความกังวลอยู่ในระดับต่ำ (ค่าเฉลี่ย= 37.54, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 31.45)  เมื่อได้รับความรู้เกี่ยวกับการระงับความรู้สึกจากทีมวิสัญญีแล้ว พบว่า ผู้ป่วยมีระดับความกังวล (VAS หลังพูดคุย) ลดลงอยู่ในระดับต่ำ   (ค่าเฉลี่ย =31.63, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 28.53) และลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับระดับความกังวลก่อนการประเมินก่อนการระงับความรู้สึก (VAS ก่อนพูดคุย) ( p<0.01) (ตารางที่ 2 และ 3)

 

ตารางที่ 2 ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของระดับความกังวลของกลุ่มตัวอย่าง (n=203)

ช่วงของการประเมิน

คะแนนVAS

Mean

SD

ก่อนพูดคุย

37.54

31.45

หลังพูดคุย

31.63

28.53

หลังดูวีดิทัศน์

28.57

28.10

ก่อนผ่าตัด

39.01

31.42

ตารางที่ 3  การเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย VAS ในระหว่างช่วงเวลาต่างๆ

เปรียบเทียบ

ช่วงเวลา

ค่าเฉลี่ย

VAS ก่อนพูดคุย

VAS หลังพูดคุย

VAS หลังดูวีดิทัศน์

37.54

31.63

28.57

VAS ก่อนพูดคุย

37.54

 

 

VAS หลังพูดคุย

31.63

5.91**

(t=5.295) (p=0.000)

 

 

VAS หลังดูวีดิทัศน์

28.57

8.97**

(t=5.655) (p=0.000)

3.05**

(t=3.273) (p=0.001)

 

VAS ก่อนผ่าตัด

39.01

-1.48

(t=0.850) (p=0.396)

-7.39**

(t=4.821) (p=0.000)

-10.44**

(t=6.083) (p=0.000)

 

หลังจากได้รับชมวีดิทัศน์ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการระงับความรู้สึกการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดขั้นตอนการระงับความรู้สึกภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ พบว่า ผู้ป่วยมีระดับความกังวล (VAS หลังดูวีดิทัศน์) ลดลงจากเดิมและอยู่ในระดับต่ำ (ค่าเฉลี่ย =28.57, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 28.10) และลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับระดับความกังวลทั้งในช่วงก่อนการประเมินก่อนการระงับความรู้สึก (VAS ก่อนพูดคุย) และระดับความกังวลหลังพูดคุย (VAS หลังพูดคุย) ( p<0.01)

          ในวันที่มาผ่าตัดพบว่า ผู้ป่วยมีความกังวลก่อนการผ่าตัด (VAS ก่อนผ่าตัด) เพิ่มมากขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ (ค่าเฉลี่ย =39.01, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 31.42) เมื่อเปรียบเทียบกับระดับความกังวลก่อนการประเมินก่อนการระงับความรู้สึก (VAS ก่อนพูดคุย) พบว่า ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

          กลุ่มตัวอย่างเพศหญิงจะมีระดับความกังวลสูงกว่าเพศชายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p <0.05 ในทุกๆ ช่วงเวลา (ตารางที่ 4)

          ในทุกๆ ช่วงเวลา ผู้ป่วยที่ไม่เคยผ่านการระงับความรู้สึกมาก่อนจะมีระดับความกังวลสูงกว่าผู้ป่วยที่เคยผ่านการระงับความรู้สึก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p<0.05 (ตารางที่ 5)

ตารางที่ 4 เปรียบเทียบความกังวลในช่วงเวลาต่าง ๆ โดยจำแนกตามเพศ

VAS ในช่วงเวลาต่างๆ

เพศ

N

Mean

SD

t

p

ก่อนพูดคุย

ชาย

87

30.69

27.19

2.811*

0.005

 

หญิง

116

42.67

33.50

หลังพูดคุย

ชาย

87

26.44

25.92

2.267*

0.024

 

หญิง

116

35.52

29.85

หลังดูวีดิทัศน์

ชาย

87

23.79

25.21

2.166*

0.031

 

หญิง

116

32.16

29.69

ก่อนผ่าตัด

ชาย

87

32.64

29.03

2.576*

0.011

 

หญิง

116

43.79

32.40

 

ตารางที่ 5  เปรียบเทียบความกังวลในช่วงเวลาต่าง ๆ โดยจำแนกตามการเคยผ่านการระงับความรู้สึก

ช่วงเวลาที่ทดลอง

การเคยดมยาสลบ

N

Mean

SD

t

p

ก่อนพูดคุย

เคย

112

29.29

30.16

4.325*

0.000

 

ไม่เคย

91

47.69

30.15

หลังพูดคุย

เคย

112

24.91

27.05

3.846*

0.000

 

ไม่เคย

91

39.89

28.26

หลังดูวีดิทัศน์

เคย

112

20.89

24.44

4.436*

0.000

 

ไม่เคย

91

38.02

29.52

ก่อนผ่าตัด

เคย

112

30.71

29.58

4.358*

0.000

 

ไม่เคย

91

49.23

30.74

 

วิจารณ์

          ขั้นตอนการะงับความรู้สึกประกอบด้วย 3 ช่วงคือ ช่วงก่อน  ระหว่าง และหลังการระงับความรู้สึก ซึ่งแต่ละช่วงมีความสำคัญพอๆ กัน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยจึงควรเตรียมผู้ป่วยให้พร้อมเพื่อรับการระงับความรู้สึก  ในช่วงก่อนการระงับความรู้สึกเป็นการประเมินผู้ป่วยก่อนระงับความรู้สึก  ให้คำแนะนำถึงการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดและการระงับความรู้สึก  อธิบายถึงขั้นตอน ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ของการระงับความรู้สึก  รวมทั้งการตอบปัญหา ข้อสงสัยของผู้ป่วย รวมถึงการลงนามยินยอมให้ระงับความรู้สึก  จากการศึกษาของ Jawaid และคณะ3 พบว่า ผู้ป่วยก่อนการระงับความรู้สึกจะมีความกลัวกังวลในหลายๆ เรื่อง เช่น เป็นห่วงครอบครัวภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นผลของการผ่าตัด และความเจ็บปวดหลังผ่าตัด การอธิบายเกี่ยวกับการผ่าตัดและการระงับความรู้สึกช่วยลดความกังวลได้ดังนั้นการประเมินก่อนการระงับความรู้สึกจึงมีประโยชน์นอกจากจะลดความกังวลยังเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการระงับความรู้สึก17-19และเพิ่มความพึงพอใจอีกด้วย11, 17, 18

          ความกังวลก่อนการผ่าตัดและระงับความรู้สึกเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยพบได้ถึงร้อยละ 6220โดยมีการศึกษาและคิดหาวิธีในการจัดการกับความกังวลหลายวิธี เช่น การอธิบายพูดคุยก่อนการระงับความรู้สึก(การวางยาสลบ)3, 17การแจกแผ่นพับให้ความรู้17 การนวด21 การใช้อโรมาเธราปี21, 22 การใช้ดนตรี5-8  และวีดิทัศน์ ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีการศึกษาเปรียบเทียบกับวิธีอื่นๆ แล้วได้ผลดี11, 19, 23-25

          จากการศึกษานี้พบว่า ผู้ป่วยมีระดับความกังวลเฉลี่ยก่อนการประเมินก่อนการระงับความรู้สึก (VAS ก่อนพูดคุย) มากกว่าระดับความกังวลเฉลี่ยหลังการประเมินก่อนการระงับความรู้สึก (VAS หลังพูดคุย) อย่างมีนัยสำคัญ การประเมินก่อนการระงับความรู้สึกโดยการพูดคุยกับทีมวิสัญญีสามารถลดความกังวลของผู้ป่วย  ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Jawaid และคณะ3และ Synder-Ramos17 พบว่าการให้ความรู้เกี่ยวกับการระงับความรู้สึก และการประเมินก่อนการระงับความรู้สึกสามารถลดความกังวลและผู้ป่วยมีความรู้เพิ่มมากขึ้นด้วย ผู้ป่วยมีโอกาสทำความเข้าใจและเปิดโอกาสให้ซักถามเกี่ยวกับการระงับความรู้สึก ทำให้ผู้ป่วยหายสงสัยคลายกังวล และระดับความกังวลจึงลดลง

          หลังจากผู้ป่วยรับชมวีดิทัศน์ และวัดระดับความกังวลพบว่า ระดับความกังวลเฉลี่ยหลังดูวีดิทัศน์ (VAS หลังดูวีดิทัศน์)  มีค่าน้อยกว่าระดับความกังวลเฉลี่ยก่อนและหลังการประเมินก่อนการระงับความรู้สึก (VAS ก่อนพูดคุยและ VAS หลังพูดคุย) อย่างมีนัยสำคัญ  วีดิทัศน์สามารถลดความกังวลของผู้ป่วยได้ โดยผู้ป่วยที่มีความสงสัยเกี่ยวกับการระงับความรู้สึกว่าต้องทำอะไรบ้าง หรือจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วย เมื่อดูวีดิทัศน์แล้วมีความเข้าใจในการระงับความรู้สึกมากขึ้น เห็นภาพชัดเจน ทำให้คลายกังวลได้ วีดิทัศน์จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความกังวลของผู้ป่วยนอกเหนือจากการพูดคุยตามปกติ

          ความสัมพันธ์ของ เพศ อายุ การศึกษา และประสบการณ์การเคยผ่านการระงับความรู้สึก กับระดับความกังวลก่อนการระงับความรู้สึก  จากการศึกษาพบว่า เพศหญิงมีความกังวลมากกว่าชาย อายุยิ่งมากขึ้นความกังวลจะมีแนวโน้มลดลง แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติผู้ป่วยในระดับการศึกษาที่ต่างกันจะมีระดับความกังวลในแต่ละระดับการศึกษาลดลง แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และผู้ป่วยที่ไม่เคยผ่านการระงับความรู้สึกมาก่อนจะมีความกังวลมากกว่าผู้ป่วยที่เคยมีประสบการณ์ผ่านการระงับความรู้สึกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

          จากหลายการศึกษาก่อนหน้านี้ พบว่า เพศหญิงมีความกังวลมากกว่าเพศชาย3, 11, 20 อายุยิ่งมากความกังวลก็จะลดลง11, 20 ยิ่งการศึกษาสูงความกังวลจะน้อยกว่า20 ผู้ที่เคยผ่านการผ่าตัดมาแล้วจะมีความกังวลน้อยกว่า20 ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการศึกษาครั้งนี้ ดังนั้นผู้ป่วยหญิง อายุน้อย และไม่เคยผ่านการระงับความรู้สึกจึงเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ทีมวิสัญญีต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากจะมีความกังวลมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

          ในวันที่ผ่าตัดได้สอบถามระดับความกังวลอีกครั้ง ปรากฏว่าระดับความกังวลก่อนการผ่าตัดสูงมากกว่าระดับความกังวลก่อนการประเมินก่อนการระงับความรู้สึก อาจเนื่องมาจากการวัดระดับความกังวลก่อนการผ่าตัดนั้นได้ถามก่อนเข้าห้องผ่าตัดหรือในห้องผ่าตัดซึ่งใกล้เวลาจะทำการผ่าตัดแล้ว ทำให้กระชั้นชิดเกินไป ความกังวลจึงเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าช่วงการประเมินก่อนการระงับความรู้สึกสอดคล้องกับการศึกษาของ Jlalaและคณะ25พบว่า ระดับความกังวลก่อนการผ่าตัดจะเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับความกังวลในช่วงประเมินการก่อนการระงับความรู้สึก แต่ในกลุ่มที่ดูวีดิทัศน์จะมีระดับความกังวลน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ดู   

นอกจากความกังวลเกี่ยวกับการระงับความรู้สึกแล้ว ผู้ป่วยยังมีความกังวลเกี่ยวกับการผ่าตัดร่วมด้วยจากการศึกษาของ Jawaid3 พบว่าผู้ป่วยมีระดับความกังวลเกี่ยวกับการผ่าตัด (57.65  ± 25.1) มากกว่าการระงับความรู้สึก (38.14 ± 26.05) ซึ่งในระหว่างพูดคุยแนะนำเกี่ยวกับการระงับความรู้สึก ผู้ป่วยจะมีคำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับการผ่าตัดร่วมด้วย ซึ่งระดับความกังวลที่วัดในการศึกษานี้วัดระดับความกังวลโดยรวม ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นความกังวลเกี่ยวกับการระงับความรู้สึก ดังนั้นค่าระดับความกังวลที่ได้หลังจากพูดคุยและดูวีดิทัศน์อาจจะสูงกว่าปกติได้ เนื่องจากความกังวล และความสงสัยเกี่ยวกับการผ่าตัดยังไม่ได้รับคำตอบและคำอธิบายที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นการประเมินการก่อนผ่าตัดและการระงับความรู้สึกควรทำร่วมกันทั้งสองแผนก โดยจัดทำเป็นคลินิกประเมินก่อนการผ่าตัดและการระงับความรู้สึก  เพื่อให้ครบวงจรและผู้ป่วยหมดข้อสงสัยในทุกๆด้านและคลายกังวลด้วย

          เนื้อหาและภาพประกอบในวีดิทัศน์แสดงถึงการเตรียมตัวขั้นตอน และภาวะแทรกซ้อนของการระงับความรู้สึกซึ่งแสดงโดยคนจริง ซึ่งบางภาพอาจน่ากลัวสำหรับผู้ป่วยบางคน เช่น ภาพการใส่ท่อช่วยหายใจ การแทงเข็มบล็อกหลัง ซึ่งผู้ป่วยบางคนกลัวไม่กล้าที่จะดูและมีความกลัวและความกังวลเพิ่มมากขึ้น ต้องมีการอธิบายเพิ่มเติมเพื่อตอบข้อสงสัย แต่สำหรับผู้ป่วยบางคนมีความสนใจอยากรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตนเองบ้าง เมื่อได้รับชมวีดิทัศน์ความกังวลจะลดลงและไม่มีข้อสงสัย ดังนั้นการประเมินก่อนการระงับความรู้สึกจึงจำเป็นต้องพิจารณาเลือกวิธีการให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละคน

 

จุดอ่อนและข้อเสนอแนะ

เนื้อหาให้วีดิทัศน์ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการระงับความรู้สึก จะไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรักษาและการผ่าตัด หรือการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด จึงควรจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานในการประเมินก่อนการระงับความรู้สึก (โดยแผนกวิสัญญี) ร่วมกับการประเมินก่อนการผ่าตัด (แผนกศัลยกรรม) เพื่อผู้ป่วยจะได้มีความรู้เกี่ยวกับการผ่าตัดและการระงับความรู้สึก เพิ่มความรู้และลดความกังวลของผู้ป่วย โดยจัดตั้งในรูปแบบของคลินิกก่อนการผ่าตัดและระงับความรู้สึก

การศึกษานี้ไม่ได้หาสาเหตุของความกังวลของผู้ป่วยว่ามีความกังวลเรื่องใด เช่น การผ่าตัด การรักษา ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด การระงับความรู้สึก หรือเรื่องอื่นๆ ทำให้การศึกษาโดยใช้วีดีทัศน์มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการระงับความรู้สึกเพียงอย่างเดียวเพื่อลดความกังวล อาจไม่ได้ลดความกังวลของผู้ป่วยอย่างตรงจุดอาจมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงสาเหตุของความกังวล เพื่อลดความกังวลได้อย่างตรงจุด

          วีดิทัศน์มีภาพประกอบการทำหัตการที่ดูน่ากลัวเกินไปสำหรับผู้ป่วยบางคน เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ การบล็อกหลัง จึงอาจหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยที่มีความกังวลสูง หรืออาจใช้ภาพประกอบอื่นเช่นภาพวาดประกอบการทำหัตถการ หรืออาจเป็นภาพการ์ตูนผู้ป่วยเด็กอาจปรับปรุงรูปแบบให้น่าสนใจมากขึ้น เช่น จัดทำวีดิทัศน์ในรูปแบบการ์ตูนมีเนื้อหาและภาพที่มีสีสันที่เหมาะสำหรับเด็ก

 

เนื้อหาของวีดิทัศน์นานเกินไป (8 นาที 13 วินาที) เมื่อรวมกับขั้นตอนอื่นๆ ของการประเมินก่อนการระงับความรู้สึก (การพูดคุย ซักประวัติ ตรวจร่างกาย อธิบาย และตอบปัญหาเกี่ยวกับการระงับความรู้สึก) จะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ20-30นาทีต่อผู้ป่วยหนึ่งรายส่งผลกระทบต่อเวลาในการทำงานในส่วนอื่นๆของแผนกวิสัญญีได้จึงแนะนำให้จัดทำวีดิทัศน์ที่สั้นลง และกระชับมากขึ้น

สรุป

          การประเมินก่อนการระงับความรู้สึกโดยใช้วีดิทัศน์ร่วมด้วยสามารถลดความกังวลในช่วงการประเมินก่อนการระงับความรู้สึกทั้งในช่วงหลังจากพูดคุยกับแผนกวิสัญญีและหลังจากดูวีดิทัศน์ แต่ไม่สามารถช่วยลดความกังวลก่อนการผ่าตัดได้การประเมินก่อนการระงับความรู้สึกโดยการพูดคุยซักถามกับแผนกวิสัญญีเป็นวิธีปฏิบัติทั่วไปในการประเมินก่อนการระงับความรู้สึก การดูวีดิทัศน์เป็นวิธีหนึ่งที่นำมาใช้ร่วมด้วย ซึ่งจากการศึกษานี้และอีกหลายๆการศึกษายืนยันได้ว่า การใช้วีดิทัศน์ร่วมด้วยสามารถลดความกังวลได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Hashimoto Y, Baba S, Koh H, Takagi H, Ishihara H, Matsuki A. Anxiolytic effect of pre-operative showing of anesthesia video for surgical patients. Masui 1993; 42: 611–6.
  2. Jlala HA, French JL, Hardman JG, Bedforth NM. Anesthesiologists’ perception of patients’ anxiety under regional anesthesia. Local and Regional Anesthesia 2010; 3: 65–71.
  3. Jawaid MMushtaq AMukhtar SKhan Z Preoperative anxiety before elective surgery.Neurosciences (Riyadh) 2007; 12: 145-8.
  4. Johnston  M.  Pre-operative emotional  states  and  post-operative recovery. AdvPsvchosom  Med 1986; 15: 1-22.
  5. Bechtold ML, Perez RA, Puli SR, Marshall JB. Effect of music on patients undergoing outpatient colonoscopy. World J Gastroentero 2006; 12: 7309–12.
  6. Labrague LJ. Influence of Music on Preoperative Anxiety and Physiologic Parameters in Women Undergoing Gynecologic Surgery. JClinNurs Res 2014;  25: 157-73.
  7. Ni CH. Minimising preoperative anxiety with music for day surgery patients - a randomised clinical trial. J ClinNurs  2012;  21: 620-5.

8.    Cooke M. The effect of music on preoperative anxiety in day surgery. J AdvNurs 2005; 52: 47-55.

  1. Hughes S. The effects of giving patients preoperative information. Nurs Stand 2002; 16:  33–7.
  2. Kiyohara LY. Surgery information reduces anxiety in the pre-operative period. Rev HospClínFac Med S Paulo 2004; 59:  51-6.
  3. Ayral X, Gicquere C, Duhalde A, Boucheny D, Dougados M. Effects of Video Information on Preoperative Anxiety Level and Tolerability of Joint Lavage in Knee Osteoarthritis. Arthritis  Rheum 2002; 47: 380-2.
  4. Klopfenstein CEForster AVan Gessel E. Anesthetic assessment in an outpatient consultation clinic reduces preoperative anxiety. Can J Anaesth 2000; 47: 511-5.
  5. Ehsan-ul-Haq M. Role of pre-anaesthesia outpatient clinic in reducing pre-operative anxiety. J Coll Physicians Surg Pak  2004; 14: 202-4.

14. Kindler CH. The visual analog scale allows effective measurement of preoperative anxiety and detection of patients' anesthetic concerns. AnesthAnalg 2000;  90: 706-12.

15.  Romanik W, Kański A, Soluch P, Szymańska O. Preoperative anxiety assessed by questionnaires and patient declarations. Anestezjol Intens Ter  2009;  41: 94-9.

16.  Boker A.The Amsterdam preoperative anxiety and information scale provides a simple and reliable measure of preoperative anxiety.Can J Anaesth 2002;  49: 792-8.        

  1. Snyder-Ramos SA. Patient Satisfaction and Information Gain After the Preanesthetic Visit: A Comparison of Face-to-Face Interview, Brochure, and Video. AnesthAnalg 2005; 100: 1753–8.
  2. Pager CK. Randomised controlled trial of preoperative information to improve satisfaction with cataract surgery.Br J Ophthalmol 2005;  89:  10-3.

19. Salzwedel CPetersen C, Blanc IKoch UGoetz AESchuster M.The effect of detailed, video-assisted anesthesia risk education on patient anxiety and the duration of the preanesthetic interview: a randomized controlled trial. Anesth Analg 2008; 106: 202-9.

20. Jafar MFKhan FA. Frequency of preoperative anxiety in Pakistani surgical patients.J Pak Med Assoc 2009; 59: 359-63. 

21. Norred CL. Minimizing preoperative anxiety with alternative caring-healing therapies. AORN J 2000; 72:  838-43.

22. Ni C-H, Hou W-H, Kao C-C, Chang M-L, Yu L-H, Wu C-C, et al. The anxiolytic effect of aromatherapy on patients awaiting ambulatory surgery: a randomized controlled trial. Evid Based Complement Alternat [Internet]. 2013 [cited Oct 15, 2014]; 2013:[about 5 p.]. Available from:http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3877597/pdf/ECAM2013-927419.pdf

23. Luck A, Pearson S, Maddern G, Hewett P. Effects of video information on precolonoscopy anxiety and knowledge: a randomized trial. Lancet 1999; 354: 2032–5.

24. Herrmann KS, Kreuzer H. A randomized prospective study on anxiety reduction by preparatory disclosure with and without video film show about a planned heart catheterization. EurHeart J 1989; 10: 753–7.

  1. Jlala HA, French JL, Foxall GL, Hardman JG, Bedforth NM.Effect of preoperative multimedia information on perioperative anxiety in patients undergoing procedures under regional anaesthesia.Br J Anaesth 2010; 104: 369-74.

 

 

 

Untitled Document
Article Location

Untitled Document
Article Option
       Abstract
       Fulltext
       PDF File
Untitled Document
 
ทำหน้าที่ ดึง Collection ที่เกี่ยวข้อง แสดง บทความ ตามที่ีมีใน collection ที่มีใน list Untitled Document
Another articles
in this topic collection

Surveillance of and Risk Fztors for Difficult Intubation At Srinagarind Hosipital (การเฝ้าระวังการใส่ท่อช่วยหายใจลำบากระหว่างการวางยาระงับความรู้สึกในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง)
 
Surveillance of Drug Error during Anesthesia at Srinagarind Hospital Khon Kaen University (การเฝ้าระวังความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
 
Incidence of Anesthesia-Associated Cardiac Arrest And Related Factors At Srinagarind Hospital (อุบัติการณ์ภาวะหัวใจหยุดเต้นและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการระงับความรู้สึกในโรงพยาบาลศรีนครินทร์)
 
New Trend Anesthesia for Cesarean Section (แนวโน้มการให้ยาระงับความรู้สึกเพื่อผ่าตัดคลอด)
 
<More>
Untitled Document
 
This article is under
this collection.

Anesthesia
 
 
 
 
Srinagarind Medical Journal,Faculty of Medicine, Khon Kaen University. Copy Right © All Rights Reserved.
 
 
 
 

 


Warning: Unknown: Your script possibly relies on a session side-effect which existed until PHP 4.2.3. Please be advised that the session extension does not consider global variables as a source of data, unless register_globals is enabled. You can disable this functionality and this warning by setting session.bug_compat_42 or session.bug_compat_warn to off, respectively in Unknown on line 0