บทนำ
การศึกษาการทำงาน (work study) เป็นการศึกษาอย่างมีระบบถึงการทำงานของบุคคล ประกอบด้วยการศึกษาวิธีการทำงาน (method study) และการวัดงาน (work measurement) เพื่อมุ่งบริหารทรัพยากรบุคคลให้เกิดประโยชน์จากการทำงานมากที่สุด1 การศึกษาการทำงานโดยการวัดงานเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการจัดการด้านเวลา โดยมีการใช้เวลาในการทำงานอย่างเหมาะสม และลดเวลาที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อการสร้างผลผลิต ค่าที่ได้จากการวัดงานคือ เวลามาตรฐานของการทำงานแต่ละขั้นตอน สามารถนำมาใช้ในการวางแผนการทำงานของหน่วยงาน กำหนดเวลาแล้วเสร็จของกิจกรรม กำหนดอัตรากำลังคน ตลอดจนค่าจ้างและต้นทุนในการทำงาน2-5 การวัดงานจึงมีประโยชน์อย่างสูงต่อทุกหน่วยงานรวมทั้งงานเภสัชกรรมของโรงพยาบาลต่างๆ เทคนิคที่นิยมใช้ในการวัดงานทางด้านเภสัชกรรมมี 3 วิธี คือ เทคนิคการสุ่มงาน (work sampling technique) เทคนิคการจับเวลา (stopwatch time technique) และการกำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญ (expert opinion standard) โดยเทคนิคการสุ่มงานเป็นเทคนิคที่นิยมใช้กันมากเนื่องจากสามารถวัดงานที่มีรายละเอียดของกิจกรรมมาก มีการทำงานหลายขั้นตอน ไม่ต่อเนื่อง และไม่ใช่กิจกรรมที่ได้ทำซ้ำๆ2 ข้อดีของวิธีนี้คือ ใช้สังเกตการทำงานบุคลากรหลายคนในเวลาเดียวกัน เสียค่าใช้จ่ายต่ำ ไม่ต้องมีการเตรียมการที่ยุ่งยาก และไม่ต้องใช้บุคลากรที่มีความชำนาญพิเศษในการวัดและบันทึกการทำงาน นอกจากนี้การสุ่มงานยังทำได้ง่ายและมีความเครียดน้อยกว่าเทคนิคการจับเวลา ในปัจจุบันเภสัชกรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านการบริการจ่ายยาและด้านการให้การบริบาลเภสัชกรรม ซึ่งเวลารอคอยในการรับบริการและความพึงพอใจต่อการให้บริการของผู้ป่วยที่มารับบริการ เป็นดัชนีที่ใช้ในการวัดผลสัมฤทธิ์ของการให้บริการ ดังนั้นความรวดเร็วในการให้บริการจึงเป็นสิ่งสำคัญ การลดระยะเวลาการรอคอยสามารถกระทำได้โดยการปรับปรุงการทำงานของบุคลากรในหน่วยงาน งานเภสัชกรรม โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ดังนั้นจึงมีความประสงค์ที่จะทำการวัดงานของบุคลากรในงานเภสัชกรรม โดยมุ่งหวังให้มีการจัดระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพ ข้อมูลที่ได้จากการวัดงานยังสามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน คำนวณอัตรากำลัง และวางแผนการทำงานของบุคลาการ นอกจากนี้ยังเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานในกระบวนการพัฒนา และรับรองคุณภาพการให้การบริการของโรงพยาบาล ตามนโยบายของรัฐบาล
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาสัดส่วนเวลาของการทำงานที่เป็นผลงานและไม่เป็นผลงาน ของบุคลากรในหน่วยจ่ายยา โดยใช้เทคนิคการสุ่มงาน
2. เพื่อหาค่าเวลามาตรฐานของการทำงาน วิเคราะห์ภาระงาน และอัตรากำลังของบุคลากรในหน่วยจ่ายยาที่เหมาะสม
นิยามศัพท์1-4,6
หน่วยจ่ายยา หมายถึง หน่วยจ่ายยาผู้ป่วยนอกและหน่วยจ่ายยาผู้ป่วยใน
งานบริการจ่ายยา หมายถึง งานหลักของหน่วยจ่ายยา ได้แก่ การรับใบสั่งยาและพิมพ์ฉลากยา การติดฉลากยา การจัดยา การตรวจสอบยา และการจ่ายยาพร้อมกับให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยา
บุคลากร หมายถึง ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยจ่ายยา ได้แก่ เภสัชกรและเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยา ซึ่งประกอบด้วยผู้ช่วยเภสัชกร และพนักงานห้องจ่ายยา
การวัดงาน หมายถึง การกำหนดหาเวลาทำงานที่เป็นมาตรฐานในการทำงาน ของผู้ปฏิบัติงานที่ระดับการทำงานที่เหมาะสม ด้วยเงื่อนไขสภาพการทำงานที่พอเหมาะ เพื่อให้ได้ผลงานหนึ่งหน่วย
การสุ่มงาน หมายถึง วิธีการสังเกตการทำงานว่าผู้ปฏิบัติงานทำกิจกรรมใดบ้าง โดยทำการสังเกตแบบสุ่ม มีจำนวนครั้งของการสังเกตที่มากเพียงพอในช่วงเวลาที่สังเกตต่อกระบวนการทำงาน และนำไปสู่การคำนวณสัดส่วนของเวลาที่ใช้ในการทำงานในแต่ละขั้นตอนของการทำงาน
กิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลงาน ได้แก่
1. งานบริการจ่ายยา ซึ่งเป็นงานหลักของหน่วยจ่ายยา ประกอบด้วย การป้อนข้อมูลใบสั่งยาลงเครื่องคอมพิวเตอร์ การติดซองยา การจัดยา การตรวจสอบและคัดกรองใบสั่งยา และการจ่ายยาและให้คำแนะนำการใช้ยา งานสนับสนุนงานบริการจ่ายยา
2. การบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วย หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาตามต้องการ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
3. งานสนับสนุนบริการการจ่ายยา ได้แก่ ประสานงาน เบิกยา การจัดยาไว้บนชั้น การตรวจสอบวันหมดอายุของยา
4. งานสนับสนุนฝ่ายเภสัชกรรม ได้แก่ การประชุมที่เกี่ยวข้องในการทำงานทางเภสัชกรรม การตรวจรับยา
กิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดผลงาน ได้แก่ กิจกรรมอื่นนอกเหนือจากการบริการด้านเภสัชกรรม ได้แก่ การอู้งาน (เดินไปเดินมาโดยไม่ได้งาน) กิจกรรมส่วนตัว (รับประทานอาหารในเวลางาน ดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ เรื่องส่วนตัว พูดคุย) ไม่อยู่ (ลา มาสาย/กลับก่อน ไม่ทราบ)
เวลามาตรฐาน หมายถึง เวลาที่ใช้ในการทำงานต่อหน่วยของงานในสถานที่ทำงานหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้2,5
1) ปฏิบัติโดยผู้ปฏิบัติงานที่เหมาะสม มีคุณสมบัติเหมาะสมกับงาน และผ่านการฝึกอบรม
2) ปฏิบัติในสภาวะปกติ ไม่เร็วหรือช้าจนเกินไป ผู้ปฏิบัติงานส่วนมากรู้สึกสบาย ไม่เครียดจนเกินไป
เวลาเผื่อ หมายถึง เวลาเพิ่มพิเศษที่เพิ่มให้กับเวลาของการทำงานปกติ ซึ่งใช้สำหรับการทำธุระส่วนตัวที่จำเป็น ความเมื่อยล้าที่เกิดจากการทำงาน และเหตุการณ์ที่เหนือจากการควบคุมของผู้ปฏิบัติงาน2,8 โดยทั่วไปจะปรับค่าเผื่อเวลาทั้ง 3 ประเภท ไว้ร้อยละ 15
วัสดุและวิธีการศึกษา
1. รูปแบบการวิจัย เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบไปข้างหน้า
2. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากรที่ทำการศึกษา คือบุคลากรที่ปฏิบัติงานในหน่วยจ่ายยา งานเภสัชกรรม โรงพยาบาลศรีนครินทร์ กลุ่มตัวอย่าง คือ บุคลากรที่ปฏิบัติงานในวันและเวลาราชการ ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ระหว่างเวลา 8.30-12.00 น. และเวลา 13.00-16.30 น. จำนวน 43 คน
3. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือแบบบันทึกข้อมูลบุคลากร แบบบันทึกงาน
4. วิธีดำเนินการวิจัย
4.1. ศึกษาขั้นตอนและวิธีการทำงานของบุคลากรในหน่วยจ่ายยา ประกอบด้วย
4.1.1. การเตรียมความพร้อมของยาก่อนจ่าย ซึ่งปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยา
4.1.2. การบริการจ่ายยา ซึ่งปฏิบัติโดยเภสัชกรและเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยา
4.1.3. การให้การบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกคลินิกพิเศษ ได้แก่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีเด็กและผู้ใหญ่ และผู้ป่วยโรคหอบหืดซึ่งปฏิบัติโดยเภสัชกร และการให้การบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยในบนหอผู้ป่วยอายุรกรรม 4ก และ 4ค
4.2. การสุ่มงานและสังเกตการทำงานต่างๆ ของบุคลากรในหน่วยจ่ายยา2,3
4.2.1. กำหนดลักษณะของกิจกรรม โดยแบ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นผลงาน และกิจกรรมที่ไม่เป็นผลงาน
4.2.2. กำหนดปฏิทินการสังเกต ใช้การสุ่มอย่างเป็นระบบ โดยทำการสุ่มสลับช่วงเช้ากับช่วงบ่ายในแต่ละวันของการเก็บข้อมูล และสังเกตทุก 5 นาทีตามลำดับกลุ่ม ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 เภสัชกรหน่วยจ่ายยาผู้ป่วยนอก กลุ่มที่ 2 ผู้ช่วยเภสัชกรหน่วยจ่ายยาผู้ป่วยนอก กลุ่มที่ 3 เจ้าหน้าที่ประจำห้องหน่วยจ่ายยาผู้ป่วยนอก กลุ่มที่ 4 เภสัชกรหน่วยจ่ายยาผู้ป่วยใน กลุ่มที่ 5 ผู้ช่วยเภสัชกรหน่วยจ่ายยาผู้ป่วยใน และกลุ่มที่ 6 เจ้าหน้าที่หน่วยจ่ายยาผู้ป่วยใน
4.2.3. ประมาณการจำนวนครั้งของการสังเกต เพื่อเป็นตัวแทนของกิจกรรมที่เป็นผลงาน โดยใช้สูตร

สำหรับค่า P และ Q จะได้จากการทำการศึกษานำร่อง โดยการสังเกตเภสัชกร 3 คน และผู้ช่วยเภสัชกร 4 คน ในหน่วยจ่ายยาผู้ป่วยนอก ทำการสังเกต 2 วัน คือ วันที่ 9 และ 14 มิถุนายน พ.ศ.2549 จำนวนรวม 610 ครั้ง ได้ค่า P และ Q เท่ากับ 0.83 และ 0.17 ตามลำดับ เมื่อกำหนดให้ค่าความผิดพลาดที่ยอมรับได้ (α) คือ 0.05 และกำหนดค่าความผิดพลาดที่ยอมรับได้ (A) คือ 0.01 แทนค่าลงในสูตรจะได้จำนวนครั้งของการสังเกตทั้งหมดเท่ากับ 5,420 ครั้ง
|