บทนำ
การระงับความรู้สึกแบบทั่วไป (General anesthesia) เป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้ระงับความรู้สึกในกรณีที่มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึก ปราศจากความเจ็บปวดในระหว่างการผ่าตัด นอกจากนี้การผ่าตัดบางชนิดต้องการการหย่อนกล้ามเนื้อร่วมด้วย เช่น การผ่าตัดในช่องอกหรือช่องท้อง ผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เพื่อให้สามารถควบคุมการหายใจได้อย่างปลอดภัย และป้องกันทางเดินหายใจอุดกั้น หรือสำลักระหว่างที่ผู้ป่วยหมดความรู้สึก
การใส่ท่อช่วยหายใจในผู้ป่วยบางรายอาจทำได้ยาก ด้วยกายวิภาคที่แตกต่างกันของทางเดินหายใจ ซึ่งการใส่ท่อช่วยหายใจลำบากนี้ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจลงหลอดอาหาร (esophageal intubation), ภาวะพร่องออกซิเจน (hypoxia), ความดันโลหิตสูง (hypertension), คอหอยได้รับบาดเจ็บ (pharyngeal trauma), ฟันและช่องปากได้รับบาดเจ็บ (dental and oral cavity injury) และอุบัติการณ์การนอนโรงพยาบาลนานเพิ่มขึ้นได้ (increase length of hospital stay)
ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ สถิติการให้การระงับความรู้สึกในปีพ.ศ. 25511 มีจำนวน 14,388 ราย เป็นผู้ป่วยที่ใช้เทคนิคการระงับความรู้สึกแบบทั่วไป (general anesthesia) 10,929 ราย ในจำนวนนี้พบว่ามีผู้ป่วยที่คาดการณ์ว่าจะมีการใส่ท่อช่วยหายใจลำบากจากการตรวจประเมินทางเดินหายใจจำนวน 207 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.89 และอีก 7 ราย ที่ใส่ท่อช่วยหายใจลำบาก โดยไม่สามารถประเมินได้จากการตรวจประเมินทางเดินหายใจ ซึ่งในกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้มาก
การตรวจร่างกายที่ใช้ประเมินการใส่ท่อช่วยหายใจลำบากมีหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีมีความไวและความแม่นยำในการประเมินได้แตกต่างกัน โดยพบว่าหากใช้การประเมินเพียงวิธีใดวิธีหนึ่งจะทำให้ขาดความแม่นยำในการประเมินการใส่ท่อช่วยหายใจลำบาก ต่างจากการใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น การใช้ Mallampati classification ร่วมกับ thyro-mental distance2 หรือการใช้ thyro-mental distance, Mallampati score, Inter-incisor gap และ height3 จะสามารถประเมินการใส่ท่อช่วยหายใจลำบากได้ไว และแม่นยำมากขึ้น
สำหรับผู้ป่วยที่ผ่านการตรวจประเมินทางเดินหายใจก่อนผ่าตัดและสงสัยว่าจะใส่ท่อช่วยหายใจลำบาก ควรมีการส่องดูภาพกล่องเสียงผู้ป่วยขณะรู้สึกตัว (awake look)4 เพื่อประเมินระดับความยาก-ง่ายและช่วยในการตัดสินใจเลือกวิธีใส่ท่อช่วยหายใจ โดยมีการให้ยาคลายกังวลและยาชาเฉพาะที่แก่ผู้ป่วยก่อนทำการตรวจ หากสามารถยกฝาปิดกล่องเสียง (epiglottis) และมองเห็นสายเสียงได้ชัดเจน การใส่ท่อช่วยหายใจขณะผู้ป่วยรู้สึกตัวอาจไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับความสอดคล้องของลักษณะภาพกล่องเสียง (laryngoscopic view) ที่ส่องดูในขณะผู้ป่วยรู้สึกตัว และในขณะผู้ป่วยหมดความรู้สึกในผู้ป่วยเหล่านี้
วัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาหาความสอดคล้องของลักษณะภาพกล่องเสียง (laryngoscopic view) ที่ส่องดูในขณะผู้ป่วยรู้สึกตัว (awake look) และในขณะหมดความรู้สึก (anesthetizedd look) ในผู้ป่วยที่ผลตรวจประเมินทางเดินหายใจก่อนผ่าตัด สงสัยว่าจะใส่ท่อช่วยหายใจลำบาก
วิธีการศึกษา
เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบไปข้างหน้า (Prospective descriptive study) โครงการผ่านการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (เลขที่ HE531137) โดยเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดโดยใช้เทคนิคการระงับความรู้สึกแบบทั่วไปชนิดใส่ท่อช่วยหายใจทุกราย ในโรงพยาบาล ศรีนครินทร์ ตามเกณฑ์คัดเข้าและคัดออกของผู้ป่วย รวมถึงกระบวนการในการเก็บข้อมูล ดังนี้
เกณฑ์คัดเข้า (Inclusion criteria)
· ผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดโดยใช้เทคนิคการระงับความรู้สึกแบบทั่วไปชนิดใส่ท่อช่วยหายใจ
· อายุระหว่าง 20-65 ปี
· ผู้ป่วยที่สงสัยมีภาวะใส่ท่อช่วยหายใจลำบาก ได้แก่
1. Inter-incisor gap < 4 ซม.
2. Thyro-mental distance < 6 ซม.
3. Mallampati classification ระดับ III และ IV
4. Upper lip bite test ระดับ II และ III
5. มีประวัติใส่ท่อช่วยหายใจลำบาก (history of difficult intubation)
เกณฑ์คัดออก (exclusion criteria)
· ผู้ป่วยที่มีสภาวะ ASA (American society of anaesthesiologists) classifications ระดับ 3, 4 และ 5
· ผู้ป่วยที่ไม่สามารถตรวจประเมินทางเดินหายใจก่อนการผ่าตัดได้ครบ 5 ข้อดังกล่าว
Inter-incisor gap (IIG) เป็นการตรวจระยะของฟันตัด ใช้ไม้บรรทัดวัดระยะของฟันตัดเมื่ออ้าปากกว้างเต็มที่โดยให้ผู้ป่วยนั่งตัวตรงศีรษะอยู่ในท่า neutral
Thyro-mental distance (TMD) เป็นการวัดระยะของกระดูกขากรรไกรล่างใช้ไม้บรรทัดวัดจากกระดูก thyroid (laryngeal prominence of thyroid cartilage) ถึงปลายคางโดยให้ผู้ป่วยนั่งตัวตรงแหงนคอเต็มที่และไม่ต้องอ้าปาก
Mallampati classification การทดสอบ Mallampati เพื่อดูโครงสร้างภายในช่องปาก (oropharyngeal view) โดยจัดให้ผู้ป่วยอยู่ท่านั่งศีรษะตรง (neutral) อ้าปากและแลบลิ้นเต็มที่โดยไม่เปล่งเสียง แบ่งเป็น 4 ระดับ (รูปที่ 1)

ระดับที่ 1 สามารถเห็นอวัยวะภายในช่องปากชัดเจน ได้แก่ เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ขอบล่างของต่อมทอนซิล
ระดับที่ 2 เห็นเพดานอ่อนไม่เห็นปลายลิ้นไก่
ระดับที่ 3 เห็นเพดานอ่อนและเฉพาะโคนลิ้นไก่,
ระดับที่ 4 ไม่เห็นเพดานอ่อนเห็นเฉพาะเพดานแข็ง
รูปที่ 1 แสดง mallampati classification
Upper lip bite test โดยจัดให้ผู้ป่วยอยู่ท่านั่งศีรษะตรง (neutral) ยื่นฟันล่างออกมาแตะริมฝีปากบน และรายงานผลเป็นระดับ 1 ถึง 3 (รูปที่ 2)

ระดับที่ 1 สามารถใช้ฟันล่างกัดริมฝีปากบนได้ทั้งหมด
ระดับที่ 2 สามารถใช้ฟันล่างกัดริมฝีปากบนได้บางส่วน
ระดับที่ 3 ไม่สามารถใช้ฟันล่างกัดริมฝีปากบนได้
รูปที่ 2 แสดง upper lip bite test
วิธีการศึกษา
หลังจากทีมผู้วิจัยได้ชี้แจงแก่อาสาสมัคร และเซ็นยินยอมเข้าร่วมโครงการ ผู้ป่วยจะได้รับการติดอุปกรณ์เฝ้าระวังตามมาตรฐานการให้ยาสลบของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ให้สูดดมออกซิเจน 5 ลิตรต่อนาที เป็นเวลา 3 นาที ด้วยการหายใจตามปกติ และให้การดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. พ่นยาชาเฉพาะที่ด้วย 10% xylocaine ชนิดพ่น บริเวณโคนลิ้น และช่องทางเข้าหลอดคอ
2. ให้ยาคลายกังวล Midazolam 0.02 มก./กก. และให้ยาระงับปวด Morphine 0.1 มก./กก.
3. จากนั้นส่องดูลักษณะภาพกล่องเสียงในขณะผู้ป่วยรู้สึกตัว (awake look) และรายงานผลตาม Cormack and Lehane classification โดยวิสัญญีแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมอย่างน้อย 1 ปี
4. หากสามารถเลือกวิธีใส่ท่อช่วยหายใจโดยให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึกก่อนได้ จะส่องดูภาพกล่องเสียงในขณะผู้ป่วยหมดความรู้สึก (anesthetized look) อีกครั้ง และรายงานตาม Cormack and Lehane classification โดยวิสัญญีแพทย์คนเดิม
5. หากไม่สามารถเลือกวิธีใส่ท่อช่วยหายใจโดยให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึกก่อนได้ จะมีการติดตามและบันทึก เกี่ยวกับหัตถการต่างๆที่ใช้ในการจัดการกับทางเดินหายใจต่อไป
Awake look หมายถึง การส่องตรวจกล่องเสียงขณะผู้ป่วยรู้สึกตัวหลังจากให้ preoxygenation ได้รับยาคลายกังวล (sedation) และพ่นยาชาบริเวณกล่องเสียง รายงานผลการประเมินโดยใช้ Cormack and Lehane classification
Anesthetizeddd look หมายถึงการส่องตรวจกล่องเสียงหลังจากให้ยาระงับความรู้สึก และรายงานผลการประเมินโดยใช้ Cormack and Lehane classification
Cormack and Lehane classification จำแนกความยากง่ายของการใส่ท่อช่วยหายใจโดย Cormack และ Lehance เมื่อเปิดดูด้วย laryngoscopy จะเห็นภาพของกล่องเสียงโดยตรงจากการมองผ่าน laryngoscopy (Direct laryngoscopic view: DL view) เป็น 4 ระดับ (รูปที่ 3)

ระดับ 1 เห็นช่องเปิดสายเสียงชัดเจน
ระดับ 2 เห็นบางส่วนของช่องเปิดสายเสียง
ระดับ 3 เห็นปลายฝาปิดกล่องเสียง
ระดับ 4 ไม่เห็นฝาปิดกล่องเสียงเลย
รูปที่ 3 แสดง Direct laryngoscopic view
วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ เพศ แสดงเป็นค่าร้อยละ ส่วนข้อมูลอายุ น้ำหนัก ดัชนีมวลกาย รายงานเป็นค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือค่ามัธยฐาน (ค่าต่ำสุดและสูงสุด) สำหรับข้อมูลที่มีการกระจายไม่ปกติ ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจร่างกายวิธีต่างๆ และลักษณะภาพกล่องเสียง (DL view) ในขณะผู้ป่วยรู้สึกตัว (awake look) และในขณะผู้ป่วยหมดความรู้สึก(anesthetizedd look) รายงานเป็นจำนวนและร้อยละ ค่าความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลพื้นฐานกับผลตรวจประเมินทางเดินหายใจ ความสัมพันธ์ระหว่างผลตรวจประเมินทางเดินหายใจกับลักษณะภาพกล่องเสียง และความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะภาพกล่องเสียงใน awake look และ anesthetized look รายงานเป็นจำนวนและร้อยละ และหาค่าความสอดคล้องระหว่างการตรวจภาพกล่องเสียงแบบ awake look และแบบ anesthetized look โดยใช้สัมประสิทธิ์ kappa
ผลการศึกษา
จากการศึกษา พบว่าผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การศึกษาวิจัยนี้ จำนวน 15 ราย มีน้ำหนักและดัชนีมวลกายเฉลี่ย ดังตารางที่ 1 [อายุเฉลี่ย (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) 47.6 (11) ปี] ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 66.7)
จากการตรวจร่างกายประเมินทางเดินหายใจ พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่มีค่า inter-incisor gap < 4 ซม. ค่า thyro-mental distance < 6 ซม. ค่า mallampati classification ระดับ III และ IV ค่า upper lip bite test II และ III และมีประวัติใส่ท่อช่วยหายใจลำบาก คิดเป็นร้อยละ 53.3 53.3 73.3 60 และ 66.7 ตามลำดับ (ตารางที่ 2)
ผู้ป่วยที่ผลตรวจภาพกล่องเสียง DL view แบบ awake look ระดับ III และ IV จะพบว่าผลตรวจประเมินทางเดินหายใจมีค่า mallampati ระดับ III และ IV ร้อยละ 80 ค่า inter-incisor gap < 4 ซม. ร้อยละ 70 ค่า upper lip bite test II และ III ร้อยละ 60 ค่า thyro-mental distance < 6 ซม. ร้อยละ 50 และมีประวัติใส่ท่อช่วยหายใจลำบาก ร้อยละ 50 และในผู้ป่วยที่ตรวจภาพกล่องเสียง DL view แบบ anesthetized look ระดับ III และ IV เมื่อตรวจประเมินทางเดินหายใจจะมีค่า mallampati ระดับ III และ IV รวมถึง upper lip bite test II และ III ทุกราย และมีค่า inter-incisor gap < 4 ซม. ร้อยละ 75 ค่า thyro-mental distance < 6 ซม. ร้อยละ 50 และมีประวัติใส่ท่อช่วยหายใจลำบาก ร้อยละ 25 (ตารางที่ 3)
ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะภาพกล่องเสียง DL view ใน awake look และ anesthetized look พบว่า ผู้ป่วยที่ตรวจได้ DL view ระดับ III และ IV ใน awake look เมื่อตรวจ DL view ใน anesthetized look จะได้ระดับ I และ II ร้อยละ 60 และระดับ III และ IV ร้อยละ 40 และในผู้ป่วยที่ตรวจได้ DL view ระดับ III และ IV ใน awake look จำนวน 10 ราย พบว่าสามารถใส่ท่อช่วยหายใจได้สำเร็จโดยวิธีปกติ 7 ราย (ตารางที่ 4)
ด้านความสอดคล้อง (agreement) ระหว่างการตรวจภาพกล่องเสียง DL view ใน awake look และ anesthetized look พบว่ามีค่าสัมประสิทธิ์ kappa เท่ากับ 0.31 (95%CI 0.002-0.617)
ตารางที่ 1 ข้อมูลพื้นฐาน
ข้อมูล |
จำนวน |
จำนวนผู้ป่วย (ราย) |
15 |
อายุเฉลี่ย (ปี) |
47.6 ± 11 |
เพศ จำนวน (ร้อยละ) |
|
ชาย |
5 (33.3) |
หญิง |
10 (66.7) |
ASA classification จำนวน (ร้อยละ) |
|
I |
2 (13.3) |
II |
13 (86.7) |
น้ำหนักเฉลี่ย (กิโลกรัม) |
66.8 ± 16 |
ดัชนีมวลกายเฉลี่ย (กก/ม2) |
27.6 ± 6 |
ตารางที่ 2 การตรวจประเมินทางเดินหายใจ
Inter-incisor gap: N (%) |
< 4 ซม. |
8 (53.3) |
> 4 ซม. |
7 (46.7) |
Thyro-mental distance: N (%) |
< 6 ซม. |
8 (53.3) |
> 6 ซม. |
7 (46.7) |
Mallampati classification: N (%) |
I |
0 |
II |
4 (26.7) |
III |
5 (33.3) |
IV |
6 (40.0) |
Upper lip bite test: N (%) |
I |
6 (40.0) |
II |
5 (33.3) |
III |
4 (26.7) |
Hx of difficult intubation: N (%) |
Yes |
10 (66.7) |
No |
5 (33.3) |
ตารางที่ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างผลการตรวจประเมินทางเดินหายใจกับลักษณะภาพกล่องเสียง
การตรวจประเมินทางเดินหายใจ |
Laryngoscopic view in
Awake look
Number (%) |
Laryngoscopic view in
Anesthetizedd look
Number (%) |
|
I,II |
III,IV |
I,II |
III,IV |
|
Inter-incisor gap |
< 4 ซม. |
1(20) |
7(70) |
5(45) |
3(75) |
|
> 4 ซม. |
4(80) |
3(30) |
6(55) |
1(25) |
|
Thyro-mental distance |
< 6 ซม. |
3(60) |
5(50) |
6(55) |
2(50) |
> 6 ซม. |
2(40) |
5(50) |
5(45) |
2(50) |
Mallampati classification |
I,II |
2(40) |
2(20) |
4(36) |
0(0) |
III,IV |
3(60) |
8(80) |
7(64) |
4(100) |
Upper lip bite test |
I |
2(40) |
4(40) |
6(55) |
0(0) |
II,III |
3(60) |
6(60) |
5(45) |
4(100) |
Hx of difficult intubation |
Yes |
5(100) |
5(50) |
9(82) |
1(25) |
No |
0(0) |
5(50) |
2(18) |
3(75) |
ตารางที่ 4 ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะภาพกล่องเสียงขณะผู้ป่วยรู้สึกตัว (awake look) และขณะหมดความรู้สึก (anesthetizedd look)
ลักษณะภาพกล่องเสียง (Laryngoscopic view) |
Awake look
Number (%) |
I |
II |
III |
IV |
Anesthetizedd look
Number (%) |
I |
0.0 |
4 (80.0) |
0.0 |
0.0 |
II |
0.0 |
1 (20.0) |
5 (71.4) |
1 (33.3) |
III |
0.0 |
0.0 |
2 (28.6) |
0.0 |
IV |
0.0 |
0.0 |
0.0 |
2 (66.7) |
Successful intubation in simple technique |
0.0 |
5 (100.0) |
6 (85.7) |
1 (33.3) |
Successful intubation
in special devices |
0.0 |
0 |
1 (14.3)
glide scope |
2 (66.7)
Gum elastic bougie,
FOI* |
* FOI: fiberoptic intubation
วิจารณ์
จากการศึกษาผู้ป่วย 15 รายที่ตรวจร่างกายประเมินทางเดินหายใจครบทั้งหมด 5 เกณฑ์ พบลักษณะภาพกล่องเสียง DL view ใน awake look และ anesthetized look คือ ผู้ป่วยที่ตรวจได้ DL view ระดับ III และ IV ใน awake look เมื่อตรวจ DL view ใน anesthetized look จะได้ระดับ I และ II ถึงร้อยละ 60 ซึ่งเป็นระดับที่ไม่ยากในการใส่ท่อช่วยหายใจ และจากค่าสัมประสิทธิ์ kappa ที่ได้ 0.31 แสดงให้เห็นว่าความสอดคล้องระหว่างการตรวจภาพกล่องเสียง DL view แบบ awake look กับ anesthetized look อยู่ในระดับดีพอใช้ ผลการศึกษาสอดคล้องกับการศึกษาของ Sivilotti ML และคณะ9 ในผู้ป่วยฉุกเฉินที่ทำ rapid sequence induction พบว่าการให้ยาระงับความรู้สึกในผู้ป่วยก่อนใส่ท่อช่วยหายใจ จะช่วยให้ใส่ท่อช่วยหายใจได้ดีขึ้น ตรงกับการศึกษานี้ที่พบว่าผู้ป่วยที่ตรวจ DL view ใน awake look ได้ระดับ III และ IV เมื่อตรวจ DL view ใน anesthetized look จะได้ระดับ I และ II เป็นส่วนใหญ่
ผู้ป่วยที่ตรวจได้ DL view ระดับ III และ IV ใน awake look สามารถใส่ท่อช่วยหายใจได้สำเร็จโดยวิธีปกติไม่ได้ใช้อุปกรณ์พิเศษช่วยในการใส่ท่อช่วยหายใจ คิดเป็น ร้อยละ 70 ดังนั้นหากตรวจ DL view แบบ awake look ได้ระดับ III และ IV อาจมีผู้ป่วยที่ยังสามารถใส่ท่อช่วยหายใจได้ง่ายโดยวิธีปกติได้ แต่ทั้งนี้ควรเตรียมอุปกรณ์พิเศษช่วยในการใส่ท่อช่วยหายใจไว้ให้พร้อมในกรณีที่ใส่ท่อช่วยหายใจในวิธีปกติไม่สำเร็จ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างปลอดภัย
จากการศึกษายังพบว่าเมื่อตรวจ DL view แบบ awake look แล้วพบว่ามี DL view ระดับ III และ IV นั้น ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ผลตรวจประเมินทางเดินหายใจมีค่า mallampati ระดับ III และ IV ร้อยละ 80 ค่า inter-incisor gap < 4 ซม. ร้อยละ 70 ค่า upper lip bite test II และ III ร้อยละ 60 ค่า thyro-mental distance < 6 ซม. ร้อยละ 50 และมีประวัติใส่ท่อช่วยหายใจลำบาก ร้อยละ 50 สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจภาพกล่องเสียง DL view แบบ anesthetized look ได้ DL view ระดับ III และ IV พบว่าผลตรวจประเมินทางเดินหายใจมีค่า mallampati ระดับ III และ IV รวมถึง upper lip bite test II และ III ทุกราย ดังนั้นจากผลการศึกษาทำให้ทราบว่าการตรวจประเมินทางเดินหายใจที่มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกับ DL view แบบ anesthetized look คือการตรวจ mallampati และ upper lip bite ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Salimi และคณะ6 ที่พบว่าการตรวจ upper lip bite ในการประเมินภาวะใส่ท่อช่วยหายใจลำบากจาก Cormack Lehane ระดับ III และ IV พบว่ามีค่าความไว (sensitivity) ในการทดสอบร้อยละ 70 และมีค่าความจำเพาะ (specificity) ร้อยละ 93 ซึ่งพบว่ามีค่าความจำเพาะสูง ดังนั้นในทางปฏิบัติของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จึงควรมีการตรวจประเมินทางเดินหายใจโดยใช้การตรวจ upper lip bite ร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์ภาวะใส่ท่อช่วยหายใจลำบากในผู้ป่วยได้ถูกต้องยิ่งขึ้น ซึ่งทางทีมผู้วิจัยจะได้ดำเนินการตามกระบวนการต่อไป
สำหรับการตรวจ mallampati นั้น จากการศึกษานี้พบว่ามีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกับ DL view แบบ anesthetized look เช่นเดียวกับการตรวจ upper lip bite ซึ่งแตกต่างไปจากการศึกษาของ EI-Ganzouri AR และคณะ7 ที่พบว่าความไวและความจำเพาะของการตรวจ mallampati ในการประเมินระดับความยากของ DL view หากตรวจ mallampati ได้ระดับ III จะมีค่าความไวในการประเมิน DL view ระดับ III และ IV ที่ร้อยละ 44.7 และ 59.8 และมีค่าความจำเพาะที่ร้อยละ 89 และ 87.4 ตามลำดับ ซึ่งในทางปฏิบัติอาจเป็นไปได้ว่าการตรวจ mallampati ที่ให้ผลถูกต้องจะต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยในการตรวจอย่างมาก8 เช่น ผู้ป่วยต้องอ้าปากให้กว้างเต็มที่ แลบลิ้นให้ยาวที่สุด ผู้ป่วยและผู้ประเมินต้องอยู่ระดับเดียวกัน เพื่อให้ผู้ประเมินสามารถประเมินได้ถูกต้อง ดังนั้นการตรวจ mallampati อาจได้ผลที่แตกต่างกันและทำให้ค่าที่ประเมินได้อาจไม่ถูกต้อง จึงทำให้ผลการศึกษาที่ได้แตกต่างกัน
ข้อจำกัดของการศึกษา เนื่องจากเป็นการรายงานเบื้องต้นซึ่งมีประชากรที่ศึกษาน้อย จึงต้องการการศึกษาเพิ่มเติมในประชากรที่มากขึ้นต่อไป
สรุป
ความสอดคล้องระหว่างการตรวจภาพกล่องเสียง DL view แบบ awake look และ anesthetizedd look อยู่ในระดับดีพอใช้ อย่างไรก็ตามมีข้อจำกัดเนื่องจากการศึกษานี้เป็นการรายงานเบื้องต้น จึงต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
เอกสารอ้างอิง
- รายงานสถิติประจำปี 2551. โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
2. Shiga T, Wajima Z, Inoue T, Sakamoto A. Predicting difficult intubation in apparently normal patients: a meta-analysis of bedside screening test performance. Anesthesiology 2005;103:429-37.
3. Naguib M, Scamman FL, O'Sullivan C, Aker J, Ross AF, Kosmach S, et al. Predictive performance of three multivariate difficult tracheal intubation models: a double-blind, case-controlled study. Anesth Analg 2006;102:818-24.
4. Finucane BT, Santora AH. Principles of Airway Management. 3rd ed. USA:Springer, 2003; 149.
- Sivilotti ML, Filbin MR, Murray HE, et al. Does the sedative agent facilitate emergency rapid sequence intubation?. Acad Emerg Med 2003; 10: 612.
6. Salimi A, Farzanegan B, Rastegarpour A, Kolahi A. Comparison of the upper lip bite test with measurement of thyromental distance for prediction of difficult intubations. Acta Anaesthesiologica Taiwanica 2008; 46: 61-8.
7. El-Ganzouri AR, McCarthy RJ, Tuman KJ, Tanck EN, Ivankovich AD. Preoperative airway assessment: predictive value of a multivariate risk index. Anesth Analg 1996; 82: 1197-204.
8. Lundstrom LH, Vester-Andersen M, Moller AM, Charuluxananan S, LHermite J, Wetterslev J. Poor prognostic value of the modified Mallampati score: a meta-analysis involving 177,088 patients. British Journal of Anaesthesia 2011;107:659-67.
|