Untitled Document
 
 
 
 
Untitled Document
Home
Current issue
Past issues
Topic collections
Search
e-journal Editor page

Concepts on Post Graduate Education for Sustainable Development

แนวคิดการจัดการการศึกษาหลังปริญญาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Waraporn Chau-In (วราภรณ์ เชื้ออินทร์) 1




การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นกระบวนการพื้นฐานในการพัฒนาแบบองค์รวมเพื่อให้ครอบคลุมและสมดุล จำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทุกด้านของสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจทั้ง การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการพัฒนา พิจารณาแบบองค์รวมในแง่ของการมีส่วนร่วม โดยคำนึงถึงการเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นบนความหลากหลายของระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน พิจารณาการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันบนพื้นฐานของทรัพยากรของตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความต้องการของทุกฝ่ายซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม และไม่ส่งผลกระทบในทางลบของการพัฒนาในอนาคต

แนวคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยทั่วไปครอบคลุมในสามมิติ คือ มิติเศรษฐกิจ มิติทางสังคม (มีทุนมนุษย์ ปัจจัยของความสุขและฐานของการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ) และมิติทรัพยากรธรรมชาติ (รวมการ ศึกษาและสภาพแวดล้อม) เพื่อให้เกิดกระบวนการการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืนแบบบูรณาการมากขึ้น ควรดำเนินการภายใต้องค์ประกอบหลัก ต่อไปนี้ : 1) ความสามารถในการแข่งขันบนพื้นฐานของทรัพยากรและขีดความสามารถของสถาบัน 2) ความสามารถในการตอบสนอง ความต้องการของผู้เรียนและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย และ 3) ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับบริบทของท้องถิ่นและเป็นสากล โดยบูรณาการหลักการของการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 เข้าไปด้วย

การวัดความสำเร็จของการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตศึกษาในกระบวนทัศน์ใหม่นี้จะมีความหมายกว้างกว่าการประสบความสำเร็จของการศึกษาที่ไม่แสวงหากำไร แต่จะรวมตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความยั่งยืนของการศึกษาหลังปริญญา(บัณฑิตศึกษา) อาทิเช่นความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ(รวมถึงชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆ)หลังสำเร็จการฝึกอบรม, อัตราการลาออกจากราชการ, ความคงอยู่ของบัณฑิตในท้องถิ่น ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นต้น โดยเฉพาะ CSR ซึ่งได้รับความสนใจในยุคนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของแนวโน้มของการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเพิ่มจำนวนของหลักสูตรของสถาบันการศึกษาเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมในครึ่งทศวรรษที่ผ่านมาแสดงแนวโน้มว่าทิศทางของการศึกษาในอนาคตจะอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องของสถ​​าบัน หน่วยแพทยศาสตร์ศึกษาที่เข้าใจแนวคิดนี้จะเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบและส่งเสริมการพัฒนาสังคม ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเพื่อความยั่งยืนขององค์กรในอนาคตเช่นกัน

Sustainable development is a process based on the holistic development to ensure a comprehension and balanc. The needs to consider carefully all aspects of both social and economic environment. Opportunity for all parties to participate in the development by considering a holistic approach in terms of integration. The processes  occur on a variety of different economies such as consider developing the capability to compete on the basis of their own resources, society  and environment. The need to focus on the needs of all parties must be relevant to the social and cultural context, no negatively impact future development.

The concepts of sustainable development are generally three-dimensional agendas, including economic, social dimensions (include human capital, a factor of happy people and a base of economic value creation) and the dimensions of natural resources (education and the environment) when used in accordance with the principle of more integrated education for sustainable development, include the following elements: 1) the competitive advantage based on resources and capacity and ability of institutions 2) the ability to meet the needs of learners and stakeholder groups, and 3) the ability to adapt to the context of local and international. Principles of the 21st century learning should be integrated.

The measures of success of post graduate in this new paradigm will wider meaning than just a successful of non-profit education. But will include other indicators that reflect the degree of sustainability post graduate study such as the satisfaction of customers (including local communities) after completion of training, turnover from the government, the existence of local graduates and corporate social responsibility (CSR), etc. CSR have been particularly interested in today is one example of the trend of sustainable development. Increasing the number of social-related courses in the past half-decade trend that shows the direction of future studies will be in the right direction of the institution. Medical Education Unit, which understands the concepts, will be participated and responsible for promoting public health development. This will lay the foundation for the future sustainability of the organization as well.

 

 

 

บทนำ

การพัฒนาประเทศเป็นหน้าที่ของทุกคนในประเทศที่จะต้องเข้าใจหน้าที่ และแสดงบทบาทให้ถูกต้องเหมาะสม กลไกการพัฒนาประเทศมีหลายด้านที่คอยขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ด้านการเมืองการปกครอง ด้านอุตสาหกรรม ด้านการค้าธุรกิจต่างๆ     เป็นต้น สิ่งสำคัญที่เป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาประเทศคือการพัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุด เพราะการศึกษาของคนในชาติเปรียบเสมือนเส้นเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงในทุกๆ ด้าน ทุกภาคส่วนต่างเล็งเห็นความสำคัญ แต่กระบวนการขับเคลื่อนจะเริ่ม ณ จุดใดของการพัฒนาการศึกษาในยุคเทคโนโลยีเบ่งบาน

โลกในพุทธศตวรรษที่ 26 เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่พุ่งเข้าหาตัวคนไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ทำให้ต้องคิดและตัดสินใจรวดเร็วขึ้น สังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น บทบาทของการสื่อสารสามารถเชื่อมโยงคนเข้าหากันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ทำให้ปัญหาของโลกเป็นปัญหาใกล้ตัวด้วย คนทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ร่วมกันในเรื่องความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมวลมนุษย์โดยทั่วไป ดังตัวอย่างแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ที่ญี่ปุ่นกับปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมทั้งปัญหาของสังคมไทยและการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์ด้วย เยาวชนไทยจะมีความรู้ ความสามารถพื้นฐานเพียงพอกับการดำรงชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีในสังคมโลกได้อย่างไร จะมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์เลือกใช้ข้อมูลข่าวสารตัดสินใจถูกต้องในการแก้ปัญหาและก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือไม่ มนุษย์จะอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร โดยที่จะเกื้อกูลและไม่ทำลายซึ่งกันและกัน การศึกษาจะนำคนไปสู่ชีวิตที่มีความสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืนได้หรือไม่ และที่สำคัญคือทุกฝ่ายทั้งประเทศและมนุษยชาติ จะเข้มแข็งพร้อมเผชิญกับความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงของยุคโลกาภิวัตน์ร่วมกันอย่างไร

          การศึกษาถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับทุกประเทศทั่วโลก สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนแต่เป็นประเทศที่มีประชาชนได้รับการพัฒนาด้านการศึกษาที่ดีมาก่อนแล้วค่อยมุ่งพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไป เหตุนี้เองทำให้ทุกภาคส่วนก็เริ่มมีความตระหนักให้ความสำคัญมากขึ้น และปรากฏภาพความชัดเจนขึ้นเมื่อพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้บัญญัติสาระที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย องค์กรหน่วยงานต่างๆ ในการมีส่วนร่วมจัดการศึกษา และพัฒนาด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการให้สังคมได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ให้สถาบันการศึกษามีการประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชมทุกๆ ฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ ซึ่งสาระและหลักการดังกล่าวมีระบุในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ

การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทั่วไปมี 3 มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม (ทุนมนุษย์รวมปัจจัยสำคัญของความสุขประชาชนซึ่งเป็นฐาน value creation ของเศรษฐกิจ) และมิติทรัพยากรทางธรรมชาติ (สิ่งแวดล้อมทางการศึกษา) 1 ดังนั้นสถาบันการศึกษาจึงมีภารกิจสำคัญในฐานะหน่วยงานที่จัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับ “ทุนมนุษย์” และ “ทุนทางสังคม” ทุกสถาบันการศึกษาต้องดำเนินการพัฒนาองค์ประกอบทุกส่วนของสถาบันอย่างบูรณาการให้เอื้ออำนวยและเกื้อกูลกันอย่างเป็นระบบ ไม่แยกส่วนและครอบคลุมการพัฒนาทุกส่วนของสถาบันการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ แนวทางการจัดการศึกษาของแผนการศึกษาชาติให้บรรลุเจตนารมณ์ที่มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นคนดี เก่ง และมีความสุข ตลอดจนมุ่งพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่พึงประสงค์ มีความเข้มแข็ง และมีดุลยภาพซึ่งสถาบันการศึกษาต้องมีปฏิสัมพันธ์กับหน่วยต่าง ที่เกี่ยวข้อง ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและรู้เท่าทันการพัฒนาในยุคสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ในปัจจุบัน เนื่องจากสถาบันการศึกษาเป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติที่มีหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีความใกล้ชิดและมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชน

ในบทความนี้ จะกล่าวถึงการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้หลักการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 1) ความสามารถในการแข่งขันบนพื้นฐานทรัพยากรและความสามารถของสถาบัน 2) ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ 3) ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นและความเป็นสากล ซึ่งจะกล่าวเรียงตามหัวข้อ ดังต่อไปนี้

1.      การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หมายถึง การดำเนินการจัดการศึกษาตามแนวทางจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างสมดุลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมทางศึกษา ให้มีความสามารถในการแข่งขันบนพื้นฐานทรัพยากรและความสามารถของตนเอง มีความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับบริบททางสังคมวัฒนธรรมของท้องถิ่นและสากล

2.      แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หมายถึง การดำเนินการจัดการศึกษาตามองค์ประกอบที่เกิดจากกลุ่มตัวแปรในบริบทเดียวกันให้มีความสอดคล้องกับแนวคิดและหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งสามารถนำไปเป็นแนวทางในการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย ให้มีคุณภาพได้อย่างยั่งยืน

3.      การสร้างความสามารถในการแข่งขันบนพื้นฐานทรัพยากรและความสามารถของมหาวิทยาลัย หมายถึง การดำเนินการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้เกิดความสมดุลในมิติด้านเศรษฐกิจ โดยสามารถใช้ทรัพยากรและความสามารถของแต่ละสถาบัน มีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสมและการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะของการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของสถาบันอย่างมีคุณภาพ

4.      การสร้างความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้เรียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) หมายถึง การดำเนินงานตามแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของมหาวิทยาลัย ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้เกิดความสมดุลในมิติด้านสังคม ให้มีคุณภาพ มีภาพลักษณ์ที่ดี ตามศักยภาพและความพร้อมของทรัพยากร ให้สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายกลุ่มอย่างเจาะจงได้ จะช่วยรักษาและเพิ่มพูนสัมพันธภาพอันดีระหว่างสถาบันและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ทำให้กิจกรรมการเรียนการสอนนั้นไม่เพียงแต่บรรลุเป้าหมายของสถาบัน แต่ยังช่วยให้สถาบันสามารถดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนได้

5.      การสร้างความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นและเป็นสากล หมายถึงการดำเนินงานตามแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสถาบัน ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้เกิดความสมดุลในมิติด้านสิ่งแวดล้อมของการจัดการศึกษา โดยให้สามารถจัดการศึกษาอย่างสอดคล้องตามบริบทด้านศาสนา วัฒนธรรม ค่านิยมของประชาชนในพื้นที่ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์


แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้มีความทันสมัย โดยเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นหลัก มีผลให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทุกด้าน ส่งผลให้สังคมโลกมีการใช้ทรัพยากรเกินความพอดี ขาดความรอบคอบ ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดเหลือน้อยลงจนใกล้จะหมดไปหรืออยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมลง จนไม่สามารถสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด แม้ว่าปรากฏการณ์การพัฒนาดังกล่าว จะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้า แต่ในขณะเดียวกันได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของมนุษย์ เกิดความเสื่อมโทรมด้านคุณธรรมจริยธรรม คุณภาพชีวิตของมนุษย์ถูกบั่นทอนลงเรื่อยๆ เกิดการเลียนแบบพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้สังคมโลกต้องตกอยู่ในภาวะสังคมมีปัญหา และการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน2 ไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ประสบปัญหาความไม่ยั่งยืนของการพัฒนา แนวคิดนี้เกิดขึ้นเมื่อ ..2515 ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้เข้าร่วมการประชุมของสหประชาชาติที่มีชื่อว่า “การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสภาพแวดล้อมของมนุษย์” (United Nations Conference on the Human Environment) ที่ กรุงสตอคโฮล์ม การประชุมครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่าปัญหาต่าง ที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นผลมาจากความผิดพลาดของการพัฒนาในอดีตที่มุ่งการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นการสร้างความมั่งคั่งทางวัตถุ เป็นความเจริญที่เสียสมดุล และไม่บูรณาการ จึงต้องเปลี่ยนวิธีการพัฒนาเป็นวิธีใหม่ที่ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมและองค์ประกอบด้านคน ซึ่งเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาภายใต้กระแสการพัฒนาของโลกที่ต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนามนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง องค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ทั่วโลกคำนึงถึงผลกระทบของการพัฒนาที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือยที่ไม่สมดุลกับขีดจำกัดการตอบสนองของธรรมชาติ โดยได้จัดประชุมสุดยอดของโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UN Conference on Environment and Development: UNCED) เมื่อ ..2535 กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นที่มาของแผนแม่บทโลกที่ใช้เป็นกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน ในการ ประชุมครั้งนั้น ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในการปฏิบัติตามแผนแม่บท ดังกล่าว ซึ่งอีก 10 ปี ต่อมาจึงขยายแนวคิดไปสู่การประชุมสุดยอดระดับโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Summit on Sustainable Development) เพื่อกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ หันมาให้ความสนใจกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างองค์รวม มุ่งสู่ดุลยภาพการพัฒนา3,4

สำหรับแนวคิดการพัฒนาของประเทศไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่สมดุลกับการพัฒนาด้านอื่น แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศนับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เป็นต้นมาว่าถึงแม้การพัฒนาจะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต แต่เป็นการเติบโตที่มีรากฐานการพัฒนาไม่เข้มเข็ง ขาดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม อีกทั้งไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควรจึงเป็นการเติบโตที่ไม่สมดุลและไม่ยั่งยืน จึงเป็นที่มาของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ5 ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเริ่มขาดความสมดุลกับสิ่งแวดล้อม กลายเป็นปัญหาสะสมที่บั่นทอนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน และนำไปสู่การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน หากไม่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาให้เหมาะสมและสมดุลอย่างองค์รวมทั้งมิติเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม6

การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) มีคำนิยามที่ได้รับการอ้างถึงบ่อยครั้ง ซึ่งบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (World Commission on Environment and Development) หรือที่เรียกในอีกนามหนึ่งว่า Brundtland Commission เพื่อเรียกร้องให้ชาวโลกเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตให้ปลอดภัยและสอดคล้องกับข้อจำกัดทางธรรมชาติ ซึ่งที่ประชุมได้บัญญัติความหมายของคำไว้ในรายงานที่มีชื่อว่า Our Common Future7 ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนาเพื่อสนองตอบความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ทำให้คนรุ่นต่อไปต้องเดือดร้อนหรือสูญเสียโอกาสที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อสนองความต้องการของคนรุ่นอนาคต ไม่ทำลายทรัพยากรซึ่งต้องใช้ในอนาคต7  การพัฒนาที่ยั่งยืน จะต้องเป็นการพัฒนาที่ก่อให้เกิดดุลยภาพของทุกมิติ กล่าวคือ  ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม จิตใจ ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีการบริหารจัดการที่ดี ที่มีพหุภาคีร่วมทุกขั้นตอนเป็นกลไกขับเคลื่อน8

จากสภาพการเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่เกิดจากความไม่ยั่งยืนของการพัฒนาส่งผลให้ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยต่างหันมาพัฒนาตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับกันว่าการศึกษาเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังที่ประชุมสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา มีมติประกาศให้ปี พ.ศ. 2548-2557 เป็นทศวรรษแห่งการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Decade of Education for Sustainable Development –DESD) และได้เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ร่วมกันบูรณาการแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้ากับระบบการศึกษาของชาติ ตลอดจนจัดทำแผนปฏิบัติการทศวรรษแห่งการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับนานาชาติโดยมีเป้าหมายหลัก คือ เพื่อสร้างเครือข่ายการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ มีส่วนร่วมในการปฏิรูปหรือจัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้การเรียนรู้ทุกรูปแบบ และการสร้างจิตสำนึกของสาธารณชน ตลอดจนส่งเสริมค่านิยมที่เหมาะสม9

 

การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย     

          ทั่วโลกต่างยอมรับว่า การศึกษาเป็นกลไกสำคัญสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และการศึกษามีผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาประเทศ ประเทศชาติจะมีการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้น ประชากรในประเทศต้องได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพมาก่อนแล้วจึงเกิดทางเลือกในการพัฒนาประเทศตามมา การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับประเทศ จึงมุ่งพัฒนาศักยภาพของคนในสังคมให้เกิดความรู้ ทักษะ มุมมอง และค่านิยม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักชี้นำและจูงใจให้บุคคลแสวงหาและสามารถดำเนินชีวิตในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนเนื่องจากสภาวะการดำรงชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้กระบวนการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่สังคมที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีสาระเนื้อหาที่เหมาะสมและมีความต่อเนื่องตลอดชีวิต

ภารกิจสำคัญในการส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศจึงเกี่ยวข้องกับ

(1) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้สำหรับคนทุกเพศทุกวัย ให้มีโอกาสได้แสวงหาและสะสมความรู้และทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตปลูกฝังทัศนคติในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตระหนักว่า ตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น

(2) การปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งหมายถึง การกำหนดนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติ การจัดกระบวนการเรียนการสอนและการบริหารการศึกษา ตลอดจนการวัดและประเมินผลการศึกษา ให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อหาสาระอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ทักษะในการคิดอย่างเป็นระบบและตระหนักรู้ถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์หรือค่านิยมที่เหมาะสม ซึ่งเป็นแนวทางสู่การดำเนินวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ตลอดจนการใช้ทักษะอย่างเหมาะสมในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ตนอาศัยอยู่การจัดระบบการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว ควรครอบคลุมทุกระดับการจัดการศึกษาตั้งแต่การศึกษาระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับอุดมศึกษาและการศึกษาหลังปริญญา ขณะเดียวกันการจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างสังคมที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องมีการมองย้อนหลังถึงความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งปลูกฝังคุณค่าความเป็นมนุษย์ รวมทั้งขนบธรรมเนียมในการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นที่สังคมชุมชนยึดถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน

(3) การเสริมสร้างความเข้าใจและความตระหนักของสาธารณชน เนื่องจาก สังคมจะเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ต้องประกอบด้วยสมาชิกที่มีความตระหนักถึงเป้าประสงค์ของการมุ่งสู่ความยั่งยืน รวมทั้งมีความรู้และทักษะที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น หากคนส่วนใหญ่ในสังคมมีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน คนเหล่านั้นจะมีส่วนช่วยผลักดันและกระตุ้นให้ผู้แทนของตนชี้นำนโยบายกำหนดมาตรการ และวางแผนดำเนินงานบริหารจัดการประเทศ ไปในแนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

(4) การพัฒนาศักยภาพและฝึกอบรมบุคลากร เนื่องจาก ในสังคมที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนประชากรควรได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเจริญและมั่นคงแก่สังคม ดังนั้น ทุกภาคส่วนของสังคม ได้แก่ ภาครัฐ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม องค์กรพัฒนา องค์กรชุมชน และชุมชนท้องถิ่น จึงควรส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องแก่สมาชิกของตนและส่วนรวม โดยจัดกิจกรรมเสริมศักยภาพบุคคล และการฝึกอบรมเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การพัฒนาศักยภาพและความชำนาญของบุคคลให้สามารถประกอบวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการกระตุ้นให้เกิดสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมและสภาพแวดล้อม ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก เป็นต้น

คนเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่ความยั่งยืน เนื่องจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีเสถียรภาพ สามารถกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึงทุกระดับได้ต้องมีรากฐานมาจากปัจจัยอื่นๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการศึกษาที่ต้องให้ความสำคัญกับตัวแปรสำคัญเกี่ยวกับหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนให้เอื้อต่อการผลิตกำลังคนที่มีความสามารถในการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมของตนเอง ให้เป็นที่ยอมรับ และมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล6 คุณภาพชีวิต เป็นมิติขององค์รวมจากปัจจัยในทุกๆ ด้าน ที่ต้องได้รับการเอาใจใส่โดยทัดเทียมกัน ทั้งความอยู่ดี กินดี การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สภาวะแวดล้อม และการจัดการศึกษา รวมทั้งการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ดังนั้น คุณภาพชีวิตได้กลายเป็นหัวใจของทิศทางการพัฒนา การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการวางแผนจากการดำเนินการ “โดยราชการเพื่อประชาชน” เป็นการมี “ประชาชนเข้าร่วม” เปลี่ยนจุดมุ่งหมายจาก“การเร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” เป็นการยึด “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ตามแนวพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ให้คนเป็นผู้ตัดสินใจหรือกำหนดทิศทางการพัฒนาที่คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อพร้อมรับต่อความเสี่ยงบนฐานของความรอบรู้ ในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (..2550-2554) ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายบริบท ทั้งที่เป็นโอกาสและข้อจำกัดต่อการพัฒนาประเทศ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้มีภูมิคุ้มกัน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยยังคงอัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” การรวมพลังสังคมจากทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมดำเนินการในทุกขั้นตอนของแผนฯ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานตามแผนอย่างต่อเนื่อง10,11 แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 นี้จะไม่เน้นเรื่องตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังคงให้ความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์ หรือระบบเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันระหว่างเศรษฐกิจชุมชนเมืองและชนบท

 

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นให้คนไทยมีความสุขถ้วนหน้า สามารถพึ่งตนเองก้าวทันโลก โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นไทย มีค่านิยมต่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด เจตคติและกระบวน การทำงานให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง ระบบการบริหารจัดการที่มุ่งสู่ประสิทธิภาพ คุณภาพ รู้เท่าทัน ก้าวทันโลก และมีความยืดหยุ่นพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ควบคู่ไปกับการมีคุณธรรมและซื่อสัตย์สุจริต จึงเห็นได้ว่าหลักการแห่งกรอบแนวคิดของแผนการศึกษาชาติ ข้างต้น เป็นแผนบูรณาการ ทั้งด้านการจัดการศึกษา ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และธรรมชาติสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นองค์รวม พึ่งพาอาศัย ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างพอเหมาะ พอดีและมีดุลยภาพ การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปเป็นแนวคิดในการจัดการศึกษาไทยนับเป็นส่วนสำคัญในการเผยแพร่และนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้อย่างยั่งยืนเนื่องจาก การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศ การจัดการศึกษาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากวิกฤติ ซึ่งผลที่จะได้รับจากการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ ความพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สู่การพัฒนาที่สมดุล มั่นคงยั่งยืน12 และมีภูมิคุ้มกัน เพื่อความอยู่ดีมีสุข มุ่งสู่สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกว่า "สังคมสีเขียว" ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักพิจารณาอยู่ 5 ส่วน13 ดังนี้

1.      กรอบแนวคิด: เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัย และวิกฤตเพื่อ ความมั่นคง และความยั่งยืนของการพัฒนา

2.      คุณลักษณะ: เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน

3.      คำนิยาม  ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ พร้อม กัน ดังนี้

3.1 ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

3.2 ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น อย่างรอบคอบ

3.3 การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ ต่าง ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

4.      เงื่อนไข : การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ

4.1  เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วยความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ

4.2  เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

5.     แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี

          กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายด้านการศึกษา ให้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็น แนวทางในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับใช้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว ชุมชน สถาบันทางศาสนาให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ทักษะและเจตคติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างสมดุล และยั่งยืน กำหนดผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในสถาบันการศึกษา และจัดทำแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงของสถาบันการศึกษาผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จากนั้นบูรณาการสู่กิจกรรมการเรียนรู้ ทั้งในและนอกห้องเรียน ตลอดจนบริหารจัดการทรัพยากรของสถาบันการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถาบันการศึกษานำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและการบริหารจัดการสถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติในทุกระดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ในการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง

 

ประเด็นท้าทายตามแนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายทั่วโลก นับตั้งแต่องค์การสหประชาชาติ ประกาศเริ่มต้นทศวรรษแห่งการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2548 เป็นต้นมา ได้มีประเทศต่างๆ นำแนวคิดและหลักการดังกล่าวข้างต้น ไปปรับใช้กับระบบการศึกษาของตน ซึ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้ถึงประเด็นท้าทายความพยายามในการดำเนินงานของประชาคมโลก เพื่อผลักดันให้การศึกษาเป็นกระบวนการพื้นฐานนำสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อเสนอแนะประเด็นท้าทาย9 ได้แก่

1.   การเสริมสร้างความตระหนัก เนื่องจากขั้นตอนแรกที่สำคัญของกระบวนการขับเคลื่อนการ ศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การสร้างความตระหนักของบุคลากรด้านการศึกษาและสาธารณชนที่เกี่ยว ข้อง เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่ส่งเสริมการศึกษาของชาติ ได้มีโอกาสเรียนรู้และทำความเข้าใจกับแนวความคิดพื้นฐาน ความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษากับการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดจนเหตุผลที่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือรูปแบบการศึกษาของประเทศ ไปสู่แนวทางที่สอดคล้องกับกระแสโลก ขณะเดียวกันมีความเหมาะสมกับความต้องการของท้องถิ่น

2.   การบูรณาการหลักสูตรสำหรับการศึกษาในระบบ (Formal education) นั้น กลยุทธ์ในการนำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไปบูรณาการไว้ในหลักสูตรการศึกษา ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานถึงระดับหลังปริญญานับ เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบจริงจัง ในการนี้ รัฐสามารถเลือกปฏิบัติได้อย่างน้อย 2 วิธี คือ 1) การเพิ่มสาระวิชาใหม่ในหลักสูตรการเรียนการสอนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น รายวิชาการพัฒนาที่ยั่งยืน รายวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา รายวิชาจริยธรรมการพัฒนา หรือวิชาศึกษาทั่วไปของทุกมหาวิทยาลัย เป็นต้น หรือ 2) โดยการพัฒนาหลักสูตรใหม่ให้มีโครงสร้าง แผนการศึกษา และรายวิชาที่มีเนื้อหาสาระสอดคล้องกับแนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานด้วยวิธีใด รูปแบบของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ทักษะ ค่านิยม และมุมมองที่สามารถสร้างความยั่งยืนแก่ชุมชนของตนเอง

3.   การปฏิรูปการศึกษา ต้องเน้นที่เป้าหมายของการจัดการศึกษา หากรัฐมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน และกำหนดเป็นกรอบเป้าหมายของการศึกษาในทุกระดับ โครงสร้างและกระบวนการเรียนรู้ของประชากรในประเทศ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับกรอบที่วางไว้ เพื่อให้คนทั้งประเทศมีความรู้ ทักษะ และจิตสำนึกร่วมกันแก้ไขปัญหาการขาดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันประชากรของประเทศ สู่เป้าหมายที่รัฐต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ควรมองข้ามความสำคัญของการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของปัญหา และตื่นตัวเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

4.   การมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความซับซ้อนของกระบวนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งความหลากหลายของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้ถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อาจารย์ผู้สอนในสถาบัน วิทยากรจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา และผู้ฝึกสอนมีความชำนาญเฉพาะด้านให้กับชุมชน เป็นต้น บุคลากรด้านการศึกษาเหล่านี้ จำเป็นต้องทราบกรอบแบบแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่เดิมภายใต้บริบทใหม่ของการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในระดับชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมมากขึ้น กลยุทธ์ข้อหนึ่งในการทำงานระดับท้องถิ่นได้แก่ การกระตุ้นให้สมาชิกชุมชนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบการปฏิบัติงานด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของท้องถิ่น เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน และเป็นการลดความกังวลเกี่ยวกับแผนการสอนของผู้ฝึกสอนอีกทางหนึ่งด้วย

นวัตกรรมการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษาแนวใหม่ของไทยโดยภาพรวมนั้นมีแนวโน้มคล้าย คลึงกับต่างประเทศที่เน้นเรื่องการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการบริหารด้านวิชาการ ด้านการวิจัย การให้บริการวิชาการที่เป็นการตอบสนองต่อกลุ่มผู้เรียนที่หลากหลาย มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารสถาบันและการจัดการเรียนการสอน ทั้งนี้ยุทธศาสตร์สำหรับการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่นวัตกรรมทางการจัดการเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เพื่อประสิทธิภาพ เสมอภาคทางการศึกษานั้น แต่ละสถาบันคงต้องพิจารณาปณิธาน ความเป็นมาของสถาบัน และเงื่อนไขต่าง ๆ ภายในสถาบันประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการบริหารจัดการสถาบันเป็นกิจกรรมที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง และมิใช่การเลียนแบบสถาบันอื่นโดยตรง14

5.   การบูรณาการเนื้อหาสาระการเรียนรู้ ในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีการเน้นเป้าหมายการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้ฝึกสอนจำเป็นต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงของการเรียนรู้ทุกสาขาวิชา เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงความคิด มุมมอง และคุณค่าของการตัดสินใจ ตลอดจนพฤติกรรมต่างๆ ของเพื่อนร่วมโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เนื่องจากมีมิติของความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องหลายด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ขณะเดียวกัน การสอนแบบบูรณาการสามารถเลือกทำได้หลายรูปแบบ อาทิ เชื่อมโยงความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน กับเนื้อหาสาระของกลุ่มวิชาที่มีในหลักสูตร หรือจัดหัวข้อการสอนใหม่ โดยนำเนื้อหาสาระในแต่ละกลุ่มวิชา ที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกัน เพื่อเน้นความ สำคัญของหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้ฝึกสอนจึงต้องมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีทักษะในการบูรณาการอย่างเหมาะสม

6.   บทบาทของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ปัจจุบันการพัฒนาที่ยั่งยืนถือเป็นเป้าหมายของทุกองค์กร โดยเฉพาะหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรมเป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าหน่วยงานเหล่านี้ มีบทบาทและหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงควรมีการหารือและแลกเปลี่ยนความรู้หรือมุมมองร่วมกัน เพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายและยุทธศาสตร์ ตลอดจนแผนการปฏิบัติงาน ที่สอดคล้องซึ่งกันและกัน

 

1.   การพัฒนาศักยภาพของผู้นำการเปลี่ยนแปลง ความสำเร็จของการส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยหลายประการ ปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ คือ ประสิทธิภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของโลกและท้องถิ่นในปัจจุบัน สามารถพัฒนาทักษะในการสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ และผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีความกระตือรือร้นที่จะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ การพัฒนาศักยภาพของผู้นำด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถทำได้อย่างน้อย 2 รูปแบบ คือ การจัด การสอนหลักสูตรพิเศษในสถาบันการศึกษาซึ่งมีเป้าหมายผลิตอาจารย์ผู้สอนและบุคลากรด้านการศึกษารุ่นใหม่ ที่สามารถบูรณาการแนวคิดและหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนกับการเรียนการสอนในสาระวิชาที่ตนถนัด และการฝึกอบรมอาจารย์ผู้สอนต้นแบบ ซึ่งมีเป้าหมายเสริมสร้างขีดความสามารถของอาจารย์ผู้สอนและบุคลากรด้านการศึกษา ที่มีประสบการณ์ด้านการเรียนการสอนมาบ้างแล้ว ให้มีความรู้และทักษะในการ

บูรณาการเนื้อหาสาระการเรียนการสอน จากกลุ่มสาระต่างๆ ให้เกิดความเชื่อมโยงกับแนวคิดและหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

2.   การจัดระบบงบประมาณและปัจจัยสนับสนุน เนื่องจาก ปัจจัยอีกส่วนหนึ่งที่เอื้อต่อความสำเร็จของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ งบประมาณ สื่อการเรียนการสอน และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง รูปแบบ และกระบวนการจัดการเรียนการสอนในสถาบัน และจำเป็นต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก เพื่อสนับสนุนการจัดทำหลักสูตร การบริหารจัดการ และการฝึกอบรม ขณะ เดียวกันอาจารย์ผู้สอนจำเป็นต้องมีสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทการพัฒนาท้องถิ่น นอกจากนี้ในยุคของสังคมที่เต็มไปด้วยข้อมูล ข่าวสาร และเป็นการติดต่อสื่อสารที่ไร้พรมแดน อุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนที่อาศัยเทคโนโลยีและการสื่อสารรูปแบบใหม่ อาทิ คอมพิวเตอร์ ไอแพด สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

3.   การกำหนดนโยบายส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รัฐควรมีบทบาทโดยตรงในการส่งเสริมสนับสนุน บุคคล ครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน ด้วยวิธีส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น ผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการศึกษา จึงควรผลักดันให้มีการวางแนวทางดำเนินงานของรัฐ ด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพตามที่ต้องการ

 

การสร้างความสามารถในการแข่งขันบนพื้นฐานทรัพยากรและความสามารถของมหาวิทยาลัย

การสร้างความสามารถในการแข่งขันบนพื้นฐานทรัพยากรและความสามารถของมหาวิทยาลัยหมายถึง การดำเนินการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้เกิดความสมดุลในมิติด้านเศรษฐกิจ โดยสามารถใช้ทรัพยากรและความสามารถของแต่ละสถาบัน มีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสมและการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะของการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของสถาบันอย่างมีคุณภาพ เน้นการพัฒนาอย่างองค์รวมบนพื้นฐานทรัพยากรและความสามารถของตนเอง โดยยึดหลักทางสายกลาง มุ่งการพัฒนาที่มีดุลยภาพระหว่างมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อกูลกัน สู่การพัฒนาอย่างมีคุณภาพ มั่นคง และ สิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การให้ความสำคัญต่อตัวแปรที่ส่งผลต่อการจัดการศึกษา ทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมมือร่วมใจกันทำงาน โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ร่วมกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคมโลก เพื่อชนรุ่นหลังสืบไป15 การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ผู้สอนต้องไม่เน้นสอน แต่เน้นออกแบบการเรียนรู้ เน้นสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียน เน้นเป็นโค้ชไม่ใช่ผู้สอน16,17

ด้วยธรรมชาติของสถาบันการศึกษาที่เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร มิใช่ธุรกิจการศึกษาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประยุกต์แนวคิดการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่นิยมใช้ในภาคธุรกิจมาบูรณาการเข้ากับแนวคิดการบริหารการศึกษา เพื่อให้สถาบันการศึกษาสามารถบรรลุตามเป้าหมายของการจัดการศึกษา สามารถอยู่รอด และเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยให้ความสำคัญกับการควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ระดับต่ำที่สุด หาวิธีดำเนินการสรรหาเงินทุน สิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย รวมทั้งบริการอื่นๆ เพื่อสนับสนุนระบบการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุดแต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพตามมาตรฐาน18 

 

การสร้างความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้เรียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

การสร้างความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้เรียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หมายถึง การดำเนินงานตามแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของมหาวิทยาลัย ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้เกิดความสมดุลในมิติด้านสังคม ให้มีคุณภาพ มีภาพลักษณ์ที่ดี ตามศักยภาพและความพร้อมของทรัพยากร ให้สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายกลุ่มอย่างเจาะจงได้ จะช่วยรักษาและเพิ่มพูนสัมพันธภาพอันดีระหว่างสถาบันและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ทำให้กิจกรรมการเรียนการสอนนั้นไม่เพียงแต่บรรลุเป้าหมายของสถาบัน แต่ยังช่วยให้สถาบันสามารถดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนได้

การพัฒนาเพื่อสร้างกรอบการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 2119-21 สำหรับผู้เรียนยุคเทคโนโลยีการสื่อสาร จึงต้องเน้นการสร้างทักษะของผู้เรียนให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยจะต้องมีการผสมผสาน เนื้อหา ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญเฉพาะ การเข้าใจและรอบรู้ในด้านต่างๆ  ช่วยให้ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานในอนาคต การดำเนินงานตามกรอบแนวคิดนี้ ผู้เรียนทุกคนจะต้องมีการพัฒนาทักษะตามหลักวิชาการในเรื่องความรู้และความเข้าใจใน Core academic subjects เรียนรู้ทักษะที่สำคัญ เช่น การคิดเชิงวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การสื่อสารและการทำงานร่วมกัน สถาบันการศึกษาที่มีการพัฒนาพื้นฐานด้วยระบบมาตรฐานนี้ จำเป็นจะต้องมีการเชื่อมกรอบการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 ในทุกระบบ ตั้งแต่มาตรฐานหลักสูตร การประเมินหลักสูตร การสอน และการพัฒนาวิชาชีพ รวมทั้งสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ในแนวที่กว้างขึ้น ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาจะสามารถดำรงชีวิตในเศรษฐกิจโลกปัจจุบันได้เป็นอย่างดี กรอบการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 อธิบายถึงแต่ละองค์ประกอบที่ชัดเจนรวมทั้งการบรรยายมุมมององค์ประกอบทั้งหมด ที่มีการเชื่อมโยงกันในกระบวนการการเรียนการสอนของศตวรรษที่ 21 (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 การผสมผสานรูปแบบสหวิทยาการของการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 2120

 

สถาบันการศึกษาจะต้องไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการเรียนรู้เฉพาะวิชาหลัก สำหรับระดับปริญญามี 11 วิชาได้แก่ ภาษาอังกฤษ การอ่านหรือศิลปด้านภาษา ภาษาโลก ศิลปะ คณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รัฐบาลและกฎหมาย สำหรับระดับบัณฑิตจะเน้นหมวดวิชาบังคับเฉพาะของแต่ละสาขา ร่วมกับวิชาเสริม เช่น ความสัมพันธ์ของวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานกับวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก ระเบียบวิธีวิจัยทางการแพทย์ การเป็นนักวิชาชีพเวชกรรม ภาษาอังกฤษเทคนิคสำหรับแพทย์ประจำบ้าน แต่ยังต้องรวมถึงการส่งเสริมความเข้าใจของการศึกษาในเนื้อหาระดับที่สูงขึ้น โดยสามารถผสมผสานรูปแบบสหวิทยาการของการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 (รูปที่ 1) ลงในวิชาหลักซึ่งได้แก่

I วิชาหลักและสาระสำคัญของการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 (Core subjects and 21st century themes)

1.1 การตระหนักถึงความเป็นไปของโลก (Global awareness)

(1)  การใช้ทักษะการเรียนรู้ของศตวรรษที่ 21 เพื่อที่จะเข้าใจและแก้ไขปัญหาระดับโลก

(2)  การเรียนรู้จากการทำงานและประสานความร่วมมือกับบุคคลที่มาจากหลากหลายวัฒนธรรมศาสนา และวิถีชีวิต ในจิตวิญญาณของการเคารพซึ่งกันและกัน และสามารถเปิดการสนทนา (open dialogue) ทั้งส่วนบุคคล ในการทำงาน และในบริบทชุมชน

(3)  ทำความเข้าใจเกี่ยวกับชาติอื่น ๆ รวมทั้งวัฒนธรรม และการใช้ภาษาที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ

1.2 ความรอบรู้ด้านการเงิน, เศรษฐกิจ, ธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ (Financial, economic, business and entrepreneurial literacy)

(1)                        รู้วิธีการสร้างทางเลือกที่เหมาะสมในทางเศรษฐกิจส่วนบุคคล

(2)                        ทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของเศรษฐกิจในสังคม

(3)                        การใช้ทักษะผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มผลผลิตจากการทำงานและสามารถสร้างทางเลือกในวิชาชีพ

1.3 ความรอบรู้ถึงการเป็นพลเมืองที่ดี (Civic literacy)

(1)    การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพโดยทราบข่าวคราวและความเข้าใจกระบวนการของรัฐ

(2)    ใช้สิทธิและหน้าที่ของพลเมืองในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก

(3)    การทำความเข้าใจผลกระทบระดับท้องถิ่นและระดับโลกเพื่อการตัดสินใจในฐานะพลเมือง

1.4 ความรอบรู้ด้านระบบสุขภาพ (Health literacy)

(1)    สามารถหาข้อมูล แปลผลและความเข้าใจพื้นฐานข้อมูล และการบริการด้านสุขภาพ และนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ

(2)    ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันโรคทางร่างกายและจิตใจ มาตรการด้านสุขภาพรวมทั้ง อาหารที่เหมาะสม ภาวะโภชนาการที่ดี การออกกำลังกาย การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและลดความเครียด

(3)    การใช้ข้อมูลที่มีการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่เหมาะสม

(4)    การสร้างเป้าหมายและการเฝ้าระวังด้านสุขภาพของส่วนบุคคลและครอบครัว

(5)    ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสาธารณสุขระดับชาติและนานาชาติรวมทั้งการดูแลความปลอดภัย

1.5 ความรอบรู้ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental literacy)

(1)    แสดงให้เห็นถึงความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม สถานการณ์และเงื่อนไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีผลต่ออากาศ สภาพภูมิอากาศ ที่ดิน อาหาร พลังงานน้ำและระบบนิเวศ

(2)    แสดงให้เห็นถึงความรู้และความเข้าใจในผลกระทบของสังคมต่อธรรมชาติของโลก เช่นการเจริญเติบโตของประชากร การพัฒนาประชากร อัตราการบริโภคทรัพยากรและอื่น ๆ

(3)    ตรวจสอบและวิเคราะห์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและให้ข้อสรุปที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

(4)    ดำเนินการทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ต่อสภาพของสิ่งแวดล้อม เช่นการมีส่วนร่วมในการดำเนินการระดับโลกเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม

II ทักษะด้านการเรียนรู้และการสร้างนวัตกรรม (Learning and innovation skills)

2.1 ความคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม (Creativity and innovation) ได้แก่

2.1.1 คิดอย่างสร้างสรรค์ (Think creatively)

(1)    การใช้เทคนิคการสร้างความคิดที่หลากหลาย เช่นการระดมสมอง

(2)    สร้างความคิดใหม่ๆที่มีประโยชน์ และที่คุ้มค่า ทั้งแนวความคิดในเรื่องเล็กน้อยจนถึงความคิดในเรื่องใหญ่ๆ

(3)    สามารถอธิบายรายละเอียด ปรับ วิเคราะห์และประเมินความคิดของตนเองเพื่อปรับปรุงและ เพิ่มความพยายามในการสร้างสรรค์

2.1.2 การทำงานอย่างสร้างสรรค์ร่วมกับผู้อื่น (Work creatively with others)

(1)  สามารถพัฒนา ดำเนินการ และมีการสื่อสารความคิดใหม่ ๆ ให้ผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(2)  เปิดใจกว้าง ตอบสนองและเสนอแนะต่อมุมมองใหม่ๆ ที่มีความหลากหลาย ให้ความเห็นต่อกลุ่มและนำมาพัฒนาการทำงาน

(3)  แสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ในการทำงานและเข้าใจขีดจำกัดของโลกในการรับเอาความคิดใหม่ๆ

(4)  มีความเข้าใจว่าความล้มเหลวเป็นโอกาสในการเรียนรู้ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม คือกระบวนการระยะยาวของวัฏจักรที่มีความสำเร็จเล็กๆ เป็นองค์ประกอบ และบ่อยครั้งก็จะพบข้อผิดพลาด

2.1.3 การดำเนินการด้านนวัตกรรม (Implement innovations) สามารถทำให้เกิดการสนับสนุนและการดำเนินการด้านนวัตกรรมที่คิดขึ้น ได้ตรงตามเป้าหมายและเป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์

2.2 การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา (Critical thinking and problem solving)

2.2.1 การใช้เหตุผลที่มีประสิทธิภาพ (Reason effectively) สามารถให้เหตุผล อุปนัย นิรนัยและอื่นๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์

2.2.2 การคิดอย่างเป็นระบบ (Use systems thinking) การวิเคราะห์ว่าความสัมพันธ์ของแต่ละส่วนที่มีผลต่อภาพรวม และมีผลกระทบต่อการให้ผลลัพธ์หรือผลผลิตได้ในระบบที่ซับซ้อนได้อย่างไร

2.2.3 การตัดสินใจ (Make judgments and decisions)

(1)    วิเคราะห์ หลักฐาน การโต้แย้ง การเรียกร้องและความเชื่อ รวมทั้งประเมินผล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(2)    วิเคราะห์และประเมินทางเลือกต่างๆได้

(3)    วิเคราะห์ สังเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลที่ได้รับและข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้น

(4)    การตีความจากข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดโดยอาศัยการวิเคราะห์

(5)    สามารถตอบโต้เสนอแนะจากประสบการณ์และกระบวนการการเรียนรู้

2.2.4 การแก้ปัญหา (Solve problems)

(1)  การแก้ปัญหาใหม่ๆอย่างเป็นระบบและหรือโดยวิธีการใหม่ ๆที่สร้างสรรค์

(2)  ระบุและถามคำถามที่สำคัญที่ชี้แจงจุดต่างๆของมุมมอง และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ดีกว่า

2.3 การสื่อสารและความร่วมมือ (Communication and collaboration)

2.3.1 การติดต่อสื่อสารอย่างชัดเจน (Communicate clearly)

(1)  การสื่อสารความคิดอย่างมีประสิทธิภาพโดยการพูด การเขียนและอวัจนภาษา โดยมีทักษะการติดต่อสื่อสารในหลายรูปแบบและบริบท

(2)  การฟังอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเข้าใจความหมาย รวมถึง ความรู้ ค่านิยม ทัศนคติ และความตั้งใจของผู้พูด

(3)  ใช้การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่นการแจ้งให้ทราบการแนะนำและการกระตุ้นหรือชักชวน

(4)  ใช้ประโยชน์จากสื่อและเทคโนโลยีหลายๆ แบบ โดยสามารถตัดสินว่าจะใช้แบบใด โดยทราบประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งสามารถประเมินผลที่เกิดจากการใช้วิธีนั้นๆ

(5)  การติดต่อสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน รวมถึงการพูดได้หลายภาษา

2.3.2 การร่วมมือกับผู้อื่น (Collaborate with others)

(1)  ความสามารถในการแสดงให้เห็นถึงการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีความเคารพในทีมงานที่หลากหลาย

(2)  มีความยืดหยุ่นและความเต็มใจที่จะประนีประนอม เพื่อให้เป็นประโยชน์และบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

(3)  มีความรับผิดชอบร่วมกันในการทำงานร่วมกันและเห็นคุณค่าของผู้ร่วมงานในทีม

III ทักษะด้านข้อมูล สื่อและด้านเทคโนโลยี (Information, media and technology skills)

กลุ่มผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมของการมีสื่อเทคโนโลยี ที่มีหลากหลายลักษณะ รวมถึง การเข้าถึงข้อมูลอันมากมาย การเปลี่ยนแปลงในเครื่องมือเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และความสามารถในการทำงานร่วมกันและให้แต่ละคนมีส่วนร่วมในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ในศตวรรษที่ 21 ผู้เรียนจะต้องมีทักษะในการใช้สื่อและมีวิจารณญาณในการรับข้อมูลจากสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ

3.1 การเข้าใจและการเรียนรู้ด้านสารสนเทศ (Information literacy)

3.1.1 การเข้าถึงและประเมินข้อมูล (Access and evaluate information)

(1)                        การเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพด้านเวลา และมีประสิทธิภาพตามแหล่งที่มา

(2)                        ประเมินข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ และ มีความรอบรู้จริง

3.1.2 การใช้และจัดการข้อมูล (Use and manage information)

(1)                        ใช้ข้อมูลอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ในเรื่องหรือปัญหาที่กำลังดำเนินอยู่

(2)                        การจัดการข้อมูลที่มาจากหลากหลายแหล่ง

(3)                        ความเข้าใจพื้นฐานของจริยธรรม / ประเด็นทางกฎหมายของการเข้าถึงและการใช้ข้อมูล

3.2 การเข้าใจและการเรียนรู้สื่อ (Media literacy)

3.2.1 มีเดียวิเคราะห์ (Analyze media)

(1)                        ทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการและเหตุผลที่สื่อถูกสร้างขึ้นและวัตถุประสงค์ของสื่อ

(2)                        วิเคราะห์ว่า เหตุใดบุคคลจะแปลความหมายข้อความแตกต่างกัน เหตุใดมุมมองของแต่ละบุคคลจะถูกยอมรับหรือไม่ยอมรับ วิธีการที่สื่อจะมีผลต่อค่านิยม ความเชื่อและพฤติกรรมการของบุคคล

(3)                        ความเข้าใจพื้นฐานของจริยธรรม / ประเด็นทางกฎหมายของการเข้าถึงและการใช้สื่อ

3.2.2 การสร้างผลิตภัณฑ์สื่อ (Create media products)

(1)                        ความเข้าใจและใช้สื่อที่เหมาะสมที่สุด โดยใช้เครื่องมือ คุณลักษณะของสื่อที่เหมาะสมกับงาน

(2)                        ความเข้าใจและใช้ประโยชน์ของสื่อได้เหมาะสมอย่างมีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย และ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม

3.3 การเข้าใจและการเรียนรู้สื่อ, การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ ICT (Information

    Communications and Technology) literacy

3.3.1 การใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ (Apply technology effectively)

(1)                        ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการวิจัย การจัดการ ประเมินผลและการสื่อสาร ข้อมูล

(2)                        ใช้เทคโนโลยีดิจิตอล คอมพิวเตอร์เครื่องเล่นสื่อบันเทิง media players, GPS ฯลฯ ในการเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร / สร้างเครือข่ายทางสังคมอย่างเหมาะสม ในการเข้าถึง การจัดการ บูรณาการ ประเมินผลและการสร้างข้อมูล ที่เหมาะสมเพื่อความสำเร็จในการดำเนินงานในโลกเศรษฐกิจฐานความรู้

(3)                        ความเข้าใจพื้นฐานของจริยธรรม / ประเด็นทางกฎหมายการเข้าถึงและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

IV ชีวิตและทักษะในการทำงาน (Life and career skills)

การดำรงชีวิตและการทำงานสภาพแวดล้อมในปัจจุบันต้องการทักษะที่สูงกว่าการคิดและเนื้อหาองค์ความรู้ทั่วไป ผู้เรียนต้องให้ความสนใจอย่างยิ่งเพื่อพัฒนาชีวิตและทักษะในการทำงานเพียงพอที่จะสามารถดำรงชีวิตที่ซับซ้อนในโลกยุคข้อมูลข่าวสารซึ่งมีการแข่งขันสูง

4.1 ความสามารถในการยืดหยุ่นและปรับตัว (Flexibility and adaptability)

4.1.1 การปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง (Adapt to change)

(1)  ปรับตัวให้เข้ากับบทบาทหน้าที่ที่หลากหลาย ความรับผิดชอบต่องาน ตารางเวลาและบริบทต่างๆ

(2)  ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในบรรยากาศของความคลุมเครือและลำดับความสำคัญที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

4.1.2 มีความยืดหยุ่น (Be flexible)

(1)  รวมความคิดเห็นหรือการวิจารณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(2)  สามารถดำเนินการจัดการในเชิงบวกร่วมกับการชื่นชม สรรเสริญ การถอยในบางโอกาส และสามารถให้คำวิจารณ์ที่ถูกกาลเทศะ

(3)  มีความเข้าใจในมุมมองที่หลากหลาย มีความสามารถในการต่อรองและมีความมั่นใจในการทำงานโดยสามารถแก้ปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายทางวัฒนธรรม

4.2 ความคิดริเริ่มและวางเป้าหมายของตนเอง (Initiative and self-direction)

4.2.1 การจัดการเป้าหมายและกำหนดเวลา (Manage goals and time)

(1)  ตั้งค่าเป้าหมายกับเกณฑ์ความสำเร็จทั้งชนิด tangible และ intangible

(2)  ตั้งเป้าหมายโดยยุทธวิธีระยะสั้นและเป้าหมายกลยุทธ์ระยะยาว

(3)  ใช้เวลาและจัดการภาระงานอย่างมีประสิทธิภาพ

4.2.2 สามารถทำงานได้ด้วยตนเองอย่างอิสระ (Work independently)

ควบคุมกำหนดจัดลำดับความสำคัญและทำงานให้เสร็จสมบูรณ์โดยไม่ต้องกำกับดูแลโดยตรง

4.2.3 เป็นผู้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Be self-directed learners)

(1)  การสำรวจและขยายการเรียนรู้ของตนเองนอกการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานของทักษะและ / หรือหลักสูตรเพื่อโอกาสที่จะได้รับความเชี่ยวชาญมากขึ้น

(2)  แสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มเพื่อเลื่อนระดับทักษะสู่ระดับมืออาชีพ

(3)  แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

(4)  ศึกษาประสบการณ์ที่ผ่านมาอย่างจริงจังเพื่อความคืบหน้าหรือการพัฒนาตนเองในอนาคต

4.3 ทักษะทางสังคมและ ทักษะข้ามวัฒนธรรม (Social and cross-cultural skills)

4.3.1 การมีปฏิสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพกับผู้อื่น (Interact effectively with others)

(1)  พูดและฟังอย่างมีกาลเทศะ

(2)  ปฏิบัติตนโดยมีสัมมาคารวะ

4.3.2     ทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพในคนที่หลากหลาย (Work effectively in diverse teams)

(1)                        ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยให้ความเคารพกับผู้คนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและภูมิหลังทางสังคม

(2)                        ตอบสนองอย่างเปิดเผยต่อความคิดเห็นที่ต่างกัน

(3)                        สร้างพลังความคิดใหม่ สร้างนวัตกรรมจากความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อการเพิ่มขึ้นทั้งผลลัพธ์และคุณภาพของงาน

4.4                  การสร้างผลผลิตหรือการสร้างผลลัพธ์ของงานและความรับผิดชอบ (Productivity and accountability)

4.4.1 การจัดการโครงการ (Manage projects)

(1)                        ตั้งเป้าและทำให้บรรลุเป้าหมาย แม้จะมีอุปสรรคและความกดดันจากการแข่งขัน

(2)                        จัดลำดับความสำคัญ วางแผน และการบริหารงานเพื่อให้บรรลุผลวัตถุประสงค์ตามผลลัพธ์ที่วางไว้

4.4.2 การสร้างหรือทำให้เกิดผล (Produce results) แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะเพิ่มเติมที่สำคัญที่ทำให้บรรลุสู่ผลหรือเป้าหมายได้แก่ การทำงานในเชิงบวกอย่างมีจริยธรรม จัดการเวลาและโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานได้หลายรูปแบบ การเข้าร่วมการทำงานอย่างกระตือรือร้น รวมทั้งเป็นที่เชื่อถือได้และตรงเวลา ทำตนเองให้น่าเคารพและมีมารยาทที่เหมาะสม การทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้ความร่วมมือกับทีมงาน เคารพและชื่นชมความหลากหลายของทีม และมีความรับผิดชอบต่อผล

4.5 ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ (Leadership and responsibility)

4.5.1 เป็นผู้ชี้นำและสามารถนำผู้อื่น (Guide and lead others)

(1)                        การใช้ทักษะความสามารถในการปฏิสัมพันธ์และการแก้ปัญหา ในการนำคนอื่นๆ ไปยังเป้าหมาย

(2)                        ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของผู้อื่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน

(3)                        สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นเพื่อผลักดันให้ทำในแนวทางที่ดีที่สุดของตนเองผ่านทางการยกตัวอย่างและการเสียสละ

(4)                        แสดงให้เห็นถึงความมีคุณธรรมและพฤติกรรมที่มีจริยธรรม ในการใช้อิทธิพลและอำนาจในทางที่ถูก

4.5.2 มีความรับผิดชอบต่อผู้อื่น (Be responsible to others) มีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยใจ

ส่วนองค์ประกอบที่อธิบายไว้ด้านล่าง(รูปที่ 1) เป็นระบบสนับสนุนที่สำคัญและจำเป็น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถ เรียน รู้ทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ มาตรฐานของศตวรรษที่ 21 การประเมินผล หลักสูตร การเรียนการสอน การพัฒนาวิชาชีพและสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ ซึ่งจะต้องสอดคล้องกัน เพื่อเป็นระบบสนับสนุนผู้เรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 ในการศึกษาระดับหลังปริญญาเป็นผลสืบเนื่องมาจากระดับปริญญา การนำแนวคิดของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 มาใช้ผลที่เกิดคือผู้เรียนที่คุณภาพสูงสามารถต่อยอดความรู้ความสามารถ และมีเจตนคติต่อการดำรงชีวิตที่ไม่เป็นมลภาวะต่อสังคม

 

การสร้างความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นและเป็นสากล

การสร้างความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นและเป็นสากล หมายถึงการดำเนินงานตามแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสถาบัน ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อ ให้เกิดความสมดุลในมิติด้านสิ่งแวดล้อมของการจัดการศึกษา โดยให้สามารถจัดการศึกษาอย่างสอดคล้องตามบริบทด้านศาสนา วัฒนธรรม ค่านิยมของประชาชนในพื้นที่ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก

สถาบันการศึกษากับชุมชนนั้นคงจะแยกออกจากกันเด็ดขาดไม่ได้ เพราะสถาบันการศึกษาเปรียบเสมือนต้นไม้ ส่วนชุมชนเปรียบ เหมือนพื้นดินให้ประโยชน์กับต้นไม้ ฉะนั้นต้นไม้และพื้นดินต้องพึ่งพาอาศัยกันฉันใด ชุมชนกับสถาบันการศึกษาก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันฉันนั้น  ดังนั้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษานับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง22,23

การนำความรู้ความสามารถของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ในข้อที่ 4 (ความรอบรู้ด้านระบบสุขภาพ) และ 5 (ความรอบรู้ด้านสิ่งแวดล้อม) มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นนั้นๆ ในการศึกษาหลังปริญญาควรเน้นด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งหมายถึงการรักษาพยาบาล และผู้รับบริการ (ผู้ป่วย) คือคนในท้องถิ่นอาจเกิดการพัฒนาเป็นรูปแบบงานวิจัยจากการปฏิบัติงานตามปกติ (routine to research: R to R) หรือเกิดนวัตกรรมด้านบริการ (research and development: R and D) ส่วนความสามารถของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ในข้อที่ 1 การตระหนักถึงความเป็นไปของโลก จะทำให้ก้าวเข้าสู่ความเป็นสากลได้เพราะเข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาระดับโลกได้

ดังนั้น สรุปได้ว่าแนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแนวคิดที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ สำหรับประเทศไทยได้นำแนวคิดนี้มาปรับใช้อย่างสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 จนถึงปัจจุบัน(ซึ่งเริ่มใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่11) ที่รัฐได้เสริมสร้างความเข้าใจและความตระหนักของสาธารณชนให้เห็นความสำคัญและสามารถดำเนินการจัดการศึกษาตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างครอบคลุมทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อให้การจัดการศึกษาสามารถนำไปสู่การพัฒนาชีวิตและสังคมทุกระดับให้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากล การเลือกรูปแบบการบริหารจัดมีหลากหลายหรืออาจดัดแปลงตามแนวคิดของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (รูปที่ 2)

 

รูปที่ 2  รูปแบบการบริหารจัดการระดับสถาบันของสถาบันอุดมศึกษาไทย

(รุ่ง แก้วแดง. รูปแบบการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษาแนวใหม่. 2546:10)

 

ผลจากงานประชุมแพทยศาสตรศึกษา AMEE 2010 ณ เมือง Glasgow สหราชอาณาจักรได้เน้นให้เห็นการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป(EU) เพื่อพัฒนาประเทศในเครือสมาชิกให้สามารถรอง รับความท้าทายของโลกอนาคต ด้วยการสลายจุดอ่อนและเสริมจุดแข็ง แล้วดึงให้เจริญไปพร้อมกัน โดยใช้กลไกทางการศึกษาในการขับเคลื่อนให้ประชากรในประเทศเครือสมาชิกได้เรียนรู้แบ่งปันทางปัญญา แลก เปลี่ยนวัฒนธรรมนำเทคโนโลยีมาเพิ่มคุณภาพชีวิต ซึ่งคล้ายแนวคิดของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา รูปแบบที่ 4  (รูปที่ 2)นำพาสันติสุขสู่สังคมยุโรป แนวคิดด้านการศึกษาของกลุ่ม EU ได้เริ่มลงนามร่วมกันในวันที่ 19 มิถุนายน 1999 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกคือ Bologna Process โดยมีใจความสำคัญเน้นให้ระบบอุดมศึกษาที่ไม่ซับซ้อนง่ายใช้เทียบเคียงกันในกลุ่มประเทศสมาชิกได้ มี 3 ระดับ คือ Bachelor, Master, และ Doctoral สร้างระบบหน่วยกิตที่ถ่ายโอนกันระหว่างประเทศได้และสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนผู้เรียน อาจารย์ นักวิจัยในทุกระดับและทุกสาขาวิชา การปรับระบบอุดมศึกษาครั้งใหญ่นี้จะส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกในด้านการปรับวุฒิการศึกษา การจ้างงานและค่าจ้างแรงงาน ปัจจุบันทั้ง 27 ประเทศในเครือสมาชิก ซึ่งมีกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน ค..2010  และอีก 20 ประเทศจากทั่วโลกได้นำข้อตกลงร่วมนี้ไปปรับระบบอุดมศึกษาในประเทศของตนแล้ว

สำหรับด้านแพทยศาสตรศึกษา ทุกประเทศกำลังเปลี่ยนเป็น 2 ปริญญาคือ 3 ปีแรกได้รับปริญญาตรีและอีก 2-3 ปีหลังเปลี่ยนไปรับ Master of Medicine  หลายประเทศที่เคยรับปริญญาตรีอย่างเดียวก็ต้องกลับไปปรับให้เหมือนๆ กัน มีการปรับมาตรฐานหลักสูตรปริญญาตรี (พรีคลินิก) ปริญญาโท (คลินิก) และมาตรฐานของหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องของวิชาชีพแพทย์ (CME หรือ CPD) ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย มีหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตระดับปริญญาตรี(เทียบเท่าปริญญาโท) จากเรียนต่อเนื่องในระยะเวลา 6 ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเคยยกเลิกปริญญาวิทยาศาตรบัณฑิต(สาขาแพทยศาสตร์) อาจต้องเริ่มใหม่อีกครั้ง ในอนาคตผู้ที่จบแพทยศาสตรบัณฑิตทั่วโลกจะถือเป็นระดับหลังปริญญา (Master degree) เพราะแรงเปลี่ยนจากสหภาพยุโรป อังกฤษและอเมริการวมถึงประเทศไทยก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน เพราะเงื่อนไขการจ้างงานของโลกอนาคต บุคลากรระดับ Professionals ทุกสาขาทั้งหลายจะเลือกทำงานที่ใดก็ได้ในโลก เทียบเคียงได้หมดทุกระดับ ทุกสาขาวิชา แลกเปลี่ยนความรู้ ศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อจรรโลงโลกใบนี้ให้อยู่ด้วยสันติภาพที่ยั่งยืนต่อไป

 

การสร้างความสามารถในการแข่งขันบนพื้นฐานทรัพยากรและความสามารถของมหาวิทยาลัย

ปัจจัยหลักของความสำเร็จในการจัดการศึกษา ให้เกิดการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จะประกอบ ด้วย

(1)  ผู้สอน(อาจารย์แพทย์) ซึ่งจัดเป็นทรัพยากรพื้นฐานด้านทุนมนุษย์ ต้องให้ผู้สอนทำงานตามความสามารถและความถนัด ทำงานตามภารกิจหลักของสถาบัน ให้การฝึกอบรมเพิ่มศักยภาพแก่ผู้สอน ส่งเสริมให้ผู้สอนใช้วิธีการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เช่นการจัดอบรมแพทยศาสตรศึกษาสำหรับอาจารย์ใหม่ จัดสวัสดิการให้บุคลากรอย่างเหมาะสม

(2)  ผู้บริหารต้องใช้ภาวะผู้นำในการพัฒนางานให้บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยี มาใช้เพื่อการพัฒนางานของสถาบันการศึกษาให้เกิดความแตกต่างโดยใช้ต้นทุนต่ำที่สุด

(3)  อาคารสถานที่วัสดุอุปกรณ์ และการจัดสิ่งแวดล้อมในทุกๆคณะแพทยศาสตร์ อยู่ภายใต้การควบคุมต้นทุนอย่างประหยัดที่สุด เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อทำให้ต้นทุนต่อหน่วยการผลิตลดลง ส่งผลให้สถาบันการศึกษาสามารถอยู่รอดได้อย่างมั่นคง

ความสามารถในการแข่งขันขององค์กรที่ไม่หวังผลกำไร เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นค่อนข้างยาก แต่หากสามารถสร้างได้แล้วจะมีความยั่งยืนและคงทน ผู้บริหารจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่ดี Porter24 เสนอแนะว่า ความสามารถในการแข่งขันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อองค์กรสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเท่าเทียมในต้นทุนที่ต่ำกว่า หรือสามารถตอบสนองได้อย่างแตกต่างและเหนือกว่าคู่แข่งขัน ซึ่งความสามารถในการแข่งขันนี่เองที่จะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่เหนือกว่าในสายตาของผู้รับบริการได้ สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพสู่การเป็นสถาบันสมบูรณ์แบบที่มีสังคม บรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ มีความพร้อมในด้านทรัพยากร วัสดุเทคโนโลยี งบประมาณและทรัพยากรบุคคล สามารถจัดการศึกษาได้อย่างดี ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การจัดการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพสูงตามมาตรฐานที่กำหนด และได้รับการพัฒนาอย่างครบถ้วนทุกด้าน เป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข เป็นสถาบันที่สามารถจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน เป็นที่ชื่นชอบของชุมชน สามารถเป็นแบบอย่างในการช่วยเหลือชุมชนและหน่วยงานอื่นในชุมชนได้

ส่วนการวัดความสำเร็จของการศึกษาหลังปริญญาในกระบวนทัศน์ใหม่นี้จะกินความหมายที่กว้างไกลกว่าเพียงผลสำเร็จทางการศึกษาไม่เน้นผลกำไร แต่จะรวมถึงตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่สะท้อนความยั่งยืนทางการศึกษาหลังปริญญาเข้าไปด้วย อาทิ ความพึงพอใจของแพทย์ผู้ฝึกอบรม อัตราการลาออก อัตราความคงอยู่ในท้องที่ ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการบัณฑิต ความพึงพอใจของชุมชน เป็นต้น ควรมีกิจกรรมการรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate social responsibility: CSR) ซึ่งกำลังได้รับความสนใจในยุคนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืน การเพิ่มจำนวนหลักสูตรที่ดำเนินกิจกรรม CSR ของแต่ละสถาบันในครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เป็นตัวชี้ว่า แนวโน้มทิศทางทางการศึกษาในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางที่จะให้ความสนใจกับความยั่งยืนขององค์กรมากขึ้น โดยผ่านการเข้าไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบและส่งเสริมการพัฒนาทางสังคม องค์กรทางการศึกษาใดหรือกลุ่มงานแพทยศาสตร์ที่เข้าใจทิศทางนี้ และปรับตัวได้ก่อน ย่อมเป็นการวางรากฐานเพื่อความยั่งยืนขององค์กรในอนาคตได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสถาบันแพทย์ในการศึกษาหลังปริญญา (ซึ่งต้องคิดต่อเนื่องจากแนวคิดของผู้เรียนในศตวรรษ 21) ควรดำเนินการตามแนวทางการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 ประการ คือ การสร้างความสามารถในการแข่งขันบนพื้นฐานของทรัพยากรและความสามารถของตนเอง ให้สามารถพึ่งตนเองได้ในฐานะองค์กรทั้งของรัฐและเอกชนที่ต้องอยู่รอดและเติบโต มีความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการทางการศึกษาอย่างสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมด้านสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ เพื่อให้สามารถจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่าง“องค์รวม” โดยคำนึงถึงขีดจำกัดของทรัพยากรและความสามารถที่สถาบันมีอย่างค่อยเป็นค่อยไป บรรลุตามจุดมุ่งหมายของการพัฒนาในปัจจุบันอย่างสร้างสรรค์ ไม่ส่งผลเสียต่อการพัฒนาในอนาคต มุ่งการพัฒนาที่มีดุลยภาพระหว่างมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อกูลกัน เพื่อพัฒนาอย่างมีคุณภาพ มั่นคงและยั่งยืนสู่การรักษามาตรฐานการจัดการศึกษาได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน

 

เอกสารอ้างอิง

1.      สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุนเศรษฐกิจ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) เอกสารประกอบการประชุม เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 ณ ห้องประชุมเดช สนิทวงศ์ สศช.

2.      -----สรุปสาระสำคัญแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (.. 2550 - 2554). สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุนเศรษฐกิจ, 2553.

3.      สำนักงานคณะผู้แทนไทยประจำยูเนสโก. ยูเนสโกกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน .จุลสารข่าวสำนักงานคณะผู้แทนไทยประจำยูเนสโก, 13 มิถุนายน 2549: 2.

4.      Report of the World Summit on Sustainable Development. Johannesburg, South Africa, 26 August- 4 September 2002.United Nations: New York, 2002.

5.      สมคิด จาตุศรีพิทักษ์.  แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืน. วารสารเศรษฐกิจและสังคม. 2546; 40: 4-8.

6.      อมราวรรณ ทิวถนอม.  ดัชนีชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย: มิติใหม่ของการพัฒนาประเทศ. วารสารเศรษฐกิจและสังคม 2548; 42:49-54.

7.      World Commission on Environment and Development. Our Common Future. London: Oxford university press, 1987.

8.      ประเวศ วะสี . สรุปผลการประชุมเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน.  เอกสารประกอบประชุมเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. กรุงเทพ : ณ ห้องหลานหลวง โรงแรมรอยัล ปรินซ์เซส, 30 เมษายน 2546: 2.

9.      อำไพ หรคุณารักษ์.  คิด มอง คาดการณ์ เกี่ยวกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทไทย. สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, 2550. สืบค้นจาก: http://www.tei.or.th/eehrdc/pdf/ESD-2007.pdf  เมื่อ 21 พฤษภาคม 2554.

10.  ----เอกสารสรุปสาระสำคัญแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (.. 2550 - 2554) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2553.

11.  ----ทิศทางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 เอกสารประกอบการประชุมประจำปี 2553 ของ สศช.สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2553.

12.        สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545. กรุงเทพฯ : พริกหวาน, 2545.  

13.  การประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ : Road map สู่การแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน. สืบค้นจาก http://www.fsct.com/picture_bank/knowledge/ 1174061297prachya.pdf  เมื่อ 25 พฤษภาคม 2554   

14.  รุ่ง แก้วแดง. รูปแบบการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษาแนวใหม่. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, กรกฎาคม 2546.

15.  ----แนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development -ESD) สำนักงานคณะผู้แทนไทยประจำยูเนสโก, 2549.

16.  จันทร์ชลี มาพุทธ. การศึกษาศตวรรษที่ 21: ปรับวิถีคิดของครู ผู้ปกครอง และนักเรียน. วารสารศึกษาศาสตร์ 2546; 15: 1-4.

17.  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. บทสรุป ยุทธศาสตร์การเรียนรู้ตลอดชีวิตในศตวรรษที่ 21. องค์การค้าของคุรุสภา 2543.

18.  ไพพรรณ เกียรติโชคชัย. การศึกษาบนเส้นทางธุรกิจ. กรุงเทพ: เอส พี เค เปเปอร์แอนด์ฟอร์ม, 2546.

19.  ---- คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาของประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี. การปฏิรูปการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21: เพื่อความเป็นผู้นำ ในยุคสารสนเทศและโลกาภิวัตน์. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติสำนักนายกรัฐมนตรี, 2548.

20.  The Partnership for 21st Century Skills. Framework for 21st Century Learning. Available at www.p21.org/documents/P21_Framework.pdf  [Cited May 25, 2011]

21.  ----   21st century student outcome. Available at http://www.p21.org/documents/P21_ Framework.pdf [Cited May 22, 2011]

22.  สุดา ทัพสุวรรณ. บ้านกับโรงเรียน. บริหารการศึกษา มศว 2545(พฤษภาคม-สิงหาคม); 1:19-26.

23.  สมประสงค์ วิทยเกียรติ, ประยูร ศรีประสาธน์, นฤมล  ตันธสุรเศรษฐ์, อัมพร   อู่รัชตมาศ.  รายงานการวิจัยเรื่องแนวทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษา. นนทบุรี: มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช, 2545.

24.  Porter ME. Competitive advantage: creating and sustaining superior performance. New York: The Free Press, 1985.

 

Untitled Document
Article Location

Untitled Document
Article Option
       Abstract
       Fulltext
       PDF File
Untitled Document
 
ทำหน้าที่ ดึง Collection ที่เกี่ยวข้อง แสดง บทความ ตามที่ีมีใน collection ที่มีใน list Untitled Document
Another articles
in this topic collection

Self directed learning using computer assisted instruction in topic of Orthopedic trauma (การเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนวิชาภยันตรายทางออร์โธปิดิกส์)
 
Efficacy of CAI as additional media for medical procedure training, a trial in blood collection procedure training (การศึกษาประสิทธิภาพของการใช้สื่อการสอนในรูปแบบ ซี เอ ไอ ช่วยในการสอนการฝึกหัดเจาะเลือด)
 
Microcomputer assisted instruction in Orthopedics (ไมโครคอมพิวเตอร์ช่วยสอบวิชาออร์โทปิดิกส์)
 
Anesthesiology Improvement using the result of evaluation in Faculty of Medicine, Khon Kaen University (การปรับปรุงการสอนวิชาวิสัญญีวิทยาของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยใช้ผลการประเมิน)
 
<More>
Untitled Document
 
This article is under
this collection.

Medical Education & Training
 
 
 
 
Srinagarind Medical Journal,Faculty of Medicine, Khon Kaen University. Copy Right © All Rights Reserved.
 
 
 
 

 


Warning: Unknown: Your script possibly relies on a session side-effect which existed until PHP 4.2.3. Please be advised that the session extension does not consider global variables as a source of data, unless register_globals is enabled. You can disable this functionality and this warning by setting session.bug_compat_42 or session.bug_compat_warn to off, respectively in Unknown on line 0