Untitled Document
 
 
 
 
Untitled Document
Home
Current issue
Past issues
Topic collections
Search
e-journal Editor page

Thai-elderly; Mahasarakham Province Context

ผู้สูงอายุไทย : บริบทของจังหวัดมหาสารคาม

Somporn Pothinam (สมพร โพธินาม) 1, Phit Saensak (พิศ แสนศักดิ์) 2, Jongkol Poonsawat (จงกล พูลสวัสดิ์) 3, Wirat Pansila (วิรัตน์ ปานศิลา) 4, Chanisa Pansila (ชนิศา ปานศิลา) 5, Chanuttha Ploylearmsang (ชนัตถา พลอยเลื่อมแสง) 6, Siritree Suttajit (ศิริตรี สุทธจิตต์) 7, Teabpaluck Sirithanawuttichai (เทพลักษ์ ศิริธนะวุฒิชัย) 8, Natchaporn Pichinarong (ณัฐจาภรณ์ พิชัยณรงค์) 9




หลักการและ วัตถุประสงค์ในปัจจุบัน ผู้สูงอายุไทย มีจำนวนและอายุเฉลี่ยมากขึ้น ผลจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กระทบต่อโครงสร้างประชากร ภาวะพึ่งพิง ระบบบริการสุขภาพ จังหวัดมหาสารคามเป็นจังหวัดหนึ่ง ที่ประสบกับการเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้สูงอายุเช่นกัน การทบทวนเอกสารช่วยทำให้เกิดองค์ความรู้ เข้าใจ และเห็นช่องว่างของงานวิจัยต่างๆที่ดำเนินการผ่านมา เพื่อทบทวนการศึกษาวิจัยในผู้สูงอายุจังหวัดมหาสารคาม รวม 6 ด้าน คือ ข้อมูลทั่วไป  ครอบครัวกับผู้สูงอายุ ศักยภาพการมีส่วนร่วมกับครอบครัว ชุมชน และ สังคม คุณภาพชีวิตและปัจจัยที่มีผล ต่อคุณภาพชีวิต ความสุขของผู้สูงอายุรวมถึงระบบสวัสดิการสังคมของผู้สูงอายุ

วิธีการศึกษา  เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง โดยรวบรวมผลการวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุในจังหวัดมหาสารคามทุกเรื่องในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งมีจำนวน 6 เรื่อง จากคณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ผลการศึกษา ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นหญิงหม้าย จบการศึกษาระดับประถมศึกษา มีรายได้ในระดับต่ำและมีหนี้สิน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีรายได้จากบุตรหลานและเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุ นอกจากนี้พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุเป็นโรคเรื้อรัง ด้านบริบทของผู้สูงอายุต่อครอบครัวพบว่า ร้อยละ 70.9 เป็นหัวหน้าครอบครัวโดยมีบทบาทในครอบครัวระดับปานกลาง แต่ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในระดับสูงและเป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านของการเป็นผู้นำ ด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของภาคอีสาน รวมถึง หัตถกรรมและการสอน ด้านคุณภาพชีวิตพบว่า คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจังหวัดมหาสารคามส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี ผู้สูงอายุรับรู้คุณภาพชีวิต ความพึงพอใจในชีวิตและสุขภาพทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต คือการมีส่วนร่วมในสังคม ชุมชน และครอบครัว สัมพันธภาพในครอบครัว การเห็นคุณค่าในตัวเอง รวมถึงรายได้ เมื่อพิจารณาด้านความสุขพบว่า ผู้สูงอายุมีระดับของความสุขในระดับสูงเช่นกัน ปัจจัยที่มีผลต่อความสุข คือ การเห็นคุณค่าในตัวเอง ระดับการศึกษา การเป็นสมาชิกชมรมต่างๆ และมีการเข้าร่วมชมรมในชุมชนของตนเอง และจำนวนสมาชิกในครอบครัว ในด้านของการรับรู้สวัสดิการของผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุ มีความเข้าใจในด้านการได้รับเบี้ยยังชีพ และสิทธิการรักษาพยาบาลในระดับดี ผู้สูงอายุในเขตชนบท และส่วนใหญ่ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน และสุขภาพ

สรุป  มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุจังหวัดมหาสารคาม มีโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุมีศักยภาพสูงและมีคุณภาพชีวิตดี มีความพึงพอใจในชีวิต มีความสุขในระดับที่สูง ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญ คือ การมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในชุมชน การรับรู้ทางสวัสดิการสังคมด้านอื่นๆในผู้สูงอายุในเขตชนบทมากขึ้น

 

Background and Objectives :  At  present,  elderly Thais  rapidly  grow  both  in  number  and  longevity of  life which  effect    Thai  population  structure,  dependent  ratio,  and  health  services  system.  Mahasarakham  province,  no  doubt  has  been  confronted  these  problems. The  Mahasarakham  elderly  studies  review  the  relevance  to  understanding  the  elderly  in  Mahasarakham  context  including  the exploration of  research  gaps  and  strategy  in regards  to  health  improving  among  the  elderly. To review  Mahasarakham  elderly  studies  we divided into  6  parts;  (1)  general  information,(2)  elderly  and  their  family,  (3)  the  elderly  potential,  (4)  quality  of  life,  satisfaction  and  factors  related,  (5)  the  elderly  happiness  and  (6)  the  elderly  social  welfare.

Methods :  Cross – sectional  descriptive  study  by  reviewing  all  of  Mahasarakham  elderly  studies  in  2007  in  Faculty  of  Medicine,  Mahasarakham  University.Total  studies  were  6  parts  which  all  of  these  are  cross -  sectional  study.

Results  :  Most  of  the  elderly  are  female,  widow,  completed  primary  school, had  low  income  since  the childhood  by  government  standard.  Most  of  the  elders   perceived  their  health  status  as  moderate  level  and  more  than  half  of  the  elders  had  chronic  diseases.  However,  there  were  70.9%  of  all  elderly  samples  who were  family  leaders  and  their  family  role  were  moderate  level.  This  study  found  the  elderly were highly respected in cultural Thai level,  especially  in  the  areas  of  Thai  culture,  Thai  and  E-san  tradition  and  handicrafts.  This  study  also  found  the  elderly  perceived  their  quality  of  life  and  life  satisfaction  as in good  level,  factors  related  were  community  participation,  family  relationship,  health  status,  self  esteem.  The  same  as  happiness  level,  the  elderly  perceived  happiness   level  as  high  level,  factors  related  were  self  esteem.  education  level,  community  club  member,  community  participation  and  number  of  family  member.  Besides,  the  elderly  perceived  their  social  welfare  in  part  of  government  living  allowance  and  health  insurance as high  as  well.  This  study  also  found  urban  elderly  perceived  the  social   welfare  level  better  than  rural  elderly.  Most of  the    elderly  needs  social  welfare  in  aspects  of  financial  and  health  support.

Conclusion  :  Even  through  more  than  half of  Mahasarakham  elderly  have  chronic  diseases,  this  study  found  the  elderly  potentially  perceived  their  quality  of  life,  life  satisfaction,  and  happiness  as  in high  level  and  important  factors  related  such as  community  participation were  satisfactory.  The  elderly  perceived well of  social  welfare  in  respects  to  government  living  allowance  and  health  insurance.  Improving  the  elderly  health  is needed  to  explore  as  well  as  educate  the  elderly  in  the  area  of  social  welfare  especially  among  rural  elderly.

Keywords: Thai-elderly, quality of life

บทนำ

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรวัยสูงอายุในช่วง  10 ปีที่ผ่านมา เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลก ประเทศไทย มีจำนวนและสัดส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น สัดส่วนของผู้สูงอายุจะเพิ่มจากร้อยละ 7.2 ในปี พ.ศ. 2533 เป็นร้อยละ 9.2 ในปี พ.ศ. 2543 เป็นร้อยละ11.5 ในปี พ.ศ. 2553 และ เป็นร้อยละ 15.3 ในปี พ.ศ. 2562 การที่จำนวนผู้สูงอายุ 60 ปี มีมากกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรนี้สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society)  ซึ่งหมายความว่า  จะต้องมีการเตรียมการเพื่อรับกับสถานการณ์ดังกล่าว1  

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ ผู้สูงอายุ มีจำนวนเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องมาจาก ความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุข  รวมทั้งการกระจายบริการด้านสาธารณสุข และจากนโยบายการวางแผนครอบครัวที่ส่งผลทำให้ อัตราการเจริญพันธุ์ของประชากรลดลงทำให้อัตราส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและมีอายุยืนยาวขึ้น 

การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุทั้งจำนวนและมีอายุที่ยืนยาวขึ้นนี้มีผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรไทย  โดยเฉพาะอัตราการพึ่งพิงของวัยสูงอายุ  (Aging  Dependency  Ratio)  และอัตราการเกื้อหนุนผู้สูงอายุ (Potential Support Ratio) สำหรับอัตราพึ่งพิงของวัยผู้สูงอายุประเทศไทยพบว่า แนวโน้มของอัตราการเป็นภาระของประชากรสูงอายุ  เมื่อเทียบกับวัยแรงงาน  มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดย  เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ  10 ในปี พ.ศ.2505 เป็นร้อยละ19.6 ใน พ.ศ. 2553   และเป็น 29.6 ในปี พ.ศ. 25682   ในด้านของ อัตราการเกื้อหนุนผู้สูงอายุ (Potential Support Ratio) พบว่า มีอัตราส่วนที่ลดลง กล่าวคือ  ในปี พ.ศ. 2503  มีคนวัยแรงงาน  11 คน ที่ช่วยอุปการะผู้สูงอายุ 1 คน อัตราส่วนนี้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาเป็น 6:4 คน ในปี พ.ศ. 2549  และในอีก  30 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุไทยแต่ละคนจะมีวัยแรงงานที่จะดูแลเกื้อหนุนเพียง 2 คน 2,3

          นอกจากนี้ ผลจากการเพิ่มของจำนวนและการมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นของผู้สูงอายุไทย กระทบต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ และทรัพยากรโดยเฉพาะทรัพยากรทางด้านสุขภาพ เมื่อเกิดปัญหาทางสุขภาพขึ้น  จำเป็นจะต้องมีการวางแผนกิจกรรม  ในการดูแลผู้สูงอายุให้ดีและมีประสิทธิผลสูงสุด

จังหวัดมหาสารคาม ตั้งอยู่ตอนกลางของภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชนหลายเผ่า เช่น ชาวไทยพื้นเมืองพูดภาษาอีสาน ชาวไทยญ้อและชาวผู้ไท ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี "ฮีตสิบสอง" (จารีตประเพณีประจำ 12 เดือน ที่สมาชิกในชุมชน ได้มีโอกาสร่วมชุมนุมกันทำบุญเป็นประจำเดือนในทุกๆเดือนของรอบปี) และ ประกอบอาชีพด้านกสิกรรมเป็นส่วนใหญ่ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายมีการไปมาหาสู่กัน ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันตามแบบของคนอีสานทั่วไป  การปกครองแบ่งออกเป็น 13 อำเภอ 133 ตำบล 1,804 หมู่บ้าน4 ในส่วนของประชากรผู้สูงอายุจังหวัดมหาสารคาม พบว่า ร้อยละของจำนวนผู้สูงอายุ มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากร้อยละ  3.45 (17,229 คน) ในปี 2503 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 3.89 (28,521) ในปี 2523 และ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 7.39 (71,213) ในปี 2542 ตามลำดับ ดังนั้นในขณะที่ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ องค์ความรู้ทางด้านสุขภาพ และบริบทอื่นๆ จึงควรจะได้มีการศึกษา เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพ พัฒนาในกลุ่มผู้สูงอายุ ตลอดจนหาแนวทางแก้ไข ปัญหาในปัจจุบันและปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ในอนาคต5

วัตถุประสงค์ทั่วไป

          เพื่อรวบรวมองค์ความรู้  สรุปบทเรียน ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม และหาแนวทางในการที่จะพัฒนาและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ รวมถึงศึกษาช่องว่างของงานวิจัยต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วเพื่อที่จะได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นอื่นๆ 

วัตถุประสงค์เฉพาะ

การทบทวนเอกสารครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เฉพาะ เพื่อทบทวนการศึกษาเกี่ยวกับผู้สูงอายุในจังหวัดมหาสารคาม จากการศึกษาวิจัยในปี 2550 จำนวน 6 ประเด็นได้ แก่ ข้อมูลทั่วไป ครอบครัวกับผู้สูงอายุ ศักยภาพการมีส่วนร่วมกับครอบครัว ชุมชน และ สังคม  คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต ความสุขของผู้สูงอายุ  รวมถึง ระบบสวัสดิการสังคมของผู้สูงอายุ

วิธีการศึกษา

เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา แบบภาคตัดขวาง ณ ช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง (cross sectional descriptive study) ซึ่งใช้การศึกษาทั้ง เชิงปริมาณ และ เชิงคุณภาพ  โดยรวบรวมผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 6 เรื่อง ประชากรในการศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้สูงอายุที่พักอาศัยอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป

ผลการศึกษา

 สามารถจำแนกประเด็นการศึกษาได้จำนวน 6 ประเด็นดังต่อไปนี้   

1. ลักษณะข้อมูลทั่วไปของผู้สูงอายุมหาสารคาม

จากประชากรตัวอย่างในผู้สูงอายุ จังหวัดมหาสารคามจำนวน 1,200 คน พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ เป็นหญิง (ร้อยละ 69.4) อายุเฉลี่ย 69.86 (SD 7.10) ระดับการศึกษาประถมศึกษา (ร้อยละ 93.3) พักอาศัยในบ้านของตนเอง (ร้อยละ 91.7) มีผู้อาศัยเฉลี่ยในบ้าน 4 คน นอกจากนี้ พบว่า โดยเฉลี่ยผู้สูงอายุมีรายได้ต่อเดือน 1,992 บาท (SD 2625.91) บาท ส่วนใหญ่มีหนี้สิน (ร้อยละ 73.8) มีโรคประจำตัว (ร้อยละ 59.5)6 ที่มาของรายได้คือ บุตร หลาน และ เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายที่ผู้สูงอายุ ต้องรับผิดชอบในครอบครัว คือ ค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ  และ ค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่สูงที่สุด คือ หนี้สิน เช่น หนี้ธนาคาร หนี้นอกระบบ เฉลี่ย 3,010.8 บาท ต่อเดือน7  

2. ครอบครัวกับผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมีสถานะเป็นหัวหน้าครอบครัวมากที่สุดคิดเป็น (ร้อยละ70.9) ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) เป็นผู้มีรายได้ โดยแหล่งที่มาของรายได้ส่วนใหญ่มาจากบุตรหลาน/ญาติ (ร้อยละ 63.6) งานบ้านที่ผู้สูงอายุต้องรับผิดชอบในครอบครัว ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 38.2)  เป็นการทำงานบ้าน (ร้อยละ 24.2)  ดูแลคนในครอบครัว และไม่มีงานบ้านเลยคิดเป็น (ร้อยละ 45.5) ผู้สูงอายุมีแหล่งที่อยู่อาศัยในชุมชนหรือหมู่บ้าน (ร้อยละ 89.7 ) โดยเป็นบ้านของตนเองทั้งหมด7

ความสัมพันธ์ของผู้สูงอายุกับครอบครัว ผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 69.4) มี ระดับความสัมพันธ์กับครอบครัวที่ระดับปานกลาง ในส่วนของ บทบาทและกิจกรรมของผู้สูงอายุในครอบครัว พบว่า  ผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 68.8) มีระดับบทบาทและกิจกรรมของผู้สูงอายุในครอบครัว ในระดับปานกลาง 7

3.ศักยภาพการมีส่วนร่วมกับครอบครัว ชุมชน และ สังคม 

ศักยภาพของผู้สูงอายุ ในที่นี้หมายถึง  ความสามารถของผู้สูงอายุในการจัดการเรื่องต่างๆ เป็นอย่างดี ตั้งแต่การดูแลตนเอง การจัดองค์ประกอบและสิ่งแวดล้อมต่างๆ การดูแลครอบครัวและคนรอบข้าง การดูแลชุมชน และการดูแลสังคม ซึ่งส่งผลให้ผู้สูงอายุได้แสดงคุณค่าประโยชน์ต่อตนเองและบุคคลอื่นๆ  พบว่าครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุมหาสารคามมีศักยภาพในการดูแลตนเองได้ดี และยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่น เช่น คนในครอบครัว เพื่อนบ้าน และชุมชน ได้อีกด้วย ในขณะที่ ประมาณร้อยละ 10 มีศักยภาพในการดูแลตนเอง แต่ไม่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ และ หนึ่งในสี่ ของผู้สูงอายุมีศักยภาพในการดูแลตนเอง ต่ำ คือ ต้องการการช่วยเหลือ จากครอบครัว หรือ บุคคลอื่นๆ6 นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมีความสามารถพิเศษในระดับการเป็นผู้นำกิจกรรมต่างๆโดย พบว่า เกือบร้อยละ 80 ของผู้สูงอายุ มีความสามารถในด้านการอนุรักษ์ วัฒนธรรม ประเพณีของภาคอีสาน การออกกำลังกาย และด้านหัตถกรรม และมีเพียงประมาณ ร้อยละ 10 ที่มีความสามารถด้านภูมิปัญญา พื้นบ้าน เช่น การลำพญา6  

ในส่วนของการมีส่วนร่วมกับครอบครัว ชมรม ชุมชน และสังคม พบว่า  ระดับการมีส่วนร่วมสูงสุดในกิจกรรม ร่วมกับครอบครัว รองลงมาคือ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน แต่ในชุมรมที่เป็นสมาชิก หรือการมีส่วนร่วมเป็นวิทยากรในชุมชนอยู่ในระดับต่ำ6

ตารางที่ 1 ระดับการมีส่วนร่วมกับครอบครัว ชมรม ชุมชน และสังคม (n= 1,200)6

ระดับการมีส่วนร่วม

ค่าเฉลี่ย  (0-10)

ร้อยละ

1. ระดับการมีส่วนร่วมกับครอบครัว

8.3

2.4

2.ระดับการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลืองาน/ กิจกรรมของชมรมที่เป็นสมาชิก

2.9

3.4

3.ระดับการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลืองาน/กิจกรรมของชุมชน/ หมู่บ้าน/ ท้องถิ่น

7.4

3.0

4.ระดับการมีส่วนร่วมในการเป็นวิทยากร/จัดอบรม/ เป็นที่ปรึกษาของชุมชน

2.7

3.9

4. คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต

ผู้สูงอายุในจังหวัดมหาสารคาม มีระดับคุณภาพชีวิตสูง6-8ผู้สูงอายุรับรู้คุณภาพชีวิตและความพึงพอใจในชีวิตสุขภาพทั่วไป  ในเกณฑ์ที่ดีมาก  คือมีคะแนนมากกว่าร้อยละ 80  ของคะแนนเต็ม6 ในขณะที่ ศึกษาในผู้สูงอายุ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 200 คน พบว่า คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุมหาสารคาม โดยวัดระดับคุณภาพชีวิตจำแนกในแต่ละองค์ประกอบ และระดับคุณภาพชีวิตโดยรวม อยู่ในระดับสูงคือด้านสังคม ด้านร่างกาย และ ด้านจิตใจ  ตามลำดับ

ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต พบว่า ปัจจัยความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต ได้แก่ ลักษณะที่อยู่อาศัย (r= -0.018, p= 0.011) และการรักษาพยาบาล (r=-0.289,p=<0.001)   ปัจจัยทางด้านครอบครัว ได้แก่ การเข้าร่วมกิจกรรมในครอบครัว (r= 0.715, p= <0.001) และสัมพันธภาพในครอบครัว (r= 0.241, p= 0.001)   และ ปัจจัยสิ่งแวดล้อมในสังคม ได้แก่ สัมพันธภาพในชุมชน (r=0.163, p= 0.021)8 ในขณะที่ ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความพึงพอใจในชีวิตของผู้สูงอายุในเขตจังหวัดมหาสารคาม คือ  การมีส่วนร่วมกับชุมชน  ความพึงพอใจต่อการงานหรืออาชีพของตนเอง  สุขภาพทั่วไป  รายได้เฉลี่ยต่อเดือน  ความคิดเห็นต่อสุขภาพของตนเอง  การเห็นคุณค่าในตนเอง  การมีส่วนร่วมกับครอบครัว  ระดับการศึกษา  ระดับความพึงพอใจต่อรายได้ของตนเอง  ที่อยู่  รวมถึงการมีส่วนร่วมกับชมรมที่เป็นสมาชิก  ตามลำดับ6 โดยทั้ง 13  ปัจจัยนั้นสามารถอธิบายความสุขของผู้สูงอายุได้ร้อยละ 48.2   

ตารางที่ 2 ปัจจัยที่มีผลต่อการรับรู้คุณภาพชีวิตและความพึงพอใจในชีวิต (n=1,200)6

ปัจจัย

Unstandardized Coeffcients (B)

Standardized Coeffcients (b)

p-value

R       Square

Adjusted   R     Square

1. การมีส่วนร่วมกับชุมชน

1.267

0.188

<0.001

0.186

0.186

2. ความพึงพอใจต่อการงาน/อาชีพ

2.591

0.268

<0.001

0.289

0.287

3.สุขภาพทั่วไป

0.428

0.141

<0.001

0.363

0.361

4. รายได้เฉลี่ยต่อเดือน

0.001

0.138

<0.001

0.394

0.392

5. ความคิดเห็นต่อสุขภาพตนเอง

4.224

0.151

<0.001

0.421

0.418

6. ความเห็นคุณค่าในตนเอง

0.546

0.107

<0.001

0.434

0.430

7. การมีส่วนร่วมกับครอบครัว

1.493

0.152

<0.001

0.444

0.440

8. การศึกษาระดับประถมศึกษา

7.736

0.186

<0.001

0.455

0.451

9. การศึกษาระดับมัธยมศึกษา

11.824

0.104

<0.001

0.462

0.456

10.ระดับความพึงพอใจต่อรายได้

1.515

0.088

0.001

0.469

0.463

11. การอาศัยในนอกเขตเทศบาล

5.496

0.083

0.001

0.474

0.468

12. การสามารถปฏิบัติภารกิจส่วนตัวได้ด้วยตนเอง

0.377

0.073

0.004

0.479

0.472

13. การมีส่วนร่วมกับชมรม

4.622

0.064

0.011

0.482

0.475

ค่าคงที่ (constant) = 40.616, R2 = 48.2%

การรับรู้ความพึงพอใจต่ออาชีพการงาน และครอบครัว การเห็นคุณค่าในตนเอง (self esteem) ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ (Emotional Control) ภาวะสุขภาพ และความสุขของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ มีคะแนนเฉลี่ยการเห็นคุณค่าในตนเอง 30.1 จาก คะแนนเต็ม 40 คะแนน  ความสามารถในการควบคุมตนเอง มีคะแนนเฉลี่ย 38.5 จากคะแนนเต็ม 50 คะแนน  โดยเฉพาะคะแนนเฉลี่ยการับรู้คุณภาพชีวิตและความพึงพอใจในชีวิต และ สุขภาพทั่วไป ของผู้สูงอายุ พบว่า มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 170.3 คะแนน และ 95.3 หรือร้อยละ 81 และร้อยละ 85 ของคะแนนเต็ม ตามลำดับ ในขณะที่คะแนนด้านความพึงพอใจในชีวิตครอบครัว และในอาชีพการงาน มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 9.83 และ 11.0 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม  นอกจากนี้ ในด้านของระดับความสุข พบว่า ผู้สูงอายุมีคะแนนความสุขเฉลี่ย คิดเป็น 79.4 คะแนน 6  

ตารางที่ 3 ข้อมูลตัวแปรสำคัญในการศึกษาของผู้สูงอายุ6

ข้อมูล

ค่าเฉลี่ย, SD

1.การเห็นคุณค่าในตนเอง (คะแนนระหว่าง 4-40)

30.1, 3.89

2.ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ (คะแนนระหว่าง 5-50)

38.5, 3.86

3.การรับรู้คุณภาพชีวิตและความพึงพอใจในชีวิต (คะแนนระหว่าง 0-210)

170.3,20.82

4.ความพึงพอใจในชีวิตครอบครัว (คะแนนระหว่าง 2-17)

9.83, 1.34

5.ความพึงพอใจในอาชีพ การงาน (คะแนนระหว่าง3-16)

11.3,1.90

6.สุขภาพทั่วไป (คะแนนระหว่าง 28-112)

95.3,6.64

7. ความสุข (คะแนนระหว่าง 0-100)

79.4, 17.11

5. ความสุขของผู้สูงอายุ

เมื่อนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้สูงอายุทั้งปัจจัยภายในและภายนอกมาเป็นตัวแปรอิสระในการศึกษาหาปัจจัยที่มีผลต่อความสุขของผู้สูงอายุ  พบว่าปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสุของค์รวมของผู้สูงอายุในเขตจังหวัดมหาสารคาม คือ  การเห็นคุณค่าในตนเอง  ระดับการศึกษา  การเป็นสมาชิกชมรมต่างๆ และการมีส่วนร่วมในชมรมในชุมชนของตนเอง  รวมถึงจำนวนสมาชิกในครอบครัวตามลำดับ โดยทั้ง 9 ปัจจัยนั้นสามารถอธิบายความสุขของผู้สูงอายุได้ร้อยละ 42.36 (ตารางที่ 4)

ตารางที่ 4 ปัจจัยที่มีผลต่อความสุขของผู้สูงอายุ (n=1,200)6

ปัจจัย

Unstandardized Coeffcients (B)

Standardized Coeffcients (b)

p-value

R       Square

Adjusted   R     Square

1. ความเห็นคุณค่าในตนเอง

0.690

0.150

<0.001

0.129

0.128

2. การศึกษาระดับประถมศึกษา

-17.593

-0.444

<0.001

0.236

0.234

3. ความพึงพอใจในชีวิตครอบครัว

3.276

0.234

<0.001

0.313

0.311

4. สุขภาพทั่วไป

0.519

0.194

<0.001

0.358

0.355

5. การศึกษาระดับมัธยมศึกษา

-20.906

-0.204

<0.001

0.393

0.391

6. การรับรู้คุณภาพชีวิตและความพึงพอใจในชีวิต

0.165

0.186

<0.001

0.411

0.408

7. การเป็นสมาชิกชมรม

0.491

0.055

0.019

0.414

0.411

8. การมีส่วนร่วมกับชมรม

-0.650

-0.134

<0.001

0.417

0.413

9. จำนวนสมาชิกในครอบครัว

4.116

0.121

<0.001

0.423

0.418

ค่าคงที่ (Constant) = -39.657, R2 = 42.3%

6.สวัสดิการสังคมของผู้สูงอายุ

จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 331 คน พบว่า ความคิดเห็นและการรับรู้เกี่ยวกับระบบสวัสดิการของผู้สูงอายุ  ผู้สูงอายุเห็นด้วยมากที่สุด  กับการที่รัฐควรเพิ่มเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุให้มากขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ( ) รองลงมาคือการเห็นด้วยกับการที่ผู้สูงอายุทุกคนควรได้รับเบี้ยยังชีพโดยมีเงื่อนไขและรัฐควรมีการจัดระบบสวัสดิการให้ผู้สูงอายุทุกคน  ()  ในส่วนของการรับรู้ของผู้สูงอายุเกี่ยวกับระบบสวัสดิการ  พบว่า ผู้สูงอายุมีการรับรู้มากที่สุดว่า  ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่หลักในการดูแลสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ () รองลงมาคือ  การรับรู้ว่ารัฐได้ถ่ายโอนการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตนเองเป็นผู้รับผิดชอบแล้ว  และการรับรู้น้อยที่สุดคือเรื่องว่าปัจจุบันผู้สูงอายุมีกฎหมายคุ้มครองการส่งเสริมและการสนับสนุนต่อสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ ()9

ความต้องการด้านสวัสดิการของผู้สูงอายุ  พบว่า ผู้สูงอายุมีความต้องการมากที่สุดในเรื่อง ต้องการให้รัฐจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข ( ) รองลงมาคือ ความต้องการให้รัฐจัดสวัสดิการให้ผู้สูงอายุทุกคนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน()9

นอกจากนี้  จากการสนทนากลุ่ม จากตัวแทนของกลุ่มผู้สูงอายุในบริบทของชุมชนเมือง เทศบาลตำบล  และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)  จำนวน  6 ครั้ง   จำนวนผู้สูงอายุที่เข้าร่วมสนทนาทั้งสิ้น 58  คน พบว่า

           ความรู้  เข้าใจ  หรือเคยได้ยินเกี่ยวกับระบบสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ  ผู้สูงอายุจากชุมชนเมืองส่วนมากตอบว่า   ได้ทราบว่ามีสวัสดิการเบี้ยยังชีพ  การรักษาพยาบาล  มีการให้สวัสดิการการโดยสารรถยนต์  การเข้าไปเที่ยวพักผ่อนตามแหล่งท่องเที่ยวและโบราณสถานโดยไม่ต้องเสียเงิน สำหรับ ผู้สูงอายุจากบริบทชุมชนเทศบาล ตำบล ตอบว่า    ทราบว่ามีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล   การจ่ายเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ การให้สวัสดิการโดยสารรถยนต์   รถไฟ  และเครื่องบินราคาพิเศษ และ ผู้สูงอายุจาก องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตอบว่า ไม่ค่อยทราบเรื่องสวัสดิการของผู้สูงอายุนอกจากเรื่องเบี้ยยังชีพ  และการรักษาพยาบาลที่ไม่ต้องเสียเงิน9

          ประสบการณ์ การเคยได้รับสวัสดิการสังคม ผู้สูงอายุจากชุมชนเมืองส่วนมาก  ตอบว่า ได้รับสวัสดิการเบี้ยยังชีพการรักษาพยาบาล การไปเที่ยวสถานที่สำคัญโดยไม่ต้องเสียเงินค่าเข้าชม การโดยสารรถ และเครื่องบิน การดูแลเอาใจใส่จากเทศบาลในวันสำคัญต่างๆ  ผู้สูงอายุจากชุมชนเทศบาลตำบลตอบว่า  ได้รับสวัสดิการเบี้ยยังชีพการรักษาพยาบาล การไปเที่ยวสถานที่สำคัญโดยไม่ต้องเสียเงินค่าเข้าชม การดูแลเอาใจใส่จากเทศบาลในวันสำคัญต่างๆ และ ผู้สูงอายุจากบริบท องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตอบว่า การได้รับสวัสดิการเบี้ยยังชีพ การรักษาพยาบาล  การดูแลเอาใจใส่จากผู้นำชุมชนในวันสำคัญต่างๆ9

วิจารณ์

จากการทบทวนเอกสาร พบว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุหญิงมีสัดส่วนมากกว่าชาย ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของผู้สูงอายุไทย2 ที่พบว่า ประชากรสูงอายุของไทยมีสัดส่วนเป็นหญิงมากกว่าชาย โดยในผู้สูงอายุวัยต้น (60-69 ปี) มีสัดส่วนลงลด ขณะที่ผู้สูงอายุวัยกลางคน (70-79 ปี) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้โดยอายุยิ่งสูงขึ้น  สัดส่วนของผู้สูงอายุหญิงจะมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก อายุขัยเฉลี่ยของผู้สูงอายุหญิงมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ จากการบทวนเอกสารยังพบว่า ผู้สูงอายุมหาสารคามส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรสเป็น หม้าย และ มีสถานะในครอบครัวสูงสุด คือ เป็นหัวหน้าครอบครัว และพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ มีการศึกษา ในระดับประถมศึกษา เช่นเดียวกับการศึกษาในประเทศไทย พบว่า 1ใน 3 ของผู้สูงอายุไทย ไม่ได้รับการศึกษา และ ส่วนใหญ่ จบการศึกษาในระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุมาก (70 ปี ขึ้นไป)10

ด้านรายได้ของผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ มีรายได้ อยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับการศึกษา ในผู้สูงอายุไทย ที่พบว่า ผู้สูงอายุไทย มีรายได้ เฉลี่ยต่อปี ประมาณ 800 บาทถึง 10,000 บาท ผู้สูงอายุหญิงจะมีรายได้ต่ำกว่าชาย10 แหล่งที่มาของรายได้ คือ ผู้สูงอายุเองและลูกหลาน รายจ่ายคือ ช่วยเหลือครอบครัว และบางคนมีหนี้สินที่ต้องชำระ ช่วยเหลือบุตรหลาน  นอกจากนี้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ประมาณ ร้อยละ 78.6 มีความเครียด อันเนื่องมากจากภาระหนี้สิน ที่เกิดขึ้นในครอบครัว10-12

ด้านสุขภาพ พบว่า โรคเรื้อรัง หรือโรคเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญประการหนึ่ง ผู้สูงอายุมหาสารคาม มีโรคประจำตัว (ร้อยละ 59.5)6 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าสูงอายุไทยทั้งประเทศ กล่าวคือ ประมาณร้อยละ 49 ของผู้สูงอายุไทย มีโรคประจำตัว 2 และสัดส่วนของโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุชาย จะต่ำกว่า ผู้สูงอายุหญิง กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2549 ผู้สูงอายุชายมีสัดส่วนของโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว ร้อยละ 41.4 ผู้สูงอายุหญิง ร้อยละ 53.3  กลุ่มโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวที่ผู้สูงอายุเป็นสูงสุด คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและกระดูก โรคระบบทางเดินอาหาร และโรคระบบทางเดินหายใจ2 

ผู้สูงอายุไทยมีบทบาทอย่างมาก ต่อครอบครัว เป็นทั้งผู้รับ และผู้ให้ ครอบครัวเป็นแหล่งสนับสนุนทางสังคม แก่ผู้สูงอายุ 10 จากการทบทวนเอกสาร พบว่าในด้านบทบาทของผู้สูงอายุต่อครอบครัว บทบาทและกิจกรรมของผู้สูงอายุในครอบครัว และผลกระทบของผู้สูงอายุที่มีต่อเศรษฐกิจของครอบครัว อยู่ในระดับปานกลาง   ทั้งนี้เนื่องจาก สังคมภาพรวมของจังหวัดมหาสารคามยังเป็นแบบพี่น้อง – พึ่งพา และยังมีผู้สูงอายุเป็นแกนหลักของครอบครัว มีกิจกรรมต่างๆ เท่าที่สามารถทำได้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุเองก็มีความสัมพันธ์อยู่ในระดับปานกลาง  นอกจากนี้ผู้สูงอายุเองเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยดังนั้น ผลกระทบของผู้สูงอายุต่อระดับเศรษฐกิจ จึงมีไม่มากอยู่ในระดับไม่มากนัก7

ศักยภาพของผู้สูงอายุมหาสารคามอยู่ในระดับดี และยังสามารถช่วยเหลือบุคคลอื่นๆ ได้ด้วยโดยเฉพาะ  ศักยภาพและความสามารถพิเศษในระดับผู้นำกิจกรรมต่างๆ  พบว่า เกือบร้อยละ 80 ของผู้สูงอายุ มีความสามารถในด้านการอนุรักษ์ วัฒนธรรม ประเพณีของภาคอิสาน  การออกกำลังกาย และด้านหัตถกรรม  นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้สูงอายุ มีระดับของการมีส่วนร่วมในครอบครัวมากที่สุด รองลงมา คือ ชุมชนและสังคม   จากการศึกษาผู้สูงอายุในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ได้รับการสนับสนุน ดูแลจากครอบครัวเป็นอย่างดี จะสามารถพัฒนาในการดูแลตนเองและ ช่วยเหลือต่อครอบครัวและ ชุมชนได้มาก  ส่งผลต่อความภาคภูมิใจในตนเอง14 นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมในสังคมของผู้สูงอายุ ช่วยลดอัตราตาย และ cognitive function impairmentโดยการมีส่วนร่วมในสังคมจะแตกต่างกันไปตามลักษณะกิจกรรม เพศ  บทบาทในสังคม12

คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุมหาสารคามอยู่ในระดับสูง6,8 ปัจจัยที่มีผลต่อ คุณภาพชีวิตของได้แก่  การมีส่วนร่วมในสังคม ชุมชน และครอบครัว  สัมพันธภาพ ในครอบครัว สุขภาพ  การเห็นคุณค่าในตนเอง และรายได้  ในด้านของปัจจัยทางด้านสุขภาพนั้น  พบว่า สอดคล้องกับการศึกษา ในต่างประเทศ จะเห็นได้จาก  การรับรู้ภาวะสุขภาพ, การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง, กิจกรรมในชีวิตประจำวัน และการออกกำลังกาย มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ในเกาหลี13 ปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะโรคเรื้อรัง มีผลต่อ คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุใน Chengdu14 การที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุนั้น ทำได้โดยการส่งเสริมสุขภาพ และ การป้องกันโรคเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น15 นอกจากนี้ ในด้านของการมีส่วนร่วม การมีสัมพันธภาพ และการเกื้อหนุนทางสังคมจากครอบครัว มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ  พบว่าการได้รับการดูแลและความพึงพอใจจากการดูแล จากครอบครัว มีผลต่อคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ18 นอกจากนี้ ผู้สูงอายุ ที่ได้รับการเกื้อหนุนทางสังคม  มีสัมพันธภาพที่ทีดีกับครอบครัว มีระดับคะแนนของคุณภาพชีวิต ที่สูงกว่าผู้สูงอายุที่ได้รับการเกื้อหนุนทางสังคม และ สัมพันธภาพของครอบครัวที่น้อยกว่า (p<0.01, r=0.493)19

ความสุขของผู้สูงอายุมหาสารคามมีระดับคะแนนสูง ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสุของค์รวมของผู้สูงอายุ คือ  การเห็นคุณค่าในตนเอง  ระดับการศึกษา  การเป็นสมาชิกชมรมต่างๆ และการมีส่วนร่วมในชมรมในชุมชนของตนเอง  รวมถึงจำนวนสมาชิกในครอบครัว ตามลำดับ ผู้สูงอายุที่เห็นว่าตนเองมีคุณค่าและมีศักยภาพที่ดีอยู่  จะสามารถทำงานให้กับครอบครัวและสังคม  และมีความสุข  รวมทั้งได้รับการยอมรับของสังคม18  การศึกษาความสุขผู้สูงอายุในจังหวัดชัยนาท พบว่ามีระดับของความสุขในระดับปานกลาง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสุขของผู้สูงอายุจังหวัดชัยนาท คือ ภาวะทางเศรษฐกิจ การอยู่อาศัย ความสามารถทางร่างกาย การรับรู้สิ่งแวดล้อมทางสังคม  ปัจจัยที่พบว่ามีความสำคัญที่สุดคือ การที่ผู้สูงอายุรู้สึกว่า ตนเองมีความยากจน และลำบากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน  นอกจากนี้ พบว่า การได้รับการสนับสนุนในด้านการทำงาน  การสนับสนุนทางด้านอารมณ์  ภาวะสุขภาพ การมีความจำที่ดี การมีเพื่อน และ ภาวะทางเศรษฐกิจ มีผลต่อความสุขในผู้สูงอายุในญี่ปุ่น

ผู้สูงอายุ มีความเข้าใจในเรื่อง ของสวัสดิการสังคมใน 2 ส่วนคือ การได้รับเบี้ยยังชีพและการรักษาพยาบาล ผู้สูงอายุในเขตเมือง กึ่งเมือง และ ชนบท รับรู้สวัสดิการสังคมแตกต่างกัน โดยในเขตเมือง มีความรู้เรื่องสวัสดิการสังคม มากกว่า  อย่างไรก็ตาม การจัดบริการสังคมสังคมในประเทศไทยนั้น บริการสวัสดิการสังคมที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงบริการได้มากที่สุดในชุมชน ได้แก่  บริการด้านสาธารณสุข คือโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง 30 บาท) และสถานีอนามัย ที่เป็นบริการที่มีสถานบริการของรัฐกระจายตัวอยู่ในภูมิภาคระดับตำบล อำเภอ รองลงมา คือ บริการฌาปนกิจสงเคราะห์ และกองทุนต่างๆที่ชาวบ้านดำเนินการกันเองในลักษณะงานประจำของชุมชน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ ส่วนบริการที่เข้าถึงได้น้อย ได้แก่  เบี้ยยังชีพ  สวนสุขภาพ/ลานออกกำลังกาย ชมรมผู้สูงอายุ ศูนย์สงเคราะห์ราษฎรประจำหมู่บ้าน และบริการที่เข้าถึงได้น้อยเพราะมีสัดส่วนน้อยในชนบท ได้แก่ ประชาสงเคราะห์ ศูนย์บริการผู้สูงอายุในวัด บริการฝึกอาชีพ เป็นต้น

ดังนั้น การให้ ความรู้ทางด้านสวัสดิการสังคมของผู้สูงอายุและครอบครัว  จึงจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการ  นอกจากนี้ ด้วยข้อจำกัดด้านความสามารถของรัฐในการดูแลและจัดหาบริการสวัสดิการสังคมให้แก่ผู้สูงอายุ พบว่า ยังไม่สามารถจัดบริการได้อย่างทั่วถึง บริการส่วนใหญ่  เป็นบริการที่รัฐรับผิดชอบดำเนินการเอง แต่ยังขาดกลไกหลักที่จะดูแลระบบบริการให้เชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ  บุคลากรที่เกี่ยวข้อง  ยังขาดความรู้ ทัศนคติ และทักษะในการให้บริการอย่างรอบด้าน เชิงลึกและจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา  รัฐยังขาดการกระตุ้นและส่งเสริมให้ชุมชนหรือท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ   ด้านสวัสดิการโดยชุมชนเอง จึงทำให้ขาดพลังทางสังคมในการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ  ขาดการส่งเสริมโอกาสให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจเรื่องสวัสดิการของตนเอง นอกจากนี้ การจัดสวัสดิการสังคมของรัฐ  ขาดการจัด ปรับระบบหรือสร้างระบบใหม่  ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ระบบบริการจึงกลายเป็นงานตั้งรับมากกว่าเชิงรุก การสนับสนุนสวัสดิการสังคมในผู้สูงอายุโดยดำเนินการโดยให้ชุมชนและผู้สูงอายุมีส่วนร่วม ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน 

สรุป

ผู้สูงอายุ จังหวัดมหาสารคาม  ส่วนใหญ่เป็นหญิง สถานะภาพสมรส ส่วนใหญ่เป็นหม้าย มีการศึกษา ในระดับประถมศึกษา มีรายได้ในระดับต่ำ และ มีหนี้สิน ด้านสุขภาพ มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุมีสัดส่วนของการเป็นโรคเรื้อรัง ในด้านของผู้สูงอายุกับครอบครัว  ผู้สูงอายุ เป็นบุคคลสำคัญและมีบทบาทในครอบครัว ในระดับปานกลาง ผู้สูงอายุมหาสารคามเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในระดับสูง  และมีความสามารถในการดูแลตนเอง และผู้อื่นๆ รวมทั้ง เป็นผู้ที่มีความสามารถพิเศษในด้านของการเป็นผู้นำด้าน วัฒนธรรมและคำสอน ด้านคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุมหาสารคาม ส่วนใหญ่ อยู่ในระดับ ดี  ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต คือ การมีส่วนร่วมในสังคม ชุมชน และครอบครัว สัมพันธภาพในครอบครัว สุขภาพ  การเห็นคุณค่าในตนเอง  ผู้สูงอายุ มีระดับของความสุข ในระดับสูง ปัจจัยที่มีผลต่อความสุข ได้แก่การเห็นคุณค่าในตนเอง  ระดับการศึกษา  การเป็นสมาชิกชมรมต่างๆ และการมีส่วนร่วมในชมรมในชุมชนของตนเอง  และจำนวนสมาชิกในครอบครัว

ด้านของการรับรู้สวัสดิการของผู้สูงอายุพบว่าผู้สูงอายุ มีความเข้าใจในเรื่องของสวัสดิการสังคมคือ การได้รับเบี้ยยังชีพและการรักษาพยาบาล ในขณะที่ผู้สูงอายุในเขตเมือง กึ่งเมือง และ ชนบท รับรู้สวัสดิการสังคม แตกต่างกัน โดย ในเขตเมือง จะมีความรู้เรื่องสวัสดิการสังคม มากกว่า และโดยส่วนใหญ่ ต้องการความช่วยทางด้านการเงินและสุขภาพ 

ข้อเสนอแนะ

ในการทบทวนเอกสารครั้งนี้ ดำเนินการงานวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสารคามในปี พ.ศ. 2550 เท่านั้น อาจมีข้อจำกัดจากจำนวนและระยะเวลาของการศึกษา และควรต้องมีการศึกษาสืบค้นแหล่งข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติมเพื่ออธิบายบริบทของผู้สูงอายุจังหวัดมหาสาคามอย่างชัดเจน  อย่างไรก็ตาม ผลการทบทวนเอกสาร อาจพอจะได้ภาพคร่าวๆ ของผู้สูงอายุในบริบทของจังหวัดมหาสารคาม พอควร ข้อเสนอแนะที่ได้จากการทบทวนเอกสารครั้งนี้ สามารถแบ่งได้ เป็น 2 ประเด็น สำคัญ คือ

ข้อเสนอแนะต่อผู้ปฏิบัติงาน

1) ควรดำเนินการในกลุ่มผู้สูงอายุ ทุกเพศ ทุกวัย และ ควรให้ความสนใจในผู้สูงอายุหญิง สูงวัย และมี   โรคเรื้อรัง เนื่องจากส่วนใหญ่ฐานะยากจน มีระดับการศึกษาระดับประถมศึกษา อาจมีบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการ หรือข้อมูลข่าวสารที่สำคัญได้

2) ควรมีการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุ มีกิจกรรมและส่วนรวมกับครอบครัว ชมรม และชุมชนมากขึ้น     เนื่องจากพบว่า มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิต และ ความสุขในผู้สูงอายุ

3) ควรมีการสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม ทำงานที่เหมาะสมในผู้สูงอายุ เพื่อทำให้ผู้สูงอายุได้มี    โอกาส ทำงาน และได้มีส่วนช่วยเหลือ ครอบครัว  และมีรายได้ เพิ่ม

4) ควรมีการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตนเอง และ สืบทอดวัฒนธรรมใน     รุ่น ลูกหลาน ต่อไป

5) ควรมีการให้ ความรู้ ความเข้าในเรื่องของระบบสวัสดิการสังคม ในผู้สูงอายุและครอบครัว รวมถึง    สร้างอาชีพในองค์กร หรือ กลุ่มในชุมชนให้ท้องถิ่น และให้เป็นชุมชนเข้มแข็ง และได้มีโอกาสดูแลผู้สูงอายุ ของตนเอง มากกว่า จะเป็นฝ่ายรอรับการสวัสดิการในภาครัฐ แต่เพียงอย่างเดียว

ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป

1)     เนื่องจากการศึกษาทั้งหมด ที่ทบทวนมานี้ เป็นการศึกษา เชิงพรรณนา แบบภาคตัดขวาง ณ                  ช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง อาจมีข้อจำกัดจากรูปแบบการวิจัย จึงควรมีการศึกษาคุณภาพชีวิต ความสุข                   ของผู้สูงอายุ ตลอดจนสุขภาพในระยะยาว  หรือศึกษาเชิงวิเคราะห์เพื่อหาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง  

2)     เพื่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบของการส่งเสริมสุขภาพ หรือพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือความสุขใน      สูงอายุ ควรทำการศึกษาโดยให้ ผู้สูงอายุ ครอบครัว และชุมชน ได้มีส่วนร่วม เพื่อให้เกิด การ      พัฒนาที่ต่อเนื่องและยังยืน

3)     เนื่องจากผู้สูงอายุ ในการศึกษาทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพที่ไม่มากนัก บาง      กลุ่มมีสุขภาพอนามัยดี สามารถให้ความร่วมมือในการเก็บข้อมูลได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีปัญหา     ในเรื่องของการสื่อสาร และการเดินทาง   ดังนั้นในกลุ่มที่มีปัญหา สุขภาพ  มีภาวะทุพพลภาพ  มี     ความพิการ  เข้าไม่ถึงบริการ อาจต้องมีการศึกษา เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหา คุณภาพชีวิต ความ     ต้องการ ของประชากรกลุ่มนี้เพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาในกลุ่มที่ต้องการการดูแลกลุ่มนี้ ต่อไป

กิตติกรรมประกาศ

ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่สนับสนุนทุนวิจัย งบประมาณแผ่นดิน ปีงบประมาณ 2550

เอกสารอ้างอิง

1. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ   การคาดประมาณแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง    ประชากรไทย (2533-2563), 2550.

2. มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ  สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย 2549.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา;2549 3. ปัทมา  ว่าพัฒนวงค์,  ปราโมทย์  ประสาทกุล.  สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย  ประชากรไทยในอนาคต      สถาบันวิจัยประชากรและสังคม  มหาวิทยาลัยมหิดล, 2543.

4. ข้อมูลจังหวัดมหาสารคาม Wikipedia dictionary Available from :  http://th.wikipedia.org/wiki

5. ข้อมูลผู้สูงอายุไทย วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย available from :      http://www.cps.chula.ac.th/pop_info/thai/nop7/nop1/N1-MAHA.HTM   [cited August 17, 2008]

6. Jitapunkul S. Health of Thai Older Persons: Situation and Challenges.Thai Elderly Seminar Presentation,    Thai Government  March 26, 2007.

7. Cha yovan N, Knodel J.  A report of the survey of the welfare of the elderly in Thailand. Bangkok.      Institute of Population studies. Chulalongkorn University, 1997.

8. Sritanyarat V,  Arunsang P,  Jareonchai A, Thanasejaaunkul S,  Punchej P. Health Service System and     Health Insurrance for Thai Elders Khon Kaen. Klangnanavittaya Press, 2002.

9. Kuhirunyaratn P. Quality of life and Social Support among Khon Kaen Elderly. Khon Kaen: Khon Kaen    University,  2004.

10. Steenvoorden MA. Comprehensive care for the elderly in The Netherlands: current status and potential       Improvements. Tijdschr Gerontol Geriatr 1993;24:66-9.

11. Lee  TW. Ko IS, Lee KJ. Health promotion behaviors and quality of life among community-dwelling       elderly in Korea: a cross-sectional survey. Int J Nurs Stud 2006;43:293-300. Epub 2005 Aug 18

12. Zhang Q, Zhanq Q, Li N.  Analysis of quality of life and its influence factors of elderly persons in urban       in Chengdu Wei Sheng Yan Jiu  2007;36:584-6.

13. Ohara L. The Influence of Optimum and Social Support on Quality of Life of Community Dwelling       Elderly People. Canada: The University of Western Ontario 1988 Thesis 1998; 239.

14. Keokum S. Social Support Affecting Quality of Life in Eldelry Club at Wangsaipoon District, Phichit       Province . Master’s thesis, the Graduate School, Chiang Mai University.Retrieved 2003; 4: หน้า – หน้า.

15. เกริกศักดิ์  บุญญาพงศ์. ศักยภาพของผู้สูงอายุในการทำงานเพื่อสังคม  รายงานการวิจัยโครงการชราภาพ     ศึกษา  สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; 2534.

16. Gray RS, Rukumnuaykit P, Kittisuksathit S, Thongthai V. Inner happiness among Thai elderly. J Cross Cult Gerontol. 2008;23:211-24. 

17. Kawamoto R, Doi T, Yamada A, Okayama M, Tsuruoka K, Satho M, Kajii E. Happiness and       background factors in community-dwelling older persons.   Nippon Ronen Igakkai Zasshi 1999 ;36:861-7.

18. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  แนวทางการจัดบริการสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุในชนบท      ของภาครัฐ 2007. (เอกสารอัดสำเนา)

 

Untitled Document
Article Location

Untitled Document
Article Option
       Abstract
       Fulltext
       PDF File
Untitled Document
 
ทำหน้าที่ ดึง Collection ที่เกี่ยวข้อง แสดง บทความ ตามที่ีมีใน collection ที่มีใน list Untitled Document
Another articles
in this topic collection

<More>
Untitled Document
 
This article is under
this collection.

 
 
 
Srinagarind Medical Journal,Faculty of Medicine, Khon Kaen University. Copy Right © All Rights Reserved.
 
 
 
 

 


Warning: Unknown: Your script possibly relies on a session side-effect which existed until PHP 4.2.3. Please be advised that the session extension does not consider global variables as a source of data, unless register_globals is enabled. You can disable this functionality and this warning by setting session.bug_compat_42 or session.bug_compat_warn to off, respectively in Unknown on line 0