Untitled Document
 
 
 
 
Untitled Document
Home
Current issue
Past issues
Topic collections
Search
e-journal Editor page

Anxiety in Patients Prior to Barium Enema Procedure in Srinagarind Hospital, Faculty of Medicine, Khon Kaen University

ความวิตกกังวลของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการตรวจพิเศษลำไส้ใหญ่ทางรังสีของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Amornrat Mungsa (อมรรัตน์ มังษา) 1, Banjong Kheonkaew (บรรจง เขื่อนแก้ว) 2, Varaporn Silavised (วราภรณ์ ศิลาวิเศษ) 3, Keayoon Promon (เกยูร พรมอ่อน ) 4




หลักการและวัตถุประสงค์ : การตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีการการสวนแป้ง (Barium Enema) เพื่อหาพยาธิสภาพของลำไส้ใหญ่  ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากความวิตกกังวลก่อนรับการตรวจส่งผลถึงความร่วมมือของผู้ป่วย  ก่อให้เกิดอุปสรรคในการตรวจ การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความวิตกกังวลของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่ ความต้องการข้อมูล  และเปรียบเทียบความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่มีปัจจัยแตกต่างกันตาม  เพศ  อายุ   สถานภาพสมรส  การศึกษา อาชีพ  และรายได้ของครอบครัว

วิธีการศึกษา :  เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา  ตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ ผู้ป่วย จำนวน 223 ราย  ที่มาตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่ ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น      มีอายุ ระหว่าง 25-80 ปี  ยินดีให้ความร่วมมือ รวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม ทำการวิเคราะห์โดยใช้สถิติ SPSS  ทดสอบค่าที (t- test) และวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว

ผลการศึกษา :  ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ 69.1  ข้อมูลที่ผู้ป่วยต้องการทราบมากคือ ผลการตรวจ  ผลข้างเคียงการใช้สารทึบรังสี  และการปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน  เมื่อเปรียบเทียบปัจจัยที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลเช่น  เพศ  ช่วงอายุ   สถานภาพครอบครัว  การศึกษา อาชีพ  และรายได้  มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ( p < 0.05) 

สรุป :  ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลระดับปานกลาง  และข้อมูลที่ผู้ป่วยต้องการมาก คือผลการตรวจ   รองลงมาคือผลข้างเคียงจากสารทึบรังสี และ การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน   ปัจจัยด้านต่างๆที่ศึกษา ส่งผลต่อระดับความวิตกกังวลของผู้ป่วย

คำสำคัญ :  การตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่, ความวิตกกังวล

 

Background and Objectives:  Diagnosis of large intestine disease using barium enema examination may not be successful because the patient may be anxious during the pre-examination, resulting in non-cooperation with the procedure (i.e., to insert the barium sulphate injection head) and subsequent reception and retention of the contrast medium for the duration of the X-ray procedure. The objectives were (a) to assess the level of anxiety in patients undergoing barium enema (b) to evaluate the information required by the patients and (c) to compare the anxiety of patients with respect to gender, age, status, education, career and family income.

Method :  This was descriptive research set at Srinagarind Hospital, Faculty of Medicine, Khon Kaen University, Thailand.  The population sample included 223 patients between 25-80 years of age who gave informed consent.  The data were collected using a validated international questionnaire translated into Thai.  The data were then analyzed for t-test and one way ANOVA using SPSS for PC.

Results :  The anxiety score among the pre-examination patients was of a moderate level.  Two-thirds of the patients (69.1%) had a modest anxiety score.  The further information required by the patients included (a) diagnosis report (b) side-effects of the contrast media and (c) post-examination conduct (e.g., eat normally, drink fluids, follow-up with a doctor).  The anxiety of patients according to their gender, age, status, education, career and family income

Conclusion:  Overall the pre-examination patients had a moderate level of anxiety.  The descending rank of further information required was (a) diagnosis report (b) side-effect(s) of the contrast media and (c) post-examination conduct.  The demographic condition of the patient significantly affected their level of anxiety.

Keywords:  Barium enema examination, anxiety

 

 

บทนำ

              ปัจจุบันรังสีวิทยามีบทบาทในการวินิจฉัยโรคทางการแพทย์เป็นอย่างมาก แต่บ่อยครั้งที่การตรวจวินิจฉัยโรคทางรังสีวิทยาไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากผู้ที่เข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคมีความวิตกกังวลก่อนเข้ารับการตรวจ มีการเลื่อนตรวจ หรือบางครั้งผู้ป่วยไม่มาตามวันเวลาที่นัดตรวจ  ความวิตกกังวลเป็นลักษณะทางอารมณ์ที่ไม่ยินดี มีสถานะทางอารมณ์ที่ปรับตัวเพื่อเตรียมการสำหรับเหตุการณ์เป็นลบที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยอาจจะแสดงออกมาในลักษณะอาการกังวล หงุดหงิด พยายามหลีกเลี่ยง หรือ เกิดอาการกล้ามเนื้อตึง1,2 มีรายงานหลายชิ้นที่กล่าวถึงการเกิดความวิตกกังวลในผู้ป่วยที่เข้ารับการบริการทางรังสีวิทยาหลายประเภท จากการศึกษาความวิตกกังวลของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการตรวจวินิจฉัย  การตรวจเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจ (coronarography)  การตรวจหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย (arteriography)  และ การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (colonoscopy) ของ Gryz  และ Izdebski พบว่าผู้ป่วยที่นั่งคอยเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทางรังสีมีความวิตกกังวลสูง และ รูปแบบของการตรวจวินิจฉัยทางรังสีมีผลต่อระดับความวิตกกังวล ในขณะที่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจดังกล่าว ไม่มีผลต่อความแตกต่างของความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น3 การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging) แม้จะมีประโยชน์มากแต่ก็พบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจมีความวิตกกังวลจากสาเหตุมาจากลักษณะของอุโมงค์แม่เหล็ก (magnet bore) ระยะเวลาการตรวจ  เสียงรบกวนของขดลวด (coil noise) และอุณหภูมิภายในอุโมงค์4  มีการศึกษาความวิตกกังวลในผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับการฉายรังสีพบว่าผู้ป่วยมีความวิตกกังวลในระดับปานกลาง และมีความสัมพันธ์ในระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 5  ซึ่งมีผู้ศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งพบว่าความวิตกกังวลมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความต้องการข้อมูลอย่างมีนัยสำคัญ  และยังพบอีกว่าเพศหญิงมีความวิตกกังวลมากกว่าเพศชาย6 นอกจากนั้นมีการศึกษาพบว่าเหตุผลที่ต้องการข้อมูลส่วนใหญ่ในผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจหลอดเลือดทางรังสี  เพื่อลดความวิตกกังวลของตนเอง7         

             การตรวจพิเศษลำไส้ใหญ่ทางรังสีด้วยวิธีการสวนแป้ง (barium enema) เป็นวิธีการตรวจทางรังสีวิทยาวิธีหนึ่งที่ยังคงใช้ในการตรวจโรคที่เกี่ยวข้องกับลำไส้ใหญ่ จากการสำรวจปี พ.ศ. 2551 และ 2552 ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  พบว่ามีผู้ที่เข้ารับการตรวจพิเศษ    ลำไส้ใหญ่ทางรังสีด้วยวิธีการสวนแป้งเป็นจำนวนมากถึง 1,119 และ 1,129 ราย ตามลำดับ จากการทบทวนวรรณกรรมไม่พบการศึกษาเกี่ยวกับความวิตกกังวลของผู้ที่เข้ารับการตรวจพิเศษลำไส้ใหญ่ทางรังสีด้วยวิธีการสวนแป้งในประเทศไทย  นอกจากนี้ผู้วิจัยมีประสบการณ์ในห้องตรวจพิเศษลำไส้ใหญ่ทางรังสีในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมานับ 20 กว่าปี จากการสังเกตพฤติกรรมพบว่าผู้ป่วยมีความวิตกกังวลเมื่อเข้ารับการตรวจ  ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาความวิตกกังวลของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการตรวจพิเศษลำไส้ใหญ่ทางรังสีด้วยวิธีการสวนแป้งแบเรียมซัลเฟตและใช้เป็นแนวทางในการวางแผนในการบริการผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น   การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความรุนแรงความวิตกกังวลของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่   ศึกษาความต้องการข้อมูลของผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจพิเศษลำไส้ใหญ่ทางรังสีของลำไส้ใหญ่  เพื่อหาปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดความวิตกกังวล

วิธีการศึกษา

              การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา  ศึกษาความวิตกกังวลและความต้องการข้อมูลของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการตรวจพิเศษลำไส้ใหญ่ทางรังสีด้วยวิธีการสวนแป้ง ในหน่วยรังสีวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น        

              ศึกษาหลังจากผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยในมนุษย์จากการสุ่มตัวอย่างในเดือน มีนาคม-สิงหาคม  2552 ทุกวันเวลาราชการโดยใช้การสุ่มตัวอย่างจำนวน 223 ราย โดยใช้สูตรการคำนวณกลุ่มตัวอย่างของ    Taro  Yamanae8  อ้างอิงจาก ธานินทร์  ศิลป์จารุ 9  ลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง  เป็นผู้เข้ารับการตรวจพิเศษลำไส้ใหญ่ทางรังสีด้วยวิธีการสวนแป้ง   มีอายุอยู่ในช่วง 25-80 ปี  มีสติสัมปชัญญะดี สามารถตอบคำถามได้   และยินดีให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถาม 

 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา

          แบบสอบถามในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย 3 แบบสอบถามคือ

             1. แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบด้วย เพศ อายุ สถานภาพ ศาสนา ระดับการศึกษา อาชีพ การเคยเข้ารับการตรวจพิเศษลำไส้ใหญ่ทางรังสี  และรายได้ของครอบครัวเฉลี่ยต่อเดือน  

             2. แบบประเมินความวิตกกังวลของสปิลเบอร์เกอร์ (Spielberger )10 เป็นแบบสอบถามชนิดตอบด้วยตนเองได้แก่  (The State   Anxiety  Inventory  Form   X-I ) เป็นแบบวัดความวิตกกังวลมี 20 ข้อ ใช้มาตรวัดแบบลิเกิต 4 ระดับคือ ไม่มีเลย = 1  มีบ้าง =  2  มีค่อนข้างมาก =  3 และมีมากที่สุด = 4 เนื้อหามีทั้งความหมายทางบวกและลบอย่างละ 10 ข้อ  การให้คะแนนข้อที่มีความหมายในทางบวกจะให้คะแนนเป็นบวกและในทางลบจะให้คะแนนในทางตรงข้ามแล้วนำคะแนนของทุกข้อมารวมกัน โดยคะแนนจะมีค่าระหว่าง 20-80 คะแนน  มีการแบ่งคะแนนความวิตกกังวลเป็น 3 ช่วงคือ ระดับต่ำ (20 - 40 คะแนน)  ระดับปานกลาง (41 - 60 คะแนน) และระดับสูง (61- 80 คะแนน)11

 

             3. แบบสอบถามความต้องการข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ ด้านการตรวจ ด้านการใช้สารทึบรังสี ด้านข้อมูลทั่วไป ด้านค่ารักษาพยาบาล ด้านแพทย์ผู้ทำการตรวจ ด้านเจ้าหน้าที่ที่ร่วมทำการตรวจ และแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ไม่ต้องการ น้อย ปานกลาง และมาก

          เก็บข้อมูลโดยให้ผู้ป่วยตอบแบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลแล้วจึงให้ผู้ป่วยตอบแบบวัดความวิตกกังวล  และความต้องการข้อมูลก่อนการตรวจ  ตามลำดับ โดยให้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดในช่วงเวลาที่ก่อนเข้ารับการตรวจในวันที่เข้ารับการตรวจ

              วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป SPSS ด้วยสถิติเชิงพรรณนาและเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวลก่อนการตรวจพิเศษลำไส้ใหญ่ทางรังสีด้วยวิธีการสวนแป้ง จำแนกตาม  เพศ  ช่วงอายุ   สถานภาพครอบครัว  ระดับการศึกษา อาชีพ  และรายได้ครอบครัว  โดยการใช้ค่าทดสอบที (t-test) เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวลก่อนการตรวจ ของผู้ป่วยที่มีสถานภาพสมรสแตกต่างกัน  และอาชีพแตกต่างกันโดยการใช้สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (one way  ANOVA)  และทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่โดยใช้ค่าทดสอบ F (F-test)

 

             ข้อมูลเกี่ยวกับระดับความวิตกกังวลและความต้องการข้อมูลของผู้ป่วยที่รับการตรวจลำไส้ใหญ่ มีลักษณะเป็นมาตรวัดประมาณค่า (rating scale) ตามวิธีของ Likert 12 โดยให้คะแนนเป็น 1, 2, 3, 4 โดยใช้สูตรคำนวณช่วงความกว้างของชั้นในการอภิปรายผล13  ได้ค่าเท่ากับ 0.75 (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 เกณฑ์การประเมิน

 

ค่าเฉลี่ย

การประเมิน

ความวิตกกังวล

ความต้องการข้อมูล

1.00-1.75

ไม่มี

ไม่มี

1.76-2.50

มีบ้าง

ระดับน้อย

2.51-3.25

ค่อนข้างมาก

ระดับปานกลาง

3.26-4.00

มากที่สุด

ระดับมาก

 

ผลการศึกษา

1. ข้อมูลส่วนบุคคล

          กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายร้อยละ 45.7 เพศหญิงร้อยละ 54.3 โดยส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป สถานภาพสมรส การศึกษาระดับประถมศึกษา อาชีพเกษตรกรรม รายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวมากกว่า 10,000 บาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 83.4   76.0   53.8   33.2  และ 39.0  ตามลำดับ (ตารางที่ 2)

 

ตารางที่ 2 ข้อมูลส่วนบุคคล

ข้อมูลส่วนบุคคล

จำนวน

(n = 223)

ร้อยละ

 

เพศ

       ชาย

       หญิง

 

102

121

 

45.7

54.3

 

อายุ

       น้อยกว่า 25 ปี

        25 - 34 ปี

        35 - 44 ปี

        45 ปีขึ้นไป

 

2

4

31

186

 

0.9

1.8

13.9

83.4

 

สถานภาพ

        โสด

         สมรส

         ม่าย

         หย่า / แยก

 

25

170

23

5

 

11.2

76.2

10.3

2.2

 

ศาสนา

        พุทธ

        คริสต์

 

 

219

4

 

 

98.2

1.8

 

 

ระดับการศึกษา

        ประถมศึกษา

        มัธยมศึกษา

        อุดมศึกษา

        อนุปริญญา/ประกาศนียบัตร

        ปริญญาตรีหรือสูงกว่า

 

120

32

7

5

59

 

53.8

14.3

3.1

2.2

26.5

 

อาชีพ

         เกษตรกรรม

         รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ

         ธุรกิจส่วนตัว

         รับจ้าง

         นักเรียน/นักศึกษา

         แม่บ้าน

         อื่นๆ(ว่างงาน)

 

74

59

21

16

3

24

26

 

33.2

26.5

9.4

7.2

1.3

10.8

11.7

จำนวนครั้งที่ท่านเคยเข้ารับการตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่ (Barium enema) มาก่อนหรือไม่

         เคย

        ไม่เคย

 

 

 

66

157

 

 

 

29.6

70.4

รายได้ของครอบครัวเฉลี่ยต่อเดือน

        ต่ำกว่า 5,000 บาท

        5,000 - 10,000 บาท

        มากกว่า 10,000 บาท

        อื่นๆ(รายได้ไม่แน่นอน)

 

69

53

87

14

 

30.9

23.8

39.0

6.3

สิทธิการใช้บริการด้านการรักษาพยาบาลในครั้งนี้

        จ่ายเอง

        บัตรสุขภาพ (บัตรทอง)

        เบิกต้นสังกัด

        บัตรประกันสังคม

        อื่นๆ(พ.ร.บ , พระภิกษุ)

   

 

 

23

74

86

10

30

 

 

10.3

33.2

38.6

4.5

13.5

 

2. ความวิตกกังวลของผู้ป่วยก่อนการตรวจ

              จากผลการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยก่อนการตรวจส่วนใหญ่มีระดับความวิตกกังวลอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 69.1 โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ  49.4 (5.3)  รองลงมาผู้ป่วยที่มีระดับคะแนนความวิตกกังวลสูงคิดเป็นร้อยละ 16.6   โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 67.6 (6.2)  ผู้ป่วยที่มีระดับคะแนนความวิตกกังวลต่ำคิดเป็นร้อยละ 14.3 โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 37 (3.6)  ผู้ป่วยที่มาตรวจมีค่าคะแนนรวมของระดับความวิตกกังวลมีค่าระหว่าง 27 - 80 คะแนน โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ  50.6 (10.1) 

3. ความต้องการข้อมูลของผู้ป่วยก่อนการตรวจ 

             ผลการศึกษาความต้องการข้อมูลของผู้ป่วยก่อนการตรวจ 5 ด้านอยู่ในระดับมากโดยมีค่าเฉลี่ย 3.26-4.00 เมื่อจัดลำดับแล้วพบว่าข้อมูลด้านการตรวจต้องการมากที่สุด 3.44 (0.66)  รองลงมาได้แก่  ด้านการใช้สารทึบรังสี 3.43(0.74) ด้านแพทย์ผู้ทำการตรวจ 3.34 (0.67) ด้านเจ้าหน้าที่ ที่ร่วมทำการตรวจ 3.32 (0.65) และด้านข้อมูลทั่วไป 3.31(0.82) ส่วนข้อมูลด้านค่ารักษาพยาบาลมีความต้องการอยู่ในระดับปานกลางเมื่อพิจารณาความต้องการข้อมูลของผู้ป่วยก่อนการตรวจเป็นรายด้านพบว่าในด้านการตรวจ ข้อมูลที่ต้องการมากที่สุด คือผลการตรวจพิเศษลำไส้ใหญ่ทางรังสี 3.59(0.62) รองลงมาได้แก่ การปฏิบัติตัวหลังการตรวจ 3.53(0.63) ส่วนในด้านการใช้สารทึบรังสีข้อมูลที่ต้องการมากที่สุด คือผลข้างเคียงของสารทึบรังสีที่อาจเกิดขึ้น  3.46 (0.75)  รองลงมาได้แก่ สารทึบรังสีคืออะไร 3.43(0.71)  และด้านข้อมูลทั่วไปคือการปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน 3.43 (0.73) รองลงมาได้แก่ความผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อกลับไปอยู่บ้าน  3.30 (0.84)  (ตารางที่ 3 ) 

 

ตารางที่ 3   ค่าเฉลี่ย (mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) และการแปลความหมายของระดับความ ต้องการข้อมูลของผู้ป่วยที่รับการตรวจลำไส้ใหญ่ ในภาพรวม

ความต้องการข้อมูลของผู้ป่วยที่รับการตรวจลำไส้ใหญ่

Mean

SD

การแปลผล

1.  ด้านการตรวจ

3.44

0.66

มาก

2.  ด้านการใช้สารทึบรังสี

3.43

0.74

มาก

3.  ด้านข้อมูลทั่วไป

3.31

0.82

มาก

4.  ด้านค่ารักษาพยาบาล

3.21

0.79

ปานกลาง

5.  ด้านแพทย์ผู้ทำการตรวจ

3.34

0.67

มาก

6.  ด้านเจ้าหน้าที่ที่ร่วมทำการตรวจ

3.32

0.65

มาก

ภาพรวม

3.34

0.72

มาก

 

4. การเปรียบเทียบความวิตกกังวลตามสถานภาพของผู้ป่วย

             กลุ่มตัวอย่างเพศหญิงมีคะแนนเฉลี่ยความวิตกกังวลก่อนการตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่สูงกว่าเพศชาย  เมื่อเปรียบเทียบโดยใช้สถิติการทดสอบค่าทีพบว่ากลุ่มตัวอย่างเพศหญิงมีความวิตกกังวล ก่อนการตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่สูงกว่าเพศชายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับน้อยกว่า 0.05   กลุ่ม เมื่อเปรียบเทียบโดยใช้สถิติการทดสอบค่าทีพบว่ากลุ่มตัวอย่างอายุมากกว่า 45 ปี  มีความวิตกกังวล ก่อนการตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่สูงกว่ากลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับน้อยกว่า 0.05 ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับอุดมศึกษา มีคะแนนเฉลี่ยความวิตกกังวลก่อนการตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่สูงกว่ากลุ่มมีการศึกษาต่ำกว่า ระดับอุดมศึกษา เมื่อเปรียบเทียบโดยใช้สถิติการทดสอบค่าทีพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับอุดมศึกษามีความวิตกกังวลก่อนการตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่สูงกว่ามีการศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  น้อยกว่า 0.05   และผลการศึกษาเปรียบเทียบความวิตกกังวลในผู้ป่วยที่มีรายได้แตกต่างกันพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีการศึกษามีรายได้สูงกว่า 10,000 บาทขึ้นไป  มีคะแนนเฉลี่ยความวิตกกังวลก่อนการตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่สูงกว่ากลุ่มมีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท   เมื่อเปรียบเทียบโดยใช้สถิติการทดสอบค่าทีพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้สูงกว่า 10,000 บาท มีความวิตกกังวล ก่อนการตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่สูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับน้อยกว่า 0 .05 (ตารางที่ 4) 

 

 ตารางที่ 4    การเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจทางรังสีของลำไส้ใหญ่ จำแนกตามเพศ  อายุ ระดับการศึกษา และรายได้

variable

Anxiety

T

P-value

Mean

S.D.

Sex

 

 

 

 

Male

49.07

10.58

-2.16

0.032

female

52.02

9.65

Age

 

 

 

 

       25-45 years

45.81

7.40

-4.06

0.000**

       > 45 years

51.63

10.38

 

 

Educational background

 

 

 

 

     Primary, middle and high    

     school

47.83

8.87

-6.67

0.000**

      University or higher

56.75

10.16

 

 

 Family  income

 

 

 

 

       < 10,000  bath

47.52

9.14

-5.40

0.000**

        > 10,000  bath

54.48

10.09

 

 

               * p <  0.05

              **p <  0.01

               การวิเคราะห์ทางสถิติของคะแนนความวิตกกังวลก่อนการตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่จำแนกตามสถานภาพสมรส   พบว่าเมื่อทดสอบด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว  กลุ่มตัวอย่างที่มีสถานภาพโสด  สมรส  และหม้าย หย่า แยกกันอยู่ มีค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวลก่อนการตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่แตกต่างแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  0.05 (ตารางที่ 5)  จึงทดสอบค่าเฉลี่ยของคะแนนความวิตกกังวลก่อนการตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่เป็นรายคู่ พบว่า  สถานภาพโสด แตกต่างกับสถานภาพสมรส   ม่าย หย่า แยกกันอยู่ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05  โดยที่คะแนนเฉลี่ยของสถานภาพโสดมีค่ามากที่สุด รองลงมาคือ สถานภาพม่าย หย่า แยกกันอยู่ และน้อยที่สุด คือ สถานภาพสมรส (ตารางที่ 6)

 

 

  ตารางที่ 5    การเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจ  ทางรังสีของลำไส้ใหญ่ เมื่อทดสอบด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA) ของกลุ่มสถานภาพ 3 กลุ่ม

แหล่งความแปรปรวน(Sources  of  variance)

df

Sum of Square

Mean of Square

F

P-value

ระหว่างกลุ่ม

2

7,556.94

3,778.47

53.98

0.000**

ภายในกลุ่ม

220

15,400.50

70.00

 

 

รวมทั้งหมด

222

22,957.44

 

 

 

             **p <  0.01

 

  ตารางที่ 6  การทดสอบคะแนนเฉลี่ยของความวิตกกังวลเป็นรายคู่ ด้วยวิธีของ Bonferroni ของกลุ่มสถานภาพ 3 กลุ่ม

สถานภาพ

ค่าเฉลี่ย

โสด

สมรส (คู่)

ม่าย หย่า / แยกกันอยู่

66.92

48.30

50.54

โสด

66.92

-

0.000**

0.000**

สมรส (คู่)

48.30

-

-

0.575

ม่าย หย่า / แยกกันอยู่

50.54

-

-

-

**p <  0.01

 

              เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติของคะแนนความวิตกกังวลก่อนการตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่จำแนกตามอาชีพ   พบว่าเมื่อทดสอบด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว  กลุ่มตัวอย่างที่มีอาชีพรับราชการ รัฐวิสาหกิจ   กลุ่มที่มีอาชีพธุรกิจส่วนตัว รับจ้าง แม่บ้าน และกลุ่มอาชีพเกษตรกร  มีค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวลก่อนการตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  0.05 (ตารางที่ 7)   จึงทดสอบค่าเฉลี่ยของคะแนนความวิตกกังวลก่อนการตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่เป็นรายคู่  พบว่า คะแนนเฉลี่ยของความวิตกกังวลของผู้ป่วย จำแนกตามอาชีพ พบว่า  คะแนนเฉลี่ยของความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่มีอาชีพเกษตรกรรม  รับราชการ รัฐวิสาหกิจ และกลุ่มอาชีพธุรกิจส่วนตัว รับจ้าง แม่บ้าน  แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ  0.05 เมื่อทำการวิเคราะห์รายคู่แล้ว พบว่า คะแนนเฉลี่ยของความวิตกกังวลของผู้ป่วยทั้ง 3 อาชีพ แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญ 0.05 โดยที่คะแนนเฉลี่ยของความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่มีอาชีพรับราชการ รัฐวิสาหกิจ มีค่ามากที่สุด รองลงมาคือผู้ป่วยที่มีอาชีพธุรกิจส่วนตัว   รับจ้าง  แม่บ้าน และน้อยที่สุดคือผู้ป่วยที่มีอาชีพเกษตรกรรม (ตารางที่ 8)

 

ตารางที่ 7     การเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจทางรังสีของลำไส้ใหญ่ เมื่อทดสอบด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว  (One way ANOVA) ของกลุ่มอาชีพ 3 กลุ่ม

แหล่งความแปรปรวน(Sources  of  variance)

df

Sum of

Square

Mean of Square

F

P-value

ระหว่างกลุ่ม

2

2,273.68

1,136.84

12.09

0.000**

ภายในกลุ่ม

220

20,683.77

94.02

 

 

รวมทั้งหมด

222

22,957.44

 

 

 

             **p <  0.01

 

ตารางที่ 8  การทดสอบคะแนนเฉลี่ยของความวิตกกังวลเป็นรายคู่ ด้วยวิธีของ Bonferroni  กลุ่มอาชีพ 3 กลุ่ม

อาชีพ

ค่าเฉลี่ย

เกษตรกรรม

รับราชการ / รัฐวิสาหกิจ

ธุรกิจส่วนตัว/

รับจ้าง/ แม่บ้าน

46.68

54.93

51.16

เกษตรกรรม

46.68

-

0.000**

0.011*

รับราชการ / รัฐวิสาหกิจ

54.93

-

-

0.063

ธุรกิจส่วนตัว/ รับจ้าง/แม่บ้าน

51.1

-

-

-

 * p <  0.05,           **p <  0.01
 

วิจารณ์

              จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าผู้ป่วยก่อนการตรวจพิเศษลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีการสวนแป้งส่วนใหญ่มีความวิตกกังวล อยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ  69.1  การศึกษายังชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างของข้อมูลบุคคลมีผลทำให้เกิดความวิตกกังวลที่แตกต่างกัน โดยพบว่า เพศหญิง มีความวิตกกังวลมากกว่าเพศชาย  ซึ่งน่าจะมาจากที่ผู้หญิงมักมีความรู้สึกอายมากกว่าผู้ชาย ประกอบกับการตรวจลำไส้ใหญ่จะต้องสวนแป้งแบเรียมซัลเฟต เข้าทวารหนัก ยิ่งทำให้เพศหญิงมีความกังวลถ้ามีประจำเดือนก็อาจจะทำให้มีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Doma และคณะ14   พบว่าเพศหญิงมีความวิตกกังวลมากกว่าเพศชาย   การเปลี่ยนเสื้อผ้าและเปิดบริเวณทวารหนักเพื่อทำการสวน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยที่มีสถานภาพโสดรู้สึกกังวลมากกว่า

           ผลการศึกษายังพบอีกว่าผู้ป่วยที่มีช่วงอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 45 ปีขึ้นไป มีค่าเฉลี่ยความวิตกกังวลก่อนการตรวจมากสูงกว่า   ซึ่งอาจเป็นวัยที่ต้องสร้างฐานะครอบครัว ดูแล  ลูกหลานคนในครอบครัว  และรับทราบข้อมูลว่าผู้ที่มีอายุมากมีโอกาสเป็นโรคร้ายมากกว่า เช่นโรคมะเร็ง จึงมีความวิตกกังวลสูงเพราะกลัวผลที่จะเกิดขึ้น    ซึ่งอาจจะแตกต่างจากความวิตกกังวลของผู้ป่วยในรายที่ทราบว่าตนเองต้องเข้ารับการผ่าตัด  ที่พบว่าผู้ป่วยที่อายุมากกว่ามีความวิตกกังวลน้อยกว่า เนื่องจากมีประสบการณ์ในชีวิตมาก สามารถเตรียมใจเผชิญกับปัญหาได้ดีกว่าจึงมีความวิตกกังวลน้อยกว่า15 ในการศึกษาครั้งนี้ยังพบว่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตรวจมีความสำคัญต่อผู้ป่วยดังจะเห็นได้จากความต้องการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจของผู้ป่วยด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการตรวจ ด้านการใช้สารทึบรังสี   ด้านแพทย์ผู้ทำการตรวจ ด้านเจ้าหน้าที่ที่ร่วมทำการตรวจ ด้านข้อมูลทั่วไปอยู่ในระดับมาก ซึ่งข้อมูลที่ผู้ป่วยต้องการเหล่านี้เป็นข้อมูลอยู่ในการศึกษาครั้งนี้อาจจะช่วยให้ผู้ป่วยก่อนการตรวจลดความวิตกกังวลลงได้    นอกจากนี้ระยะเวลาที่นั่งคอย การเคลื่อนที่ของหลอดเอกซเรย์ ความมืด และเสียงรบกวนในขณะทำการถ่ายภาพเอกซเรย์ ก็มีผลต่อความวิตกกังวลเช่นกัน16 ยิ่งไปกว่านั้นผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่สถานภาพโสด สมรสและหย่าร้างค่าคะแนนเฉลี่ยความวิตกกังวลอยู่ในระดับสูง โดยที่คะแนนเฉลี่ยของสถานภาพโสดมีค่ามากที่สุด รองลงมาคือหย่าร้าง และน้อยที่สุดคือสถานภาพสมรส

              ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับอุดมศึกษา จะมีค่าคะแนนความวิตกกังวลมากกว่าผู้ป่วยที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา อาจจะเป็นเพราะว่าผู้มีการศึกษาสูงมีการค้นคว้าหาความรู้ ทราบข้อบ่งชี้ในการตรวจทำให้มีความวิตกกังวลกลัวผลการวินิจฉัยออกมาในทางที่เป็นโรคร้าย ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Domar , Everett & Keller,1989 14   ที่พบว่าก่อนการผ่าตัดผู้ที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะเกิดความวิตกกังวลมากกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่า

          ผลการศึกษาพบว่า อาชีพรับราชการ รัฐวิสาหกิจ มีความวิตกกังวลมากกว่าอาชีพ  รับจ้าง แม่บ้านและอื่นๆ   ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าข้าราชการมีปัญหาจะต้องลาหยุดงานมาตรวจเพราะต้องมานัดตรวจล่วงหน้า  เพื่อกลับไปเตรียมตัวตรวจและวันตรวจอีก 1 วัน ฟังผลการตรวจวินิจฉัยภายหลังทำให้มีความวิตกกังวลมาก

ส่วนผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 10,000 บาทขึ้นไป มีความวิตกกังวลสูงกว่าผู้มีรายได้น้อย Lazarus and Folkman17  กล่าวถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล  ปัญหาค่าใช้จ่ายในการเจ็บป่วยเป็นส่วนหนึ่งของรายได้หรือแหล่งประโยชน์ด้านวัตถุที่คอยสนับสนุนให้ผู้ป่วยเผชิญความเจ็บปวดได้อย่างเต็มที่ ผู้ป่วยที่มีรายได้มากกว่าจึงมีความสามารถในการต่อสู้กับความเจ็บป่วยได้มากกว่า สอดคล้องกับการศึกษาครั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่าผู้มีรายได้มากมีหน้าที่การงานและกิจการที่ต้องดูแลรับผิดชอบครอบครัวดังนั้น เมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ต้องตรวจจึงกลัววิตกกังวลว่าจะต้องเสียเวลาและอาจทำให้กระทบต่อรายได้ ลดลงจากเดิม แต่ไม่สอดคล้องกับการศึกษาของสุนีย์  จันทร์มหเสถียร และคณะ15 พบว่าผู้มีรายได้มากมีความวิตกกังวลน้อยเพราะรายได้มากเป็นประโยชน์ที่ช่วยสนับสนุนให้สามารถเข้ารับการรักษาได้     

              ในการศึกษานี้พบว่าผู้ป่วยมีความวิตกกังวลเมื่อเข้าตรวจลำไส้ใหญ่  และยังพบอีกว่าข้อมูลที่ผู้ป่วยต้องการทราบได้แก่ การให้ข้อมูลที่ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยจะช่วยให้ลดความวิตกกังวลลงได้ ดังการศึกษาของ Wilson BJ รายงานว่าผู้ป่วยที่ได้รับการอธิบายขั้นตอนในการตรวจก่อนทำการตรวจพิเศษลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีการสวนแป้งจะช่วยลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยได้ เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับข้อมูล18

สรุป

             ผู้ป่วยก่อนการตรวจส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลอยู่ในระดับปานกลางซึ่งคิดเป็นร้อยละ  69.1 ผู้ป่วยเพศหญิงอายุมากกว่า 45ปี สถานภาพโสด  การศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นไปมีความวิตกกังวลมากกว่า  อาชีพที่มีความวิตกกังวลมากที่สุด คือ อาชีพรับราชการหรือรัฐวิสาหกิจ  รองลงมา คือ  อาชีพธุรกิจส่วนตัว  รับจ้าง  แม่บ้าน  ส่วนอาชีพเกษตรกรรมมีความวิตกกังวลน้อยที่สุด   สำหรับผู้ป่วยที่มีระดับรายได้แตกต่างกันพบว่าผู้มีรายได้ตั้งแต่  10,000  บาทขึ้นไป มีความวิตกกังวลมากกว่า   ผู้ป่วยก่อนการตรวจมีความต้องการข้อมูลด้านการตรวจ คือ ผลการตรวจพิเศษทางรังสีของลำไส้ใหญ่  ผลข้างเคียงของสารทึบรังสีที่อาจเกิดขึ้น  และข้อมูลการปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้านอยู่ในระดับมาก  

กิตติกรรมประกาศ

             คณะผู้วิจัยขอขอบคุณคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และบุคคลากร หน่วยรังสีวินิจฉัย โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทุกท่านที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการศึกษาครั้งนี้จนลุล่วงไปด้วยดี

 

เอกสารอ้างอิ

1. Herring  MP,  O’Connor  PJ,  Dishman  RK . The  effect of  exercise  training on  anxiety  symptoms among  patients. Arch Intern Med  2010;170 :321-31.

2. Craske  MG,  Rauch SL,  Ursano R,  Prenoveau J, Pine DS,  Zinbarg RE. What is an  anxiety  disorder ?  Depress   Anxiety 2009; 26: 1066 – 85.

3. Gryz  J,  Izdebski  P. Patient anxiety before invasive diagnostic  examinations:  coronarography,   arteriography, and colonoscopy. Polish J Radiol   2005 ; 70(2) :31-36.

4. Quirk   ME,  Letendre AJ,  Ciottone  RA,  Lingley JF.  Anxiety in patients   undergoing MR imaging. Radiology 1989; 170:463 - 6.

5. ผ่องศรี  ศรีมรกต.  ความวิตกกังวลในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษา.พยาบาลสาร 2541; 25:59-69.  

6. สุรีย์พร  มาลา.  ความวิตกกังวลและความสามารถในการควบคุมตนเอง  ความต้องการข้อมูลและการ   ได้รับข้อมูลในผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังได้รับรังสีรักษา. พยาบาลสาร 2535; 25: 14-27.

7. คนึงนิจ  พงค์ถาวรกมล, สิริรัตน์  ฉัตรชัยสุดา , พรรณี  สมจิตรประเสริฐ. ความเป็นห่วง ความวิตก           กังวลและความต้องการข้อมูลในผู้ป่วยที่รับการตรวจหลอดเลือดทางรังสี. พยาบาลสาร 2544; 16:84-97.

8. Yamane,  Tayo.  Statistics  an  introductory  analysis.  New York : Harper, 1973.

 9. ธานินทร์  ศิลป์จารุ. การวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วย  SPSS. กรุงเทพฯ: วี อินเตอร์ พริ้นท์,  2549.

10. Spielberger  CD, Gorsuch  R,  Lushene  R.  STAI  manual. California: Consulting   Psychologists Press, 1967.

11. อาริยา สอนบุญ. ผลของดนตรีบำบัดต่อความวิตกกังวลและอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัด. [วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่ ]. ขอนแก่น : บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2545 .

12. Likert  R. The  human organization. its management and value. New York : Mcgraw – hill, 1967.

13. กัลยา วานิชย์บัญชา .  สถิติสำหรับงานวิจัย หลักการเลือกใช้เทคนิคทางสถิติในงานวิจัยพร้อมทั้งอธิบายผลลัพธ์ที่ได้ทาง  SPSS   ภาควิชาสถิติคณะพานิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551.

14.  Domar AD, Everett L L, Keller  MG. Preoperative anxiety : Is it a predictable entity? Anesth   Analg  1989; 69: 763-7.

15. สุนีย์  จันทร์มหเสถียร. ความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใหญ่. พยาบาลสาร 2549; 33:184-94.

16. Wilson  BJ.  Patients' responses to barium x-ray studies. Br  Med  J  1978;1:1324.

17. Lazarus , R.S and  S  Folkman. Stress  adaptation  and  coping. New  York: Springer Publishing Company, 1984.

18. Wilson  BJ.  Patient’s emotional response to barium  X- ray. J  Adv  Nurs 1978; 3:37- 46.

 

 

 

 

Untitled Document
Article Location

Untitled Document
Article Option
       Abstract
       Fulltext
       PDF File
Untitled Document
 
ทำหน้าที่ ดึง Collection ที่เกี่ยวข้อง แสดง บทความ ตามที่ีมีใน collection ที่มีใน list Untitled Document
Another articles
in this topic collection

Fear Level in Preschoolers Undergoing Computed Tomography: Affect of Psychological Preparation by Story vs. Normal Preparation (การศึกษาเปรียบเทียบความกลัวการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของเด็กวัยก่อนเรียนระหว่างกลุ่มที่ได้รับการเตรียมจิตใจด้วยการเล่านิทานกับกลุ่มที่ได้รับการเตรียมตามปกติ)
 
Risk Factors Associated With Allergic To Non – Ionic Contrast Media In Patients Undergoing Chest Or Abdominal Computed Tomography (ปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้สารทึบรังสีชนิดไม่แตกตัวในผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกและช่องท้อง)
 
Diagnostic Reliability of the Singh Index : Femoral Neck Osteoporosis (ความน่าเชื่อถือของ Sign index ในการวินิจฉัยโรคกระดูกำพรุนของคอกระดูกต้นขา)
 
Clinical Manifestations and Angiographic Ceatures in Carotid – Cavernous sinus Fistula (ลักษณะทางคลินิกและลักษณะทางรังสีวิทยาในผู้ป่วย Carotid – Cavernous sinus Fistula)
 
<More>
Untitled Document
 
This article is under
this collection.

Radiology
 
Psychiatry
 
 
 
 
Srinagarind Medical Journal,Faculty of Medicine, Khon Kaen University. Copy Right © All Rights Reserved.
 
 
 
 

 


Warning: Unknown: Your script possibly relies on a session side-effect which existed until PHP 4.2.3. Please be advised that the session extension does not consider global variables as a source of data, unless register_globals is enabled. You can disable this functionality and this warning by setting session.bug_compat_42 or session.bug_compat_warn to off, respectively in Unknown on line 0