บทนำ
นับตั้งแต่ 27 มิถุนายน 2543 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้กฎหมายใหม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงกระบวนการการชันสูตรพลิกศพ โดยกฎหมายกำหนดให้แพทย์ร่วมกับพนักงานสอบสวน ร่วมกันชันสูตรพลิกศพการตายผิดธรรมชาติ อันได้แก่ ฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ถูกสัตว์ทำร้ายตาย ตายโดยอุบัติเหตุ และการตายโดยไม่ปรากฏเหตุ และรวมตลอดถึงการชันสูตรพลิกศพ การเสียชีวิตของบุคคลที่อยู่ในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ตามกฎหมาย โดยต้องร่วมชันสูตรพลิกศพกับฝ่ายปกครองและพนักงานอัยการ1 กฎหมายกำหนดลำดับของแพทย์ที่ร่วมชันสูตรพลิกศพดังนี้ แพทย์นิติเวช เป็นแพทย์ลำดับแรกที่ร่วมชันสูตรพลิกศพ ถ้าไม่มีแพทย์นิติเวชหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐไปทำการแทนได้ จากจำนวนของแพทย์นิติเวชทั่วประเทศไทย มีประมาณไม่เกิน 100 ราย และส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่มีคณะแพทยศาสตร์ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ดังนั้นในความเป็นจริงแล้ว กรณีการตายผิดธรรมชาติโดยส่วนใหญ่จึงถูกชันสูตรโดยแพทย์ทั่วไป ซึ่งไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทางทางนิติเวชศาสตร์ ดังนั้นหากแพทย์ทั่วไปไม่สามารถให้ความเห็นในเรื่องสาเหตุการตายที่ชัดเจนได้ แพทย์ดังกล่าวอาจต้องส่งศพมาตรวจเพิ่มเติมในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่ใกล้เคียง เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลา เป็นต้น
ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวได้ประกาศใช้มานานถึง 11 ปีแล้ว ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะ
แพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้บริการชันสูตรพลิกศพ และตรวจสถานที่เกิดเหตุ การตายผิดธรรมชาติในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และรับส่งต่อศพที่ตายโดยผิดธรรมชาติจากอำเภอและจังหวัดทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาชันสูตรเพิ่มเติม และข้อมูลของประชากรศาสตร์ของศพที่ตายโดยผิดธรรมชาติที่ส่งมาตรวจ เคยมีการศึกษาเพียงครั้งเดียวคือ ระหว่างปี พ.ศ.2541-25452 คณะผู้วิจัยเลือกศึกษาในช่วงเวลาปี พ.ศ.2549-2553 โดยจะศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของสาเหตุการตายโดยแพทย์ ว่าการตายผิดธรรมชาติส่วนใหญ่ในเด็ก สาเหตุการตายที่สำคัญคือสาเหตุอะไร
วัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาอุบัติการณ์ของสาเหตุการตายโดยผิดธรรมชาติในศพเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ที่ทำการตรวจในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2549 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2553
วิธีการศึกษา
กลุ่มตัวอย่างเป็นศพเด็กที่ตายโดยผิดธรรมชาติ ที่ทำการตรวจชันสูตรพลิกศพที่ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2549 จนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ.2553 นำมาจำแนกเพศ กลุ่มอายุ สถานที่ตาย วันเวลาที่ตายและสาเหตุการตาย สาเหตุการตายนำมาจำแนกเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญ ได้แก่ บาดแผล สารพิษ การขาดอากาศ พลังงานกายภาพ และการตายจากโรค โดยเน้นข้อมูลสาเหตุการตายโดยแพทย์ นำมาวิเคราะห์ทางสถิติ
ผลการศึกษา
ในจำนวนศพคดี 1,966 ศพ เป็นศพเด็กที่ตายโดยผิดธรรมชาติ อายุไม่เกิน 15 ปี จำนวน 87 ศพ คิดเป็นร้อยละ 4.2 ของทั้งหมด (รูปที่1) โดยเป็นศพที่เกิดเหตุในอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 57 ราย และนอกเขตจังหวัดขอนแก่น 30 ราย คิดเป็นร้อยละ 65.5 และ 34.5 ตามลำดับ ในภาพรวม ถ้าจำแนกตามเพศ ร้อยละของเพศชายต่อหญิง คือ 66.7 : 33.3 และถ้าคิดเป็นสัดส่วนของอายุของเด็ก แบ่งเป็น 0-5 ปี, 6-10 ปี และ 11-15 ปี พบว่ามีสัดส่วนร้อยละ 33.3, 10.3, 56.3 (รูปที่ 2)
สาเหตุการตาย แบ่งตามสาเหตุการตายทางนิติเวชศาสตร์ โดยจำแนกเป็น บาดแผล ขาดอากาศ สารพิษ พลังงานกายภาพ และการตายจากโรค จำแนกตามปี พ.ศ. ที่พบ (รูปที่ 3) พบว่าสาเหตุการตายส่วนใหญ่ คือ การบาดเจ็บจากการจราจร (ร้อยละ 21.8) รองลงมาคือการจมน้ำ (ร้อยละ 18.4) ส่วนสาเหตุการตายอื่น ๆ ได้แก่ การขาดอากาศหายใจ บาดแผลอาวุธปืน บาดเจ็บจากอาวุธไม่มีคม พบได้ในร้อยละ 13.8, 8.7, 8.0 ตามลำดับ (รูปที่4)

รูปที่ 1 สัดส่วนของศพเด็ก เทียบกับจำนวนศพทั้งหมด

รูปที่ 2 ร้อยละของกลุ่มอายุของศพเด็ก

รูปที่ 3 สาเหตุการตาย

รูปที่ 4 ร้อยละของสาเหตุการตายในศพเด็กที่ตายโดยผิดธรรมชาติ

รูปที่ 5 สาเหตุการตาย แบ่งตามกลุ่มอายุ
สรุป
เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เป็นศพที่ตายโดยผิดธรรมชาติ มีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่นๆ การบาดเจ็บจากการจราจรและการจมน้ำ เป็นสาเหตุการตายที่พบบ่อย เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเดือน มกราคม ส่วนสาเหตุการตายอื่น ๆ ได้แก่ การขาดอากาศหายใจ บาดแผลอาวุธปืน บาดเจ็บจากอาวุธไม่มีคม พบได้ในสัดส่วนที่ลดลงตามลำดับ การตายจากบาดแผลอาวุธปืนเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญที่พบเฉพาะในกลุ่มอายุ 11 15 ปี
วิจารณ์
ศพที่ตายโดยผิดธรรมชาติ ที่ทำการตรวจที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้เคยมีการนำมาวิเคราะห์ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2541 -2545 โดยศักดิ์สิทธิ์ บุญลักษณ์2 พบว่าในช่วงเวลาดังกล่าว มีศพรวมทั้งสิ้น 1,536 ศพ เฉลี่ยมีการชันสูตรปีละ 307 ราย ถ้าหากเทียบกับข้อมูลศึกษาในครั้งนี้ มีศพจำนวนทั้งสิ้น 1,966 ศพ คือเฉลี่ยปีละ 393 ราย เพิ่มกว่าเดิมเฉลี่ยร้อยละ 28 และพบว่าเป็นศพที่ตายโดยผิดธรรมชาติ เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เฉลี่ยเพียงร้อยละ 4.2 เพศชายต่อหญิงคือ 66.7:33.3 ถ้าคิดเป็นสัดส่วนของอายุของเด็ก แบ่งเป็น 0-5 , 6-10 และ 11-15 ปี พบว่าส่วนใหญ่เป็นเด็กโต ร้อยละ 56.3 เมื่อเทียบกับการศึกษาศพเด็กที่ตายโดยผิดธรรมชาติที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 -2550 พบว่ามีศพเด็กจำนวน 101 ราย สัดส่วนของอายุที่พบมากที่สุดเป็นเด็กเล็ก อายุ 0-3 ปี พบได้ ร้อยละ 34.6 และเพศชายต่อหญิงคือ 2:13
เมื่อแยกสาเหตุการตายตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มอายุ 11-15 ปี เสียชีวิตจากการบาดเจ็บจากการจราจร และการจมน้ำมากที่สุด ร้อยละ 21.8 และ 18.4 ตามลำดับ การจมน้ำเป็นสาเหตุการตายของทุกกลุ่มอายุ เมื่อเทียบเคียงกับที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่า สาเหตุการตายจากการบาดเจ็บจากการจราจร และการจมน้ำ เป็นสาเหตุการตายที่สำคัญในเด็ก โดยพบในสัดส่วนร้อยละ 39.6 และ 22.7 ตามลำดับ แต่ที่พบมากคือในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-3 ปี ทั้งเหตุที่เกิดจากการบาดเจ็บจากการจราจรและการจมน้ำ ข้อมูลจากเอกสารสถานการณ์การตกน้ำและจมน้ำในประเทศไทย4 พบว่า การจมน้ำ เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และ มากกว่าการบาดเจ็บจากการจราจร 2 เท่า ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งพบว่าเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เสียชีวิตจากการบาดเจ็บจากการจราจรมากกว่าการจมน้ำ และพบว่า การจมน้ำในทุกกลุ่มอายุ พบได้ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ขณะที่การศึกษาของสถานการณ์การตกน้ำ พบในช่วงอายุ 0-4 ปี มากที่สุด รองลงมาคือ 5-9 ปี
ส่วนเวลาที่เกิดเหตุในการศึกษาครั้งนี้ พบเหตุที่เกิดส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเดือน มกราคม ซึ่งรายงานของสถานการณ์การจมน้ำ พบได้มากในเดือน เมษายน รองลงมาคือเดือน พฤษภาคม มีนาคม และ ตุลาคม ตามลำดับ จากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข4 พบว่า ตั้งแต่อายุ 10 ปี ขึ้นไป การเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่พบได้มากอันดับ 1 คือการบาดเจ็บจากการจราจร ขนส่งทางบก ส่วนช่วงอายุ 1-9 ปี เป็นการจมน้ำ ซึ่งข้อมูลในการศึกษาครั้งนี้ พบว่าการบาดเจ็บจากการจราจร เป็นสาเหตุการตายของเด็กในช่วงอายุ 11-15 ปี ซึ่ง อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์5 ได้ให้เหตุผลว่า น่าจะเกิดจาก พฤติกรรมชอบเสี่ยงอันตราย และเริ่มฝึกหัดขับรถได้ไม่นาน ประกอบกับการใช้จักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ และการไม่ได้ใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย เช่น หมวกนิรภัย
ส่วนการตายอื่นๆ พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการขาดอากาศหายใจและบาดแผลอาวุธปืน รองลงมาคือ บาดแผลถูกของไม่มีคม และบาดแผลถูกของมีคม ตามลำดับ ในกลุ่มขาดอากาศ ส่วนใหญ่พบได้ในเด็กเล็ก (0-4 ปี) และบาดแผลอาวุธปืนพบได้แต่เฉพาะในเด็กโตเท่านั้น การศึกษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบบาดแผลอาวุธปืน เพียง 3 ราย ต่างจากการศึกษาครั้งนี้ ซึ่งพบได้ถึง 10 ราย
การเสียชีวิตเนื่องจากการกระทำของบุคคลอื่น ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาในปี พ.ศ. 2551 พบว่า การถูกทำร้าย เป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 รองจากการบาดเจ็บจากการจราจรทางบก และการจมน้ำ ในกลุ่มอายุ 10-14 ปี และเป็นสาเหตุอันดับ 4 ในกลุ่มอายุ 5-9 ปี และข้อมูลในสหรัฐอเมริกา6ศึกษาในปี พ.ศ. 2550 พบว่า การตายจากการกระทำของบุคคลอื่น เป็นพฤติการณ์การตายอันดับ 3 รองจากอุบัติเหตุ และโรคมะเร็ง โดยพบเป็นจำนวน 0.9 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย และเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มอายุ 1-4 ปี โดยพบถึง 2.4 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย
ศพที่ตายโดยผิดธรรมชาติ ที่ถูกส่งต่อมาตรวจที่ภาควิชานิติเวชศาสตร์ แม้จะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 50 ของศพที่ตายโดยผิดธรรมชาติ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น แต่พบว่า ศพที่ตายโดยผิดธรรมชาติ ที่ถูกส่งมาตรวจเพิ่มเติม ส่วนใหญ่เป็นการเสียชีวิตจากการกระทำของบุคคลอื่น โดยเป็นบาดแผลอาวุธปืน และการขาดอากาศ เป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือ บาดแผลถูกของไม่มีคม และบาดแผลถูกของมีคม เนื่องจากโรงพยาบาลในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมในการให้บริการการตรวจศพคดี ดังนั้น กรณีที่ต้องการการชันสูตรศพภายในด้วย จึงมีความจำเป็นต้องส่งมาตรวจที่ภาควิชานิติเวชศาสตร์ เนื่องจากแพทย์ทั่วไปส่วนใหญ่ไม่สามารถให้ความเห็นในเรื่องสาเหตุการตายจากการตรวจศพภายนอกได้ ส่วนการเสียชีวิตจากการขาดอากาศ แม้การตรวจศพจะไม่มีลักษณะจำเพาะที่จะบ่งบอกสาเหตุการตายดังกล่าว แต่อย่างน้อยการผ่าศพตรวจภายในจะทำให้แพทย์มีความมั่นใจว่า ไม่ได้ตรวจพบความผิดปกติอื่นๆ ที่จะสามารถอธิบายสาเหตุการตายได้ และการตรวจศพภายในยังเป็นการช่วยเหลือให้พนักงานสอบสวน สามารถนำลูกกระสุนปืนดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์ เพื่อจะยืนยันอาวุธปืนที่ใช้ในการกระทำผิดต่อไปได้
กิตติกรรมประกาศ
คณะผู้วิจัยขอขอบพระคุณ ผศ.ดร. วิภาภรณ์ เรืองจิระชูพร และ ผศ.ดร. จิราพร เขียวอยู่ สำหรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ยิ่ง และ จิตรจิรา ไชยฤทธิ์ สำหรับคำแนะนำด้านสถิติ ทำให้การศึกษาครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
งานวิจัยนี้ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เอกสารอ้างอิง
1. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๑) พ.ศ.๒๕๔๒
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๖ ตอนที่ ๑๓๗ ณ วันที่ ๓๐ ธันวาคม๒๕๔๒.
2. ศักดิ์สิทธิ์ บุญลักษณ์. ข้อมูลพื้นฐานการชันสูตรพลิกศพของภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541-2545. จุฬาลงกรณ์เวชสาร 2547 ; 48 :767-75.
3. Jongprasartsuk K, Charaschisri W. Forensic aspect of unnatural death in children. Chula
Med J 2010; 54: 205-11.
4. สุชาดา เกิดมงคลการ, ส้ม เอกเฉลิมเกียรติ, อรพิน ทรัพย์ล้น,รุ่งจักร เติมต่อ, กาญจนีย์ คำนาคแก้ว.
สถานการณ์การตกน้ำ จมน้ำของเด็กในประเทศไทย. กรุงเทพ : องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2552.
5. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์. อุบัติเหตุจราจร: เหตุนำการตายในวัยรุ่นไทย. หมอชาวบ้าน 2546; 25:13-4.
6. U.S. Census Bureau. Birth, deaths, marriages and divorces. Statistical abstract of the
United States : 2011. 2011 [cited Jul 17, 2011]. Available from http://www.census.gov/
compendia/statab/2011/tables/115012
|