Untitled Document
 
 
 
 
Untitled Document
Home
Current issue
Past issues
Topic collections
Search
e-journal Editor page

Food Consumptions Behavior and Nutritional Status of Atherosclerotic Heart Disease Patient in Outpatient Department, Queen Sirikit Heart Center of the Northeast, Thailand.

พฤติกรรมการบริโภคอาหาร และภาวะโภชนาการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว แผนกผู้ป่วยนอก ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

Nattakarn Changlek (ณัฐกานต์ ช่างเหล็ก) 1, Suwalee Lowirakorn (สุวลี โล่วิรกรณ์) 2, Siam Khajarern (สยาม ค้าเจริญ) 3




หลักการและวัตถุประสงค์ : โรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัวเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้เหมาะสมสามารถควบคุมโรคไม่ให้กำเริบได้ ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และภาวะโภชนาการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการปรับเปลี่ยนหรือส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้องและเหมาะสมในการควบคุมโรค

วิธีการศึกษา:  เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว แผนกผู้ป่วยนอก ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ และอาศัยในจังหวัดขอนแก่น จำนวน 79 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์ และแบบประเมินภาวะโภชนาการ  วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่  ร้อยละ  ความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน    และวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการเกิน ด้วยสถิติ Pearson’s Chi-square test และ Fisher’s exact test

ผลการศึกษา: ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว ร้อยละ 59.5  เป็นเพศชาย มีอายุระหว่าง   61-70 ปี (S.D.=11.0)  ผู้ป่วยมีความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัวอยู่ในระดับดี เพียงร้อยละ 44.3  อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 32.9 ส่วนทัศนคติอยู่ในระดับดี    ร้อยละ 63.3 ด้านการบริโภคอาหาร พบว่า ผู้ป่วยบริโภคปลา ผัก และอาหารประเภทนึ่งเป็นประจำทุกวัน ร้อยละ 63.3, 53.2 และ 25.3 ตามลำดับ   ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่าการบริโภคอาหารก่อนและหลังการเกิดโรคมีความแตกต่างกัน คือ ผู้ป่วยบริโภคผัก และปลามากกว่าเดิม และมีการหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีไขมันมาก และจากการให้ผู้ป่วยประเมินตนเอง พบว่า ผู้ป่วยยังคงมีปัญหาในการควบคุมอาหาร ร้อยละ 27.8  และมีดัชนีมวลกาย   อยู่ในเกณฑ์ภาวะโภชนาการเกิน (BMI >22.9)   ร้อยละ 60.7  ส่วนค่าเส้นรอบเอว และเส้นรอบเอวต่อเส้นรอบสะโพก มากกว่าเกณฑ์ปกติ ร้อยละ 60.7 และ 79.7 เมื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการเกินในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว  พบว่า การออกกำลังกาย และเส้นรอบเอว มีความสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการเกินของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p-value < 0.05

สรุป: ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัวมีความรู้อยู่ในระดับดี และปานกลาง ผู้ป่วยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่ดีขึ้น ภายหลังการเกิดโรค แต่ยังพบว่าผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการเกิน ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพ และเพิ่มความรุนแรงของโรค ดังนั้นจึงควรมีการให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เหมาะสม ซึ่งจะมีผลดีในการควบคุมโรคของผู้ป่วยต่อไป

คำสำคัญ: ความรู้ ทัศนคติ การบริโภคอาหาร ภาวะโภชนาการ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว

 

Background and Objective: Atherosclerotic heart disease is not a curable disorder. But properly behavior changing food consumption can control disease.  The researchers are interested in investigating food consumption behavior and nutritional status of the atherosclerotic heart disease patients in order to gain basic information for changing or promoting proper food consumption behavior to control disease.

Methods:  This descriptive study in seventy-nine atherosclerotic heart disease patients who lived in Khon Kaen province and attended the Outpatient Department of Queen Sirikit Heart Center were included in the study. Research instruments were questionnaires and nutritional status assessment form descriptive statistics. The results were presented as percent, pregnancy and mean. The association between defined factors and nutritional status was determined by Pearson’s chi-square test and fisher’s exact test.

Results:  Fifty nine point five  percent of the atherosclerotic heart disease patients were male with age-range between 61-70 years old. (S.D.=11.0), The quantity of  44.3% had good knowledge whereas 32.9 had fair knowledge. 63.3% had good attitude. Regarding food consumption frequencies, 63.3%, 53.2% and 25.3% consumed fish, vegetable and steaming dishes daily. There was different food consumption comparing before and after being diagnosed. After diagnosis, patients consumed more vegetables and fish as well as avoiding high fat dish. According to patient’s self assessment report, 27.8% still reported problem on diet control and 60.7% had body mass index as over-nutrition (BMI>22.9). The percentages of 60.7% and 79.7% had waist circumferences and waist-hip ratio greater than normal. To investigate factors associated with over-nutrition in atherosclerotic heart disease patients, it was found that exercise and waist circumference were associated with atherosclerosis heart disease patietns’over-nutrition statiscally significant at p-value <0.05. 

Conclusion: The atherosclerotic heart disease patients’ knowledge were rated as  good and fair. The patients were improving their consumption behavior after the diagnosis but there were some overnutrition patients with improper food habits, so additional knowledge should be provided in order to change  their habits which will be good for their health status.

Key words: Knowledge, Attitude, Food consumption, Nutritional status, Atherosclerotic heart disease patient

 

บทนำ

สถิติในประเทศไทย พบว่าในปี พ.ศ.2549 อัตราตายของประชากรด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด       มีร้อยละ 54.5 และเป็นสาเหตุการตายติดอันดับหนึ่งในสามมาตลอด ส่วนใหญ่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ1  สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  พบว่าจังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุด รองลงมาคือ จังหวัดขอนแก่น และอุบลราชธานี  โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิต 1,468,  818 และ 753 รายต่อปี ตามลำดับ1ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว มีทั้งปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ได้แก่ อายุ เพศ กรรมพันธุ์  และควบคุมได้ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง  การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ โรคอ้วน ความเครียด รวมถึงการขาดการออกกำลังกาย การเปลี่ยนแปลง   วิถีการดำเนินชีวิตก็เป็นสาเหตุหนึ่ง โดยเฉพาะการบริโภคอาหารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ประกอบกับชีวิตปัจจุบันต้องเร่งรีบอยู่ตลอดเวลานิสัยในการบริโภคของคนเราเปลี่ยนแปลงไป โดยบริโภคอาหารสำเร็จรูป  และอาหารจานด่วนมากขึ้น ซึ่งเป็นอาหารประเภท ผัด ทอด ส่งผลให้คนเราได้รับปริมาณโคเลสเตอรอล และไขมันในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว และต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งศูนย์หัวใจสิริกิติ์  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นสถานพยาบาลของรัฐ  ที่ดูแลผู้ป่วยเฉพาะทางโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งจากสถิติปี พ.ศ.  2548, 2549, 2550 พบว่ามีผู้เข้ารับการตรวจรักษาในแผนกผู้ป่วยนอก 23,276, 35,252 และ 48,232 ราย ตามลำดับ และผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมออย่างต่อเนื่อง เป็นผู้ป่วยยังคงมีอยู่ เนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้  ในการปฏิบัติตัวเพื่อดูแลตนเองของผู้ป่วยนั้น  ผู้ป่วยต้องพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเอง และมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการควบคุมโรค    ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาถึงพฤติกรรมการบริโภคและภาวะโภชนาการของกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางแผนการให้โภชนศึกษา และการปรับเปลี่ยนหรือส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้ป่วยและให้มีภาวะโภชนาการเหมาะสม อันนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยต่อไป

วิธีการวิจัย

ประชากรตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว ที่มารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอก ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2552  จำนวน 79 คน  ที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้ แบบสัมภาษณ์ประกอบด้วย  5 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไปและข้อมูลสุขภาพ แบบวัดความรู้และทัศนคติเรื่องการบริโภคอาหาร แบบวัด  ความถี่ในการบริโภคอาหาร และรูปแบบในการบริโภคอาหาร    รวมทั้งแบบยินยอมให้ทำการศึกษาโดยโครงการวิจัยนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเลขที่    HE 511068   ได้มีการตรวจสอบความตรงด้านเนื้อหา และความครอบคลุมตามวัตถุประสงค์ของแบบสัมภาษณ์ โดยผู้เชี่ยวชาญ ได้ค่าความเที่ยง เท่ากับ 0.7  และรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว แผนกผู้ป่วยนอก  พร้อมทั้งมีการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดเส้นรอบเอว และวัดเส้นรอบสะโพกของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว และวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่ามัธยฐาน และหาความสัมพันธ์ โดยใช้สถิติ Pearson’s Chi-square test และ Fisher’s exact test วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป STATA ( version 8.2)  ส่วนการประเมินภาวะโภชนาการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว โดยใช้เกณฑ์ดัชนีมวลกาย (BMI) เส้นรอบเอวและสัดส่วนเส้นรอบเอวต่อเส้นรอบสะโพกของคนเอเชีย

ผลการศึกษา

1. ลักษณะข้อมูลทั่วไป ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว พบว่า เป็นเพศชาย ร้อยละ 59.5 มี    อายุระหว่าง 61-70 ปี (62.2 11.0) ผู้ป่วยมีสถานภาพสมรสคู่/อยู่ด้วยกัน ร้อยละ 76.0 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 68.4  ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 57.0  และมีรายได้  1,001-5,000 บาท/เดือน  โดย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีสมาชิกในครอบครัว เป็นผู้ดูแล ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับคำแนะนำการดูแลตนเองจากแพทย์/พยาบาล ร้อยละ 93.7  และจะได้รับคำแนะนำในเรื่องการบริโภคอาหาร การรับประทานยา การดูแลตนเอง และการออกกำลังกาย ซึ่งพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาลได้ ร้อยละ 96.2 แต่จากการศึกษา พบว่าผู้ป่วยกว่าครึ่งหนึ่งมีการออกกำลังกายทุกวัน เป็นการออกกำลังกายแบบยกแขน-ขา เดินช้าๆ และพบว่า ผู้ป่วยส่วนมากไม่ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่

2. ความรู้และทัศนคติ ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว พบว่าผู้ป่วยมีความรู้อยู่ในระดับดี และปานกลาง ร้อยละ 44.3 และ 32.9 ตามลำดับ   และเมื่อพิจารณาจากระยะการเกิดโรค พบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคมากกว่า 1 ปี  มีความรู้และทัศนคติดีกว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคน้อยกว่า 1 ปี ทั้งนี้ผู้ป่วยยังขาดความรู้ในเรื่อง การบริโภคไข่ซึ่งควรบริโภคไม่เกินสัปดาห์ละ 3 ฟอง และความสำคัญในการบริโภคปลา ซึ่งกรดไขมันในปลาช่วยลดการจับตัวของหลอดเลือดหัวใจได้ (ตารางที่  1)   ส่วนทัศนคติ พบว่า ผู้ป่วยมีทัศนคติอยู่ในระดับดี  และปานกลาง   ร้อยละ 63.3 และ 36.7 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาจากระยะการเกิดโรค พบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคมากกว่า 1 ปี มีทัศนคติดีกว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคน้อยกว่า 1 ปี ซึ่งผู้ป่วยยังมีความเข้าใจผิด ในเรื่องการบริโภคข้าวไม่ขัดสีทำให้เพิ่มระดับโคเลสเตอรอล การบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิมีความปลอดภัยกว่าการบริโภคอาหารประเภททอด และการรับประทานไข่เป็นประจำทุกวันทำให้หัวใจแข็งแรง (ตารางที่  2)

 

ตารางที่  1  ความรู้เรื่องการบริโภคอาหาร

ระดับความรู้

(คะแนนเต็ม  20)

ระยะเวลาการเป็นโรค

ร้อยละ (จำนวน)

รวม

n = 79

< 1  ปี

 n =  44

> 1  ปี

n = 35

ดี    (มากกว่า 16)

44.3 (35)

 38.6(17)

 51.4(18)

ปานกลาง  (12-16)

32.9 (26)

 36.4(16)

 28.6(10)

ต่ำ  (น้อยกว่า 12)

22.8 (18)

25.0 (11)

 20.0 (7)

SD=14.3 3.2

 

 

 

 

ตารางที่  2  ทัศนคติเรื่องการบริโภคอาหาร

ระดับทัศนคติ

(คะแนนเต็ม  5)

ระยะเวลาการเป็นโรค

ร้อยละ (จำนวน)

รวม

n = 79

< 1  ปี

 n =  44

> 1  ปี

n = 35

ดี    (3.67-5.00 )

63.3 (50)

 59.1(26)

 68.6(24)

ปานกลาง  (2.34-3.66)

36.7 (29)

 40.9(18)

 31.4(11)

SD = 3.8+0.4

 

 

 

3. ความถี่และรูปแบบในการบริโภคอาหาร ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว พบว่าอาหารที่ผู้ป่วยบริโภคเป็นประจำทุกวัน ได้แก่ บริโภคปลา ร้อยละ 63.3 บริโภคผักต่างๆ ร้อยละ 53.2  บริโภคอาหารประเภทนึ่ง ร้อยละ 25. 3  และบริโภคน้ำเต้าหู้/นมถั่วเหลือง  ร้อยละ 20.3 ในขณะที่พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ยังคงมีบริโภคอาหารประเภทผัด มากกว่า 4 ครั้ง/สัปดาห์ ร้อยละ 13.9 และบริโภคอาหารหวานที่มีส่วนประกอบของกะทิ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 25.3  ผู้ป่วยบริโภคอาหารครบ 3 มื้อต่อวัน มีร้อยละ 58.5 และมีการบริโภคอาหาร 4 มื้อต่อวัน ร้อยละ 40.5 โดยบริโภคอาหารว่างก่อนมื้อเช้า ร้อยละ 56.3 และบริโภคอาหารว่างก่อนมื้อเย็นร้อยละ 40.6 ประเภทอาหารที่บริโภคจะประกอบอาหารด้วยวิธีนึ่ง ต้ม ปิ้ง ย่าง เมื่อมีงานเลี้ยง/เทศกาล ผู้ป่วยมีการควบคุมการบริโภคอาหาร ร้อยละ 64.6 โดยผู้ป่วยจะหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก และมีรสหวานจัด และจากการศึกษา พบว่า ก่อนและหลังการเกิดโรคผู้ป่วยมีการบริโภคอาหารที่แตกต่างไปจากเดิม ร้อยละ 81.1 โดยบริโภคผัก และปลามากขึ้น งดอาหารที่มีรสหวาน มันมากขึ้น ผู้ป่วยประเมินตนเองในด้านปัญหาการควบคุมการบริโภคอาหาร พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาในการบริโภคอาหาร ร้อยละ 72.3 แต่ผู้ป่วยร้อยละ 27.8 ยังมีปัญหาในการควบคุมการบริโภคอาหารโดยเฉพาะการควบคุมการบริโภคอาหารที่มีรสหวานจัด และอาหารที่มีไขมันสูง เมื่อพิจารณาจากระยะการเกิดโรค พบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคน้อยกว่า 1 ปี มีปัญหาในการควบคุมการบริโภคอาหารมากกว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคมากกว่า 1 ปี

 

4. ภาวะโภชนาการ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว พบว่า ก่อนและหลังการเป็นโรคผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการเกิน (BMI > 22.9) อยู่ร้อยละ 60.7 (ตารางที่ 3) ส่วนเส้นรอบเอว และค่าสัดส่วนเส้นรอบเอวต่อเส้นรอบสะโพก (waist circumference, waist hip ratio) พบว่ามีค่ามากกว่าเกณฑ์ปกติ ร้อยละ60.7 และ 79.7 ตามลำดับ

 

ตารางที่ 3 ภาวะโภชนาการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว

ค่าดัชนีมวลกาย

95%CI

ระยะเวลาการเป็นโรค

ร้อยละ (จำนวน)

รวม

n = 79

< 1  ปี

 n =  44

>1  ปี

n = 35

น้ำหนักน้อย (BMI < 18.5)

16.5 – 17.8

11.4 (9)

 9.1 (4)

 14.3 (5)

น้ำหนักปกติ (BMI = 18.5-22.9)

20.5 – 21.5

27.9(22)

 31.7 (14)

 22.9 (8)

น้ำหนักเกิน 1 (BMI =23.0-24.9)

23.4 – 23.9

25.3(20)

 27.3 (12)

 22.9 (8)

ภาวะอ้วนระดับ 1(BMI =25.0-29.9)

26.3 – 27.3

29.1(23)

 27.3 (12)

 31.4 (11)

ภาวะอ้วนระดับ 2 (BMI > 30.0)

30.7 – 34.8

6.3 (5)

 4.6 (2)

 8.5 (3)

 
ตารางที่ 4 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการเกินในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว  (N=79)
 

ปัจจัย

ภาวะโภชนาการ

OR

95%CI

P-value

ปกติ

เกิน

เพศ

ชาย

หญิง

 

36.17 (17)

43.75 (14)

 

63.83 (30)

56.25 (18)

0.72

0.26-2.01

0.49

ความรู้

ปานกลาง-ต่ำ (< 16 คะแนน)

ดี (> 16 คะแนน)

 

34.29 (12)

43.18 (19)

 

65.71 (23)

56.82 (25)

0.68

0.24-1.89

0.42

ทัศนคติ

ปานกลาง (< 3.66 คะแนน)

ดี (> 3.66 คะแนน)

 

51.72 (15)

32.00 (16)

 

48.28 (14)

68.00 (34)

2.28

0.80-6.46

0.08

การออกกำลังกาย

< 3 ครั้งต่อสัปดาห์

> 3 ครั้งต่อสัปดาห์

 

73.33 (11)

31.25 (20)

 

26.67 (4)

68.75 (44)

6.05

1.51-28.59

0.00*,1

เส้น รอบเอว

ชาย > 90 ซม. /หญิง  >  80 ซม.

ชาย < 90 ซม. /หญิง  <  80 ซม.

 

29.17 (14)

54.84 (17)

 

70.83 (34)

45.16 (14)

0.33

0.11-0.96

0.02*

สัดส่วนรอบเอวต่อเส้นรอบสะโพก

ชาย  > 0.9 ซม. /หญิง  > 0.8 ซม.

ชาย  < 0.9 ซม. /หญิง  < 0.8 ซม.

 

36.51 (23)

50.00 (8)

 

63.49 (40)

50.00 (8)

0.57

0.16-2.03

0.32

การบริโภคอาหารหวานที่มีส่วนประกอบของกะทิ 

> 4 ครั้งต่อสัปดาห์

< 4 ครั้งต่อสัปดาห์

 

33.33 (5)

40.63 (26)

 

66.67 (10)

59.38 (8)

0.73

0.17-2.70

0.60

การบริโภคอาหารประเภทผัด

> 4 ครั้งต่อสัปดาห์

< 4 ครั้งต่อสัปดาห์

 

48.39 (15)

33.33 (16)

 

51.61 (16)

66.67 (32)

1.87

0.67-5.23

0.18

1 Fisher’s exact test

* มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.05)

 

5. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการเกินในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว  จากการศึกษา พบว่าการ   ออกกำลังกาย และเส้นรอบเอว มีความสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการเกินของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p-value < 0.05 (ตารางที่ 4)

วิจารณ์

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัวส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 59.6 ซึ่งเพศชายมีโอกาสเกิด   ภาวะหลอดเลือดหัวใจแข็งตัวมากกว่าเพศหญิง ใกล้เคียงกับการศึกษาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ       ของ   รุ่งทิวา ไชยวงศ์2  และผู้ป่วยมีอายุระหว่าง  61-70 ปี    ร้อยละ41.1  สอดคล้องกับการศึกษา วิไลลักษณ์  พิมรินทร์3 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีผู้ดูแลอยู่แล้ว ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัว เช่น สามี ภรรยา และลูก สอดคล้องกับ  จีรพร ทองด4  พบว่าผู้ป่วยมีผู้ดูแลเป็นบุคคลในครอบครัว แสดงให้เห็นถึงบุคคลที่คอยให้การช่วยเหลือและสนับสนุนด้านต่างๆ เกิดการเอาใจใส่ ให้ความรักซึ่งกันและกัน และผู้ป่วยได้รับข้อมูลข่าวสารเรื่อง การบริโภคอาหาร และคำแนะนำจากแพทย์และพยาบาล ในเรื่องการบริโภคอาหาร การรับประทานยา    การออกกำลังกาย รวมทั้งการดูแลตนเอง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้  มีผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลได้  เนื่องจากผู้ป่วยมีอาชีพค้าขาย ไม่มีเวลาในการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในเรื่องการออกกำลังกาย และการบริโภคอาหาร  ในเรื่องการออกกำลังกายนั้น ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยมีการออกกำลังกายทุกวัน โดยออกกำลังกายเบาๆ ด้วยวิธีการยกแขน-ขา เดินช้าๆ ซึ่งใกล้เคียงกับจารุวรรณ   เสน่ห์วงศ์ 5 พบว่า ผู้ป่วยมีการออกกำลังกายโดยการเดินช้าๆ วิ่งเหยาะๆ เนื่องจากผู้ป่วยกลัวเหนื่อย และเป็นอันตรายต่อหัวใจ  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์และ ไม่สูบบุหรี่ จะ ดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อมีเทศกาลหรืองานเลี้ยงเท่านั้น  ร้อยละ 7.6 และมีผู้ที่สูบบุหรี่ ร้อยละ 5.1  ซึ่งใกล้เคียงกับการศึกษาวิไลลักษณ์  พิมรินทร์ 3 พบว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจดื่มแอลกอฮอล์  ร้อยละ 12.1 และสูบบุหรี่ ร้อยละ 2.2   ซึ่งในการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ อาจเป็นเพราะผู้ป่วยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเจ็บป่วย และการรักษาที่ผ่านมา จึงทำให้มีการปรับเปลี่ยนการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ในด้านความรู้เรื่องการบริโภคอาหารนั้น พบว่าผู้ป่วย มีความรู้และทัศนคติอยู่ในระดับปานกลาง ถึงระดับดี  ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยได้รับคำแนะนำจากแพทย์และพยาบาล และได้รับความรู้จากสื่อโทรทัศน์ รวมทั้งประสบการณ์การเกิดโรค  จึงมองเห็นความสำคัญของอาหาร ซึ่งแม้ผู้ป่วยจะบริโภคปลา และผัก น้ำเต้าหู้/นมถั่วเหลือง และบริโภคอาหารประเภทนึ่ง เป็นประจำทุกวัน จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยยังมีภาวะโภชนาการเกินทั้งก่อนเกิดโรคและหลังการเกิดโรค คือ อยู่ในภาวะอ้วนระดับ1 ซึ่งใกล้เคียงศึกษาของ   อรนุช   เขียวสะอาด6 พบว่าผู้ป่วยมีภาวะอ้วนระดับ 1 ร้อยละ 80  และกรกฎ เจริญสุข7 ศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการ อยู่ในภาวะอ้วน ร้อยละ 86.7 ส่วนเส้นรอบเอว พบว่ามากกว่าเกณฑ์ปกติ  ซึ่งหากมีเส้นรอบเอวมากกว่าเกณฑ์ปกติทั้งในเพศหญิง และชาย จะเป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคอ้วน  ส่วนค่าสัดส่วนเส้นรอบเอวต่อเส้นรอบสะโพกมีค่ามากกว่าเกณฑ์ปกติ  ซึ่งจุดตัดรอบเอวต่อสะโพกเป็นดัชนีบ่งชี้ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด  จากการศึกษาของ Pi-Sunyer8 พบว่า คนอ้วนที่มีไขมันสะสมรอบหน้าท้องจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าคนอ้วนที่มีไขมันที่กระจายอยู่ที่สะโพกและต้นขา จากการศึกษาของ Tanyolac และคณะ9  พบว่าเส้นรอบเอวมากเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อ    การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และจากการหาความสัมพันธ์ พบว่า การออกกำลังกายมีความสัมพันธ์กับ ภาวะโภชนาการเกินของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว   เพราะจากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยจะมีการออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว แต่เมื่อดูจากประเภทการออกกำลังกาย เป็นแบบการยกแขน-ขา และเดินช้า เป็นการออกกำลังกายแบบเบาๆ และใช้เวลาในการออกกำลังกายน้อยจึงลดน้ำหนักได้ยากมากจากการศึกษาของ   Crespo และคณะ10  พบว่า ผู้ป่วยที่ออกกำลังกายน้อยมีความสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการเกิน 

 

สรุป

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว มีความรู้และทัศนคติอยู่ในระดับดีและปานกลาง แต่ในด้านการบริโภคอาหาร ผู้ป่วยยังควบคุมอาหารได้ไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบกับการขาดการออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสมกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว ทำให้ผู้ป่วยยังคงมีภาวะโภชนาการเกินอยู่มาก ซึ่งนับเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเพิ่มความรุนแรงของโรคได้

 

ข้อเสนอแนะ

1. ควรส่งเสริมผู้ป่วยให้มีความรู้และทัศนคติที่ถูกต้องและเหมาะสมกับโรคเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง เช่นหลีกเลี่ยงการบริโภคไข่ เกินสัปดาห์ละ 3 ฟอง และผู้ป่วยยังมีทัศนคติที่เห็นด้วยว่าการรับประทานไข่เป็นประจำทุกวันทำให้หัวใจแข็งแรง

2. ควรส่งเสริมการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว ทั้งในด้านประเภทและระยะเวลาของการออกกำลังกาย     ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ

 

กิตติกรรมประกาศ

ผู้วิจัยขอขอบพระคุณทุกท่านที่ช่วยเหลืองานวิจัยครั้งนี้จนสำเร็จลุล่วงด้วยดี ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ให้ทุนสนับสนุนอุดหนุน และส่งเสริมการทำวิทยานิพนธ์ และขอขอบพระคุณกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัวที่ให้ความร่วมมือในการตอบแบบสัมภาษณ์ ท้ายสุดนี้ ขอขอบพระคุณทุกท่านที่มิได้กล่าวนามไว้ ณ ที่นี้

 

เอกสารอ้างอิง

1.      กรมส่งเสริมสนับสนุนวิชาการ สำนักโรคไม่ติดต่อ. จำนวนและอัตราผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ[ออนไลน์] 2549 [อ้างเมื่อ 19 สิงหาคม 2550]. สืบค้นจาก

 http://ncd.ddc.moph.go.th/ncd%20web1/Cncd/bureauncd.htm.

2.      รุ่งทิวา ไชยวงศ์. วิถีการดำเนินชีวิตที่มีผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ [วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาการส่งเสริมสุขภาพ] เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; 2542.

3.      วิไลลักษณ์ พิมรินทร์. การรับรู้ภาวะไขมันเลือดและพฤติกรรมการดูแลตนเองในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ [วิทยานิพนธ์ปริญญาพยาบาลศาสตร มหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่] ขอนแก่น:บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2549.

4.      จีราพร ทองดี, ศิริรัตน์ ปานอุทัย, อัครอนงค์ ปราโมช. ปัจจัยทำนายพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพในผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจ. พยาบาลสาร 2548 ; 32 : 69-83.

5.      จารุวรรณ เสน่หวงศ์. การสนับสนุนของครอบครัวตามการรับรู้ของผู้ป่วย และพฤติกรรมการปรับตัวของผู้ป่วยภายหลังผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ [วิทยานิพนธ์ปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลครอบครัว] ขอนแก่น : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2548.

6.      อรนุช  เขียวสะอาด. ผลการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนต่อพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ [วิทยานิพนธ์ปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาการพยาบาล   อายุรศาสตร์และศัลยศาสตร์]  เชียงใหม่:บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; 2544.

7.      กรกฎ เจริญสุข. การพัฒนาโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจโรงพยาบาลชลบุรี [วิทยานิพนธ์ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยี] ชลบุรี : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา; 2543.

8.      Pi-Sunyer PX. Health implications of obesity. Am J Clin Nutr 1983;53:1595s-603s.

9.      Tanyolac S, Cikim AS, Azezli AD, Orhan Y. The alarm and action levels of waist circumfence in overweight. Clin pra [serial online] 2007;1:253-59.

10.  Crespo CJ,Palmieri MR, Perdomo RP, Mcgee DL, Smit E, Sempos CT, Lee IM, Sorlie PD. The relationship of physical activity and body weight with all-cause mortality: Results from the Puerto Rico heart  health program. Ann Epidemiol 2002; 12: 543-52.

 

Untitled Document
Article Location

Untitled Document
Article Option
       Abstract
       Fulltext
       PDF File
Untitled Document
 
ทำหน้าที่ ดึง Collection ที่เกี่ยวข้อง แสดง บทความ ตามที่ีมีใน collection ที่มีใน list Untitled Document
Another articles
in this topic collection

Trichinosis (โรคทริคิโนสิส)
 
A comparison in Newborns of the In situ Duration, Phlebitis and Daily Needle Cost of Scalp Intravenous Uning Steel Needles vs. Intravenous Catheters (เปรียบเทียบการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำส่วนปลายบริเวณศรีษะในผู้ป่วยทารกแรกเกิดระหว่างเข็มเหล็กกับเข็มพลาสติก ต่อระยะเวลาคงอยู่การเกิดหลอดเลือดดำอักเสบและราคาของเข็มที่ใช้ต่อวัน)
 
Update Treatment for Osteoporosis (Update Treatment for Osteoporosis)
 
Solitary Pulmonary Nodule : Evaluation and Management (ก้อนเดี่ยวในปอด : การดูแลและรักษา)
 
<More>
Untitled Document
 
This article is under
this collection.

Medicine
 
 
 
 
Srinagarind Medical Journal,Faculty of Medicine, Khon Kaen University. Copy Right © All Rights Reserved.
 
 
 
 

 


Warning: Unknown: Your script possibly relies on a session side-effect which existed until PHP 4.2.3. Please be advised that the session extension does not consider global variables as a source of data, unless register_globals is enabled. You can disable this functionality and this warning by setting session.bug_compat_42 or session.bug_compat_warn to off, respectively in Unknown on line 0