Untitled Document
 
 
 
 
Untitled Document
Home
Current issue
Past issues
Topic collections
Search
e-journal Editor page

Prevalence of Vitamin D Deficiency among Postmenopausal Women at Srinagarind Hospital, Khon Kaen Province, Thailand.

ความชุกของภาวะขาดวิตามินดีในสตรีวัยทองที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น

Sukree Soontrapa (สุกรี สุนทราภา) 1, Suppasin Soontrapa (ศุภศิลป์ สุนทราภา) 2, La-Or Chailurkit (ละออ ชัยลือกิจ) 3, Chuanchom Sakondhavat (ชวนชม สกนธวัฒน์) 4, Srinaree Kaewrudee (ศรีนารี แก้วฤดี) 5, Woraluk Somboonporn (วรลักษณ์ สมบุรณ์พร) 6, Kesorn Loa-unka (เกษร เหล่าอรรคะ) 7




หลักการและเหตุผล:

วิตามินดีมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างมากคือส่งเสริมให้มีการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด ส่งเสริมให้มีการสะสมแคลเซียมเข้าในกระดูก และช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดีขึ้น หากขาดวิตามินดีจะทำให้แคลเซียมในกระแสเลือดลดลงและกระตุ้นให้มีการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนพาราไทรอยด์ เกิดภาวะ secondary hyperparathyroidism ทำให้มีการสลายกระดูกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกระดูกเนื้อแน่น (cortical bone) และนำไปสู่ภาวะของโรคกระดูกพรุนในที่สุด กระดูกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคอกระดูกต้นขา (femoral neck)

จากการศึกษาที่ผ่านมาเกี่ยวกับความชุกของภาวะขาดวิตามินดีของสตรีสูงอายุในเขต เทศบาลเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งพบว่าระดับของ calcidiol ที่ <35 ng/ml เป็นระดับของการขาดวิตามินดี และพบว่าความชุกของการขาดวิตามินดีของสตรีสูงอายุที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองจังหวัดขอนแก่นมีสูงถึงมากกว่าร้อยละ 60 ในขณะที่ความชุกของการขาดวิตามินดีของสตรีสูงอายุในเขตชนบทกลับพบต่ำกว่าอย่างมาก คือพบได้น้อยกว่าร้อยละ 20 จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับระดับของวิตามินดีและความชุกของการขาดวิตามินดีในสตรีภายหลังการหมดประจำเดือนหรือสตรีวัยทอง

วัตถุประสงค์:

วัตถุประสงค์หลัก – หาความชุกของการขาดวิตามินดีในสตรีวัยทอง

วัตถุประสงค์รอง 1. หาค่าเฉลี่ยของระดับวิตามินดี (calcidiol) ในสตรีวัยทอง

    1. หาความสัมพันธ์ระหว่างค่า calcidiol และ parathyroid hormone ของข้อมูลรวม
    2. หาระดับของ calcidiol ที่ถือว่ามีการขาดวิตามินดีของข้อมูลรวม

รูปแบบการศึกษา: Cross-sectional descriptive study

สถานที่ทำการศึกษา: คลินิกวัยหมดประจำเดือน โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

การวัดผล: วัดระดับ calcidiol, PTH และ alkaline phosphatase ใน serum

ผลการศึกษา: สตรีวัยทองที่เข้าร่วมโครงการและเข้าเกณฑ์มีจำนวนทั้งสิ้น 98 ราย ในขณะที่ข้อมูลเดิมของสตรีสูงอายุในเขตเมืองมีจำนวน 104 ราย และสตรีสูงอายุในเขตชนบทมีจำนวน 130 ราย รวมทั้งสิ้น 332 ราย พบว่าค่าเฉลี่ย (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน)ของระดับ calcidiol ในสตรีวัยทองเท่ากับ 32.58 (8.93) ng/ml และความสัมพันธ์ระหว่างค่า calcidiol และ PTH มีความสัมพันธ์ในเชิงเส้นตรงชนิดผกผัน (p-value<0.001) โดยมีค่า correlation coefficient (r) = -0.265 และพบว่าค่า calcidiol ที่ <35 ng/ml ยังคงเป็นระดับที่ทำให้ PTH เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งถือเป็นระดับของ vitamin D deficiency และพบว่าความชุกของ vitamin D deficiency ในสตรีวัยทองเท่ากับร้อยละ 60.2

สรุป:

สตรีวัยทองมีความชุกของภาวะขาดวิตามินดีสูง ร่วมกับมีค่าเฉลี่ยของระดับวิตามินดีที่ต่ำ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน ดังนั้นการออกกำลังกายกลางแจ้งเพื่อรับแสงแดด หรือรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง หรือรับประทานยาเสริมวิตามินดีให้ได้ตามความต้องการในแต่ละวันอาจเป็นสิ่งจำเป็น

Background

Vitamin D is essential for bone strength and development. It enhances intestinal absorption of calcium and its apposition to bone. It also increases muscle strength. In vitamin D deficiency condition, blood calcium is depressed, parathyroid hormone production is stimulated resulting in secondary hyperparathyroidism which promotes bone turnover. Cortical bone is the primary site affected, particularly at the femoral neck.

In previous studies, we documented an average calcidiol level of £  35 ng/ml as vitamin D deficiency. A very high (> 60%) prevalence of vitamin D deficiency was found among urban elderly women in Khon Kaen, in contrast to less than 20% among their rural counterparts. Until now, only limited data has been available on the average level of calcidiol and prevalence of vitamin D deficiency among postmenopausal women in Thailand.

Objectives

Primary: Ascertain the prevalence of vitamin D deficiency among postmenopausal women

Secondary: 1. Find out the average vitamin D (calcidiol) level in postmenopausal women

                   2. Find out the correlation between calcidiol and PTH in the pooled data

                 3. Find out the calcidiol level which indicates the level of vitamin D deficiency in the pooled data

Design Cross-sectional, descriptive study

Setting Postmenopausal Clinic, Srinagarind Hospital, Khon Kaen, Thailand

Outcome measurement Serum calcidiol, PTH, and alkaline phosphatase

Results The pooled data set comprised 332 cases including 98 cases of postmenopausal women, 104 cases of previously cited urban elderly women, and 130 cases of rural elderly women. The mean (SD) calcidiol level among the postmenopausal women was 32.58 (8.93) ng/ml, and calcidiol and PTH had reverse relation with the correlation coefficient (r) = -0.265 (p-value < 0.001). Calcidiol at £  35 ng/ml was associated with a significant increase in PTH, which indicated the level of vitamin D deficiency. The prevalence of vitamin D deficiency in postmenopausal women was 60.2 percent.

Conclusion

The high prevalence of vitamin D deficiency with low average level of calcidiol among postmenopausal women suggests a risk for developing osteoporosis. Outdoor exercise with sunlight exposure, high vitamin D diet intake, or, if necessary, supplementation with vitamin D is advised.

บทนำ

วิตามินดีมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างมาก โดยมีหน้าที่สำคัญคือส่งเสริมให้มีการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด ส่งเสริมให้มีการสะสมแคลเซียมเข้าในกระดูก และช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดีขึ้น หากขาดวิตามินดีจะทำให้แคลเซียมในกระแสเลือดลดลงและกระตุ้นให้มีการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนพาราไทรอยด์ เกิดภาวะ secondary hyperparathyroidism ทำให้มีการสลายกระดูกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกระดูกเนื้อแน่น (cortical bone) และนำไปสู่ภาวะของโรคกระดูกพรุนในที่สุด กระดูกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคอกระดูกต้นขา (femoral neck)1-4

จากผลการศึกษาเรื่อง “ความชุกของภาวะวิตามินดีในกระแสเลือดต่ำในสตรีสูงอายุที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเมือง จ.ขอนแก่น”5-6 พบว่า สตรีสูงอายุที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเมือง จ.ขอนแก่น มีความชุกของการขาดวิตามินดีค่อนข้างสูง โดยพบว่ามากกว่าร้อยละ 60 ของสตรีสูงอายุในเทศบาลเมือง จ.ขอนแก่นมีภาวะขาดวิตามินดี โดยระดับของ calcidiol ที่ < 35 ng/ml ถือเป็นระดับของการขาดวิตามินดี แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างสตรีสูงอายุในเขตเมืองและเขตชนบทกลับพบว่าสตรีสูงอายุในเขตชนบทมีความชุกของการขาดวิตามินดีต่ำกว่าสตรีสูงอายุในเมืองอย่างมาก โดยพบความชุกของการขาดวิตามินดีของสตรีสูงอายุในเขตชนบทมีเพียงร้อยละ 15.387

รศ.ละออ ชัยลือกิจ และคณะ (1996)8 ทำการศึกษาหาระดับของฮอร์โมนพาราไทรอยด์และระดับของ 25(OH)D ในกระแสเลือด และดูสถานะของการหมุนเวียนของกระดูกโดยการตรวจหาระดับของ serum osteocalcin และ alkaline phosphatase ในกระแสเลือด ในบุรุษและสตรีไทยที่มีสุขภาพแข็งแรงจำนวน 158 ราย ช่วงอายุตั้งแต่ 20-80 ปี เป็นสตรี 81 รายและบุรุษ 77 ราย ผลการศึกษาพบว่าค่าเฉลี่ย (SD) ของระดับ calcidiol ในบุรุษเท่ากับ 67.4 (31.6) และในสตรีเท่ากับ 42.4 (23.9) ng/ml ซึ่งแสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่จะมีระดับของ calcidiol สูง และพบว่าในสตรีจำนวน 81 ราย มีสตรีภายหลังหมดประจำเดือน 39 ราย ซึ่งการศึกษานี้ไม่ได้แยกแยะว่าในสตรีภายหลังหมดประจำเดือนหรือในสตรีวัยทองมีระดับของวิตามินดีเป็นอย่างไร

วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์หลักคือ ต้องการหาความชุกของการขาดวิตามินดีในสตรีวัยทองว่ามีมากน้อยเพียงใด และวัตถุประสงค์รองคือหาระดับของ calcidiol ในสตรีวัยทองว่ามีค่าเฉลี่ยเท่าไร และรวมข้อมูลของสตรีวัยทองและสตรีสูงอายุทั้งในเขตเมืองและเขตชนบทเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้จำนวนข้อมูลที่มากขึ้นซึ่งจะทำให้ผลที่ได้น่าเชื่อถือมากขึ้น แล้วหาความสัมพันธ์ระหว่างค่า calcidiol และ parathyroid hormone และหาระดับของ calcidiol ที่ถือว่ามีการขาดวิตามินดี

วิธีดำเนินการวิจัยและกลุ่มตัวอย่าง

คำจำกัดความเชิงปฏิบัติการ

สตรีวัยหลังหมดประจำเดือนหรือสตรีวัยทอง หมายถึง ช่วงหนึ่งของชีวิตของสตรีที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง นั่นคือฮอร์โมนเอสโตรเจนมีระดับลดลง ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของรังไข่ จะถือว่าสตรีนั้นอยู่ในวัยหลังหมดประจำเดือนหรือวัยทองต่อเมื่อมีการขาดประจำเดือนไปแล้วติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือน หรือได้รับการผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งสองข้าง

การขาดวิตามินดี หมายถึง ระดับของ 25(OH)D (calcidiol) ที่ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของระดับ parathyroid hormone อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ9

วิธีดำเนินการ

สตรีที่เข้าร่วมโครงการเป็นสตรีวัยหลังหมดประจำเดือนช่วงอายุระหว่าง 45-60 ปี ซึ่งเข้ารับการตรวจรักษาในคลินิกวัยหมดประจำเดือนโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีสุขภาพแข็งแรงและสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และเซ็นชื่อยินยอมเข้าร่วมการศึกษา ส่วนผู้ที่มีประวัติโรคตับหรือโรคไตเรื้อรัง มี malabsorption syndrome เป็นอัมพาตหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ รวมทั้งผู้ที่รับประทานฮอร์โมน ยา phenytoin, carbamazepine, rifampicin และวิตามินดี จะถูกคัดออกจากการศึกษา

สตรีที่เข้าร่วมการศึกษาทุกรายจะได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และทำการเจาะเลือดจำนวน 10 มิลลิลิตรในช่วงเช้าระหว่าง 6-10 นาฬิกา

แบ่งเลือดที่ได้ออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกตรวจหาค่าสารเคมีในเลือด ได้แก่ BUN, creatinine, SGOT, SGPT และ total alkaline phosphatase ส่วนที่สองตรวจหาค่า intact parathyroid hormone (PTH) และส่วนที่สามตรวจหาค่า calcidiol

ค่า PTH ตรวจโดยวิธี electrochemiluminescence (ECLIA) โดย Elecsys 1010 ที่หน่วย immunology ภาควิชา microbiology คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น การตรวจนี้มีค่า inter-assay CVs ประมาณร้อยละ 7.1

ค่า calcidiol ตรวจโดยวิธี radioimmunoassay (RIA) โดย DiaSorin, USA ที่หน่วยต่อมไร้ท่อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ค่า inter-assay CVs ของวิธีนี้ประมาณร้อยละ 10

การศึกษานี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

จำนวนกลุ่มตัวอย่าง

จำนวนกลุ่มตัวอย่างจากการคำนวณได้ 93 ราย โดยคำนวณจากความชุกของการขาดวิตามินดีอยู่ที่ร้อยละ 40 ค่า type I error 0.05 และยอมรับความคลาดเคลื่อนร้อยละ 10

ในการศึกษานี้มีสตรีวัยทองที่เข้าร่วมโครงการและเข้าเกณฑ์จำนวนทั้งสิ้น 98 ราย ในขณะที่ข้อมูลเดิมของสตรีสูงอายุในเขตเมืองมีจำนวน 104 รายและสตรีสูงอายุในเขตชนบทมีจำนวน 130 ราย รวมทั้งสิ้น 332 ราย

การวิเคราะห์ข้อมูล

สำหรับข้อมูลพื้นฐานของสตรีวัยทองจะแสดงผลเป็นจำนวนร้อยละในข้อมูลชนิดแจงนับ และค่าเฉลี่ย + ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานในข้อมูลต่อเนื่อง

การวิเคราะห์หาระดับของวิตามินดีที่ถือว่าเป็นระดับของการขาดวิตามินดี (vitamin D deficiency) ครั้งนี้จะทำการวิเคราะห์โดยรวมข้อมูลของทั้งสตรีวัยทองร่วมกับสตรีสูงอายุทั้งในเขตเมืองและเขตชนบทที่เคยทำการศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ โดยแบ่งระดับของ calcidiol ออกเป็นกลุ่มย่อยห่างกันช่วงละ 5 ng/ml และวิเคราะห์ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของ PTH ในแต่ละกลุ่มย่อยของ calcidiol ด้วยวิธี oneway ANOVA และ post hoc test ด้วยวิธีของ Bonferroni ในกรณีที่พบว่า variance ของแต่ละกลุ่มเท่ากัน แต่หากการทดสอบพบว่า variance ของแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน post hoc test จะใช้วิธีของ Tamhane

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างระดับวิตามินดีและระดับของ PTH ในกระแสเลือด จะแสดงโดย scatter plot diagram และวิเคราะห์ค่าความสัมพันธ์ด้วย Pearson’s product moment correlation coefficient (r)

การวิเคราะห์ทั้งหมดใช้ two-tailed ที่นัยสำคัญทางสถิติ p-value<0.05

ผลการศึกษา

สตรีวัยหลังหมดประจำเดือน (สตรีวัยทอง) ที่เข้ารับการตรวจและรักษาที่คลินิกวัยหลังหมดประจำเดือน โรงพยาบาลศรีนครินทร์ทั้งสิ้น 104 ราย ถูกคัดออกจากการศึกษา 6 รายเนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนด เหลือสตรีวัยทองจำนวนทั้งสิ้น 98 ราย ส่วนสตรีสูงอายุในเขตเมืองมีจำนวน 104 รายและสตรีสูงอายุในเขตชนบทมีจำนวน 130 ราย รวมทั้งหมด 332 ราย

ในกลุ่มสตรีวัยทองที่เข้าร่วมการศึกษาพบว่ามีอายุเฉลี่ย 49.96 (+4.97) ปี มีน้ำหนักเฉลี่ย 57.11 (+8.53) กก. มีส่วนสูงเฉลี่ย 154 (+5) ซม. และมี BMI เฉลี่ย 24.19 (+3.53) ก.ก./ม2 โดยมีค่าเฉลี่ยของระดับ calcidiol = 32.58 (+8.93) ng/ml มีค่าเฉลี่ยของระดับ PTH = 23.72 (+11.84) pg/ml และมีค่าเฉลี่ยของระดับ total alkaline phosphatase = 78.75 (+24.39) U/L สำหรับข้อมูลด้านอาชีพพบว่าส่วนใหญ่มีอาชีพรับราชการ คือร้อยละ 34.7 รองลงมาจะเป็นแม่บ้านร้อยละ 32.7 ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงจำนวนและร้อยละของอาชีพต่างๆของสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เข้ารับการตรวจและรักษาในคลินิกวัยหมดประจำเดือน โรงพยาบาลศรีนครินทร์

อาชีพ

จำนวน

ร้อยละ

รับราชการ

34

34.7

แม่บ้าน

32

32.7

ค้าขาย

20

20.4

เกษตรกร

7

7.1

รับจ้าง

5

5.1

รวมทั้งหมด

.0

ความสัมพันธ์ระหว่างค่า calcidiol และ PTH แสดงโดย scatter plot diagram และวิเคราะห์ความสัมพันธ์พบว่ามีความสัมพันธ์ในเชิงเส้นตรงชนิดผกผัน (reverse relation) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.001) โดยมีค่า correlation coefficient (r) = -0.265 แสดงไว้ในรูปที่ 1

รูปที่ 1 Scatter plot diagram แสดงความสัมพันธ์ระหว่างค่า calcidiol และ PTH และจากการวิเคราะห์โดย Pearson’s correlation coefficient พบมีความสัมพันธ์ในเชิงเส้นตรงชนิดผกผันอย่างมีนัยสำคัญที่ p<0.001 โดยมีค่า correlation coefficient (r ) = -0.265

รูปที่ 2 กราฟแสดง boxplot with outlier ของระดับ parathyroid hormone ของแต่ละกลุ่มย่อยของระดับ calcidiol

ในการหาระดับของ calcidiol ที่บอกถึงการขาดวิตามินดี ทำโดยแบ่งระดับของ calcidiol ออกเป็นกลุ่มย่อย ให้ห่างกันช่วงละ 5 ng/ml จำนวนและร้อยละของแต่ละช่วงแสดงไว้ในตารางที่ 2 และจาก boxplot ระหว่างแต่ละกลุ่มย่อยของ calcidiol และค่า PTH พบว่าที่กลุ่ม calcidiol >25-30 ng/ml มี outlier 3 ราย กลุ่ม calcidiol >35-40 ng/ml) มี outlier 2 ราย และกลุ่ม calcidiol >40 ng/ml มี outlier 5 ราย แสดงไว้ในรูปที่ 2 รวมทั้งสิ้นมี outlier 10 ราย ซึ่งถูกตัดออกจากการวิเคราะห์ครั้งนี้ เหลือผู้ที่อยู่ในการวิเคราะห์หาระดับของการขาดวิตามินดีทั้งสิ้น 322 ราย กราฟแสดงค่าเฉลี่ย (95%CI) ของระดับ PTH ในแต่ละกลุ่มย่อยของ calcidiol ภายหลังตัดค่า outlier ออกแล้ว แสดงไว้ในรูปที่ 3

รูปที่ 3 กราฟแสดงค่า mean (95%CI) ของระดับ parathyroid hormone ของแต่ละกลุ่มย่อยของระดับ calcidiol พบว่าค่าเฉลี่ยของระดับ parathyroid hormone ของกลุ่มย่อยที่มีระดับ calcidiol ตั้งแต่ 35 ng/ml ลงไปสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระดับ parathyroid hormone ของกลุ่มย่อยที่มีระดับ calcidiol มากกว่า 35 ng/ml ขึ้นไปอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.04)

ตารางที่ 2 แสดงจำนวนและร้อยละของผู้เข้าร่วมการวิจัยทั้งสตรีวัยทองและสตรีสูงอายุในเขตเมืองและเขตชนบทรวมทั้งสิ้น 332 ราย แบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามระดับของ calcidiol

กลุ่มย่อยของ serum calcidiol (ng/ml)

จำนวน

ร้อยละ

ร้อยละสะสม

0-25

>25-30

>30-35

>35-40

>40

รวม

31

53

63

76

109

332

9.3

16.0

19.0

22.9

32.8

100.0

9.3

25.3

44.3

67.2

100.0

วิเคราะห์ค่าเฉลี่ยของ PTH ในแต่ละกลุ่มย่อยของ calcidiol โดย oneway ANOVA พบมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) และจากการทดสอบ homogeneity of variance พบว่าค่า variance ของแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน (p<0.05) ดังนั้น post hoc test จึงใช้วิธีของ Tamhane พบมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญของค่าเฉลี่ยของ serum PTH ในกลุ่มย่อยของ calcidiol ที่มีค่าตั้งแต่ 35 ng/ml ลงไป และกลุ่มย่อยของ calcidiol ที่มีค่ามากกว่า 35 ng/ml ขึ้นไปที่ p<0.04 แสดงไว้ในรูปที่ 4 และจากคำจำกัดความของ vitamin D deficiency (คือระดับของ calcidiol ที่ทำให้ค่า serum PTH เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ) แสดงว่าที่ระดับของ calcidiol < 35 ng/ml คือระดับของ vitamin D deficiency ซึ่งเป็นค่าเดียวกับที่พบในรายงานก่อนหน้านี้

หากพิจารณาเฉพาะในสตรีวัยทอง พบว่าความชุกของภาวะขาดวิตามินดีในสตรีวัยทองเท่ากับร้อยละ 60.2 ดังแสดงไว้ในตารางที่ 3

ตารางที่ 3 ความชุกของภาวะขาดวิตามินดีในแต่ละกลุ่มย่อยคือ สตรีวัยทองและสตรีสูงอายุในเขตเมืองและสตรีสูงอายุในเขตชนบท จำนวนทั้งสิ้น 332 ราย

 

ภาวะขาดวิตามินดี (%)

ไม่ขาดวิตามินดี (%)

รวม

สตรีวัยทอง

59 (60.2%)

39 (39.8%)

98 (100%)

สตรีสูงอายุในชนบท

20 (15.4%)

110 (84.6%)

130 (100%)

สตรีสูงอายุในเมือง

68 (65.4%)

36 (34.6%)

104 (100%)

วิจารณ์

พบว่าระดับของวิตามินดี (calcidiol) ในสตรีวัยทองมีระดับค่อนข้างต่ำ โดยมีค่าเฉลี่ยของระดับ calcidiol ที่ 32.58 ng/ml ซึ่งต่ำกว่าระดับ 35 ng/ml ซึ่งถือเป็นระดับของการขาดวิตามินดี และพบว่ามีความชุกของการขาดวิตามินดีในสตรีวัยทองสูงถึงร้อยละ 60.2 สิ่งนี้เป็นสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างหนึ่ง

จากการรวมข้อมูลของทั้งสามกลุ่มได้จำนวนข้อมูลสูงถึง 332 ราย เรายังคงพบว่าค่าที่บอกถึงการขาดวิตามินดียังคงอยู่ที่ < 35 ng/ml เช่นเดิม5-7 สิ่งนี้พอจะอนุโลมได้ว่าระดับของการขาดวิตามินดีที่ < 35 ng/ml เป็นระดับที่มีนัยสำคัญสำหรับสตรีทั้งในวัยทองและวัยสูงอายุสำหรับประเทศไทย ถึงแม้จะเป็นระดับที่สูงกว่าในประเทศแถบยุโรปค่อนข้างมากก็ตาม ซึ่งจากหลายๆการศึกษาพบว่าระดับของการขาดวิตามินดีแตกต่างกันในเชื้อชาติและภูมิประเทศที่ต่างกัน โดยพบว่ามีค่าตั้งแต่ 10-40 ng/ml10-18

จากการดูข้อมูลด้านอาชีพของสตรีวัยทองจะพบว่าส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและแม่บ้าน ซึ่งมักจะไม่ค่อยได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ เนื่องจากส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในตัวตึกหรือในบ้าน ซึ่งมีพฤติกรรมใกล้เคียงกับสตรีสูงอายุในเขตเมือง5-6 จึงทำให้ทั้งสองกลุ่มมีโอกาสขาดวิตามินดีได้สูงใกล้เคียงกัน ในขณะที่สตรีสูงอายุในเขตชนบททำงานอยู่กลางไร่กลางนา ถูกแสงแดดทั้งวันทำให้มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีค่อนข้างต่ำ7

สรุป

จากที่กล่าวมาทั้งหมดพอสรุปได้ว่า สตรีวัยทองมีความชุกของการขาดวิตามินดีสูง สิ่งนี้พอจะเป็นสัญญาณเตือนที่ดีว่าหากสตรีวัยทองยังคงมีพฤติกรรมอย่างที่เป็นอยู่ โอกาสที่จะเกิดโรคกระดูกพรุนมีความเป็นไปได้สูง ดังนั้นควรจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ โดยให้มีการออกกำลังกายกลางแจ้งเพื่อรับแสงแดด หรือหากกลัวว่าแสงแดดจะทำให้ผิวเสีย ควรจะรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูงหรือรับประทานยาเสริมวิตามินดีให้ได้ตามความต้องการในแต่ละวัน

กิตติกรรมประกาศ

    • คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ให้เงินทุนสนับสนุนงานวิจัยนี้
    • ร.ศ.วีระพงศ์ ลุลิตานนท์ และหน่วย immunology ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้เอื้อเฟื้อการตรวจวัดค่า PTH

References

  1. Meunier PJ. Calcium and vitamin D are effective in preventing fractures in elderly people by reversing senile secondary hyperparathyroidism (Editorial). Osteoporos Int 1998; suppl. 8:S1-S2.
  2. Leboff MS, Kohlmeier L, Hurwitz S, Franklin J, Wright J, Glowacki J. Occult vitamin D deficiency in postmenopausal United State women with acute hip fracture. JAMA 1999;281:1505-11.
  3. Lips P, Van Ginkel FC, Jongen MJM, Rubertus F, Van der Vijgh WJF, Netelenbos JC. Determinants of vitamin D status in patients with hip fracture and in elderly control subjects. Am J Clin Nutr 1987;46:1005-10.
  4. Soontrapa Sp, Soontrapa Sk, Somboonporn C, Somboonporn W. Vitamin D deficiency and the risk of osteoporosis in elderly women. Srinagarind Med J 2002; 17(3):154-163.
  5. Soontrapa Sk, Soontrapa Sp, Pongchaiyakul C, Somboonporn C, Somboonporn W, Chailurkit L. Prevalence of hypovitaminosis D in eldery women living in urban area of Khon Kaen province, Thailand. J Med Assoc Thai 2001; 84(Suppl 2): S534-S541.
  6. Soontrapa Sp, Soontrapa Sk, Chailurkit L. The prevalence and the calcidiol levels of vitamin D deficiency in the elderly Thai women in municipality of Khon Kaen Province, Thailand. Srinagarind Med J 2002; 17(4):219-26.
  7. Soontrapa Sp, Soontrapa Sk, Chailurkit L. The difference in vitamin D status between urban and rural elderly women of Khon Kaen province, Thailand. Srinagarind Med J 2004;19(2):67-74.
  8. Chailurkit L, Rajatanavin R, Teerarungsikul K, Ongphiphadhanakul B, Puavilai G. Serum vitamin D, parathyroid hormone and biochemical markers of bone turnover in normal Thai subjects. J Med Assoc Thai 1996; 79(8):499-504.
  9. Aguado P, Del Campo MT, Garces MV, Gonzilez-Casaus ML, Bernad M, Gijin-Banos J, et al. Low vitamin D levels in outpatient postmenopausal women from a rheumatology clinic in Madrid, Spain: Their relationship with bone mineral density. Osteoporos Int 2000;11:739-44.
  10. McKenna MJ. Differences in vitamin D status between countries in young adults and the elderly. Am J Med 1992;93:69-77.
  11. van der Wielen RPJ, Lowik MRH, Van den Berg H, de Groot LCPGM, Haller JMO, van Staveren WA. Serum vitamin D concentration among elderly people in Europe. Lancet 1995; 346:207-10.
  12. Chapuy M-C, Preziosi P, Maamer M, Arnaud S, Galan P, Hercberg S. Prevalence of vitamin D insufficiency in an adult normal population. Osteoporos Int 1997; 7:439-43.
  13. Kinyamu HK, Gallagher JC, Balhorn KE, Petranick KM. Serum vitamin D metabolites and calcium absorption in normal young and elderly free-living women and in women living in nursing homes. Am J Clin Nutr 1997; 65:790-7.
  14. Thiebaud D, Burckhardt P, Costanza M, Sloutskis D, Gilliard D, Quinodoz F. Importance of albumin, 25(OH)-vitamin D and IGFBP-3 as risk factors in elderly women and men with hip fracture. Osteoporos Int 1997; 7:457-62.
  15. Thomas MK, Lloyd-Jones DM, Thadhani RI, Shaw AC, Deraska DJ, Kitch BT. Hypovitaminosis D in medical inpatients. N Engl J Med 1998; 338:777-83.
  16. Haden ST, Fuleihan GEH, Angell JE, Cotran NM, leBoff MS. Calcidiol and PTH levels in women attending an osteoporosis program. Calcif Tissue Int 1999; 64:275-9.
  17. Bischoff HA, Stahelin HB, Urscheler N, Ehrsam R, Vonthein R, Perrig-Chiello P. Muscle strength in the elderly: Its relation to vitamin D metabolites. Arch Phys Med Rehabil 1999; 80:54-8.
  18. Need AG, Horowitz M, Morris HA, Nordin BEC. Vitamin D status: effect on parathyroid hormone and 1,25-dihydroxyvitamin D in postmenopausal women. Am J Clin Nutr 2000; 71(6):1577-81.
Untitled Document
Article Location

Untitled Document
Article Option
       Abstract
       Fulltext
       PDF File
Untitled Document
 
ทำหน้าที่ ดึง Collection ที่เกี่ยวข้อง แสดง บทความ ตามที่ีมีใน collection ที่มีใน list Untitled Document
Another articles
in this topic collection

An Analysis of Orthopedic Injury Profiles of Pedestrian-Motor Vehicle in District Hospital (การวิเคราะห์รูปแบบภยันตรายทางออร์โธปิดิกส์ที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในโรงพยาบาลชุมชน)
 
Risk Factors Analysis of Gram-Negative Osteomyelitis (การวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อกรัมลบในโพรงกระดูก)
 
Appropriate Tibial Tunnel Angle and Knee Flexion Angle for Aiming Femoral Insertion in Endoscopic Anterior Curciate Ligament Reconstruction (มุมอุโมงค์ที่กระดูกแข้ง และมุมงอเข่าที่เหมาะสมในการเล็งจุดเกาะของเอ็นไขว้หน้า)
 
Interesting case anaphylaxis after intra-articular steroid injection in out patient department : Reivew literature (ผู้ป่วยน่าสนใจ: การแพ้อย่างรุนแรงจากการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อในแผนกผู้ป่วยนอกและทบทวนวรรณกรรม)
 
<More>
Untitled Document
 
This article is under
this collection.

Orthopedics
 
Obstetric and Gynecology
 
 
 
 
Srinagarind Medical Journal,Faculty of Medicine, Khon Kaen University. Copy Right © All Rights Reserved.
 
 
 
 

 


Warning: Unknown: Your script possibly relies on a session side-effect which existed until PHP 4.2.3. Please be advised that the session extension does not consider global variables as a source of data, unless register_globals is enabled. You can disable this functionality and this warning by setting session.bug_compat_42 or session.bug_compat_warn to off, respectively in Unknown on line 0