บทนำ
การให้บริการทางด้านวิสัญญีในปัจจุบันมีการใช้วิธีให้ยาระงับความรู้สึกหลายวิธีขึ้นกับชนิดของการผ่าตัด สภาพของผู้ป่วยก่อนผ่าตัด ความต้องการของผู้ป่วย และความชำนาญของวิสัญญีแพทย์ ทั้งนี้จุดประสงค์หลักก็คือ เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยต่อชีวิตสูงสุด ซึ่งการให้ยาระงับความรู้สึกแต่ละวิธีจะมีการให้ยาหลายชนิดแก่ผู้ป่วย โดยที่ยาแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติและการออกฤทธิ์ต่างกัน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมีความปวด ความรู้สึกตัว และขยับตัวขณะผ่าตัด เนื่องจากมีการใช้ยาหลายชนิด ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่จะมีความผิดพลาดในการให้ยา โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการได้รับยาหลายชนิด กรณีเร่งด่วน ผลที่ตามมาทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้
ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดให้มีแนวทางการเตรียมยาสำหรับให้บริการระงับความรู้สึกผู้ป่วยเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยในแต่ละวันยาจะถูกเตรียมโดยบุคลากรของภาควิชาเพื่อให้พร้อมใช้งาน โดยมีการใช้หลอดฉีดยามาตรฐานที่ขนาดแตกต่างกันตามชนิดของยา การติดสลากชื่อยาและความเข้มข้นของยาอย่างชัดเจน แต่แม้จะมีแนวทางการเตรียมยาในการให้บริการระงับความรู้สึกผู้ป่วยอยู่แล้ว ก็พบว่ายังมีความผิดพลาด ดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาอุบัติการณ์ความผิดพลาดในการให้ยาในระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึก ลักษณะและสาเหตุของความผิดพลาด และวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขและป้องกันการให้ยาผิดพลาดและเป็นการพัฒนาคุณภาพบริการด้านวิสัญญี
วัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาหาอัตราการเกิดอุบัติการณ์ความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึก ลักษณะและสาเหตุของความผิดพลาด
วิธีการศึกษา
การศึกษาวิจัยเชิงสำรวจซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลร่วมของราชวิทยาลัยวิสัญญีวิทยาแห่งประเทศไทย หลังจากได้รับอนุมัติการวิจัยจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ข้อมูลที่นำเสนอเป็นข้อมูลในส่วนของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ทำการศึกษาในช่วง 1 มกราคม 2546 31 ธันวาคม 2546 ในผู้ป่วยทุกรายที่ได้รับการให้ยาระงับความรู้สึกทั้งในและนอกห้องผ่าตัด การเก็บข้อมูลทำในขณะระงับความรู้สึกในห้องผ่าตัด ในห้องพักฟื้นและหลังผ่าตัด 24 ชั่วโมง เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนจะทำการบันทึกข้อมูลในแบบบันทึกข้อมูลความผิดพลาดในการให้ยา โดยหัวข้อที่บันทึกประกอบด้วย ข้อมูลของผู้ป่วยประกอบด้วย เพศ อายุ ชนิดของการผ่าตัด และข้อมูลเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย สถานที่เกิดเหตุการณ์ ช่วงเวลาที่เกิด ชนิดและลักษณะของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น สาเหตุของความผิดพลาด และผลที่เกิดตามมา ซึ่งคำจำกัดความของความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึก คือ ความผิดพลาดจากการให้ยาเมื่อมีการให้ยาผิดคน ผิดรูปแบบ ผิดขนาด ผิด route ผิดเวลา ติดสลากยาผิด ลืมให้ยา ให้ยาแต่ลืมบันทึกและบริหารยาผิดเทคนิค เป็นต้น
ผลการศึกษา
ตารางที่ 1 แสดงข้อมูลทั่วไปของอุบัติการณ์ความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการวางยาระงับความรู้สึก
|
จำนวนผู้ป่วย |
ความผิดพลาดจากการให้ยา |
จำนวนผู้ป่วย |
อุบัติการณ์ (1 : 10,000) |
จำนวนผู้ป่วย |
10,607 |
13 |
12.26 |
เพศ ชาย |
5141 |
8 |
15.56 |
หญิง |
5466 |
5 |
9.15 |
อายุ แรกเกิด- 1 เดือน |
147 |
1 |
68.03 |
1 เดือน - 1 ปี |
338 |
1 |
29.59 |
> 1ปี - 12 ปี |
1245 |
5 |
40.16 |
> 12 ปี 65 ปี |
7628 |
6 |
7.87 |
> 65 ปี |
1249 |
0 |
0 |
ASA physical status |
|
|
|
I |
4827 |
7 |
14.50 |
II |
4289 |
6 |
13.99 |
ช่วงเวลาที่เกิดเหตุ |
|
|
|
ในเวลาราชการ |
8417 |
12 |
14.26 |
นอกเวลาราชการ |
2190 |
1 |
9.13 |
แยกตามภาควิชา |
|
|
|
ศัลยศาสตร์ทั่วไป |
2751 |
4 |
14.54 |
ศัลยศาสตร์หัวใจ หลอดเลือดและทรวงอก |
1016 |
2 |
19.68 |
ศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้าง |
535 |
1 |
18.68 |
ศัลยกรรมเด็ก |
292 |
1 |
34.25 |
ศัลยกรรมกระดูก |
1897 |
2 |
10.54 |
สูติกรรมและนรีเวช |
1786 |
1 |
5.33 |
โสต ศอ นาสิกและลาริงซ์ |
1265 |
1 |
7.90 |
จักษุ |
282 |
1 |
35.46 |
สถานที่เกิดเหตุ |
|
|
|
ระหว่างระงับความรู้สึก |
10,607 |
12 |
11.31 |
ห้องพักฟื้น |
6,436 |
1 |
1.55 |
ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ.2546 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ.2546 จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 10,607 ราย ผลการศึกษาพบความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกในผู้ป่วย 13 ราย เป็นผู้ป่วยชาย 8 ราย ผู้ป่วยหญิง 5 ราย อัตราการเกิดอุบัติการณ์ความผิดพลาดในการให้ยาคิดเป็น 12.26 ในผู้ป่วย 10,000 ราย โดยช่วงอายุของผู้ป่วยที่เกิดอุบัติการณ์มากที่สุด คือ ผู้ป่วยอายุแรกเกิด-1 เดือน คิดเป็น 68.03 : 10,000 ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดมี ASA physical status I-II และไม่พบอุบัติการณ์ความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกในผู้ป่วยที่มี ASA physical status III-VI (ตารางที่ 1)
ผลการศึกษาตามชนิดของการผ่าตัด อุบัติการณ์ความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกพบในผู้ป่วยที่มาผ่าตัดทางจักษุวิทยาเป็นอันดับแรก คิดเป็น 35.46: 10,000 รองลงมาคือผู้ป่วยเด็กที่มารับการผ่าตัดทางศัลยกรรมเด็ก คิดเป็น 34.25: 10,000 และไม่พบอุบัติการณ์ความผิดพลาดในการให้ยาในผู้ป่วยจากแผนกศัลยกรรมระบบประสาท, รังสีรักษา, อายุรกรรม, จิตเวช, ทันตกรรมและการตรวจพิเศษเด็กที่มารับบริการระงับความรู้สึก สถานที่เกิดเหตุพบว่าส่วนใหญ่เกิดในช่วงระหว่างการผ่าตัดคิดเป็น 11.31: 10,000 (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 2 แสดงลักษณะความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึก
ลักษณะความผิดพลาดในการให้ยา |
จำนวนครั้ง |
ร้อยละ |
การให้ยาผิดชนิด |
4 |
28.57 |
การให้ยาเกินขนาด |
3 |
21.43 |
การให้ยาผิดวิธี |
2 |
14.29 |
การให้ยาผิดเวลา |
2 |
14.29 |
การให้ยาผู้ป่วยผิดราย |
1 |
7.14 |
การผสมยาความเข้มข้นผิด |
1 |
7.14 |
ผู้ป่วยไม่ได้ยา |
1 |
7.14 |
รวม |
14 |
100 |
ผลการศึกษาอุบัติการณ์ความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกตามลักษณะความผิดพลาด มีอุบัติการณ์เกิดขึ้น 14 เหตุการณ์ ในผู้ป่วยทั้งหมด 13 ราย (มีผู้ป่วย 1 ราย เกิดความผิดพลาดจากการให้ยา 2 ลักษณะ คือ วิสัญญีพยาบาลห้องพักฟื้นให้ยากับผู้ป่วยผิดคน และผิดวิธีในผู้ป่วยคนเดียวกัน) พบว่า อันดับแรกเป็นการให้ยาผิดชนิด พบ 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.57 อันดับรองลงมา คือ การให้ยาเกินขนาด พบ 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 21.43 นอกจากนี้ยังมีการให้ยาผิดวิธีและการให้ยาผิดเวลา พบ 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.29 (ตารางที่ 2)
ตารางที่ 3 แสดงบุคลากรที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึก
บุคคลที่ให้ยา |
จำนวน |
ร้อยละ |
วิสัญญีแพทย์ |
2 |
15.38 |
แพทย์ใช้ทุน/แพทย์ประจำบ้าน |
2 |
15.38 |
วิสัญญีพยาบาล |
7 |
53.85 |
นักศึกษาแพทย์ |
2 |
15.38 |
รวม |
13 |
100 |
ผลการศึกษาอุบัติการณ์ความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกตามบุคลากรที่ทำให้เกิดความผิดพลาด พบว่ามีความผิดพลาดในการให้ยาที่เกิดจากวิสัญญีพยาบาลบริหารยา 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 53.85 (ตารางที่ 3)
ตารางที่ 4 แสดงผลกระทบต่อผู้ป่วยเมื่อเกิดความผิดพลาดจากการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึก
ผลกระทบต่อผู้ป่วย |
จำนวน |
ร้อยละ |
ผลกระทบต่อผู้ป่วยเล็กน้อย ไม่มีผลร้ายแรงต่อชีวิต
ผลกระทบต่อร่างกาย แต่สามารถแก้ไขได้
ผลกระทบร้ายแรง ไม่สามารถแก้ไขได้ |
11
1
1 |
84.62
7.69
7.69 |
รวม |
13 |
100 |
ผลการศึกษาผลกระทบต่อผู้ป่วยเมื่อเกิดการให้ยาผิดพลาด พบว่า ส่วนใหญ่มีผลกระทบต่อผู้ป่วยเล็กน้อย สามารถแก้ไขได้ ไม่มีผลร้ายแรงต่อชีวิตของผู้ป่วย พบจำนวน 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 84.62 มีผู้ป่วย 1 ราย หยุดหายใจเนื่องจากฉีดยาหย่อนกล้ามเนื้อแทนยาแก้ปวด (เนื่องจากคนเตรียมยาติดสลากยาผิดและคนฉีดยาไม่ใช่คนเตรียมยา) คิดเป็นร้อยละ 7.69 และมีผู้ป่วย 1 ราย ได้รับ heparin เกินขนาดร่วมกับความรุนแรงของโรคของผู้ป่วยและการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต คิดเป็นร้อยละ 7.69 (ตารางที่ 4)
ตารางที่ 5 แสดงปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความผิดพลาดการให้ยาระหว่างการวางยาระงับความรู้สึก
ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง |
จำนวน |
ร้อยละ |
ไม่ได้ตรวจสอบซ้ำก่อนให้ยา
ปัญหาจากการประสานงาน
ขาดประสบการณ์
ตัดสินใจไม่เหมาะสม
รีบร้อน
อ่านลายมือที่เขียนฉลากยาไม่ชัดเจน
ขาดความรู้ |
5
4
3
2
2
1
1 |
27.77
22.23
16.68
11.11
11.11
5.55
5.55 |
รวม |
18 |
100 |
ผลการศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกพบว่า อันดับแรกเกิดจากการไม่ได้ตรวจสอบซ้ำก่อนให้ยาคิดเป็นร้อยละ 27.77 อันดับรองลงมาคือ ปัญหาการประสานงาน คิดเป็นร้อยละ 22.23 นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น การขาดประสบการณ์ ความรีบร้อน การตัดสินใจไม่เหมาะสม การอ่านลายมือที่สลากติดยาไม่ออก การขาดความรู้ (ตารางที่ 5)
ตารางที่ 6 แสดงแนวทางการป้องกันความผิดพลาดในแต่ละรายที่วิเคราะห์โดยวิสัญญีแพทย์
แนวทางการป้องกันความผิดพลาด |
จำนวน |
ร้อยละ |
การจัดให้มี quality assurance activity ตรวจสอบคุณภาพของคน เครื่องมือและระบบอย่างต่อเนื่อง
การจัดให้มีระบบการสื่อสารที่ดี
การฝึกอบรมเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
การสร้างแนวทางเวชปฏิบัติ
การจัดให้มีหรือปรับปรุงระบบการปรึกษาทั้งในและระหว่างหน่วยงาน
การมีการขานชื่อยา |
8
5
4
3
3
1 |
33.33
20.83
16.68
12.50
12.50
4.67 |
รวม |
24 |
100 |
แนวทางในการป้องกันความผิดพลาดที่วิเคราะห์โดยวิสัญญีแพทย์เจ้าของไข้ส่วนใหญ่คือจัดให้มี quality assurance activity ตรวจสอบคุณภาพของคน เครื่องมือและระบบอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 33.33 และการจัดให้มีระบบการสื่อสารที่ดีระหว่างบุคลากรในทีม คิดเป็นร้อยละ 20.83 (ตารางที่ 6)
วิจารณ์
งานบริการวิสัญญีเป็นงานที่มีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา จุดมุ่งหมายที่สำคัญก็คือ การดูแลผู้ป่วยให้ได้รับความปลอดภัยต่อชีวิต นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยหลับ ไม่รับรู้ต่อความปวดหรือสิ่งกระตุ้น และศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดได้สะดวก ต้องป้องกันและระวังไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และเตรียมพร้อมที่จะแก้ไขถ้ามีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นระหว่างระงับความรู้สึก ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักเกิดจากความประมาทเลินเล่อ ไม่เอาใจใส่ผู้ป่วย รวมทั้งละเลยไม่สนใจต่ออาการแสดงและสัญญาณชีพที่เปลี่ยนแปลง ทั้งก่อนให้ยาและขณะให้ยาระงับความรู้สึกซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนผู้ป่วยพิการหรือเสียชีวิตได้ ความผิดพลาดจากการทำงานของบุคลากรเป็นปัญหาสำคัญเป็นสาเหตุที่อันตรายต่อผู้ป่วยและสูญเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งแนวทางในการลดความผิดพลาดจากการให้ยา ประกอบด้วย การกำหนดดัชนีชี้วัดอย่างเป็นระบบเพื่อติดตามอุบัติการณ์ การอ่านสลากยาให้ดีก่อนผสมยาหรือก่อนฉีดยา การผสมยาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน การติดสลากยาที่ผสมแล้ว การตรวจสอบสลากยาโดยบุคคลที่สองก่อให้ยา1
การศึกษาความถี่และลักษณะของการให้ยาผิดพลาดระหว่างระงับความรู้สึกโดย Webter และคณะพบว่ามีความถี่เฉลี่ย 75 ต่อ 10,000 ราย 2 แต่บางการศึกษาพบว่าอาจมีการให้ยาผิดพลาดแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลถึงร้อยละ 25-38 3-6 ซึ่งลักษณะของความผิดพลาดส่วนใหญ่คือ การให้ยาผิดขนาด และผิดชนิด ส่วนใหญ่มีผลกระทบต่อร่างกายชั่วคราว แต่ก็มีบางรายทำให้เกิดภาวะ awareness ที่รุนแรง ซึ่งเมื่อศึกษาสาเหตุของภาวะ awareness พบว่าประมาณร้อยละ 37 เกิดจากการให้ยาผิด7 บางรายทำให้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนานขึ้น และพบว่าสูญเสียค่าใช้จ่ายมาก8
ผลการศึกษาในโรงพยาบาลศรีนครินทร์พบว่า การพบอุบัติการณ์การให้ยาผิดพลาดระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกคิดเป็น 12.26 : 10,000 ซึ่งพบอุบัติการณ์ต่ำกว่าการศึกษาของ Cohen และคณะ9 ที่พบว่าภาวะแทรกซ้อนจากการให้ยาผิดเป็น 64.6:10,000 โดยเป็นผู้ป่วย ASA physical status I-II ทั้งหมด การศึกษานี้พบว่า ผู้ป่วยในช่วงอายุแรกเกิด - 1 เดือน มีความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกคิดเป็น 68.03 : 10,000 ซึ่งอัตราการเกิดอุบัติการณ์จะสูงกว่าช่วงอายุอื่น ๆ เนื่องจากน้ำหนักตัวเด็กจะค่อนข้างน้อยทำให้การเตรียมยาการผสมยายุ่งยากกว่าผู้ใหญ่และการให้ยามีความผิดพลาดได้ง่าย ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Ross และคณะ 10 พบอุบัติการณ์การให้ยาผิดพลาดในเด็กกลุ่มอายุน้อยกว่า 1 เดือนมากกว่าเด็กกลุ่มอายุอื่นๆ (พบ 44 รายจากอุบัติการณ์การให้ยาผิดพลาดในเด็ก 195 ราย) สาเหตุของความผิดพลาดมาจากการคำนวณยาเป็นตัวเลขทศนิยมผิดพลาด ดังนั้นบุคลากรทางวิสัญญีต้องใส่ใจและระมัดระวังให้มากขึ้น11 และการศึกษาพบว่าความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกในผู้ป่วย ASA physical status I-II ซึ่งมารับการให้ยาระงับความรู้สึก
อุบัติการณ์การให้ยาผิดพลาดระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกพบในเวลาราชการมากกว่านอกเวลาราชการ ทั้งนี้อาจเนื่องจากในเวลาราชการมีบุคลากรปฏิบัติงานหลากหลายระดับและจำนวนบุคลากรที่เกี่ยวข้องมากกว่า ทำให้อาจมีความผิดพลาดในการประสานในทีม เช่น ผู้เตรียมยาไม่ใช่คนเดียวกับผู้ที่ให้ยา เป็นต้น ซึ่งมีบางรายงานพบข้อมูลในลักษณะเดียวกัน 12
เมื่อพิจารณาจากชนิดของความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการวางยาระงับความรู้สึก พบว่า อันดับแรก คือ การให้ยาผิดชนิด ร้อยละ 28.57 รองลงมา คือการให้ยาเกินขนาด ร้อยละ 21.43 (ตารางที่ 2) ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Webter และคณะ2 ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ยาที่ใช้ในการระงับความรู้สึกมีหลายชนิดในผู้ป่วยคนเดียว การจัดเก็บยาไม่เป็นระเบียบ ยาบางชนิดมีลักษณะคล้ายกัน เป็นต้น
ผลกระทบต่อผู้ป่วย พบว่ามีส่วนใหญ่มีผลกระทบต่อผู้ป่วยเล็กน้อยเนื่องจากยาส่วนใหญ่ที่ให้ผิดเป็นยาหย่อนกล้ามเนื้อทั้งชนิด depolarizingและ non depolarizing (มีการให้ยา succinylcholine โดยลืมให้ยานำสลบก่อน และมีอุบัติการณ์การลืมให้ยาหย่อนกล้ามเนื้อ non depolarizing ระหว่างผ่าตัด เมื่อทราบว่ามีความผิดพลาดจึงแก้ไขโดยการให้ยา ซึ่งไม่มีผลกระทบกับผู้ป่วย) ในรายที่รุนแรงคือผู้ป่วยที่ได้รับยาหย่อนกล้ามเนื้อแทนยาระงับปวดจากการที่ผู้เตรียมยาติดสลากยาผิดและผู้ฉีดยาไม่ทราบแล้วนำมาใช้ทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจทำและต้องใส่ท่อช่วยหายใจและช่วยหายใจประมาณ 30 นาทีโดยที่ผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วย และในผู้ป่วย 1 รายได้รับยา heparin เกินขนาดในขณะที่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมระหว่างการผ่าตัดหัวใจเนื่องจากการประสานงานของทีมผู้ให้ยาระงับความรู้สึกผิดพลาด ซึ่งภายหลังผ่าตัดผู้ป่วยเสียชีวิต จะเห็นว่าความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการระงับความรู้สึกสามารถส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยอย่างรุนแรงและทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 12
สาเหตุของความผิดพลาดอันดับแรกเกิดจากการไม่ตรวจสอบซ้ำก่อนให้ยา รองลงมาคือขาดการประสานงาน และการขาดประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ควรมีการกำหนดแนวทางการแก้ไข
แม้ว่าอุบัติการณ์ความผิดพลาดในการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึก มีอุบัติการณ์น้อยกว่าในผู้ป่วยของโรงพยาบาลทั่วไป6แต่ก็มีความพยายามหลายวิธีในการลดอุบัติการณ์แต่ก็ไม่สามารถทำให้หมดไปได้ ทั้งนี้อาจเนื่องจากการทำงานผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจเช่น ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน เป็นต้น13-14 ดังนั้นจึงควรจะตรวจสอบยาซ้ำโดยบุคคลที่สอง (double checked) ก่อนให้ยาแก่ผู้ป่วยเสมอ1 ซึ่งประเทศอังกฤษมีคำแนะนำโดยเฉพาะเพื่อลดความเสี่ยง15เช่น คำแนะนำตามมาตรฐานของ NHS (National Health Service) ซึ่งมีคำแนะนำให้ตระหนักถึงความเสี่ยงจากการให้ยาผิดพลาดผู้ป่วยทุกราย ห้องผ่าตัดควรมีแสงสว่างเพียงพอ การจัดเก็บยาต้องมีระเบียบและเป็นหมวดหมู่ การผสมยาต้องอ่านชื่อยาทุกครั้งเมื่อหยิบยาขึ้นมาและอ่านซ้ำก่อนผสม ผู้เตรียมยาและผู้ฉีดยาควรเป็นบุคคลเดียวกัน การเขียนชื่อยา ความเข้มข้นและใช้ code สีที่เหมือนกันติดที่หลอดฉีดยาทุกอันเพื่อแยกตามชนิดของยา ในภาวะฉุกเฉินควรมีการเตรียมยาล่วงหน้า การมีเภสัชกรตรวจสอบการใช้ยาและจัดเก็บยาในห้องผ่าตัด เมื่อยาชนิดใหม่ถูกนำมาใช้หรือมีการเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ยาควรมีการแจ้งก่อนการใช้งาน
ปัจจุบันภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้จัดให้มีแนวทางในการเตรียมยาระงับความรู้สึกที่เป็นมาตรฐานเดียวกันซึ่งเป็นการปรับปรุงครั้งที่ 1 โดยกลุ่มบริหารความเสี่ยงของภาควิชาฯ และมีการนำอุบัติการณ์ความผิดพลาดจากการให้ยาเข้าในการร่วมประชุมอุบัติการณ์การเกิดภาวะแทรกซ้อนและการตายของภาควิชาฯ เพื่อหาสาเหตุและวิธีการแก้ไข นอกจากนี้ยังได้มีการปรับปรุงแนวทางในการฉีดยาเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการฉีดยาผิด โดยก่อนฉีดยาต้องมีการเรียกชื่อยาและขานรับก่อนทุกครั้งเพื่อลดความผิดพลาดที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด และควรติดตามอัตราการเกิดอุบัติการณ์ความผิดพลาดจากการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกในปีต่อ ๆ ไป
สรุป
อุบัติการณ์ความผิดพลาดจากการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกในโรงพยาบาลศรีนครินทร์พบ 12.26: 10,000 สาเหตุส่วนใหญ่เป็นความผิดพลาดของบุคลากร ซึ่งผลกระทบต่อผู้ป่วยส่วนใหญ่มีเล็กน้อย และยังพบว่ามีผู้ป่วยบางส่วนได้รับผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตมากจนไม่สามารถแก้ไขได้ ฉะนั้นบุคลากรทางวิสัญญีจึงควรตระหนักถึงความผิดพลาดจากการให้ยาระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกและปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการให้ยาผิดที่ภาควิชาฯ กำหนดโดยเคร่งครัด
เอกสารอ้างอิง
1. Jensen LS, Merry AF, Webter CS, Weller J, Larsson L. Evidence-based strategies for preventing drug administration errors during anaesthesia. Anaesthesia 2004; 59: 493-504.
2. Webter CS, Merry AF, Larsson L, McGrath KA, Weller J. The frequency and nature of drug administration error during anaesthesia. Anaesth Intensive Care 2001; 29: 494-500.
3. Barker KN, Flynn EA, Pepper GA, Bates DW, Mikeal RL. Medication errors observed in 36 health care facilities. Arch Intern Med 2002; 162: 1897-903.
4. Leape LL, Bates DW, Cullen DJ, Cooper J, et al. Systems analysis of adverse drug events. Adverse Drug events Prevention Study Group. JAMA 1995; 274: 35-43.
5. Merry AF, Peck DJ. Anaesthetists, errors in drug administration and the law. NZ Med J 1995; 24: 185-7.
6. Liu EH, Koh KF. A prospective audit of critical incidents in anesthesia in a university teaching hospital. Ann Acad Med 2003; 32 : 814-20.
7. Bergman IJ, Kluger MT, Short TG. Awareness during general anaesthesia: a review of 81 cases from the anaesthetic incident monitoring study. Anaesthesia 2002; 57: 549-56.
8. Bates DW, Spell N, Cullen DJ, Burdick E, et al.The costs of adverse drug events in hospitalized patients. Adverse Drug events Prevention Study Group. JAMA 1997; 277: 307-11.
9. Cohen MM, Duncan PG. Physical status score and trends in anesthetic complications. J Clin Epidemiol 1988; 41: 83-90.
10. Ross LM, Wallace J, Paton JY. Medication errors in a paediatric teaching hospital in the UK: five years operational experience. Arch Dis Child 2000; 83: 492-7.
11. Cullen DJ, Bates DW, Leape LL. Prevention of adverse drug events: A decade of progress in patient safety. J Clin Anesthesia 2000; 12: 600-14.
12. Kluger MT, Bullock MF. Recovery room incidents: a review of 419 reports from the anaesthetic incident monitoring study. Anaesthesia 2002; 57 : 1060 -6.
13. Madzimbamuto FD, Chiware R. A critical incident reporting system in anaesthesia. Cent Afr J Med 2001; 47 : 243-7.
14. Chopra V, Bovill JG, Spierdijk J, Koornneef F. Reported significant observations during anaesthesia:A prospective analysis over an 18 month period. Br J Anaesthesia 1992; 68: 13-7.
15. Orser BA, Byrick R. Anesthesia-related medication error: Time to take action. Can J Anaesth 2004; 51: 756-60.