Untitled Document
 
 
 
 
Untitled Document
Home
Current issue
Past issues
Topic collections
Search
e-journal Editor page

Effects of Using Video Guided about Deep-Breathing Exercise for Patient Preparation before Receiving General Anesthesia

ผลการใช้สื่อวีดิทัศน์ เรื่อง การฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพเพื่อเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว

Somrutai Boonchuduang (สมฤทัย บุญชูดวง) 1, Wipharat Juthasantikul (วิภารัตน์ จุฑาสันติกุล) 2, Amphan Chantarokorn (อำพรรณ จันทโรกร) 3, Wirat Wasinwong (วิรัตน์ วศินวงศ์) 4




หลักการและวัตถุประสงค์: การฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพมีความสำคัญในการเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว เนื่องจากทำให้ปอดมีการแลกเปลี่ยนก๊าซดีขึ้น ป้องกันการสะสมของเสมหะ และทำให้ปอดขยายตัว ป้องกันปอดแฟบหลังการผ่าตัดได้ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพึงพอใจต่อคุณภาพของสื่อวีดิทัศน์ เรื่องการฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมตัวก่อนได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัวและศึกษาเปรียบเทียบคะแนนการปฏิบัติของผู้ป่วยหลังการสอนระหว่างกลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจด้วยสื่อวีดิทัศน์และกลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจแบบอธิบายตามปกติ

วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษากึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่มาผ่าตัดช่องท้องในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จำนวน 228 ราย แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม และทดลองกลุ่มละ 114 รายโดยมีการสอนการหายใจแบบมีประสิทธิภาพ ด้วยสื่อวีดิทัศน์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นในกลุ่มทดลอง ส่วนในกลุ่มควบคุม ใช้วิธีการสอนด้วยการอธิบายตามปกติ ในช่วงก่อนผ่าตัด วัดผลการปฏิบัติในช่วงหลังผ่าตัด 1 วันและประเมินความพึงพอใจต่อคุณภาพของสื่อวีดิทัศน์ ในกลุ่มทดลอง

ผลการศึกษา: จากการศึกษาพบว่าคะแนนแบบประเมินความพึงพอใจต่อคุณภาพของสื่อวีดิทัศน์ด้านความชัดเจนของภาพ ความชัดเจนของเสียงบรรยาย ความชัดเจนของเนื้อเรื่อง ความเข้าใจของเนื้อเรื่องและระยะเวลาของเนื้อเรื่องอยู่ในระดับสูงถึงสูงมาก โดยคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 4.91+0.29 คะแนน คะแนนเฉลี่ยต่ำสุด 4.65+0.52 คะแนน และคะแนนการปฏิบัติหลังการทดลองระหว่างกลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจด้วยสื่อวีดิทัศน์ และกลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจแบบอธิบายตามปกติ มีค่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.001)      

สรุป: ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า สื่อวีดิทัศน์เรื่องการฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพเพื่อเตรียมตัวก่อนได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัวมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยส่งผลให้สามารถฝึกหายใจ ได้ดีกว่าการฝึกหายใจแบบอธิบายตามปกติและผู้ป่วยมีความพึงพอใจต่อคุณภาพของสื่อวีดิทัศน์ในระดับสูง

ความสำคัญ: การฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพ    การให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว    สื่อวีดิทัศน์

 

Background and objective: Deep–breathing exercise is important to prepare patients before receiving general anesthesia because their lungs will be better ventilated. Deep–breathing prevents accumulation of mucus and expand the lungs to prevent atelectasis after surgery. The aims of this study were to assess satisfaction on quality of video guided deep-breathing exercise for patients preparation before receiving general anesthesia and to compare post teaching performance between the video guided and conventional advice methods.

Methods : This was a quasi-experimental research. The patients undergoing exploratory laparotomy at Songklanagarind Hospital were included in the study. Two hundred and twenty-eight patients were divided equally into two groups, experimental and control groups. Patients were taught by using video in the experimental group and by conventional method preoperatively in the control group. Post teaching performances were compared on the first postoperative day. Satisfaction on quality of video was assessed in the experimental group.

Results : Satisfaction on quality of video in terms of pictures, sounds, content, duration were high(4.65-4.91).The post test performance of the patients in the experimental group was statistically higher than in the control group (p< 0.001).

Conclusions: The study showed the good benefit of using video guided on deep–breathing exercise for teaching the patients before receiving general anesthesia. Satisfaction on quality of video were clearly  high.

Keywords: deep-breathing exercise, general anesthesia, video

 

 

บทนำ

ในปัจจุบัน ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมีจำนวนมากขึ้น และในจำนวนผู้ป่วยที่มาผ่าตัดนี้ส่วนใหญ่จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจและได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว  ซึ่งในระหว่างการได้รับยาระงับความรู้สึก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีค่าออกซิเจนในเลือดแดงลดลง สาเหตุเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของการหายใจ และการแลกเปลี่ยนก๊าซจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การใช้ยาหย่อนกล้ามเนื้อ การใช้เครื่องช่วยหายใจซึ่งทำให้กลไกการหายใจเปลี่ยนไป รวมทั้งความผิดปกติทางระบบหายใจของผู้ป่วยตั้งแต่ก่อนได้รับยาระงับความรู้สึก เช่น โรคถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบ โรคอ้วน ความผิดปกติของผนังทรวงอก ผู้สูงอายุ และการสูบบุหรี่จัด ผู้ป่วยดังกล่าวเมื่อได้รับยาระงับความรู้สึกจะทำให้ระบบการหายใจทำงานน้อยลง นอกจากนี้ยาระงับความรู้สึกและก๊าซที่แห้งยังทำให้มีเสมหะเหนียวข้น กำจัดออกยาก ภาวะที่ผู้ป่วยปวดแผลแต่ไม่ได้รับยาระงับปวดที่เพียงพอ จะทำให้ผู้ป่วยหายใจตื้นและเร็ว ไม่ไอ ไม่เคลื่อนไหว ทำให้เสมหะคั่ง การผ่าตัดในช่องท้องส่วนบน และในช่องอกจะทำให้มีการลดลงของปริมาตรปอด และความจุปอด1 หากผู้ป่วยไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมทันท่วงที ก็จะทำให้มีปัญหาเรื่องปอดแฟบ ปอดอักเสบเกิดปอดติดเชื้อตามมา ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหลังผ่าตัดนานขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลนานและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

 

จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่าผลของการฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพทำให้ปอดมีการระบายอากาศดีขึ้น ป้องกันการสะสมของเสมหะ ช่วยขับเสมหะจากหลอดลม แขนงหลอดลมและฟื้นฟูประสิทธิภาพของปอดในการแลกเปลี่ยนก๊าซในการหายใจ และทำให้ปอดขยายตัว ป้องกันปอดแฟบได้ การศึกษาของ Coussa และคณะ2  พบว่าการให้ออกซิเจนผ่านทางหน้ากากร่วมกับการหายใจเข้าและออกในภาวะแรงดันอากาศที่เป็นบวก (continuous positive airway pressure: CPAP) และการหายใจด้วยแรงดันบวกค้างในปอดขณะหายใจออกสิ้นสุด (positive end-expiratory pressure:  PEEP) ในเวลา 5 นาที ก่อนการระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว จะช่วยป้องกันภาวะปอดแฟบในผู้ป่วยอ้วนที่ได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัวได้ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Westerdahl และคณะ 3 พบว่าการหายใจเข้าออกลึกๆ ช่วยลดภาวะปอดแฟบและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอดหลังผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดโคโรนารีย์ (coronary artery bypass graft : CABG) ในวันที่ 4 หลังการผ่าตัดได้

 

จากผลกระทบของปัญหาดังกล่าว ทีมวิสัญญีซึ่งมีหน้าที่หลักในการบริการให้ยาระงับความรู้สึกกับผู้ป่วย จึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยในกลุ่มนี้ได้ ซึ่งวิธีการที่จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนมีหลายวิธี ตั้งแต่การจัดท่าเพื่อถ่ายเทเสมหะ การฝึกการหายใจ การเคาะปอด การกดสั่นทรวงอก การไอและการกระแอม4 ซึ่งบางวิธีปฏิบัติตามค่อนข้างยาก แต่การฝึกการหายใจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอดเป็นวิธีที่ไม่ยากสำหรับผู้ป่วยที่จะปฏิบัติหลังผ่าตัด และผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองทันทีที่รู้สึกตัวโดยไม่ต้องมีอุปกรณ์ช่วย อย่างไรก็ตามการฝึกหายใจโดยวิธีสอนหรืออธิบายเพียงอย่างเดียว จะเห็นเป็นรูปธรรมยาก ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยเห็นภาพการฝึกหายใจเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผู้วิจัยจึงสร้างเครื่องมือเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้ฝึกปฏิบัติ โดยจัดทำเป็นสื่อวีดิทัศน์ เรื่องการฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมตัวก่อนได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัวและศึกษาผลการใช้สื่อดังกล่าวต่อการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยคือ1) เพื่อศึกษาความพึงพอใจต่อคุณภาพของสื่อวีดิทัศน์เรื่อง การฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพเพื่อเตรียมตัวก่อนได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว 2) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบคะแนนการปฏิบัติของผู้ป่วยหลังการสอน ระหว่างกลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจด้วยสื่อวีดิทัศน์ และกลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจแบบอธิบายตามปกติ

วิธีการศึกษา

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษากึ่งทดลองซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ ผู้ป่วยที่มาผ่าตัดช่องท้องในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์แบบผู้ป่วยใน อายุ 18 – 65 ปี เป็นการผ่าตัดแบบไม่เร่งด่วน (elective surgery)  ผู้ป่วยจัดอยู่ในAmerican Society of Anesthesiologist (ASA) class I-II ไม่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ เช่น วัณโรคปอด ถุงลมโป่งพอง หอบหืด สื่อสารเข้าใจ ไม่มีอาการทางจิตหรือสมอง ผู้ป่วยได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัวโดยวิธีการใส่ท่อช่วยหายใจ และเซ็นยินยอมเข้าร่วมในโครงการวิจัย ระหว่างเดือน มกราคม-ธันวาคม พ. . 2554 แบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 114 ราย โดยใช้คอมพิวเตอร์สุ่มแบบต่อเนื่อง และทั้ง 2 กลุ่ม จะมีวิสัญญีพยาบาลฝึกหัดซึ่งได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดีและผ่านการทดสอบมาแล้วจากทีมวิจัยไปตรวจเยี่ยมให้คำแนะนำและสอนผู้ป่วยเกี่ยวกับการฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพเพื่อเตรียมตัวก่อนได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว ในช่วงก่อนผ่าตัดโดยในกลุ่มทดลองได้รับการสอนฝึกหายใจด้วยสื่อวีดิทัศน์ และกลุ่มควบคุมได้รับการสอนฝึกหายใจแบบอธิบายตามปกติ

 

 

รูปที่ 1  การจัดท่าในการหายใจแบบมีประสิทธิภาพ

 

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย 1) แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างได้แก่ อายุ เพศ ดัชนีมวลกาย(BMI) ระดับการศึกษา อาชีพ ศาสนา ประวัติการผ่าตัด 2) แบบประเมินการปฏิบัติ เรื่องการฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพเพื่อเตรียมตัวก่อนได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว ประกอบด้วย การจัดท่าในการหายใจเข้าออกลึกๆ ขั้นตอนการหายใจเข้าออกลึกๆ จำนวนและระยะเวลาในการปฏิบัติ ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่าน ประกอบด้วย อาจารย์วิสัญญีแพทย์ 2 ท่าน วิสัญญีพยาบาลชำนาญการพิเศษ 1 ท่าน เป็นผู้ตรวจสอบความตรง และความเหมาะสมของเนื้อหา ผู้วิจัยได้นำมาแก้ไขปรับปรุงตามคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิ หลังจากปรับปรุงแก้ไขแล้วจึงทดลองใช้แบบประเมินกับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 10 ราย เพื่อหาความเที่ยงของเครื่องมือโดยวิธีครอนบาชอัลฟา (Cronbach, s alpha coefficient )ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.79  3) สื่อวีดิทัศน์ ได้แก่ วีดิทัศน์เรื่องการฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมตัวก่อนได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว ซึ่งเป็นเนื้อหาเดียวกับแบบประเมินการปฏิบัติ โดยนำเครื่องมือที่สร้างขึ้นให้ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่าน ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับผู้ตรวจสอบเนื้อหา เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้อง และเจ้าหน้าที่โสตทัศนศึกษา โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ตรวจสอบความถูกต้องทางด้านเทคโนโลยี แล้วจึงนำมาถ่ายทำ บันทึกเสียง และตัดต่อ หลังจากนั้นนำวีดิทัศน์ที่ผลิตแล้ว มาให้อาจารย์วิสัญญีแพทย์ และเจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ได้ดูสื่อเพื่อให้ข้อเสนอแนะ จากนั้นจึงนำไปปรับปรุง แก้ไขก่อนนำไปทดลองใช้ เพื่อหาความพึงพอใจต่อคุณภาพของสื่อวีดิทัศน์ 4) แบบประเมินความพึงพอใจต่อคุณภาพของสื่อวีดิทัศน์เรื่องการฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมตัวก่อนได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว ประกอบด้วยคำถามจำนวน 5 ข้อ ลักษณะคำตอบของแบบสอบถามใช้ Likert scale แบ่งเป็น 5 ระดับ5-6 ดังนี้คือ 5 = พึงพอใจสูงมาก 4 = พึงพอใจสูง 3 = พึงพอใจปานกลาง 2 = พึงพอใจต่ำ 1 = พึงพอใจต่ำมาก คะแนนที่เป็นไปได้ คือ 5-25 คะแนนคะแนนยิ่งสูง หมายถึงคุณภาพของสื่อวีดิทัศน์ยิ่งดี

 

 รูปที่ 2  การหายใจเข้า หน้าท้องป่อง ปลายนิ้วกลางแยกจากกัน

 

ทำการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปโดยใช้ ความถี่ ร้อยละ วิเคราะห์คะแนนการปฏิบัติเรื่องการฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดโดยใช้ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบคะแนนการปฏิบัติหลังการทดลองระหว่างกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุมโดยใช้ การทดสอบค่าทีอิสระ (Independent t-test) นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้มีการประมวลประเด็นความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างต่อคุณภาพของสื่อวีดิทัศน์ จากแบบสอบถามปลายเปิดที่ถามเกี่ยวกับจุดเด่นและจุดด้อยของสื่อวีดิทัศน์ เพื่อให้การประเมินผลมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

รูปที่ 3  การหายใจออก หน้าท้องแฟบ ปลายนิ้วกลางชนกัน

ผลการศึกษา

ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ทั้งในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมในด้าน อายุ เพศ อาชีพ ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้น เรื่องดัชนีมวลกาย พบว่ากลุ่มควบคุมมีดัชนีมวลกาย มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.041) ระดับการศึกษา พบว่ากลุ่มทดลองมีระดับการศึกษาสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.001) ศาสนาพบว่ากลุ่มควบคุมนับถือศาสนาอิสลามมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.038) และประวัติการผ่าตัดพบว่ากลุ่มทดลองมีประวัติการผ่าตัดมาก่อนมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.017) (ตารางที่1)

คะแนนแบบประเมินความพึงพอใจต่อคุณภาพของสื่อวีดิทัศน์ เรื่อง การฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพเพื่อเตรียมตัวก่อนได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว คะแนนความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ด้านความชัดเจนของภาพ ความชัดเจนของเสียงบรรยาย ความชัดเจนของเนื้อเรื่อง ความเข้าใจของเนื้อเรื่อง และระยะเวลาของเนื้อเรื่องอยู่ในระดับสูงถึงสูงมาก (ตารางที่2) โดยคะแนนเฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 4.91+0.29 และคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดเท่ากับ 4.65+0.52 ซึ่งสอดคล้องกับข้อคำถามปลายเปิดที่ถามเกี่ยวกับจุดเด่นและจุดด้อยของสื่อ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ข้อคิดเห็นว่า จุดเด่นของสื่อคือ เห็นภาพชัดเจนพร้อมปฏิบัติได้ง่าย การตัดต่อดี ภาพสวย จุดด้อยของสื่อคือ เสียงบรรยายบางคำไม่ชัดเจน ภาพบางภาพมีภาษาอังกฤษควรเขียนเป็นภาษาไทย และเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว เมื่อมีข้อสงสัยไม่สามารถสอบถามได้

 

คะแนนการปฏิบัติหลังการทดลองระหว่างกลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจด้วยสื่อวีดิทัศน์ และกลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจแบบอธิบายตามปกติโดยใช้สถิติค่าทีอิสระ (Independent t-test) พบว่าคะแนนเฉลี่ยการปฏิบัติหลังการใช้สื่อวีดิทัศน์ของกลุ่มทดลองเรื่องการจัดท่าในการหายใจเข้าออกลึกๆเท่ากับ 3.99+0.09 ตำแหน่งการวางมือเท่ากับ 3.96+0.21 การหายใจเข้าเท่ากับ 3.96+0.21 การหายใจออกเท่ากับ 3.96+0.21 จำนวนและระยะเวลาในการปฏิบัติเท่ากับ 3.39+0.49 และคะแนนเฉลี่ยการปฏิบัติหลังการอธิบายตามปกติของกลุ่มควบคุมเรื่องการจัดท่าในการหายใจเข้าออกลึกๆเท่ากับ 3.59+0.51 ตำแหน่งการวางมือเท่ากับ 3.00+0.35 การหายใจเข้าเท่ากับ 2.91+0.37 การหายใจออกเท่ากับ 2.91+0.37 จำนวนและระยะเวลาในการปฏิบัติเท่ากับ 2.86+0.35 ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) (ตารางที่3)

 

ตารางที่ 1  ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง

ตัวแปร

กลุ่มทดลอง

114 ราย

จำนวน (ร้อยละ)

กลุ่มควบคุม

114 ราย

จำนวน (ร้อยละ)

p-value

อายุ

 

 

0.114

18-40 ปี 

39 (34.2)

5 (21.9)

 

41-60 ปี 

70 (61.4)

82 (71.9)

 

61 ปีขึ้นไป

5 (4.4)

7 (6.1)

 

พศ

 

 

1.000

ชาย

1 (0.9)

1 (0.9)

 

หญิง

113 (99.1)

113 (99.1)

 

ดัชนีมวลกาย (กก. / 2)

 

 

0.041*

< 18.5

4 (3.5)

9 (7.9)

 

18.5 – 22.9

37 (32.5)

32 (28.1)

 

23 - 24.9

27 (23.7)

13 (11.4)

 

25 - 29.9

36 (31.6)

42 (36.8)

 

> 30

10 (8.8)

18 (15.8)

 

ระดับการศึกษา          

 

 

0.001*

ประถมศึกษา

39 (34.2)

61 (53.5)

 

มัธยมศึกษา

27 (23.7)

16 (14.0)

 

ปวช/ปวส

1 (0.9)

9 (7.9)

 

ปริญญาตรี

36 (31.6)

22 (19.3)

 

ปริญญาโท

6 (5.3)

2 (1.8)

 

อื่นๆ

5 (4.4)

4 (3.5)

 

อาชีพ

 

 

0.129

รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ

27 (23.7)

16 (14.0)

 

เกษตรกร

22 (19.3)

34 (29.8)

 

ค้าขาย

20 (17.5)

17 (14.9)

 

รับจ้าง

45 (39.5)

47 (41.2)

 

ศาสนา

 

 

0.038*

พุทธ

99 (86.8)

87 (76.3)

 

อิสลาม

14 (12.3)

27 (23.7)

 

คริสต์

1 (0.9)

0 (0)

 

ประวัติการผ่าตัด        

 

 

0.017*

ไม่เคยผ่าตัด

41 (36.0)

57 (50.0)

 

ผ่าตัดคลอดบุตร

31(27.2)

13 (11.4)

 

ผ่าตัดเปิดช่องท้อง

24 (21.1)

26 (22.8)

 

ผ่าตัดอื่นๆ

18 (15.8)

18 (15.8)

 

*มีนัยสำคัญทางสถิติ

 

ตารางที่ 2  คะแนนแบบประเมินความพึงพอใจต่อคุณภาพของสื่อวีดิทัศน์ ในกลุ่มใช้สื่อวีดิทัศน์

ความคิดเห็นต่อประสิทธิภาพของสื่อวีดิทัศน์

Mean + SD

1. ความชัดเจนของภาพ

4.91+0.29

2. ความชัดเจนของเสียงบรรยาย

4.86+0.37

3. ความชัดเจนของเนื้อเรื่อง 

4.76+0.50

4. ความเข้าใจของเนื้อเรื่อง 

4.65+0.52

5. ระยะเวลาของเนื้อเรื่อง 

4.75+0.54


ตารางที่ 3  เปรียบเทียบคะแนนการปฏิบัติหลังการทดลองระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม          

ตัวแปร

กลุ่มทดลอง (n=114)

กลุ่มควบคุม

(n=114)

p-value*

Mean+SD

Mean+SD

1. การจัดท่าในการหายใจเข้าออกลึกๆ

3.99+0.09

3.59+0.51

< 0.001

2.ขั้นตอนการหายใจเข้าออกลึกๆ

 

 

 

   2.1 ตำแหน่งการวางมือ

3.96+0.21

3.00+0.35

< 0.001

   2.2 การหายใจเข้า

3.96+0.21

2.91+0.37

< 0.001

   2.3 การหายใจออก

3.96+0.21

2.91+0.37

< 0.001

3.จำนวนและระยะเวลาในการปฏิบัติ

3.39+0.49

2.86+0.35

< 0.001

*independent t-test

 

วิจารณ์

จากการศึกษาผลการใช้สื่อวีดิทัศน์ เรื่องการฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพเพื่อเตรียมตัวก่อนได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัวต่อการฝึกหายใจ พบว่ามีความแตกต่างเรื่องดัชนีมวลกายโดยในกลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจแบบอธิบายตามปกติ มีภาวะอ้วนและอ้วนมาก มากกว่าและมีการฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพได้ไม่ดีเท่ากับกลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจด้วยสื่อวีดิทัศน์ซึ่งมีน้ำหนักตัวปกติ อธิบายได้ว่าผู้ที่มีภาวะอ้วนและอ้วนมากจะมีการหายใจเอาอากาศเข้าไปในปอดได้ลดลงจากแรงต้านของหน้าท้องที่มีไขมันจับหนา เมื่อหายใจได้น้อยก็จะทำให้ปอดบาง เกิดปอดแฟบได้ง่าย7 ส่งผลให้ผู้ป่วยฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพได้ไม่ดีเท่ากับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวปกติ มีความแตกต่างเรื่องระดับการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจด้วยสื่อวีดิทัศน์มีระดับการศึกษาสูงกว่าและสามารถฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจแบบอธิบายตามปกติ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของอดิศักดิ์ และคณะ8 พบว่าระดับการศึกษาของผู้ปกครองเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน เนื่องจากนักเรียนได้รับอิทธิพลทางความคิดจากผู้ปกครองซึ่งมีเจตคติที่ดีต่อการเรียน นักเรียนจึงมีเจตคติที่ดีไปด้วย ส่งผลให้นักเรียนมีแรงจูงใจในการเรียนต้องการเรียนให้สำเร็จตามความต้องการของผู้ปกครอง นักเรียนจึงมีความรับผิดชอบต่อการเรียนทำให้ผลการเรียนดี และการศึกษาของอาธร และคณะ9 พบว่าการได้รับการฝึกอบรมและการได้รับการนิเทศงานจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำให้พฤติกรรมสุขภาพตามบทสุขบัญญัติแห่งชาติของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านดีขึ้น มีความแตกต่างด้านศาสนาพบว่ากลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจแบบอธิบายตามปกตินับถือศาสนาอิสลามมากกว่าและมีการฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพได้ไม่ดีเท่ากับกลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจด้วยสื่อวีดิทัศน์ซึ่งอธิบายได้ว่ากลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ในการศึกษานี้มีระดับการศึกษาน้อยกว่า สื่อสารภาษาไทยได้น้อยและไม่ชัดเจนหรือถูกต้องเท่าที่ควรเวลาถ่ายทอดความรู้หรือการอธิบายคำบางคำอาจไม่เข้าใจได้ นอกจากนี้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 80 นิยมใช้ภาษาพื้นเมืองหรือภาษามลายู เมื่อพูดกันนานเข้าไม่สามารถพูดและฟังภาษาไทยให้เข้าใจได้10 และมีความแตกต่างเรื่องประวัติการผ่าตัดพบว่ากลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจด้วยสื่อวีดิทัศน์ซึ่งมีประวัติการผ่าตัดมามากกว่าสามารถฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจแบบอธิบายตามปกติ สอดคล้องกับการศึกษาของParsons และคณะ11 พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการเตรียมความพร้อมด้านจิตใจและการให้ข้อมูลนั้นจะสามารถพักหลับได้ดีกว่า สามารถจดจำประสบการณ์ก่อนผ่าตัด ขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัดได้มากกว่า มีความต้องการยาระงับความรู้สึก มีอาการอาเจียน การคั่งของปัสสาวะ มีความต้องการยาลดอาการปวดน้อยกว่าและสามารถรับประทานอาหารและกลับบ้านได้เร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับข้อมูลและการเตรียมจิตใจก่อนผ่าตัด

นอกจากนี้พบว่ากลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจด้วยสื่อวีดิทัศน์มีคะแนนการปฏิบัติเรื่อง การฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพดีกว่ากลุ่มที่ได้รับการสอนฝึกหายใจแบบอธิบายตามปกติ แสดงให้เห็นว่าสื่อวีดิทัศน์มีประโยชน์ต่อการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย เนื่องจากเป็นสื่อที่มีทั้งภาพและเสียงประกอบ เป็นสิ่งเร้าที่ผ่านการสัมผัสทางตา และทางหู ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และจดจำได้ดีขึ้น มีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและการฝึกอบรมมาก เนื่องจากเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารสูง มีทั้งภาพ สี และเสียงในเวลาเดียวกัน ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ช่วยแบ่งเบาภาระในการสอนของผู้สอน ช่วยปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น การที่ผู้เรียนได้รับภาพและเสียง จากสื่อวีดิทัศน์ทำให้ได้รับประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น12-14 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาหลายการศึกษา พบว่าการสอนด้วยสื่อวีดิทัศน์ทำให้นักศึกษาพยาบาลมีความรู้และมีทักษะการปฏิบัติดีกว่าการสอนโดยวิธีปกติ15-17 การศึกษาของJeste และคณะ18 พบว่าการใช้หลาย ๆ สื่อการศึกษาช่วยทำให้ผู้ป่วยมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการ การดูแล และการตัดสินใจเกี่ยวกับภาวะความเจ็บป่วยของตนเองดีกว่ากลุ่มซึ่งได้รับความรู้แบบปกติ การศึกษาของGrant และคณะ19 พบว่ากลุ่มที่ใช้สื่อวีดิทัศน์ ร่วมกับการให้ความรู้ตามปกติมีทักษะการปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย เรื่องการทำงานเป็นทีม การดูแลทางเดินหายใจ การแก้ปัญหาต่าง ๆ การบันทึกข้อมูล และการให้ยาผู้ป่วยดีกว่ากลุ่มซึ่งได้รับความรู้เพียงอย่างเดียว

ส่วนที่เป็นจุดด้อยของสื่อ เป็นการสื่อสารแบบทางเดียว เมื่อมีข้อสงสัยไม่สามารถสอบถามได้ ดังนั้นเพื่อให้การสอนด้วยสื่อวีดิทัศน์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ควรมีการสอนด้วยสื่อวีดิทัศน์ร่วมกับการอธิบายตามปกติด้วย เพื่อให้กลุ่มตัวอย่างได้มีปฎิสัมพันธ์กับผู้สอน สามารถสอบถามเมื่อมีข้อสงสัย ทำให้การสอนด้วยสื่อวีดิทัศน์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การผลิตชุดการสอนโดยใช้สื่อวีดิทัศน์ เรื่องการฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมตัวก่อนได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว จึงเป็นแนวทางการพัฒนากระบวนการให้ความรู้และการฝึกปฏิบัติทางด้านสุขภาพ ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ข้อเสนอแนะ

1. ควรมีการนำสื่อวีดิทัศน์เรื่องการฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพไปใช้กับผู้ป่วย ในกลุ่มอื่น ๆ นอกเหนือจากผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัด เพื่อประโยชน์สูงสุดในการดูแลสุขภาพตนเอง เช่น ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องของระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด และผู้ป่วยที่มีภาวะเครียด เป็นต้น

2. เพื่อให้สื่อวีดิทัศน์ เรื่องการฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพมีประโยชน์สูงสุด และทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นในการพัฒนางานแบบยั่งยืน ควรมีการศึกษาต่อยอดโดยการทำวิจัยร่วมกับนักกายภาพบำบัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านนี้โดยเฉพาะ

สรุป

การใช้สื่อวีดิทัศน์ เรื่อง การฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพเพื่อเตรียมตัวก่อนได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยในการเตรียมตัวก่อนมารับการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยมีการฝึกหายใจแบบมีประสิทธิภาพได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับฟังการอธิบายตามปกติ ดังนั้นพยาบาลและบุคลากรที่เกี่ยวข้องควรนำสื่อวีดิทัศน์ที่พัฒนานี้ไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อเตรียมตัวผู้ป่วยให้พร้อมสำหรับการผ่าตัด

 

กิตติกรรมประกาศ

งานวิจัยนี้สำเร็จไปด้วยความเรียบร้อยโดยได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการ Routine to Research (R2R) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้รับความช่วยเหลืออย่างดียิ่งจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิง ภัณฑิลา รุจิโรจน์จินดากุล ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของโครงการ ผู้วิจัยขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ที่ได้ตรวจสอบเนื้อหาของเครื่องมือวิจัย และตรวจสอบคุณภาพของสื่อวีดิทัศน์ ขอบคุณหอผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือ และอำนวยความสะดวกในการเก็บข้อมูล และขอบคุณกลุ่มตัวอย่างในการตอบแบบสอบถาม ทำให้งานสำเร็จไปได้ด้วยดี

เอกสารอ้างอิง

1. สุนิสา ฉัตรมงคลชาติ, วิทยา เลิศวิริยะกุล. กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินหายใจ. ใน:

วิรัตน์ วศินวงศ์, ธวัช ชาญชญานนท์, ศศิกานต์ นิมานรัชต์, ธิดา เอื้อกฤดาธิการ, บรรณาธิการ.

ตำราวิสัญญีวิทยาพื้นฐาน. สงขลา: ชานเมืองการพิมพ์; 2550:48-9.

2. Coussa M, Proietti S, Schnyder P, Frascarolo P, Suter M, Spahn DR, et al. Prevention of

atelectasis formation during the induction of general anesthesia in   morbidly obese patients.

 Anesth Analg 2004; 98:1491-5.

3. Westerdahl E, Lindmark B, Eriksson T, Hedenstierna G, Tenling A. Deep- breathing  exercises

 reduce atelectasis and improve pulmonary function after coronary  artery  bypass surgery.

Chest 2005; 128:3482-8.    

4. วุฒิชัย เพิ่มศิริวาณิชย์. กายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ.ใน: สุนิสา ฉัตรมงคลชาติ, บรรณาธิการ. การดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจและได้รับการบำบัดด้วยออกซิเจน. สงขลา:

ชานเมืองการพิมพ์; 2547:59-60.

5. สุมาลี งามสอน, มาลินันท์ พิมพิสุทธิพงศ์, สมศักดิ์ ผาปริญญา. ความพึงพอใจของผู้มารับ

บริการต่อการพัฒนางาน 3S ของโรงพยาบาล. ขอนแก่น: โรงพยาบาลพล อำเภอพล จังหวัด

ขอนแก่น, 2540:4-6.

6. บุญใจ ศรีสถิตย์นรากูล. ระเบียบวิธีการวิจัยทางพยาบาลศาสตร์. กรุงเทพฯ: คณะพยาบาลศาสตร์

จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, 2550.

7. อภิรักษ์ ปานวัฒนวิไชย. โรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากโรคอ้วน. วิชัยยุทธจุลสาร 2549; 33: 34-5.

8. อดิศักดิ์ พงษ์พูลผลศักดิ์, ไพบูลย์ เกียรติโกมล, ปิยะมาศ เจริญพันธุวงศ์. ปัจจัยที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในโรงเรียนของรัฐ กรณีศึกษาจังหวัดลพบุรี. วารสารวิจัยและพัฒนา มจธ 2544; 24: 311-26.

9. อาธร อุคคติ, วันชัย ธรรมสัจการ, สุเมธ พรหมอินทร์. ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมสุขภาพตามบทบัญญัติแห่งชาติของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จังหวัดสตูล. สงขลานครินทร์เวชสาร 2551; 26: 527-38.

10. อับดุลสุโก ดินอะ. วัฒนธรรมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ท่ามกลางความรุนแรง ตอนที่1 [Monograph on the Internet]. 2010 [cited 2012 Feb 26] Available from:http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=1525

11. Parsons EC, Kee CC, Gray DP. Perioperative nurse caring behaviors: Perception of surgical patients. AORN J 1993; 57: 1106-14.

12. นที เกื้อกูลกิจการ. การสอนผู้รับบริการในโรงพยาบาล. ภาควิชาการบริหารการศึกษาพยาบาล

และบริหารการพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. สงขลา: ชานเมือง

การพิมพ์, 2541.

13. กิดานันท์  มลิทอง. เทคโนโลยีการศึกษาร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: เอดิสันเพรส โพรดักส์, 2536.

14. จิรพรรณ พีรวุฒิ. สื่อการเรียนการสอนทางการพยาบาล. กรุงเทพฯ: โอเอสพริ้นติ้งเฮ้าส์, 2542.

15. ศศิกานต์ กาละ, สุนันทา ยังวนิชเศรษฐ,โสเพ็ญ ชูนวล. ผลของการสอนด้วยสื่อวีดิทัศน์ต่อ

ความรู้และทักษะการปฏิบัติการพยาบาลในห้องคลอดของนักศึกษาพยาบาล.  สงขลานครินทร์

เวชสาร 2551; 26: 111-21.

16. กันตพร ยอดไชย, อารีย์วรรณ อ่วมตานี, วิฑูรย์ สังฆรักษ์. ผลการใช้สื่อวีดิทัศน์คาราโอเกะ

เรื่องหลักการพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดต่อความรู้ของนักศึกษาพยาบาล

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. สงขลานครินทร์เวชสาร 2550; 25: 531-6.

17. เยาวรัตน์ มัชฉิม, เอมอร แซ่จิว, วิฑูรย์ สังฆรักษ์. ผลของการสอนโดยใช้สื่อวีดิทัศน์เรื่อง

การช่วยแพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจผู้ป่วยผู้ใหญ่ต่อความรู้และความพึงพอใจในการเรียนของนักศึกษาพยาบาล[วิทยานิพนธ์]. สงขลานครินทร์: มหาวิทยาลัย, 2547.

18. Jeste DV, Dunn LB, Folsom DP, Zisook D. Multimedia education aids for improving

consumer knowledge about illness management and treatment decisions. J Psychiatr Res 2008;

42:1-21.

19. Grant JS, Moss J, Epps C, Watt P. Using video-facilitated feedback to improve student

 performance following high-fidelity simulation. J ecns 2010; 6:177-84.

 

Untitled Document
Article Location

Untitled Document
Article Option
       Abstract
       Fulltext
       PDF File
Untitled Document
 
ทำหน้าที่ ดึง Collection ที่เกี่ยวข้อง แสดง บทความ ตามที่ีมีใน collection ที่มีใน list Untitled Document
Another articles
in this topic collection

Surveillance of and Risk Fztors for Difficult Intubation At Srinagarind Hosipital (การเฝ้าระวังการใส่ท่อช่วยหายใจลำบากระหว่างการวางยาระงับความรู้สึกในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง)
 
Surveillance of Drug Error during Anesthesia at Srinagarind Hospital Khon Kaen University (การเฝ้าระวังความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
 
Incidence of Anesthesia-Associated Cardiac Arrest And Related Factors At Srinagarind Hospital (อุบัติการณ์ภาวะหัวใจหยุดเต้นและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการระงับความรู้สึกในโรงพยาบาลศรีนครินทร์)
 
New Trend Anesthesia for Cesarean Section (แนวโน้มการให้ยาระงับความรู้สึกเพื่อผ่าตัดคลอด)
 
<More>
Untitled Document
 
This article is under
this collection.

Anesthesia
 
 
 
 
Srinagarind Medical Journal,Faculty of Medicine, Khon Kaen University. Copy Right © All Rights Reserved.
 
 
 
 

 


Warning: Unknown: Your script possibly relies on a session side-effect which existed until PHP 4.2.3. Please be advised that the session extension does not consider global variables as a source of data, unless register_globals is enabled. You can disable this functionality and this warning by setting session.bug_compat_42 or session.bug_compat_warn to off, respectively in Unknown on line 0