Untitled Document
 
 
 
 
Untitled Document
Home
Current issue
Past issues
Topic collections
Search
e-journal Editor page

Completeness of the Received Information of Patients before Signing in Preoperative Informed Consent

ความครบถ้วนของการได้รับข้อมูลของผู้ป่วยก่อนการลงนามในใบยินยอมผ่าตัด

Parichat Sakrajai (ปาริชาต สากระจาย) 1, Dechatorn Arsanatong (เดชาทร อาสนทอง) 2, Nontaphak Tiangphak (นนทภัค เที่ยงภักดิ์) 3, Soopawadee Wongnijasil (ศุภวดี วงศ์นิจศีล) 4, Apiradee Pichaichanlert (อภิรดี พิชัยชาญ) 5, Prompisit Jodking (พรหมพิศิษฐ์ โจทย์กิ่ง) 6, Sompong Srisaenpang (สมพงษ์ ศรีแสนปาง) 7




หลักการและวัตถุประสงค์:   ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอก่อนการรักษาโดยการผ่าตัด ยังไม่เคยมีการศึกษาเรื่องนี้มาก่อนในประเทศไทย การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกของผู้ป่วยที่ได้รับแจ้งข้อมูลอย่างครบถ้วนก่อนการลงนามในใบยินยอมผ่าตัด และปัจจัยที่อาจมีความสัมพันธ์กับการได้รับแจ้งข้อมูลอย่างครบถ้วนดังกล่าว

วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ประชากรศึกษาเป็นผู้ป่วยที่นัดมาเข้ารับการผ่าตัดในโรงพยาบาลตติยภูมิแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น เลือกตัวอย่างโดยการสุ่มตามเวลา ได้ตัวอย่าง 80 ราย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์   การได้รับแจ้งข้อมูลอย่างครบถ้วนหมายถึงครบทั้ง 6 องค์ประกอบที่ระบุไว้ในใบยินยอมผ่าตัด (วิธีการผ่าตัด ผลดี ผลข้างเคียง ความเสี่ยง ทางเลือกอื่นของการรักษา และความเป็นไปได้ที่อาจต้องทำการตรวจรักษาหรือผ่าตัดเพิ่มเติมอย่างทันทีทันใดในระหว่างกำลังผ่าตัด)    

ผลการศึกษา: เก็บข้อมูลได้ร้อยละ 100 เป็นชายร้อยละ 38.8 อายุเฉลี่ย 51.9 ปี  เข้ารับการผ่าตัดในกลุ่มงานศัลยศาสตร์ นรีเวชวิทยา และศัลยกรรมกระดูกและข้อ ร้อยละ 47.5, 26.3 และ 26.3 ตามลำดับ  ความชุกของผู้ป่วยที่ได้รับแจ้งข้อมูลอย่างครบถ้วนเท่ากับร้อยละ 17.5 (95%CI: 10.2%,  28.0%) โดยได้รับแจ้งเรื่องวิธีการผ่าตัด ผลดีของการผ่าตัด ผลข้างเคียงของการผ่าตัด ความเสี่ยงของการผ่าตัด ทางเลือกอื่นของการรักษา และความเป็นไปได้ที่อาจต้องทำการตรวจรักษาหรือผ่าตัดเพิ่มเติมอย่างทันทีทันใดในระหว่างกำลังผ่าตัด ร้อยละ 93.8, 65.0, 60.0, 57.5, 57.5 และ 45.0 ตามลำดับ ปัจจัยที่อาจมีความสัมพันธ์กับความครบถ้วนในการได้รับแจ้งข้อมูล ได้แก่ การที่ผู้ป่วยจำข้อมูลที่แพทย์อธิบายได้ครบถ้วน (p-value = 0.039), กลุ่มงานที่ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด (p-value = 0.059) และระยะเวลาของการอธิบายข้อมูล (p-value = 0.062)

สรุป: ผู้ป่วยน้อยกว่า 1 ใน 5 ได้รับแจ้งข้อมูลครบถ้วนก่อนการลงนามในใบยินยอมผ่าตัด ดังนั้นแพทย์ควรตรวจสอบองค์ประกอบในการให้ข้อมูลกับใบยินยอมผ่าตัด และใช้เวลาอธิบายให้เหมาะสมกับสภาวะของผู้ป่วยแต่ละราย

คำสำคัญ: ใบยินยอมผ่าตัด, ความครบถ้วน, ข้อมูล, การลงนาม

Background and Objectives: Patients have right to receive complete information before any operation. There was no such study in Thailand. This study aimed to determine prevalence and its affecting factors of the patients receiving complete information before signing in preoperative informed consent.

Methods: This descriptive study had study population as operative patients at a tertiary hospital in Khon Kaen province. Random samples of 80 patients were interviewed with oral questionnaire. Completeness of information was defined to cover all six components in the preoperative informed consent (surgical method, benefit, adverse effect, risk, alternative treatment and possibility of emergency-additional-surgical procedure during the operation).

Results: Response rate was 100.0%. The patients were 38.8% male with average age of 51.9 years. They got operation at department of surgery, gynecology and orthopedics for 47.5%, 26.3% and 26.3% respectively. Prevalence of the patients receiving complete information was 17.5% (95%CI: 10.2%, 28.0%). The patients were informed about surgical method, benefit, adverse effect, risk, alternative treatment and possibility of emergency-additional-surgical procedure during the operation for 93.8%, 65.0%, 60.0%, 57.5%, 57.5% and 45.0% respectively. Factors that might associate with the completeness were patient's capability to remember the received information (p-value = 0.039), department of operation (p-value = 0.059) and duration of explaining (p-value = 0.062).

Conclusion: Less than one-fifth of the patients received complete information before signing in preoperative informed consent. So a physician should check components of giving information with the preoperative informed consent. Duration of explanation should be adjusted to condition of each patient.

Keywords: preoperative informed consent, completeness, information, signing

 

บทนำ

 

ในปัจจุบัน ปัญหาสิทธิผู้ป่วยและการให้ความยินยอมเป็นหนึ่งในปัญหาเกี่ยวกับจริยธรรมในวิชาชีพแพทย์ ที่มีการฟ้องร้องกันมากขึ้น1 การให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยอย่างละเอียดและครบถ้วน เพื่อให้ผู้ป่วยตัดสินใจว่าจะยินยอมรับการรักษาและลงนามในใบยินยอมรับการรักษา (Informed consent) หรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญทั้งกับผู้ป่วย และแพทย์ผู้ทำการรักษา1  สิทธิดังกล่าวได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสุขภาพ ปี พ.ศ. 25502 หมวด 1 มาตรา 8 ที่ว่าบุคลากรด้านสาธารณสุขต้องแจ้งข้อมูลด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการให้ผู้รับบริการทราบอย่างเพียงพอที่ผู้รับบริการจะใช้ประกอบการตัดสินใจในการรับหรือไม่รับบริการใด และในกรณีที่ผู้รับบริการปฏิเสธไม่รับบริการใด จะให้บริการนั้นมิได้ สอดคล้องกับคำประกาศสิทธิผู้ป่วยข้อ 33 ที่ให้ผู้ป่วยที่มารับบริการด้านสุขภาพมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอและเข้าใจชัดเจน จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือรีบด่วนหรือ จำเป็น          อนึ่ง จากการทบทวนวรรณกรรม พบเพียงงานวิจัยของ McKeague และ Windsor 4 ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับความครบถ้วนของข้อมูลที่ผู้ป่วยได้รับก่อนการลงนามในใบยินยอมผ่าตัด แต่ในประเทศไทยยังไม่พบว่ามีการวิจัยในเรื่องนี้  คณะผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาความชุกของผู้ป่วยที่ได้รับแจ้งข้อมูลอย่างครบถ้วนก่อนการลงนามในใบยินยอมผ่าตัด และปัจจัยที่อาจมีความสัมพันธ์กับการได้รับแจ้งข้อมูลอย่างครบถ้วนดังกล่าว

วิธีการศึกษา

รูปแบบการศึกษา

เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา

ประชากรศึกษาและกลุ่มตัวอย่าง

ประชากรศึกษาเป็นผู้ป่วยอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 18 ปีบริบูรณ์ (สามารถลงนามในใบยินยอมผ่าตัดได้ด้วยตนเอง) ก่อนได้รับการผ่าตัดที่ได้มีการลงนามในใบยินยอมผ่าตัดแล้ว ซึ่งได้รับนัดหมายให้มาผ่าตัดในกลุ่มงานศัลยศาสตร์, นรีเวชวิทยา หรือศัลยกรรมกระดูกและข้อ ในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิแห่งหนึ่ง ในจังหวัดขอนแก่นระหว่างวันที่ 2-5 ตุลาคม พ.ศ. 2550   

จากการทำ Pilot study ในผู้ป่วย 30 ราย พบความชุกของผู้ป่วยที่ได้รับแจ้งข้อมูลอย่างครบถ้วนก่อนการลงนามในใบยินยอมผ่าตัดเป็นร้อยละ 12 และเมื่อกำหนดให้ค่าความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้เท่ากับร้อยละ 4 รวมทั้งประมาณจำนวนประชากรศึกษาในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ที่ 100 ราย (จากข้อมูลการนัดหมายผู้ป่วยมาผ่าตัดในเดือนที่ผ่านมา) เมื่อกำหนดความเชื่อมั่นในการสรุปผลไว้ที่ร้อยละ95 และคาดว่าอาจมีผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการสัมภาษณ์ประมาณร้อยละ 10 คำนวณขนาดตัวอย่างได้เท่ากับ 80 ราย ทำการเลือกตัวอย่างโดยสุ่มตามช่วงเวลาที่กำหนดแบบ Consecutive sampling

เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา

ใช้แบบสัมภาษณ์ที่พัฒนาขึ้นโดยคณะผู้วิจัย ซึ่งได้รับคำแนะนำและผ่านการแก้ไขโดยผู้เชี่ยวชาญตลอดจนมีการทดสอบแบบสอบถามกับผู้ป่วย แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนการนำไปใช้จริง  

การได้รับแจ้งข้อมูลอย่างครบถ้วนหมายถึงครบทั้ง 6 องค์ประกอบที่ระบุไว้ในใบยินยอมผ่าตัด ได้แก่ วิธีการผ่าตัด ผลดีของการผ่าตัด ผลข้างเคียงของการผ่าตัด ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างหรือภายหลังการผ่าตัด ทางเลือกอื่นๆ ของการรักษา และความเป็นไปได้ที่อาจต้องทำการตรวจรักษาหรือผ่าตัดเพิ่มเติมอย่างทันทีทันใดในระหว่างกำลังผ่าตัด

การเก็บข้อมูล

ผู้เก็บข้อมูลเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่5 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 5 คน   มีการประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจให้ตรงกัน และจัดทำคู่มือเพื่อช่วยในการสัมภาษณ์ เมื่อเริ่มเก็บข้อมูล มีการชี้แจงวัตถุประสงค์และรายละเอียดของการศึกษาต่อผู้ป่วย และขอความยินยอมให้เข้าร่วมการศึกษาด้วยวาจา จากนั้นจึงเริ่มทำการสัมภาษณ์

การวิเคราะห์ข้อมูล  

ทำการตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของฐานข้อมูลด้วยวิธี Double data entry วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สัดส่วน ร้อยละ ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน มัธยฐาน พิสัยควอไทล์, Odds ratio, 95% Confidence interval และ Exact probability test ด้วยโปรแกรม SPSS for Windows version 17.05 และ Epi Info version 6.04d6

ข้อพิจารณาด้านจริยธรรมในการศึกษา   

งานวิจัยนี้ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามหนังสือรับรองเลขที่ HE501011

 

ผลการศึกษา

          เก็บข้อมูลได้ครบทั้ง 80 ราย คิดเป็น Response rate ร้อยละ 100.0  ผู้ป่วยเป็นเพศชายร้อยละ 38.8 มีอายุระหว่าง 21-83 ปี มีค่าเฉลี่ยอายุเท่ากับ 51.9 ± 14.0 ปี การศึกษาของผู้ป่วยอยู่ในระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า คิดเป็นร้อยละ 60 รองลงมา คือ ระดับอุดมศึกษา คิดเป็นร้อยละ 22.5 ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดในกลุ่มงานศัลยศาสตร์ ร้อยละ 47.5 กลุ่มงานนรีเวชวิทยา ร้อยละ 26.3 และกลุ่มงานศัลยกรรมกระดูกและข้อร้อยละ 26.3 (ข้อมูลตามตารางที่ 1)      โรคของผู้ป่วยที่นัดมารับการผ่าตัดมากที่สุด คือ โรคมะเร็งท่อน้ำดี และโรคเนื้องอกของมดลูก แต่ละโรคคิดเป็นร้อยละ 8.8 ของผู้ป่วยทั้งหมด  รองลงมามี 4 โรค คือโรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งเต้านม โรคนิ่วในไต และโรคข้อเสื่อม แต่ละโรคคิดเป็นร้อยละ 3.8              การผ่าตัดที่พบมากที่สุด คือ exploratory laparotomy คิดเป็นร้อยละ 10.0   รองลงมา คือ total abdominal hysterectomy with bilateral salpingo-oophorectomy คิดเป็นร้อยละ 6.3

ความชุกของผู้ป่วยที่ได้รับแจ้งข้อมูลอย่างครบถ้วนเท่ากับร้อยละ 17.5 (95%CI: 10.2%, 28.0%) ผู้ป่วยได้รับแจ้งข้อมูลเรื่องวิธีการผ่าตัด ผลดีของการผ่าตัด ผลข้างเคียงของการผ่าตัด ความเสี่ยงของการผ่าตัด ทางเลือกอื่นของการรักษา และความเป็นไปได้ที่อาจต้องทำการตรวจรักษาหรือผ่าตัดเพิ่มเติมอย่างทันทีทันใดในระหว่างกำลังผ่าตัด ร้อยละ 93.8, 65.0, 60.0, 57.5, 57.5 และ 45.0 ตามลำดับ (ตารางที่ 2)

          เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความครบถ้วนของการได้รับแจ้งข้อมูล กับ ลักษณะทั่วไปของผู้ป่วย พบ Marginal significance ในตัวแปรกลุ่มงานที่ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด (p-value = 0.059) โดยพบว่ากลุ่มงานศัลยกรรมกระดูกและข้อ ผู้ป่วยได้รับแจ้งข้อมูลครบถ้วนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มงานศัลยกรรม หรือกลุ่มงานนรีเวชวิทยา           สำหรับตัวแปรเพศ อายุ และระดับการศึกษาสูงสุดของผู้ป่วยไม่พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ความเชื่อมั่นร้อยละ 95 กับความครบถ้วนของการได้รับแจ้งข้อมูลของผู้ป่วย (ตารางที่ 3)

ข้อมูลจากตารางที่ 4 แสดงให้เห็นว่ามีปัจจัยด้านผู้ป่วย ด้านแพทย์ และด้านสิ่งแวดล้อม ด้านละ 1 ปัจจัย ที่มีความสัมพันธ์แบบ Statistical significance หรือ Marginal significance กับความครบถ้วนของการได้รับแจ้งข้อมูล ได้แก่ การจำข้อมูลที่แพทย์อธิบายได้ครบถ้วน (p-value = 0.039), ระยะเวลาที่แพทย์ใช้อธิบายข้อมูลให้ผู้ป่วยฟัง (p-value = 0.062) และการมีญาติร่วมรับฟังขณะที่แพทย์อธิบายข้อมูล (p-value = 0.082)            ทั้งนี้ระยะเวลาที่แพทย์ใช้แจ้งข้อมูลแก่ผู้ป่วยมากที่สุดคือ 30 นาที น้อยที่สุดคือ 1 นาที และมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 9.0 ± 7.0 นาที

จากข้อมูลไม่พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ระหว่างความครบถ้วนของการได้รับแจ้งข้อมูลของผู้ป่วย กับตัวแปรอื่นๆ (แพทย์พูดเร็วเกินไป แพทย์อธิบายฟังแล้วไม่เข้าใจ, แพทย์เปิดโอกาสให้ซักถาม ผู้ป่วยวิตกกังวลจนไม่มีสมาธิที่จะฟัง ผู้ป่วยกำลังเจ็บปวดขณะฟังคำอธิบาย ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเป็นครั้งแรก มีการรบกวนจากสิ่งแวดล้อมมาก)

          อนึ่ง มีผู้ป่วย 16 ใน 80 ราย ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อการพัฒนาการให้ข้อมูลของแพทย์ กล่าวคือ อยากให้แพทย์แจ้งข้อมูลให้ชัดเจนมากขึ้น (ในเรื่องวิธีการผ่าตัด แนวทางเลือกอื่นๆ เพื่อการรักษา ภาวะหลังการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดแล้วจะหายหรือไม่ ต้องอยู่โรงพยาบาลนานเท่าไร ระยะเวลาทั้งหมดในการรักษาเป็นเท่าใด) พูดให้ช้าลงและใช้เวลาอธิบายให้นานขึ้น ใช้ภาษาที่ทำให้ผู้ป่วยทุกระดับเข้าใจ หลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์ทางการแพทย์ หากแพทย์มีธุระต้องจากไประหว่างให้คำอธิบายกับผู้ป่วย ควรแจ้งผู้ป่วยให้รับทราบ ไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยรอนานหรือรอเก้อ แพทย์ควรให้กำลังใจและสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

 

ตารางที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย (N = 80)

ลักษณะทั่วไปของผู้ป่วย

ความถี่

ร้อยละ

เพศ

 

 

ชาย

31

38.8

หญิง

49

61.3

อายุ (ปี)

 

 

45 หรือต่ำกว่า

22

27.5

46 – 60

34

42.5

สูงกว่า 60

24

30.0

Min = 21, Max = 83, Mean = 51.9, SD = 14.0, Median = 52.5, Interquartile ranage = 19.0

ระดับการศึกษาสูงสุด

 

 

ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า

48

60.0

มัธยมศึกษา/อาชีวศึกษา

14

17.5

อุดมศึกษา

18

22.5

กลุ่มงานที่ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด

 

 

ศัลยศาสตร์

3

47.5

นรีเวชวิทยา

21

26.3

ศัลยกรรมกระดูกและข้อ

21

26.3

 

ตารางที่ 2 การได้รับแจ้งข้อมูลจากแพทย์ก่อนลงนามในใบยินยอมผ่าตัด (N = 80)

องค์ประกอบในใบยินยอมผ่าตัดที่ได้รับแจ้งข้อมูลก่อนลงนาม

ความถี่

ร้อยละ

1. วิธีการผ่าตัด

75

93.8

2. ผลดีของการผ่าตัด

52

65.0

3. ผลข้างเคียงของการผ่าตัด

48

60.0

4. ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่าง หรือภายหลังการผ่าตัด

46

57.5

5. แนวทางเลือกอื่นๆ เพื่อการรักษา

46

57.5

6.  ความเป็นไปได้ที่อาจต้องทำการตรวจรักษา หรือผ่าตัดเพิ่มเติม

     อย่างทันทีทันใด ในระหว่างกำลังผ่าตัด

36

45.0

ได้รับแจ้งข้อมูลครบถ้วนทั้ง 6 องค์ประกอบ

14

17.5 (95% CI: 10.2, 28.0)

ตารางที่ 3 ความครบถ้วนของการได้รับแจ้งข้อมูล กับ ลักษณะทั่วไปของผู้ป่วย (N = 80)

ลักษณะทั่วไปของผู้ป่วย

N

ร้อยละของผู้ป่วยที่ได้รับ

ข้อมูลครบถ้วน

Odds ratio

(95% CI)

p-value*

เพศ

 

 

 

0.548

ชาย

31

12.9

1.00

 

หญิง

49

20.4

1.73 (0.44, 8.31)

 

อายุ (ปี)

 

 

 

1.000

45 หรือต่ำกว่า

22

13.6

1.00

 

46 – 60

34

23.5

1.95 (0.39, 12.76)

 

สูงกว่า 60

24

12.5

0.90 (0.11, 7.61)

 

ระดับการศึกษาสูงสุด

 

 

 

0.157

ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า

48

12.5

1.00

 

มัธยมศึกษา/อาชีวศึกษา

14

21.4

1.91 (0.26, 10.70)

 

อุดมศึกษา

18

27.8

2.69 (0.54, 12.46)

 

กลุ่มงานที่ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด

 

 

 

0.059

ศัลยศาสตร์

38

23.7

1.00

 

นรีเวชวิทยา

21

23.8

1.01 (0.22, 4.07)

 

ศัลยกรรมกระดูกและข้อ

21

0.0

0.00 (0.00, 0.80)

 

* Exact probability test

 

ตารางที่ 4 ความครบถ้วนของการได้รับแจ้งข้อมูล กับ ปัจจัยด้านแพทย์ ผู้ป่วย และสิ่งแวดล้อม (N = 80)

ปัจจัยด้านแพทย์ ผู้ป่วย

และสิ่งแวดล้อม

N

ร้อยละของผู้ป่วยที่ได้รับ

ข้อมูลครบถ้วน

Odds ratio

(95% CI)

p-value*

ปัจจัยด้านแพทย์

 

 

 

0.458

แพทย์พูดเร็วเกินไป

 

 

 

 

ไม่ใช่

68

19.1

1.00

 

ใช่

12

8.3

0.38 (0.01, 3.15)

 

แพทย์อธิบายฟังแล้วไม่เข้าใจ

 

 

 

0.197

ไม่ใช่

69

20.3

1.00

 

ใช่

11

0.0

0.00 (0.00, 1.81)

 

แพทย์เปิดโอกาสให้ซักถาม

 

 

 

0.362

ไม่ใช่

27

11.1

1.00

 

ใช่

53

20.8

2.10 (0.48, 12.73)

 

เวลาที่แพทย์ใช้ในการอธิบายข้อมูล

 

 

 

0.062

5 นาทีหรือต่ำกว่า

39

10.3

1.00

 

6 – 10 นาที

25

20.0

2.19 (0.41, 12.22)

 

มากกว่า 10 นาที

16

31.3

3.98 (0.70, 23.24)

 

ปัจจัยด้านผู้ป่วย

 

 

 

 

วิตกกังวลจนไม่มีสมาธิที่จะฟัง

 

 

 

0.339

ไม่ใช่

72

19.4

1.00

 

ใช่

8

0.0

0.00 (0.00, 2.77)

 

กำลังเจ็บปวดขณะฟังคำอธิบาย

 

 

 

0.634

ไม่ใช่

77

18.2

1.00

 

ใช่

3

0.0

0.00 (0.00, 11.79

 

จำข้อมูลที่ได้รับแจ้งได้ครบถ้วน

 

 

 

0.039

ไม่ใช่

44

9.1

1.00

 

ใช่

36

27.8

3.85 (0.96, 18.30)

 

เข้ารับการผ่าตัดเป็นครั้งแรก

 

 

 

0.385

ไม่ใช่

48

20.8

1.00

 

ใช่

32

12.5

0.54 (0.11, 2.15)

 

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

 

 

 

 

มีการรบกวนจากสิ่งแวดล้อมมาก

 

 

 

0.365

ไม่ใช่

74

18.9

1.00

 

ใช่

6

0.0

0.00 (0.00, 4.10)

 

มีญาติร่วมฟังขณะแพทย์อธิบาย

 

 

 

0.082

ไม่ใช่

46

10.9

1.00

 

ใช่

34

26.5

2.95 (0.77, 12.39)

 

* Exact probability test

 

รูปที่ 1 ใบยินยอมผ่าตัด

 

วิจารณ์

ผู้ป่วยที่ได้รับแจ้งข้อมูลอย่างครบถ้วนก่อนการลงนามในใบยินยอมผ่าตัดเป็นจำนวน 14 ราย จากผู้ป่วย 80 ราย  คิดเป็นร้อยละ 17.5 (95% CI: 10.2%, 28.0%) โดยมีปัจจัยที่อาจมีความสัมพันธ์กับความครบถ้วนในการได้รับแจ้งข้อมูล ได้แก่ การจำข้อมูลที่แพทย์อธิบายได้ (p-value = 0.039), กลุ่มงานที่เข้ารับการผ่าตัด (p-value = 0.059) และระยะเวลาที่แพทย์อธิบาย (p-value = 0.062) 

จากผลการศึกษาพบว่าข้อมูลที่ผู้ป่วยได้รับน้อยที่สุด คือ “ความจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจรักษาหรือผ่าตัดเพิ่มเติมอย่างทันทีทันใด” คิดเป็นร้อยละ 45.0 (ข้อมูลตามตารางที่ 2) ซึ่งอาจเนื่องมาจากการที่การผ่าตัดบางอย่างไม่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจรักษาหรือผ่าตัดเพิ่มเติมอย่างทันทีทันใด ทำให้แพทย์ไม่ได้กล่าวถึงข้อมูลในส่วนนี้ และเหตุผลอีกข้อหนึ่งคือ ข้อมูลดังกล่าวปรากฏอยู่ในส่วนท้ายของใบยินยอม (รูปที่ 1) ทำให้แพทย์ให้ความสนใจน้อยกว่าข้อมูลอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในส่วนต้นของใบยินยอม

          จากการศึกษาของ McKeague และ Windsor4 ในเรื่อง “Patients’ perception of the adequacy of informed consent: a pilot study of elective general surgical patients in Auckland” ได้ศึกษา 3 ตัวแปร คือ วิธีการผ่าตัด ความเสี่ยงจากการผ่าตัด และแนวทางการรักษาอื่น พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รับข้อมูลในหัวข้อ  “แนวทางเลือกอื่นในการรักษา”  คิดเป็นร้อยละ 79 (จากจำนวน 77 ราย) และแพทย์มักจะแจ้งข้อมูลในส่วนที่ตนเห็นว่ามีความสำคัญ ซึ่งแตกต่างจากงานวิจัยนี้ที่ศึกษา 6 ตัวแปร และเมื่อวิเคราะห์ในตัวแปรเดียวกัน คือ แนวทางเลือกอื่นในการรักษา พบว่าจากการศึกษาครั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ได้รับข้อมูลส่วนนี้เป็นร้อยละ 42.5 (จากจำนวน 80 ราย)      เมื่อเปรียบเทียบกัน พบว่าขนาดตัวอย่างของทั้งสองการศึกษามีจำนวนใกล้เคียงกัน แต่ร้อยละของการไม่ได้รับข้อมูลในตัวแปรนี้ มีค่าแตกต่างกันอย่างชัดเจน อาจเนื่องจากลักษณะของโรคที่ต้องได้รับการผ่าตัดมีความแตกต่างกัน คือ การศึกษาของ McKeague และ Windsor4 อาจจะมีโรคที่ต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเท่านั้น มากกว่าการศึกษาครั้งนี้ ทำให้ไม่มีแนวทางเลือกอื่นในการรักษาโรค แพทย์จึงอาจไม่ได้แจ้งข้อมูลในส่วนนี้ จึงทำให้มีผู้ป่วยที่ไม่ได้รับข้อมูลเรื่อง แนวทางเลือกอื่นในการรักษามากกว่าในการศึกษานี้

          การศึกษานี้พบว่าแพทย์แจ้งข้อมูลวิธีการผ่าตัดมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 93.8 อาจเนื่องจากแพทย์ต้องแจ้งโรคที่ผู้ป่วยเป็นก่อนลงนามในใบยินยอมผ่าตัด ดังนั้นแพทย์มักจะแจ้งผู้ป่วยว่าจะผ่าตัดอะไร เช่น ถ้าแจ้งผู้ป่วยว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์ก็จะแจ้งว่า จะผ่าตัดถุงน้ำดี ซึ่งการที่ผู้ป่วยทราบว่าตนเองจะได้รับการผ่าตัดอวัยวะใด ก็ถือว่าผู้ป่วยได้รับข้อมูลในหัวข้อนี้แล้ว

          ในกรณีปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับความครบถ้วนของการได้รับข้อมูลของผู้ป่วย พบว่าปัจจัยด้านการจำข้อมูลที่แพทย์อธิบายได้ครบถ้วน มีความสัมพันธ์กับความครบถ้วนในการได้รับแจ้งข้อมูลก่อนลงนามในใบยินยอมผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  ซึ่งการที่ผู้ป่วยจำข้อมูลที่แพทย์อธิบายให้ฟังไม่ได้ อาจทำให้ผู้ป่วยบอกว่าแพทย์ไม่ได้แจ้งข้อมูลในข้อใดข้อหนึ่งที่ผู้ป่วยจำไม่ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแพทย์อาจแจ้งข้อมูลในส่วนนั้นไปแล้ว

          จากการศึกษาของ EI-Wakeel และคณะ7 ซึ่งทำการศึกษาเรื่อง “What do patients really want to know in an informed consent procedure? A questionnaire-based survey of patients in the Bath area, UK” พบว่าข้อมูลในใบยินยอมที่ผู้ป่วยให้ความสำคัญและต้องการรู้มากที่สุด ได้แก่ ผลข้างเคียงหลักจากการรักษา ผลที่จะเกิดขึ้นถ้าไม่รับการรักษา ภาวะภายหลังการรักษาต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และผลต่อการรักษาอื่นๆในอนาคต และจากการศึกษาในครั้งนี้  พบว่าข้อมูลที่แพทย์แจ้งแก่ผู้ป่วยมากที่สุด คือ วิธีการผ่าตัด รองลงมา คือ ผลดีของการผ่าตัด ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างหรือภายหลังการผ่าตัด และผลข้างเคียงของการผ่าตัดตามลำดับ (ตารางที่ 2) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกัน พบว่าข้อมูลที่แพทย์มักแจ้งแก่ผู้ป่วยจากการศึกษานี้ ใกล้เคียงกับข้อมูลที่ผู้ป่วยให้ความสำคัญหรือต้องการทราบจากงานวิจัยของ EI-Wakeel และคณะ7

 

สรุป

          ความชุกของผู้ป่วยที่ได้รับแจ้งข้อมูลอย่างครบถ้วนก่อนการลงนามในใบยินยอมผ่าตัดเท่ากับร้อยละ 17.5 (95%CI: 10.2%, 28.0%) ปัจจัยที่อาจมีความสัมพันธ์กับความครบถ้วนในการได้รับแจ้งข้อมูล ได้แก่ การจำข้อมูลที่แพทย์อธิบายได้ของผู้ป่วย (p-value = 0.039), กลุ่มงานที่ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด (p-value = 0.059) และระยะเวลาที่แพทย์อธิบายข้อมูลให้ผู้ป่วยรับฟัง (p-value = 0.062)    ดังนั้นแพทย์ควรตรวจสอบองค์ประกอบในการให้ข้อมูลกับใบยินยอมผ่าตัดเพื่อให้ข้อมูลได้อย่างครบถ้วน และใช้เวลาอธิบายให้เหมาะสมกับสภาวะของผู้ป่วยแต่ละราย โดยอาจให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับผู้ป่วยที่มาผ่าตัดตามนัดในกลุ่มงานที่มีการได้รับแจ้งข้อมูลอย่างครบถ้วนอยู่ในระดับต่ำ

กิตติกรรมประกาศ

คณะผู้วิจัยใคร่ขอขอบพระคุณ รศ.นพ. วิรุจน์ คุณกิตติ คณาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนทุกท่าน หัวหน้ากลุ่มงานศัลยศาสตร์ หัวหน้ากลุ่มงานสูติ-นรีเวชวิทยา หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมกระดูกและข้อ คณะผู้บริหารโรงพยาบาล ตลอดจนผู้ป่วยทุกท่าน ที่กรุณาให้การอนุเคราะห์และสนับสนุนเป็นอย่างดียิ่ง

เอกสารอ้างอิง

  1. สัญญา ภัทราชัย, กำแหง จารุจินดา. เอกสารประกอบการสอนจริยธรรมวิชาชีพแพทย์นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 [online]. Available from: http://www.mahidol.ac.th/mahidol/ra/raog/ethic1.html. URL:  [สืบค้นข้อมูลวันที่ 22 กันยายน 2550].
  2. พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ..2550: ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 16ก ลงวันที่ 19 มีนาคม 2550.
  3. แพทยสภา, คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ, สภาการพยาบาล, สภาเภสัชกรรม, ทันตแพทยสภา. คำประกาศสิทธิผู้ป่วย 16 เมษายน 2541 [online]. Available from: http://www.elib-online.com/physicians/forensic/ forensic_privilege001.html. [สืบค้นข้อมูลวันที่ 22 กันยายน 2550].
  4. McKeague M, Windsor J. Patients’ perception of the adequacy of informed consent: a pilot study of elective general surgical patients in Aukland. NZMJ 2003; 116: 1-9.
  5. SPSS for Windows, Rel. 17.0.0. 2008. Chicago: SPSS Inc.
  6. Dean AG, Dean JA, Coulombier D, et al. EpiInfo [A word-processing, database, and statistics program for public health on IBM-compatible microcomputers]. Version 6.04d. Atlanta: Centers for Disease Control and Prevention, 2001.
  7. EI-Wakeel H, Taylor GJ, Tate JJT. What do patients really want to know in an informed consent procedure? A questionnaire-based survey of patients in the Bath area in UK. JME 2005; 32: 612-6.

 

Untitled Document
Article Location

Untitled Document
Article Option
       Abstract
       Fulltext
       PDF File
Untitled Document
 
ทำหน้าที่ ดึง Collection ที่เกี่ยวข้อง แสดง บทความ ตามที่ีมีใน collection ที่มีใน list Untitled Document
Another articles
in this topic collection

<More>
Untitled Document
 
This article is under
this collection.

 
 
 
Srinagarind Medical Journal,Faculty of Medicine, Khon Kaen University. Copy Right © All Rights Reserved.
 
 
 
 

 


Warning: Unknown: Your script possibly relies on a session side-effect which existed until PHP 4.2.3. Please be advised that the session extension does not consider global variables as a source of data, unless register_globals is enabled. You can disable this functionality and this warning by setting session.bug_compat_42 or session.bug_compat_warn to off, respectively in Unknown on line 0