วิจารณ์
ผลการประมาณปริมาตรของเหลวสีแดงในขวด suction ขนาด 3,200 มิลลิลิตร 2 แบบ คือ ขวด suction แบบเดิมไม่มีแถบสีและ แบบที่ 2 ขวด suction ที่มีแถบสีเส้นรอบวง visual control โดยที่ปริมาตร 1,000 มิลลิลิตร มีแถบเส้นรอบ วงสีขาว ที่ปริมาตร 2,000 มิลลิลิตร มีแถบเส้นรอบวงสีเหลือง และที่ปริมาตร 3,000 มิลลิลิตร มีแถบเส้นรอบวงสีเขียว พบว่ามีค่าการประมาณปริมาตรใกล้เคียงกับค่าปริมาตรที่กำหนดไว้ น้อยกว่า การประมาณปริมาตรของเหลวของขวด suction แบบเดิมที่ไม่มีแถบสีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่เวลาที่ใช้ในการประมาณปริมาตรของเหลว ขวด suction ที่มีแถบสี visual control น้อยกว่าขวด suction แบบเดิมที่ไม่มีแถบสี ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด visual control ที่เป็นการสื่อสารผ่านการมองเห็นที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ทำให้ทุกคนเข้าใจ และปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน สามารถสังเกตความผิดปกติและแก้ไขกรณีที่มีปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ 3 จากผลดังกล่าวแม้ว่าขวด suction ที่มีแถบสีเส้นรอบวง visual control ไม่ได้ช่วยในการประมาณปริมาตรได้แม่นยำขึ้น แต่มีความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 100 มิลลิลิตร ซึ่งในทางปฏิบัติจริงการประมาณปริมาตรเลือดในผู้ป่วยผู้ใหญ่ความคลาดเคลื่อนในการประมาณปริมาตรเลือด 50 100 มิลลิลิตร ไม่ได้มีผลกระทบนักต่อการชดเชยเลือดที่สูญเสีย เพื่อให้ผู้ป่วยมีสารน้ำในร่างกายเพียงพอที่จะรักษาระบบไหลเวียนเลือดให้คงที่ แต่สำหรับผู้ป่วยทารกและเด็ก การประเมินปริมาตรการสูญเสียเลือดต้องมีความละเอียดมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากผู้ป่วยเด็กการประเมินที่คลาดเคลื่อนจะมีผลต่อการทดแทนสารน้ำและเลือด เพื่อให้มีระบบไหลเวียนเลือดที่ปกติ เพราะทารกมีปริมาตรเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่มีพัฒนาการน้อยกว่าผู้ใหญ่ หัวใจห้องล่างมีความสามารถขยายรับเลือดได้น้อย จึงเกิดหัวใจวายทั้งห้องล่างซ้ายและขวาได้ง่าย ทนต่อการให้สารน้ำปริมาตรมากและการเพิ่ม afterload ได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่ 4 ขวด suction ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยเด็กจึงต้องใช้ขนาดเล็ก ห้องผ่าตัดโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ใช้ขนาด 1,300 มิลลิลิตร
ขวด suction ที่มีแถบสีเส้นรอบวงแบบ visual control ช่วยให้ทีมวิสัญญี สามารถประมาณปริมาตรของเหลวในขวด suction ที่ระยะห่าง 2 เมตร ได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เป็นระยะห่างที่ใกล้เคียงกับที่ปฏิบัติงานจริง (รูปที่ 3-4 ) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในภาวะวิกฤติที่ผู้ป่วยมีการเสียเลือดมาก โดยมีความคลาดเคลื่อนในการประมาณปริมาตรไม่เกิน 100 มิลลิลิตร ซึ่งยอมรับได้ในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ ในอนาคตควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้แถบสี visual control ในขวด suction ของเด็กที่มีขนาดเล็กกว่าเพื่อการประยุกต์ใช้ในผู้ป่วยที่หลากหลายขึ้น

รูปที่ 1 Suction bottle (original)

รูปที่ 2 Suction bottle with visual control

รูปที่ 3-4 Suction bottle with Visual Control while using in the operation room
Visual control เป็นวิธีการควบคุมด้วยการมองเห็น เป็นเทคนิคที่ใช้ในการสื่อสารผ่านการมองเห็น โดยแสดงให้เห็นผลการปฏิบัติงาน เห็นความผิดปกติ หรือ สื่อสารความหมายบางอย่างให้เห็นได้อย่างสะดวก ชัดเจน และเข้าใจได้ง่ายขึ้นใช้เป็นแนวทางปฏิบัติงานและควบคุมการทำงานให้เป็นไปอย่างถูกต้อง visual control จึงอาจอยู่ในรูปสัญลักษณ์แผ่นป้าย สัญญาณไฟ แถบสี รูปภาพ กราฟฯลฯ ในวงการอุตสาหกรรมมีการนำ visual control ไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางและหลากหลาย ในการปฏิบัติงานทางวิสัญญียังมีการนำ visual control มาใช้น้อยน่าจะได้มีการศึกษาและนำมาใช้ให้มากขึ้นอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานและการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น
สรุป
ผลของการประมาณปริมาตรของเหลวสีแดงในขวด suction ที่มีแถบสี visual control มีค่าเฉลี่ยของปริมาตรใกล้เคียงค่าปริมาตรที่กำหนดไว้น้อยกว่า แต่ใช้เวลาในการประเมินปริมาตรเร็วกว่า ขวด suction แบบเดิมที่ไม่มีแถบสี ที่ระยะห่างจากขวด suction 2 เมตร ซึ่งใกล้เคียงกับระยะที่ปฏิบัติงานจริงในห้องผ่าตัดของทีมวิสัญญีเนื่องจากแถบสีช่วยให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น เพื่อช่วยให้สามารถประมาณการสูญเสียเลือดของผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว สะดวกในการปฏิบัติงานและปลอดภัยแก่ผู้ป่วยผู้ใหญ่
กิตติกรรมประกาศ
คณะผู้วิจัยขอขอบคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงธิดา เอื้อกฤดาธิการ และรองศาสตราจารย์นายแพทย์ธวัช ชาญชญานนท์ ที่ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ และขอขอบคุณอาจารย์วิสัญญีแพทย์ แพทย์ใช้ทุน แพทย์ประจำบ้าน วิสัญญีพยาบาล และวิสัญญีพยาบาลฝึกหัด ทุกท่านที่ให้ความร่วมมือในการเก็บข้อมูล และขอขอบคุณคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่สนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัย
เอกสารอ้างอิง
1. นลินี โกวิทวนาวงษ์. การให้สารน้ำ เลือดและส่วนประกอบของเลือดระหว่างให้ยาระงับความรู้สึก. ใน: วิรัตน์ วศินวงศ์, ธวัช ชาญชญานนท์, ศศิกานต์ นิมมานรัชต์, ธิดา เอื้อกฤดาธิการ, บรรณาธิการ. วิสัญญีวิทยาพื้นฐาน. สงขลา : ชานเมืองการพิมพ์, 2550: 193-215.
2. Kaye AD, Grogono AW. Fluid and electrolyte physilogy. Anesthesia 5th ed. Philadelphia: Churchill Livingstone, 2000:1601-2.
3. กฤชชัย อนรรฆมณี, เชษฐพงศ์ สินธารา. ความหมายและความสำคัญของ visual control. ใน : นพเก้า ศิริพลไพบูลย์, สุกัญญา ติรวุฒิพร, บรรณาธิการ. Visual control กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซีโน ดีไซน์, 2546: 1-18.
4. เสาวภาคย์ จำปาทอง. สารน้ำและอีเล็คโทรไลท์. ใน : อังกาบ ปราการรัตน์, วรภา สุวรรณจินดา, บรรณาธิการ. ตำราวิสัญญีวิทยา. กรุงเทพฯ: กรุงเทพเวชสาร, 2548:110-23